Skip to main content
sharethis

23 ธ.ค. 2558 ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา จากกรณีที่ปล่อยให้มีการโพสต์ผิดกฎหมายในเว็บบอร์ดประชาไทนาน 20 วัน

คำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า การพิจารณาว่าจำเลยจงใจหรือไม่นั้นเป็นไปได้ยากจึงพิจารณาจากประจักษ์พยานแวดล้อมเพื่อเป็นเครื่องชี้เจตนา โดยศาลชี้ว่าจำเลยไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการส่งข้อมูล IP address ของผู้ใช้บริการเว็บบอร์ดที่โพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นสถาบันให้โดยไม่ต้องร้องขอ โดยมีทั้งกรณีที่จำเลยได้รับหมายเรียกพยานแล้ว แต่ไม่เตรียมข้อมูลจราจรไปให้ จนต้องขอความร่วมมือและมีการนำมาให้ในภายหลัง และกรณีที่ไม่ส่งข้อมูลให้จนเลยระยะเวลา 90 วันตามกฎหมายที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ต้องเก็บ IP address ไว้ ทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ใช้รายอื่นได้

จีรนุช เปรมชัยพร แสดงความผิดหวังต่อคำพิพากษาและแสดงความกังวลต่อประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอินเทอร์เน็ต หากมีการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ โดยอาจสร้างความยากลำบากในการปฏิบัติตัวของผู้ให้บริการ เพราะข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการเป็นข้อมูลสำคัญ หากไม่มีเหตุอันควร การยื่นข้อมูลเหล่านี้ให้เจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องร้องขอ ผู้ให้บริการอาจละเมิดต่อผู้ใช้บริการได้

ด้านธีรพันธ์ พันธุ์คีรี ทนายจำเลยแสดงความกังวลหลังฟังคำพิพากษาว่า กรณีนี้อาจก่อให้เกิดภาระรับผิดชอบที่กว้างขวางของผู้ให้บริการ ซึ่งอาจเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติด้วยซ้ำไป

ขณะ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต แสดงความเห็นต่อคำพิพากษาดังกล่าวว่า กรณีที่ประชาไทลบทิ้งข้อมูลจราจรไปเท่ากับไม่ให้ความร่วมมือนั้น ตั้งคำถามว่าถ้าเจ้าพนักงานเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวสำคัญ ก็สามารถขอข้อมูลได้ตามมาตรา 18 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงสามารถใช้มาตรา 26  ขอให้ผู้ให้บริการขยายเวลาการจัดเก็บได้ แต่เจ้าพนักงานก็ไม่ได้ขอแต่อย่างใด

"เจ้าหน้าที่บกพร่องในการใช้ทั้งมาตรา 18 และ 26 และกลับเป็นผลร้ายกับตัวจำเลย ซึ่งไม่แฟร์" อาทิตย์กล่าว 

สำหรับบรรยากาศวันนี้ มีตัวแทนจากสถานทูตฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา และ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ 

มาตรา 15 
ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14

มาตรา 18
ภายใต้บังคับมาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวน ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด
(1) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้
(2) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
(3) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา 26 หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(4) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่
(5) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(6) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้
(7) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว
(8) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้


มาตรา 26
ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่า เก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่ง ให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวันแต่ไม่เกินหนึ่งปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้
ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการนับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง
ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด อย่างไร และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท 

ทั้งนี้ คดีนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.2552 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นสำนักงานประชาไทและควบคุมตัวจำเลย มีการแจ้งข้อกล่าวหาและระบุการกระทำผิดในการลบความเห็นในเว็บบอร์ดประชาไทช้า รวมแล้วถึง 10 ข้อความหรือ 10 กรรม อย่างไรก็ตาม จำเลยได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน 

ต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 30 พ.ค. 2555 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ในการพิจารณาลดโทษให้เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีจำเลยในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นสถาบันในเว็บบอร์ด 1 ข้อความ และยกฟ้องข้อความอีก 9 ข้อความ เนื่องจากดำเนินการตรวจสอบปิดกั้นในระยะเวลาที่เหมาะสม ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ย้อนดูคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สำหรับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2556 กรณีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาล ศาลอ่านคำพิพากษาพิจารณาประเด็นเรื่องการลบข้อความในเว็บบอร์ด 9 ข้อความของจำเลย ว่าลบในกรอบเวลาอันสมควร (1-11 วัน) จึงมิอาจฟังว่าจำเลยได้รู้ถึงการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นการยินยอมให้มีการกระทำความผิดตาม มาตรา 14 ดังที่โจทก์อุทธรณ์

ขณะที่อีกข้อความซึ่งปรากฏในเว็บบอร์ดนาน 20 วันโดยจำเลยอ้างว่า จำเลยดูแลเพียงคนเดียว และหลังรัฐประหาร 2549 มีผู้ใช้งานมากขึ้น และได้เพิ่มมาตรการดูแลมากขึ้น แต่ศาลเห็นว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการทำหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ข้อความตามฟ้องยังปรากฏอยู่ในช่วงเดียวกับที่มีการโพสต์หมิ่นฯ ถึง 9 ครั้ง ประกอบกับจำเลยมีการศึกษาและเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่มูลนิธิควรต้องตระหนักถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์ การปล่อยให้มีข้อความเข้าข่ายหมิ่นฯ นาน 20 วันจึงเป็นความยินยอม

พร้อมกันนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยังได้อธิบายถึงความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในบริบทสังคมไทย รวมถึงแนวทางถวายความจงรักภักดีไว้ด้วย

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ให้เพิ่มโทษหนักขึ้นนั้น ศาลเห็นว่าเหมาะสมแก่สภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว รวมถึงกรณีให้รอลงอาญา ก็เหมาะสมแล้ว เพื่อให้จำเลยได้ปรับตัวเป็นพลเมืองดีนอกเรือนจำ และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง มาตรการสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง และข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ให้ความเห็นชอบไว้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net