Skip to main content
sharethis

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุไม่เชื่อแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะเป็นเครื่องมือกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้านอลงกรณ์ พลบุตร ชี้มียุทธศาสตร์ไว้ทำให้ประเทศเดินหน้าอย่างมีทิศทางไม่สะเปะสะปะ และสามารถปรับแก้ได้ทุกๆ 5 ปี

28 มิ.ย. 2560 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การจัดยุทธศาสตร์ชาติ อาจขัดแย้งรัฐธรรมนูญว่า เป็นความคิดเห็นของ วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แต่เท่าที่สอบถามภายในพรรคเห็นตรงกันว่า การมีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม การให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งในกระบวนการร่างกฎหมาย และตอนจัดทำยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ค่อนข้างน้อยมาก ซึ่งรัฐบาลอาจอ้างเรื่องระยะเวลาที่ถูกจำกัด ถ้าไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ยุทธศาสตร์นั้นจะเป็นของผู้เขียน

"ผมไม่ค่อยเชื่อในแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะผมเห็นว่าโลกปัจจุบันนี้ทำอย่างนั้นยากมาก แต่เมื่อมีก็ต้องหาทางให้เกิดเจตนารมณ์ร่วมของสังคม ยุทธศาสตร์จึงจะเดินได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวจะต้องเสนอเหมือนกฎหมาย ที่ต้องส่งให้ ส.ส และ ส.ว.พิจารณาด้วย แต่วันนี้มีเพียงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คำถามคือ สนช.จะสามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังแสดงเจตนาชัดที่จะจำกัดการมีส่วนร่วมอีกด้วย โดยกำหนดว่าในกรณีเลือกตั้งเร็ว สนช.หมดวาระ ก็ไม่ให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา แต่ให้ ส.ว.ชุดแรกพิจารณาแทน ซึ่ง ส.ว.ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" อภิสิทธิ์กล่าว

อภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะใช้กำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกำกับนโยบายของพรรคการเมืองซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับผู้ร่างยุทธศาสตร์มอง สำหรับกรณีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น อาจมองได้ว่าอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของตัวแทนปวงชนชาวไทย เพราะสร้างระบบขึ้นมาตีกรอบให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในอีกมุมอาจมองได้อีกว่าไม่ขัด เพราะเป็นรัฐธรรมนูญเหมือนกัน มีการกำหนดให้ทำยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นภาระจึงตกหนักที่ผู้ร่างฯ ยุทธศาสตร์ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ และไม่เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลชุดต่อๆ ไป ซึ่งเขามีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาของประเทศ และบางครั้งต้องใช้นวัตกรรมในเชิงนโยบาย

ขณะที่ อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) คนที่หนึ่ง กล่าวถึงกระแสที่ว่ายุทธศาสตร์ชาติจะบังคับรัฐบาลในอนาคตให้ทำตามจนไม่สามารถกำหนดนโยบายใหม่ๆ ได้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่การมัดมือมัดเท้ารัฐบาลในอนาคตจนทำอะไรไม่ได้อย่างที่กังวล แต่ในทางตรงข้ามจะทำให้ประเทศเดินหน้าอย่างมีทิศทางไม่สะเปะสะปะ   โดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นทบทวนทุก 5 ปีและเปลี่ยนแปลงได้ หากรัฐบาลในอนาคตต้องการปรับยุทธศาสตร์ชาติ ก็สามารถเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบได้ ส่วนข้อกังวลเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น  กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติบัญญัติให้ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว

รองประธาน สปท. คนที่หนึ่ง กล่าวต่อไปว่า ตนเข้าใจและเห็นใจนักการเมืองและนักวิชาการบางส่วนที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยแต่กังวลจะปฏิบัติยากในเรื่องพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เพราะยังติดกรอบความคิดและการบริหารแบบเดิมๆ ทั้งนี้ ควรเข้าใจว่าเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การบริหารประเทศก็จำเป็นต้องมีทิศทาง และดำเนินการภายใต้เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ  

ที่มาจาก: ประชาชาติ , เว็บข่าวรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net