กัมพูชาตัดสินใจส่งแรงงานแม่บ้านไปทำงานมาเลเซียอีกครั้งในรอบ 6 ปี

รัฐบาลกัมพูชาได้ยกเลิกข้อห้ามในการส่งแรงงานหญิงไปทำงานแม่บ้านในมาเลเซีย หลังจากที่มีข้อห้ามมากว่า 6 ปี คาดแม่บ้านกลุ่มแรกเดินทางถึงมาเลเซียหลังวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี นี้

หน่วยงานภาครัฐของกัมพูชาได้ฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นแม่บ้านให้แก่หญิงที่มีความประสงค์เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยรัฐบาลกัมพูชาได้ยกเลิกข้อห้ามในการส่งหญิงไปทำงานแม่บ้านในมาเลเซีย หลังจากที่มีข้อห้ามมากว่า 6 ปี ที่มาภาพประกอบ: thrive-international.org

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Xinhua รายงานว่ารัฐบาลกัมพูชาได้ยกเลิกข้อห้ามในการส่งหญิงไปทำงานแม่บ้านในมาเลเซีย หลังจากที่มีข้อห้ามมากว่า 6 ปี หลังจากที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเคยออกกฎข้อห้ามดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2554 ในช่วงที่มีการรายงานเรื่องการละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนแม่บ้านชาวกัมพูชาจากนายจ้างชาวมาเลเซีย

Heng Sour โฆษกกระทรวงแรงงานกัมพูชาระบุกับสำนักข่าว Xinhua ว่ากัมพูชาและมาเลเซียกำลังจะบรรลุกระบวนการขั้นสุดท้ายที่จะเปิดตลาดแรงงานนี้อีกครั้ง นอกจากนี้เธอยังระบุว่าต้องขึ้นอยู่กับการเลือกของแรงงานกัมพูชาว่าพวกต้องการไปที่นั่นหรือไม่ และขึ้นอยู่กับความต้องการของนายจ้างในมาเลเซียด้วย

ด้านสำนักข่าว Bernama ของมาเลเซียของมาเลเซีย ระบุว่ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ระบุว่าแรงงานแม่บ้านกัมพูชากลุ่มใหม่กลุ่มแรกนี้จะเดินทางถึงมาเลเซียหลังวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี ที่เป็นการฉลองการสิ้นสุดของเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ปัจจุบันคาดการณ์กันว่ามีแรงงานชาวกัมพูชาลงทะเบียนทำงานในมาเลเซียราว 8,000 คน โดยประมาณ 3,000 คน ทำงานเป็นแม่บ้าน

อนึ่งข้อมูลจากโครงการจับตาอาเซียน (สกว.) เมื่อเดือน ส.ค. 2559 [1] ระบุว่าหญิงชาวกัมพูชาจำนวนมากจึงตัดสินใจเดินทางไปทำงานในต่างประเทศสาเหตุประการหนึ่งมาจากความยากจนและรายได้จากการทำงานภายในประเทศไม่เพียงพอ และเพื่อรายได้ที่มากขึ้น แต่ก็อาจต้องแลกกับการถูกกดขี่จากนายจ้าง และการสูญเสียความเป็นส่วนตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน แม้เธอมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะเดินทางไปงานที่ประเทศใด ไม่จำกัดเฉพาะมาเลเซียเท่านั้น แต่กลไกตลาดยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าแรงงานเหล่านี้จะสามารถย้ายไปทำงานในประเทศใดได้บ้าง

ทั้งนี้องค์กรฝึกอบรมแม่บ้านของกัมพูชา (Maid in Cambodia: MIC) ระบุผ่านเว็บไซต์ maidincambodia.com ว่า อัตราค่าจ้างที่ยุติธรรมควรอยู่ที่ 5,250 บาทต่อเดือน สำหรับการทำความสะอาดที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก มีสมาชิกไม่เกิน 4 คน ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน โดยทำงานเพียงครึ่งวันในแต่ละครั้ง และเพิ่มค่าจ้างเป็น 10,500 บาทต่อเดือน สำหรับที่พักและครอบครัวขนาดใหญ่ แต่มีสมาชิกไม่เกิน 10 คน โดย MIC นำหลักการมาจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 189 ที่กำหนดให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่นๆ เช่น ให้มีวันหยุด ชั่วโมงทำงาน รายได้ขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา จากข้อมูลในปี 2557 ระบุว่า อนุสัญญาฉบับนี้ มีเพียง 9 ประเทศในโลกเท่านั้นที่นำมาปฏิบัติตาม และหนึ่งในนั้นคือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นประเทศเดียวในเอเชีย

อย่างไรก็ดี เครือข่ายแรงงานผู้ทำงานบ้านของกัมพูชา ได้ร่วมงานกับสหพันธ์แรงงานผู้ทำงานบ้านนานาชาติ (International Domestic Workers Federation: IDWF) ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานแก่หญิงกัมพูชาที่จะเดินทางไปทำงานเป็นแม่บ้านในต่างประเทศ โดยเน้นถึงวิธีการในการสื่อสารกับนายจ้างให้ชัดเจนก่อนเดินทางไป เช่น ขอบข่ายงานที่รับผิดชอบ ระยะเวลาในการทำงาน รวมถึงความสะอาดปลอดภัยในการพักอาศัย หลังพบว่าแม่บ้านจำนวนมากไม่ได้ตกลงในเรื่องดังกล่าวก่อนเข้าปฏิบัติงาน

ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐของกัมพูชาจึงเร่งจัดฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นแม่บ้านให้แก่หญิงที่มีความประสงค์เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมส่งแรงงานเหล่านี้ไปยังมาเลเซียในปี 2560 ตามที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจ โดยทั้งสองฝ่ายต่างยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางสนับสนุนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของลูกจ้างว่าจะออกมาในรูปแบบใด หลายฝ่ายจึงหวั่นใจว่า อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ลูกจ้างจะถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบซ้ำเดิม ยังไม่นับรวมกระแสข่าวเก่าๆ เกี่ยวกับการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของแม่บ้านกัมพูชาในมาเลเซีย อันจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินความร่วมมือในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานแม่บ้านนี้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท