หายนะด้านเศรษฐกิจครั้งใหม่ของไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

สดับจากสื่ออเมริกันและแวดวงอเมริกันชนมาจำนวนหนึ่งครับ เกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ในแวดวงเศรษฐกิจ ขณะที่คนไทยยังอยู่ในยุคของเผด็จการทหารกันในเวลานี้ จึงอยากจะขอเล่าสู่กันฟังพอเป็นน้ำจิ้มแห่งอุทาหรณ์ครับ เท่าที่สรุปสั้นๆ ได้มีดังนี้ครับ

1.ไทยยังมีปัญหาการส่งออกสินค้าที่เคยส่งออก ไปยังต่างประเทศ เช่น ส่งออกไปยังยุโรป และส่งไปยังอเมริกาไม่ได้เหมือนเดิมหลังจากรัฐบาลทหารครองอำนาจเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้การการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอยู่ในอัตราติดลบ สื่ออเมริกันส่วนหนึ่งมองว่า ประเทศตะวันตกผู้นำเข้าสินค้า (ซึ่งเคยนำเข้าสินค้าไทยมาก่อน) ไม่ยอมรับรัฐบาลเผด็จการ ส่งผลให้มีมาตรการโดยภาครัฐระงับหรือยุติการนำเข้าสินค้าจากเมืองไทย

2. ปัญหาจากการส่งสินค้าออกไม่ได้ดังกล่าวส่งผลให้ภาคการเกษตรซึ่งเป็นภาคหลักของรายได้ของคนไทยประสบปัญหาและลุกลามไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างยากที่จะแก้ไขได้ ทำให้เกิดภาวะเงินฝืด กล่าวคือเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยกว่าปกติ แม้ภาครัฐของไทยจะกำหนดมาตรการประชานิยมในชื่อใหม่ว่า “ประชารัฐ” เพื่อให้เงินสะบัดในระบบฯ มากขึ้นก็ตาม แต่มาตรการดังกล่าวกลับไม่ได้ผล โดยเฉพาะการผ่านเม็ดเงินไปยังข้าราชการในประเทศทั้งหมด เช่น ให้เงินพิเศษ หรือแม้แต่ขึ้นเงิน แต่มาตรการดังกล่าวกลับใช้ไม่ได้ผล ข้าราชการกลับมีการใช้จ่ายเงินในระบบน้อย กล่าวคือ มีการนำเงินไปซื้อสินค้าน้อยอุปโภค บริโภคในตลาดน้อยมาก เนื่องจากจำนวนหนี้สินที่ข้าราชการเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก พวกเขากลับนำเงินไปใช้หนี้สินเสียมากกว่า

3. มาตรการถอนขนห่านหรือมาตรการรีดภาษีของรัฐบาลไทยเพื่อหารายได้เข้าคลัง ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อนักลงทุนและนักธุรกิจจำนวนมาก รวมถึงก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่นเพิ่มมากขึ้นในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีทั้งหมด นักลงทุนและนักธุรกิจดังกล่าวจึงพยายามทำธุรกรรมการเงินใดๆ ก็ตาม ไม่ให้อยู่ในสายตาของรัฐบาลหรือหน่วยงานของ รวมถึงหน่วยงานของสนง.ตำรวจแห่งชาติของไทยอย่างสำนักงานตำรวจเศรษฐกิจ (สศก.) ที่กำลังเข้าไปตรวจสอบบัญชีของนักธุรกิจไทยกันขนานใหญ่ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ในระบบการทำงานของนักธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อมถึงขนาดกลาง ไม่สามารถหาหลักฐานที่มาที่ไปของเงินในบัญชีได้ แม้เจ้าของธุรกิจอาจไม่ได้มีที่มาของเงินโดยผิดกฎหมาย (ประเภททีที่มีการดีลแบบไทยๆ) ส่งผลให้มีการเจรจาใต้โต๊ะแบบไทยๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจที่มีปัญหาดังกล่าว (ส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจในประเทศไทยดังกล่าว ยังขาดระบบที่ดี เช่นระบบบัญชี เป็นต้น) นำมาซึ่งปัญหาการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นตามมา

นอกจากนี้มีการพูดกันในบรรดาข้าราชการและนักธุรกิจไทยว่า ระบบ “พร้อมเพย์” ที่เป็นโครงการใหม่ของรัฐบาลก็คือการวางแผนของภาครัฐเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของเงินในบัญชีของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ เพื่องานตรวจสอบและจัดเก็บภาษีของกรมสรรพาพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพทั่วถึงมากขึ้น

4. สถานการณ์เงินฝืดของไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่นักลงทุนหรือนักธุรกิจไทยจำนวนมาก ไม่ไว้ใจสถานการณ์เศรษฐกิจ ลูกค้าขนาดกลางและขาดย่อมของธนาคารพาณิชย์จำนวนหนึ่ง พากันเก็บเงินไว้ในกระเป๋าของตนเอง ไม่ยอมลงทุนหรือใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเพื่อการบริโภค  ที่สำคัญลูกค้าส่วนหนึ่งมีการย้ายเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยไปเก็บไว้ส่วนตัวหรือฝากไว้ยังธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศด้วยความเชื่อที่ว่า “ไม่ประมาทต่อสถานการณ์”

5. ภาวะวิกฤตของเศรษฐกิจไทยจะเริ่มส่งผลกระทบถึงฐานของประชากรทั่วไป ตั้งแต่ปีหน้า (2560) เป็นต้นไทย ตามสำนวนไทยที่ว่า เป็นปีของ “การเผาจริง”

6.อาจมีความเป็นไปได้ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ ไอเอ็มเอฟ จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยเหมือนเมื่อคราวปี 2540 หรือ “ปีต้มยำกุ้ง” เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้  โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคารที่ปรากฏว่า จนถึงขณะนี้ธนคารพาณิชย์ของไทยจำนวนหนึ่ง มีนโยบายเข้มงวดในการปล่อยกู้สินเชื่อให้กับลูกค้า แม้ลูกค้าที่ขอกู้ดังกล่าวจะเคยเป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคารมาก่อนก็ตาม แสดงให้เห็นว่าลึกๆ แล้ว แบงก์พาณิชย์ของไทยเองก็ยังกังวลและไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยเช่นกันกับลูกค้า เมื่อแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการเงิน ภาคการลงทุน ตกอยู่ในอาการฝืดมากยิ่งขึ้น ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยต่ำมากเป็นประวัติการณ์

7. การขึ้นค่าแรงของไทยเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อค่าแรงสูงขึ้นเป็นเหตุให้ต้นทุนสูงขึ้น เมื่อต้นทุนสูงขึ้นธุรกิจจำนวนหนึ่งจะอยู่ไม่ได้ จะมีการปลดคนงานและย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยเช่น พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น ที่เป็นฐานการผลิตใหม่ในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ระบบการจัดการด้านนโยบายทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแทบไม่เคยเปลี่ยน  เช่น การให้หน่วยงานอย่างบีโอไอ เป็นศูนย์กลางของการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเพียงหน่วยงานเดียวมานมนาน นอกจากนี้ยังพบว่าธุรกิจที่ผลิตสินค้าบริโภคอุปโภคขนาดใหญ่ แม้แต่ในกรณีที่คนไทยเป็นเจ้าของต่างทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน  ดังเช่น กรณีของเครือสหพัฒน์ฯ โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว

8. นโยบายการเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยกระจายเม็ดเงินผ่านรัฐศูนย์กลาง (รัฐบาลกรุงเทพและหน่วยงานราชการในภูมิภาค) ในนามของ “ประชารัฐ” ที่ลดความสำคัญต่อหน่วยงานท้องถิ่น (เช่น เทศบาล อบต.) ลง ทำให้อำนาจในการตัดสินใจขององค์กรท้องถิ่นน้อยลง ส่งผลให้การไหลกระจายของเม็ดเงินในท้องถิ่นทั่วประเทศไทยพลอยลดลง ไม่สะพัดตาม เป็นเหตุให้เศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นของไทยพลอยซบเซาไปด้วย

9. ผลจากการฝืดของระบบการเงินของไทย อันเนื่องจากความไม่มั่นใจต่อการใช้จ่ายทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งถือเงินไว้กับตัวมากกว่าฝากธนาคาร ที่ฝากธนาคารไว้ก็ดึงออกมาเก็บกับไว้ตัวเอง สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในทางที่ลดน้อยลงและก่อให้เกิดปัญหากับบางธนาคารได้ เมื่อเกิดปัญหากับธนาคารใดธนาคารหนึ่งก็จะส่งผลต่อระบบการเงินระหว่างธนาคารขึ้น ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หากยังออกนโยบายและเตือนให้ผู้บริหารแบงก์พาณิชย์ของไทย ให้เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนขนาดต่างๆ แม้แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นธุรกิจที่รัฐมีนโยบายให้การสนับสนุน เนื่องจากหวั่นเกรงปัญหาหนี้สูญที่อาจจะเกิดขึ้น

10. สภาพการณ์ของธุรกิจการเกษตรที่ถือเป็นธุรกิจหลักของคนไทยอยู่ในภาวะอับจนอย่างมาก โดยเฉพาะข้าวและยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก เพราะส่งออกไปยังต่างประเทศเหมือนเคยไม่ได้ สภาพการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศกระเทือนอย่างหนักไปด้วย ประชาชนขาดกำลังซื้อและพาเศรษฐกิจของประเทศสู่ทางตีบตันในที่สุด

11.ปัญหาการแข่งขันที่ไม่สามารถสู้ได้ของไทย เช่น การแข่งกับสินค้าของจีน เป็นต้น ที่น่าหวั่นวิตกมากไปยิ่งกว่าในข้อนี้ก็คือ ปัจจุบันมีสินค้าจีนที่มาจากจีนโดยตรง วางจำหน่ายแม้กระทั่งตามร้านค้าข้างถนนในประเทศไทยแล้ว เนื่องจากราคาหรือต้นทุนของจีนต่ำกว่าไทยอย่างมากนั่นเอง

ฟังๆ แล้วก็ “อุกาฟ้าเหลืองก่อนออกเรือ”อยู่นะครับ สถานการณ์จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม ไม่มีใครทราบ เพียง “สัญญาณมาแล้ว” แต่ควรเตรียมตัวด้วยความไม่ประมาทเถิด !!!

0000

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท