สลา คุณวุฒิ: ความ(ไม่)เปลี่ยนแปลงของวงการลูกทุ่งไทย

สัมภาษณ์พิเศษ สลา คุณวุฒิ ครูเพลงลูกทุ่งอีสานถึงเรื่องความความเปลี่ยนแปลง บนความไม่เปลี่ยนแปลงในวงการเพลงลูกทุ่งไทย หลังค่ายเพลงเล็กๆ ผงาดได้รับความนิยมจากคนฟังมากกว่า 100 ล้านวิว ครูเพลงชี้ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแค่ Youtube ทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน พร้อมระบุปัญหาโชว์เซ็กซี่เกินไปแค่ออกมาโวยวายแก้ไขไม่ได้

หากพูดถึงความนิยม หรือความโด่งดังของศิลปินเพลงลูกทุ่งสังกัดค่ายเพลงใหญ่ซัก 10-20 ปีก่อน สิ่งที่จะสามารถการันตีความมีชื่อเสียงที่ว่านั่นได้คือยอดขายเทปคาสเซ็ท หากศิลปินคนไหนได้ยอดทะลุล้านตลับนั่นคือขั้นหนึ่งของการประสบความสำเร็จของวงการศิลปินเพลง ตัวอย่างที่เห็นชัดและยากที่จะปฏิเสธได้ก็คือ ดอกหญ้าในป่าปูน ต่าย อรทัย , รักน้องพร สดใส รุ่งโพธิ์ทอง , สั่งนาง ของมนต์สิทธิ์ คำสร้อย , ปริญญาใจ ศิริพร อำไพพงษ์ , ยาใจคน ไมค์ ภิรมย์พร , ติด ร. วิชาลืม แอร์ สุชาวดี , ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ ตั๊กแตน ชลดา , กระเป๋าแบนแฟนทิ้ง เอกราช สุวรรณภูมิ และอีกหลายบทเพลงที่แปรเปลี่ยนจากยอดขายล้านตลับ กลายเป็นตราประทับที่ตอกแน่นลงไปกลางใจของแฟนเพลงหลายล้านคน

ก่อนที่การพัฒนาการทางเทคโนโลยีจะเปลี่ยนรูปแบบของการเพลงฟัง จากเทปคาสเซ็ทสู่ซีดี ดีวีดี mp.3 จนมาถึงยุคของการฟังออนไลน์ในเว็บไชต์เช่น ยูทูบ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การที่บทเพลง หรือศิลปินจะได้รับความนิยมได้ ปัจจัยหนึ่งที่เป็นแรงผลักคือช่องทางในการสื่อสารเช่น วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ และรายการทีวี ซึ่งผู้ที่จะเข้าถึงช่องทางเหล่านั้นได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร จึงเป็นเหตุให้ค่ายใหญ่เป็นแหล่งรวมศิลปินที่มีชื่อเสียงไว้จำนวนมาก

แต่เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ศิลปินที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมสูง กลับไม่ได้ถูกการันตีด้วยยอดขายอีกต่อไป หากแต่วัดจากยอดคลิ๊กเข้าชมในเว็บไซต์เป็นสำคัญ และเชื่อว่าในเวลานี้ ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน-คู่คอง ก้องห้วยไร่ , คำแพง แซ็ค ชุมแพ , ผู้สาวขาเลาะ ลำไย ไหทองคำ, มหาลัยวัวชน วงพัทลุง , สเตตัสถืกถิ่ม บอย พนมไพร จากที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้เป็นเพลงลูกในปัจจุบันที่มียอดคลิ๊กชมในยูทูบไม่น้อยกว่า 100 ล้านครั้ง และที่สำคัญบทเพลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากค่ายแพลงยักษ์ใหญ่เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต

นี่เป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ท่ามกลางแว่วเสียงวิจารณ์ว่า ค่ายใหญ่กำลังถูกล้อมโดยค่ายเล็ก หรือเรียกอีกแบบหนึ่งว่าค่ายอินดี้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้เป็นเรื่องใหม่หรือไม่ เป็นความท้าทายใหม่ในวงการเพลงหรือไม่ และมีแง่มุมใดให้น่าคบคิดพิจารณาบ้าง ประชาไทพูดคุยกับ ครูสลา คุณวุฒิ ครูเพลงผู้คลุกคลีอยู่กับวงการเพลงไม่น้อยว่า 35 ปี ซึ่งมีชื่อเสียงที่ถูกการันตีด้วยผลงานที่ได้รับความนิยมมากมาย และคงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมให้มากความว่าชื่อ สลา คุณวุฒิ คือใคร ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ เขาคิด เห็น หรือมองอย่างไรกับปรากฎการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ไม่ใหม่ แต่เทคโนโลยีทำให้มันเหมือนสิ่งที่พึ่งเกิด

ปรากฏการณ์การเกิดขึ้นเพลงที่มาจากค่ายเล็กและได้ความนิยมสูงในเวลานี้ ครูสลามองว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจากอดีตวงการเพลงมีทั้งศิลปินที่สังกัดค่าย และศิลปินใต้ดินมาโดยตลอด หากจะมีสิ่งที่ใหม่และทำให้แตกต่างออกไปก็คือ ช่องทางการนำเสนอผลงานแค่นั้น

เขาทำให้ภาพชัดขึ้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า ในยุคก่อนการที่ศิลปินจะมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ นอกจากมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีเอกลักษณ์ของตัวเองแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมตัวเองเข้าหาสื่อ เพราะการที่จะทำให้เพลงเพลงหนึ่งกระจายไปถึงชาวบ้าน หรือผู้ฟังต้องอาศัยสื่อหลักสามสื่อ โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และสื่อสิ่งพิมพ์ และผู้ที่สามารถเชื่อมตัวเองเข้าหาสื่อได้ก็กลายมาเป็นศิลปินที่มีคนรู้จักจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นศิลปินมีอยู่ทั่วไป และตัวศิลปินเหล่านั้นก็สร้างผลงานของตัวเองตลอดเวลาไม่ว่าจะยุคใดก็ตาม เพียงแต่ก่อนหน้านี้การเชื่อมตัวเองเข้ากับสื่อยังเป็นเรื่องที่จำกัด

“บางคนที่เก่งจริง ค่ายเพลงมองเห็นความสามารถ ก็มีค่ายเป็นสะพานเชื่อมโยงไปยังสื่อหลัก เมื่อผลงานตอบโจทย์ผู้บริโภคก็กลายเป็นธุรกิจ มันจึงเกิดขึ้นเป็นศิลปินสังกัดค่าย ค่ายใหญ่ ค่ายเล็กก็ว่ากันไป และศิลปินที่ไม่สังกัดค่าย ซึ่งเขาก็มีช่องทางสื่อสารกับกลุ่มเครือข่ายของเขาอยู่ เล็กๆ ไม่กว้างมาก สมัยนั้นเราเรียกว่าใต้ดิน แต่สมัยนี้เรียกกันใหม่ว่าอินดี้ และเหตุผลที่ความสำเร็จของศิลปิน มักจะมีชื่อค่ายแนบมาด้วยเสมอก็เพราะเหตุผลที่ครูเล่ามานี่แหละ เพราะค่ายเป็นสะพานเชื่อมไปหาสื่อใหญ่”

“เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีพัฒนามาจนถึงยุค 4G เว็บไซต์ยูทูบ (Youtube) มีระบบที่แข็งแรงมาก และไม่เคยมีมากก่อน การเชื่อมโยงเปรียบเทียบยุคนี้กับยุคก่อนมันเทียบได้ไม่แนบสนิทกันเสียทีเดียว เพราะความเป็นยูทูบหลอมรวมทุกอย่าง ในแง่หนึ่งมันเป็นทีวีที่เป็นลักษณะของทีวีส่วนบุคคลรวมถึงเป็นตัวรองรับทีวีจริงๆ ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เว็บไซต์เพื่อให้คนเลือกเสพในสิ่งที่ต้องการ และมากไปกว่านั้นคือมันสนองความแตกต่างที่มีอยู่ทั่วโลก มันไม่มีพรมแดน ที่สำคัญมันให้โอกาสคนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลงใหญ่ หรือคนทั่วไปซึ่งไม่มีทุนเลยก็ได้สิทธิเข้าไปอยู่ในยูทูบเท่ากัน”

สิ่งที่เกิดเขาเห็นว่า แทนที่คนจะมุ่งไปค่ายเพลง แต่คนกลับมุ่งไปที่ยูทูบแทน ซึ่งเป็นช่องทางที่นำเสนอผลงานง่ายกว่า และเผยแพร่ได้บ่อย ผลิตผลงานอะไรได้ก็ลงเลย ใครทำก่อนก็มีโอกาสให้คนเห็นก่อน ยิ่งไปกว่านั้นหากมีความลงตัวในการเป็นศิลปินยิ่งได้เปรียบคนอื่น และได้เปรียบค่ายใหญ่ตรงสามารถแพร่ผลงานได้ทุกวันได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นค่ายใหญ่เคลื่อนตัวช้า อาจจะเป็นเดือน หรืออย่างเร็วที่สุดอาจเป็นสัปดาห์กว่าจะได้เพลงหนึ่งเพลง

“มันอาจจะใหม่เพราะเทคโนโลยีเพิ่งเกิดขึ้น แต่ถ้าหากเราเอาเครื่องแบบของสังคมในปัจจุบันที่มีเครื่องมือครบครันไปไว้ในยุค 30 ปีก่อน มันก็จะมีปรากฏการณ์แบบนี้เช่นกัน นักร้องดังหลายคนอาจไม่ต้องมาสังกัดค่าย อาจจะไปที่ยูทูบและประสบความสำเร็จเลย... สมัยครูเรียนฝึกหัดครูก็รวมกลุ่มเพื่อน ตอนนั้นก็เป็นยุคอาจารย์จรัล ยุคน้าหงา คาราวาน ยุคครู แล้วก็มาเป็นยุคพี่ปู พงษ์สิทธิ์ คนเหล่านี้เริ่มจากการทำเพลงใต้ดินหมดเลย ลองคิดดูหากวันนั้นมีเทคโนโลยีแบบตอนนี้พี่ปูก็อาจจะมาเป็นแบบก้อง ห้วยไร่ ไม่ต้องมาหาค่ายเพลงอะไรต่างๆ เขาทำเสร็จเขาก็เอาลงยูทูบได้เลย”

เมื่อผู้บริโภคอยากลิ้มรสเพลงแนวใหม่ๆ และทุกคนเข้าใกล้สื่อมากขึ้น

“ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้มันเหมือนกับการที่คนเริ่มหันมากินของป่า เหมือนอย่างเราคนชนชั้นกลางมาห้างก็มาได้ แต่เวลาไปต่างจังหวัดก็ชอบแวะซื่อเห็ดริมทาง แวะร้านริมทางมากกว่าไปนั่งร้านใหญ่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอะไรจะดีกว่ากันนะ เพียงแต่ว่าบรรยากาศห้างใหญ่กลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยของผู้คนไปแล้ว วันนี้เค้าอาจชอบที่นั่งร้านแบบนี้ มันก็เล่นกลายเป็นกระแสอย่างที่เราเห็นนี่แหละ”

ปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนมองว่าค่ายเพลงอินดี้กำลังล้อมกรอบค่ายใหญ่ แต่เขาเห็นว่านี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือช่องทางการสื่อสารนั้นอยู่ใกล้กับคนทำงานมากขึ้น เมื่อ Youtube เอื้อต่อศิลปินที่กระจายกันอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หลายคนจึงมองว่าค่ายอินดี้ถล่มค่ายใหญ่ ซึ่งเขาเห็นว่า ไม่เป็นธรรมทางความรู้สึกสักเท่าไหร่ เพราะปัจจุบันไม่ใช่การแบ่งว่าเป็นค่ายใหญ่กับค่ายอินดี้(ใต้ดิน) แต่มันคือค่ายเล็กกับค่ายใหญ่ เพราะกระบวนการผลิตเหมือนกัน ซึ่งแต่ก่อนต้นทุน เครื่องมือในการผลิตต้องใช้ทุนสูง แต่ทุกวันนี้ปรากฏว่าแค่สมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องก็สามารถถ่ายมิวสิควิดีโอได้แล้ว อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่า การมีเทคโนโลยีการสื่อสารเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการเพิ่มช่องทางที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้

การโชว์เซ็กซี่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากอยู่ในกรอบของศิลปะ

แม้ครูสลา จะเห็นว่า การเกิดขึ้นของยูทูบเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังมีแง่ลบอยู่คือยูทูบยังไม่มีตะแกรงกรองเนื้อหาที่เผยแพร่ ซึ่งอาจจะส่งปัญหาอยู่บ้าง เช่นเรื่องความเหมาะโดยเฉพาะในแง่ของการแสดงโชว์ และในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ

“เรื่องของสิทธิ์เป็นอันดับแรกของปัญหา ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของผลงานแต่เอางานผู้อื่นไปลงเผยแพร่ มันเป็นการละเมิดอย่างเป็นทางการและเปิดเผยมากในปัจจุบัน เช่นการเอาเพลงดังๆ หลายเพลงมาสร้างเพลลิสต์ใหม่โดยไม่ขออนุญาตเจ้าของเพลง และมียอดเข้าชมหลักหมื่น หลักแสน หรืออาจเป็นล้าน และได้รายได้จากตรงนั้น นี่ขนาดเป็นเรื่องของสิทธิ์เรายังไม่มีตะแกรงเลย”

“ส่วนในเรื่องของการแสดงเป็นจุดที่ยากจะชี้ชัด บางคนแต่งเซ็กซี่แล้วก็พอเข้าใจได้ แต่บางคนเหมือนจงใจที่จะแต่งแบบนั้นแสวงหาความดังอย่างเดียว อย่าช่วยกันด่า ยิ่งด่ายิ่งดัง อาจจะขอความร่วมมือ ส่วนการจะลงรายละเอียดของความเหมาะสมมันยาก เพราะเพลงแต่ละสไตล์มันต่างกัน หากไปวิจารณ์เลยอาจจะโดนกระแสตีกลับเพราะเราอาจไม่รู้จริงในด้านนั้น เช่นบางคนที่ครูรู้จัก อย่างที่เป็นประโคมข่าวกันอยู่ตอนนี้ก็คือ ลำไย เขาก็เคยมาหาครู เขาก็เป็นเด็กสู้ชีวิต แต่การแสดงออกของเขาก็ไม่รู้ว่ามันประมาณไหน รู้แค่ว่าทำอย่างไรถึงจะได้งาน หรือยกตัวอย่างลำซิ่งก็ได้ หากครูไปวิจารณ์ว่าเขาโป๊เกินไป เขาก็ตอบกลับมาถ้าไม่ทำอยากนี้ชาวบ้านก็จะไม่ดู ไม่มีใครจ้างงาน แล้วอยากนี้เราจะตอบเขาอย่างไร ปัญหามันก็วนอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นความแยบยลของผู้มีอำนาจนั่นแหละ เป็นเรื่องที่สังคมควรหันหน้าไปหา และถามว่าคุณควรจะทำอะไร เพราะมีอำนาจอยู่ในมือ”

อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่า ความเหมาะสมของการแสดงโชว์ของศิลปินนั้นก็ควรอยู่ในกรอบของศิลปะ ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่ความดังอย่างเดียว ซึ่งจริงๆ แล้วความเป็นศิลปะไม่ได้บอกให้ห้ามโป๊ บางทีความเซ็กซี่หน่อยๆ หากอยู่ในขนบของศิลปะก็น่ามอง เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดต่อไปถึง ตัวละครจักรๆ วงษ์ๆ หรือนางในวรรณคดีก็ยังมีการเปลือยอก แต่ก็เป็นเสน่ห์ หรือหนังฮอลลีวูด หนังรางวัลที่โด่งดังหลายเรื่องก็ยังต้องมีฉากเลิฟซีน

การโวยวายเรื่องโชว์โป๊เกินไปไม่ใช่ทางแก้ สิ่งที่ทำได้คือการทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือ

สำหรับเรื่องการแสดงของศิลปินในปัจุบันที่มีหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการโชว์เซ็กซี่ หรือโป๊มากเกินไป ครูสลา เห็นว่า การออกมาโวยวายแต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ใช่ทางแก้ และนอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขแล้วยังไปส่งเสริมความดังให้เพิ่มมากขึ้นอีก เขาเห็นว่าทางแก้ที่ง่ายที่สุดคือ การทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นออแกไนเซอร์ ผู้จ้างงาน หรือศิลปิน มาตกลงกันแบบง่าย ศิลปินผู้สร้างงานก็จะตระหนักเองว่าแบบนี้ทำไม่ได้

“หากพูดถึงแนวทางแก้ไขมีแนวทางคือรัฐ ยิ่งในยุคแบบนี้ยิ่งแก้ไขง่าย แทนที่การว่ากล่าวจะเป็นทางแก้ไขกลับเป็นการเติมความดัง การที่แก้ไขแบบง่ายคือเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นออแกไนเซอร์ ผู้จ้างงาน หรือศิลปิน มาตกลงกันแบบง่าย ศิลปินผู้สร้างงานก็จะตระหนักเองว่าแบบนี้ทำไม่ได้ เพราะจะไม่มีงานจ้าง อย่างสื่อเองที่รู้ว่าใครถูกด่า หรือกำลังเป็นกระแสก็เชิญมาออกรายการยิ่งทำให้เค้าดัง ครูมองว่าภาครัฐสามารถที่จะคุย ปรับแก้กับคนแค่สามสี่กลุ่มได้ ดีกว่าออกมาพูดว่าทำอย่างนั้นทำไม? ตรงนี้ครูไม่ได้ต้องการให้รัฐเข้ามาควบคุมนะ แต่อยากให้แก้ไขให้ถูกจุด เพียงแค่คุยกับผู้จ้างงาน รวมถึงถามและฟังเหตุผลของศิลปินก่อน บางคนก็คิดแค่ว่าทำยังไงก็ได้ขอให้ดัง ขอแค่มีงานจ้างต่อสู้ดิ้นรน จนลืมมองไปว่าการแสดงมันเกินคำว่าศิลปะ”

ภาษาสองแง่สองง่ามไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ความท้าทายใหม่ของคนแต่เพลง และกระแสเพลงอีสานกลางกรุง

เมื่อถามถึงในแง่ของเนื้อหา และความสละสลวยของภาษา จากเดิมที่เคยมีแต่ค่ายใหญ่เป็นผู้คัดกรอง แต่ในปัจจุบันศิลปินสามารถส่งตรงผลงานสู่ผู้ฟังได้เลยโดยไม่ต้องผ่านค่ายใหญ่ เขาเห็นว่าเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนไป ทุกอย่างเป็นอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ยุคก่อนก็จะมีเพลงที่มีความสองแง่สองง่ามมาตลอด เพียงแต่การมีค่ายเพลงก็เหมือนกับการมีตะแกรงกลั่นกรอง แต่ทุกวันนี้ศิลปินทำเสร็จแล้วก็ส่งผลงานให้คนฟังได้เลย คล้ายกับการมีเทคโนโลยีทำให้เห็นสิ่งที่เป็นอยู่ได้มากขึ้นเท่านั้น

“ครูมองว่า มันไม่ใหม่ แต่มันมีให้ฟัง ให้เห็นเยอะมากกว่า คือถ้าเราอ่านขุนช้างขุนแผน ก็จะรู้ว่าอารมณ์ของคนมันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ยุคขุนช้างขุนแผนแล้ว เพียงแต่ว่ายุคนี้มันทำให้เราเห็นได้ง่ายขึ้นเท่านั้น มันก็ดูเยอะในความรู้สึกของคน คนก็รู้สึกว่า ทำไมเด็กยุคนี้มันอะไรต่างๆ นาๆ แต่จริงๆ ยุคก่อนก็เป็น เพียงแค่แสดงออกให้คนเห็นมากๆ ไม่ได้ แต่ยุคมันง่าย และทำได้เลย แต่ยุคก่อนเพลงพื้นบ้านกลอนฉ่อย หมอลำกลอน นิทานก้อม ก็ยังมีเรื่องใต้สะดือเป็นว่าเล่น แต่ฟังยังไงก็เป็นศิลปะ ไม่ได้จงใจแบบทุกวันนี้ที่มันก้าวไปสู่ความอนาจารมากขึ้น”

“สมัยนี้เพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนบริบททางสังคมยังคงมีอยู่ แต่สู้กระแสเพลงยุคนี้ไม่ได้ ก็ยังเชื่อว่าสิ่งที่มาเร็วก็มักจะไปเร็ว โดยการคัดกรองของคนฟังเอง ส่วนเพลงที่มีคุณภาพอาจเติบโตช้าแต่อยู่ได้นาน ในการสร้างสรรค์ผลงานก็ถือว่าท้าทายเสมอ สำหรับครูเราก็ต้องทำผลงานให้คนฟังยอมรับให้ได้ ในยุคนี้ พ.ศ. สิ่งไหนที่มันดี และสิ่งที่ครูต้องครูปรับ ครูก็ต้องปรับเหมือนกัน มันก็สนุกดี ท้าทายดี เพราะว่างานศิลปะปลายทางไม่ใช่ค่าตอบแทน ปลายทางของความสุขจริงๆ คือการสร้างงานที่มีคุณภาพ และประสบความสำเร็จ หากเราศึกษาจริงๆ จะพบว่าทุกอย่างมันเหมือนเดิม เพียงแต่โครงสร้างของเทคโนโลยีเปลี่ยน มันก็เป็นความท้าทายที่เราต้องยืนยันความเป็นตัวเอง”

สำหรับเพลงลูกทุ่งอีสานที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ครูสลามองว่า เป็นพัฒนาการที่ดี โดยเด็กรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ที่พยายามจะปรับเปลี่ยนการทำเพลงให้เขากับวัฒนธรรมป๊อป และเห็นว่าการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ไม่ใช่การละทิ้งหรือลืมรากของตัวเอง แต่กลับยิ่งทำให้คนได้เข้าถึงเพลงอีสาน วัฒนธรรมอีสานมากขึ้นไปด้วย

“มันเป็นพัฒนาการที่ดี คือในสมัยก่อนถ้าหากว่าเราเป็นเพลงหมอลำเราก็จะอิงลายหมอลำทั้งดุ้น อย่างลายเต้ย ลายต่างๆ แต่บางคนเขาก็รู้สึกว่าเรากินบ่อยจนอิ่มแล้ว และอยากจะลองรสชาติใหม่ๆ ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ๆ เขาก็มีความคิดสร้างสรรค์ น้องๆ ที่ทำผู้บ่าวไทบ้าน อะไรต่างๆ กู่แคน ก้อง ห้วยไร่ และคนอื่นๆ พวกคลื่นลูกใหม่ เขามีความสร้างสรรค์ เขาเอามาผสมกัน คือตัวตนเขายังรักหมอลำอยู่ ยังรักอะไรที่มันเป็นอีสาน แต่รสชาติต่างหากที่เขาพยายามปรุงใหม่ โดยเปลี่ยนที่จังหวะ แทนที่จะเอาลำเต้ยมาทั้งดุ้นแบบยุคก่อนๆ ซึ่งก็เพราะอยู่แล้ว แต่เขาก็หยิบโครงสร้างของดนตรีเพื่อชีวิต ป๊อป แล้วใส่เมโลดีของอีสานเข้าไป มันก็กลายเป็นรสชาติใหม่ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดี และทำให้ใครๆ ก็เสพงานบ้านเราได้อย่างลงตัว และกลมกลืน คนฟังก็ไม่เขินเวลาฟังเพลงแบบนี้ บางคนฟังไม่เข้าใจแต่ก็ชอบฟัง เหมือนที่เราบางคนชอบฟังเพลงฝรั่งนั่นแหละ และมันไม่ได้เป็นการทิ้งของเก่า มันเป็นการสร้างสรรค์ มันไม่หยุดอยู่กับที่หรอก งานศิลปะมันเคลื่อนไปกับยุคสมัยเสมอ ยุคทูล ทองใจ สายัณห์ สัญญา ยุคครูไพบูลย์ หรือแม้กระทั้งที่ครูเขียน มันก็ประยุกต์มาเรื่อยไม่เคยอยู่กับที่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท