สมยศ พฤกษาเกษมสุข เสนอแนวทางปรองดอง


ภาพจากแฟ้มภาพ

 

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2560   สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงานและการเมือง อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำมาถึงปัจจุบันเกือบ 6 ปีจากความผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ได้พูดคุยและนำเสนอแนวทางการปรองดองกับผู้ใกล้ชิด

สมยศกล่าวว่า การปรองดองที่นำเสนอกันอยู่นี้เหมือนเรื่องราวของหมาป่าที่เสนอตัวแก้ปัญหาให้กับวัวควายเรื่องการกินหญ้า  ตัวเองกลายเป็นพระเอก ทั้งที่มีจุดมุ่งหมายอีกแบบ จะว่าไปก็เหมือนการเล่นละคร

สมยศเสนอว่า หากต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ต้องการให้เกิดการปรองดองจริงๆ ควรนำคู่ขัดแย้งมาคุยกัน โดยเขาเสนอโมเดลจับคู่ขัดแย้งตั้งต้นตั้งแต่ปี 2549 มานั่งโต๊ะเจรจา  คือ ทักษิณ ชินวัตร-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, สมยศ พฤกษาเกษมสุข-สนธิ ลิ้มทองกุล, จตุพร พรหมพันธุ์-สุเทพ เทือกสุบรรณ, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พะเยาว์ อัคฮาด พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯลฯ และมีนักวิชาการที่จะเป็นคนกลาง เช่น โคทม อารียา นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฯลฯ รวมไปถึงผู้ลี้ภัย เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ตั้งเป็นคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติพูดคุยและเจรจากันในทุกปมปัญหาว่าจะจัดการอย่างไร เช่น ปี 2553 ใครเป็นคนยิงประชาชนเสียชีวิต แล้วจะดำเนินการอย่างไร เรื่องทักษิณจะทำอย่างไร ฯลฯ ระหว่างเจรจาต้องยุติทุกคดีไว้เป็นการชั่วคราว

“ตั้งแต่ปี 2549 เป็นการแย่งชิงอำนาจรัฐ แต่ 2475 หรือ 14 ตุลา ความขัดแย้งนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เราจะมองความขัดแย้งยังไง มันไม่จำเป็นต้องเลวร้ายเสมอไป” สมยศกล่าว

สำหรับเรื่องความเป็นอยู่ในเรือนจำ สมยศกล่าวว่า หลังการรัฐประหาร 2557 กฎระเบียบในเรือนจำเข้มงวดขึ้นมาก และสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกแย่มากคือ การไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารใดๆ จากโลกภายนอก ไม่ได้ดูข่าว ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ทำได้เพียงสอบถามข้อมูลข่าวสารจากผู้ต้องขังใหม่หรือผู้คุม ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อจิตใจเป็นอันมากเพราะปกติจะเป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างเข้มข้นโดยตลอด

สำหรับความเป็นอยู่ภายในเรือนจำยังคงแออัดเช่นเดิม การเยี่ยมญาติยังคงมีกฎที่กำหนดโควตาเพียง 10 คนตามรายชื่อที่ผู้ต้องขังส่งมอบให้เรือนจำ โดยกฎนี้แม้จะระบุว่าใช้เป็นการทั่วไปเพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดแต่จะเข้มงวดอย่างยิ่งเป็นการเฉพาะสำหรับคดี 112 ทำให้เพื่อนฝูงญาติมิตรไม่สามารถมาเยี่ยมได้ทั่วถึง นอกจากนี้ทางเรือนจำยังกำหนดให้นักโทษแต่ละคนมีเพียงผ้าห่ม 3 ผืนสำหรับปูนอน ห่ม และหนุนศีรษะ เรื่องนี้เขาได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิฯ แล้วแต่เรื่องยังคงเงียบ

“ผ้าห่มนี้มันรุ่นสงครามโลกครั้งที่สอง ซับฝุ่นและสกปรก” สมยศกล่าวและพูดถึงประเด็นสุขภาพว่า อาการปวดเข่าจากโรคเก๊าต์ของเขานั้นดีขึ้นบ้างในช่วงเดือนที่ผ่านมา

สำหรับเรื่องคดีของเขานั้น สมยศระบุว่า เขายังคงรอให้ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุด แต่ก็แปลกใจที่ล่วงเลยมาเกือบ 3 ปีแล้วยังไม่มีการพิพากษา ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็อยากให้มีคำพิพากษากำหนดกรอบที่ชัดเจน ปัจจุบันเขาติดคุกมาเกือบ 6 ปีเหลืออีก 4 ปี การอภัยโทษครั้งใดๆ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะลดโทษให้นักโทษมากเพียงไหนก็ไม่มีผลลดหย่อนโทษของเขา เพราะคดียังไม่ถึงที่สุดจึงยังไม่ได้รับการปรับชั้นและไม่มีสิทธิได้รับการอภัยโทษ (ชั้นของนักโทษแบ่งเป็น ชั้นเลวมาก ชั้นเลว ชั้นกลาง ชั้นดี ชั้นดีมาก ชั้นเยี่ยม ชั้นเหล่านี้ผลต่อสัดส่วนการลดโทษจากการได้รับพระราชทานอภัยโทษซึ่งกำหนดให้กับนักโทษชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น ) ตามระบบของเรือนจำหากคดีถึงที่สุดหรือเด็ดขาดแล้ว 6 เดือนจึงจะได้เป็นนักโทษ “ชั้นกลาง” จากนั้นอีก 6 เดือนจึงจะสามารถเลื่อนเป็น “ชั้นดี” และ “ชั้นเยี่ยม” ตามลำดับซึ่งต้องไม่ทำผิดกฎระเบียบใดๆ ของเรือนจำหรือมีการช่วยงานเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 มีการออกกฎใหม่ว่า ผู้ต้องขังที่มีโทษ 10 ปีหลังคดีเด็ดขาดแล้วต้องอยู่ในเรือนจำถึง 3 ปีจึงจะได้ “ชั้นกลาง” นั่นหมายความว่า เขาจะแทบไม่ได้รับการลดหย่อนโทษใดๆ เลยจากการพระราชทานอภัยโทษที่อาจจะมีขึ้นอีกในอนาคต  

ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ปัจจุบันถูกคุมขังมา 5 ปี 9 เดือนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาเป็นผู้ต้องหาไม่กี่คนที่ต่อสู้คดี 112 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุด สมยศถูกคุมขังเรื่อยมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณาคดีและ จนถึงปัจจุบัน เขายังเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ที่ทำสถิติยื่นประกันตัวมากที่สุด ราว 15-16 ครั้ง ใช้หลักทรัพย์ตั้งแต่ 4 แสน จนถึง 2 ล้านบาท เขาถูกกล่าวว่าเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นเขียนโดย “จิตร พลจันทร์” ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท