สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 16-22 ก.ค. 2560

 
กนอ.สั่งปิดโรงงานเอ็นบีซี 30 วัน
 
16 ก.ค. 2560 นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 ได้รับรายงานจากสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ว่า เมื่อเวลา 11.45 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในโรงงาน ของบริษัท เอ็นบีซี (เอเชีย) จำกัด ผู้ผลิตสีพลาสติก ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ตำบลพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เบื้องต้นพบว่าเหตุเกิดบริเวณห้องผสมสี ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงานประมาณ 30 คน และพนักงานในที่เกิดเหตุเล่าว่าขณะกำลังทำงานมีไฟฟ้าช็อต ทำให้เกิดประกายไฟไปถูกสีและทินเนอร์เป็นผลให้เกิดแรงระเบิดและเกิดเปลวไฟ โดยระบบดับเพลิงอัตโนมัติของโรงงานทำงานควบคุมเพลิงได้ แต่เกิดกลุ่มควันจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ฉุกเฉินประจำนิคมฯ และหน่วยงานท้องถิ่นร่วมระบายควันและค้นหาผู้สูญหาย หลังเกิดเหตุพบว่ามีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย
 
ทั้งนี้ กนอ.ได้มีคำสั่งตามมาตรา 39 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ให้บริษัท เอ็นบีซี (เอเชีย) จำกัด หยุดประกอบกิจการโรงงานในส่วนพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขและจัดหา Third Party เพื่อดำเนินการตรวจสอบประเมินหาสาเหตุและกำหนดแผนการปรับปรุงแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาวเสนอต่อ กนอ. โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
 
สำหรับการดำเนินงานขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานไปยังหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กองพิสูจน์หลักฐาน และนายอำเภอพานทอง เพื่อเข้าร่วมตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดเพลิงใหม้วันที่ 17 กรกฎาคมนี้ ขณะเดียวกันการติดตามตรวจสอบเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ กนอ.และเจ้าหน้าที่ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครร่วมกันหารือกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ เพื่อตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้น และขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดในพื้นที่เกิดเหตุให้ชัดเจนอีกครั้ง สำหรับพนักงานบริษัทผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ บริษัท เอ็นบีซี (เอเชีย) จำกัด เข้าไปเยียวยาและให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อไป
 
 
สปส.ย้ำขยายอายุรับเงินชราภาพ 55 เป็น 60 เปิดให้เลือกตามต้องการ
 
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจง กรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ไม่เห็นด้วย กับการขยายอายุรับเงินบำนาญชราภาพขยายอายุการรับเงินบำนาญชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปีว่า การขยายอายุมีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพจากอายุ 55 ปี ถึง 60 ปี ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นการขยายโอกาสการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ สนับสนุนให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และคาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายการใช้เกณฑ์อายุใหม่ผู้ประกันตนที่อายุไม่ถึง 60 ปี จะได้สิทธิรับเงินชดเชยจำนวนหนึ่ง
 
นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคม ได้มีการคิดวิเคราะห์รูปแบบระบบการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้นแนวทางที่ใช้ในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุเพื่อเตรียมการวางแผนการบริหารกำลังแรงงานในอนาคต เช่น การขยายอายุมีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ การขยายฐานค่าจ้างและการปรับวิธีคำนวนเงินบำนาญ เป็นต้น จะใช้เป็นคำถามในการสัมนาประชาพิจารณ์ 4 ภาคเป็นอย่างน้อย (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2560) โดยเชิญผู้ประกันตน ตัวแทนสภาพอุตสาหรรม สภาหอการค้าไทย สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง ให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยชี้แจงให้คณะอนุกรรมการประกันสังคมจังหวัดทราบแนวทางเบื้องต้นก่อน ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาว่าจะขยายอายุอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่ หากมีมติแล้วจึงจะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาต่อไป
 
อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมยืนยันแนวทางการขยายอายุเกษียณแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ขึ้นกับผลการประชาพิจารณ์และให้ผู้ประกันตนยังคงเลือกรับบำนาญชราภาพตามความประสงค์ต่อไป
 
 
ธุรกิจดิ้นแก้ปมแรงงานขาด โยกคน-จ้างนศ.พาร์ตไทม์
 
บริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวงานล้นมือ โรงงาน-ก่อสร้าง-ร้านอาหาร ยันแม่บ้าน รุมใช้บริการเพียบ เผยคนงานเมียนมา-กัมพูชาที่กลับประเทศไปมีทางเลือก บริษัทรุมตอม ทำเอ็มโอยูกับรัฐบาล ส่งไปทำงานญี่ปุ่น-เกาหลี รายที่สมัครใจจะกลับมาทำงานในไทยคาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน “อิตัลไทย” ใช้วิธีโยกคนงานจากไซต์แล้วไปช่วย ด้านร้านอาหารเร่งหานักศึกษาทำพาร์ตไทม์แก้คนขาด
 
การใช้ยาแรง ด้วยการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มีบทลงโทษที่หนักและรุนแรง ซึ่งส่งผลให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างไม่ถูกต้อง และแรงงานเถื่อนจำนวนมาก ต้องเดินทางกลับประเทศเพื่อไปตั้งหลักใหม่ และอีกด้านหนึ่งก็กระทบธุรกิจเนื่องจากขาดแรงงาน โดยเฉพาะธุรกิจประมงและแปรรูป ก่อสร้าง โรงงาน การเกษตร ที่ขณะนี้ต้องเร่งนำแรงงานเข้ามาใหม่เพื่อทดแทนแรงงานที่กลับประเทศไป โดยใช้บริการของบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่มีอยู่ 81 บริษัททั่วประเทศ
 
นายประมวล กุสุมาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จ๊อบ ดินเตอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากความต้องการแรงงานต่างด้าวที่มีมากขึ้นในช่วงนี้ ส่งผลให้บริษัทนำเข้าแทบทุกแห่งมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจหลาย ๆ อย่างที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวติดต่อเข้ามาและให้หาแรงงานต่างด้าวให้ เช่น โรงงานแปรรูปพลาสติกที่ให้บริษัทหาคนงานให้ ต้องการแรงงานต่างด้าว 100-200 คน เป็นต้น
 
“อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปการจะหาแรงงานจากเมียนมา หรือกัมพูชา อาจทำได้ยากขึ้น เพราะแรงงานที่กลับประเทศไปส่วนหนึ่งจะมีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ญี่ปุ่น เกาหลี ได้เข้าไปทำเอ็มโอยูกับรัฐบาลเมียนมา และกัมพูชา เพื่อจะส่งไปทำงานในประเทศของตน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ช่วยซัพพอร์ตทั้งการฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายการเดินทาง และที่สำคัญค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงกว่าบ้านเรา หรือคนที่กลับไปแล้ว การที่เขาจะกลับเข้ามาทำงานในไทยอีก ก็จะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง” นายประมวลกล่าว
 
ขณะที่ นายพงศกร ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส จำกัด กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ตอนนี้ปริมาณงานของบริษัทมีมากขึ้น โดยเฉพาะงานเรื่องการทำเอกสารให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการขอให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน ตั้งแต่งานแม่บ้าน ร้านอาหาร โรงงาน ตลอดจนบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และแต่ละรายมีความต้องการมากน้อยที่แตกต่างกันไป ซึ่งบริษัทเน้นการนำเข้าแรงงานในภาคการก่อสร้างเป็นหลัก
 
“การตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวที่กรมการจัดหางานตั้งขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และหลาย ๆ จังหวัด จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างด้าวได้ แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะสามารถทำเอกสารได้รวดเร็วมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยจะใช้เวลา 2-3 เดือน”
 
ด้านนายสุชิน พึ่งประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ กรุ๊ปเซเว่น เซอร์วิส จำกัด แสดงความเห็นว่า แม้ว่าบริษัทนำเข้าจะมีธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการใช้แรงงานต่างด้าวติดต่อเข้ามาจำนวนมาก แต่กฎหมายใหม่ทำให้บริษัทนำเข้ามีภาระหรือต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมาตรา 28 ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของต่างด้าว กำหนดให้ผู้ขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ต้องวางหลักประกันไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท เพื่อประกันความเสียหาย
 
ดังนั้นบริษัทรายเล็กจะมีภาระต้นทุน ขณะเดียวกันก็มีภาระเพิ่มขึ้นเช่น ต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างทุกเดือน
 
นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวว่า บริษัทกำลังประสบปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนมากขึ้น เนื่องจากมีงานมาก ทั้งโครงการระดับกลางถึงโครงการใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2
 
ต้องการจะใช้แรงงานอีก 300-400 คน และอาจจะทำให้การก่อสร้างล่าช้าบ้าง จึงแก้ปัญหาโดยโยกคนจากไซต์ที่เสร็จแล้ว เช่น สีน้ำเงินต่อขยายไปไซต์สายสีส้ม หรือสุวรรณภูมิแทน นอกจากนี้จะรับสมัครแรงงานไทยเพิ่ม และนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่ม จากปัจจุบันใช้ทั้งเมียนมา ลาว เขมร 3,000-4,000 คน
 
นางลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบมาก เพราะใช้แรงงานต่างด้าวกว่า 70% ของแรงงานทั้งหมด แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 20% จึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหาแรงงานพาร์ตไทม์เข้ามาทดแทน ทั้งเปิดรับนักศึกษาเข้ามาทำงานและติดต่อหาพนักงานผ่านกรมการจัดหางาน ส่วนระยะยาว สมาคมจะเป็นสื่อกลางที่จะจัดหาแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น
 
นายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขนข้าวขาดขณะนี้ บริษัทผู้ส่งออกข้าวส่วนใหญ่ประสานบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวขอนำแรงงานเพิ่มและทดแทน แต่ยังไม่สามารถแทนแรงงานที่กลับไปได้ทั้ง 100% รอแรงงานกลุ่มที่ออกไปทำเอกสารกลับมา
 
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันภาคเกษตรไทยยังใช้แรงงานเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทยอยปรับตัวหันมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานบ้างแล้ว แต่คนที่ทำงานในภาคการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว หากขาดแรงงานจะมีผลต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต สินค้า ซึ่งผู้ผลิตกังวลมาก ต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง
 
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวถึงผลกระทบจาก พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานแรงงานของคนต่างด้าว ต่อบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ว่า หลัก ๆ มี 2 ส่วน คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและภาวะการผลิตที่อาจเกิดการชะงักจากการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะหมายถึงการส่งมอบสินค้าที่อาจทำไม่ได้ และหลัก ๆ จะกระทบกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มอสังหาฯ และกลุ่มเกษตร-อาหาร อย่างไรก็ตาม แม้ระยะสั้นอาจมี บจ.ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้บ้าง แต่คาดว่าจะไม่ถึงขั้นต้องปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิ บจ.ปีนี้ที่คาดไว้ระดับ 9.9 แสนล้านบาท เพราะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบนั้นส่วนใหญ่มีน้ำหนักต่อกำไรรวมของ บจ.ค่อนข้างน้อย ประกอบกับที่ผ่านมาหลายแห่งได้ปรับตัว เช่น การไปขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้อง และใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้น
“การขาดแรงงานที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อโครงการเร่งลงทุนของภาครัฐ โครงการก่อสร้างของภาครัฐอาจล่าช้าออกไป รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจก็อาจล่าช้าไปด้วย”
 
ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ราว 4 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของแรงงานในประเทศไทยที่มีเกือบ 40 ล้านคน การขาดแคลนแรงงานดังกล่าวอาจกระทบถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงอนาคตข้างหน้าได้ โดยเฉพาะหากครบกำหนด 180 วันแล้วแรงงานต่างด้าวกลับมาไม่ครบ สิ่งที่กังวลจากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ลดลงอาจฉุดให้กำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัวตามไปด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเราพึ่งแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้ส่งเงินกลับไปประเทศเขาทั้งหมด แต่บางส่วนก็นำมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยด้วย
 
 
สหภาพ ขสมก.กว่า 300 คน เดินหน้าคัดค้านการปฏิรูปเส้นทางเดินรถ
 
นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. เปิดเผยว่าในวันนี้ตัวแทนสหภาพแรงงาน ขสมก.และพนักงาน ขสมก. กว่า 300 คน จะเดินทางไปยื่นหนังสือให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก คัดค้านการปฏิรูปเส้นทางเดินรถ ขสมก.ใหม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน
 
โดยได้คัดเลือก 138 เส้นทาง จากทั้งหมด 259 เส้นทาง ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่ ขสมก.เดินรถอยู่แล้ว แต่กรมการขนส่งทางบก ไม่ยอมรับข้อเสนอ รวมทั้งไม่ต่อสัญญาออกไปเป็น 7 ปี มองว่าเป็นการยุบ ขสมก.ทางอ้อม โดยเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเข้ามาผูกขาด โดยมีข้อมูลว่า เอกชนบางรายพยายามล็อบบี้บริษัทเดินรถขนาดเล็กเพื่อประมูลเส้นทาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ให้ ขสมก.คานอำนาจกับเอกชน
 
 
วิจัยหนุนขยายเกษียณ-เพิ่มสมทบ หยุดประกันสังคมล่ม
 
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญา และสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า สนับสนุนรายงานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ ที่เรียกร้องให้ไทยขยายเกณฑ์อายุเกษียณผู้ประกันตน หรือลูกจ้าง จากเดิมกำหนดที่ 55 ปี เป็นรูปแบบขั้นบันได
 
หลังสภาพกองทุนประกันสังคม ในส่วนของชราภาพเสี่ยงติดลบในอีก 28 ปี เนื่องจากต้องจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตนต่อเนื่อง ขณะที่การจ่ายสมทบของผู้ประกันตน หรือลูกจ้างรุ่นใหม่ก้าวไม่ทัน ยืนยัน ไม่ควรขยายแบบทันที เพราะจะกระทบต่อแรงงานที่เตรียมเกษียณ
 
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญา และสารสนเทศ ยังเรียกร้องให้รัฐแก้กฎหมายประกันสังคม โดยเพิ่มอัตราสมทบรวมจากเดิมร้อยละ 5 ต่อเดือน เป็นการเพิ่มแบบขั้นบันได เพื่อระดมเงินเข้ากองทุน ลดความเสี่ยงสภาพติดลบ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่
 
นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อผู้ประกันตนเอง เนื่องจากเป็นกลไกเพิ่มเงินออม ที่คุ้มค่าสำหรับอนาคต คล้ายกับการสร้างสังคมรัฐสวัสดิการ จึงเรียกร้องให้ผู้ประกันตนเข้าใจ แม้จะต้องจ่ายเงินชดเชยมากขึ้น แต่เงินเหล่านี้จะออกดอกผลกลับคืน
 
ก่อนหน้านี้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO มอบข้อมูลวิจัยให้สำนักงานเลขาธิการประกันสังคม โดยระบุผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์ สะท้อนความจำเป็นที่กองทุนประกันสังคมต้องปรับตัว หลังอาจเกิดภาวะติดลบ ไม่มีเงินจ่ายผู้ประกันตนในอีก 28 ปี
 
งานวิจัย ILO สนับสนุนให้ไทย ยืดระยะเวลาเกษียณแบบเป็นขั้นบันไดจาก 55 ปี ไปต่อเนื่อง 60 ปี ชะลอการจ่ายเงิน ยืดระยะเวลาผู้ประกันตนในระบบ เพิ่มอัตราสมทบให้สอดคล้องกับนานาประเทศ จากร้อยละ 5 สู่ ร้อยละ16.4 ในอีก 38 ปี ที่สำคัญต้องป้องกันนโยบายทางการเมืองแทรกการบริการกองทุน ที่เน้นประชานิยม ลดอัตราสมทบ
 
สำหรับกรณีชราภาพ หนึ่งในส่วนย่อยกองทุนประกันสังคม ก่อตั้งเมื่อปี 2541 หลังพระราชบัญญัตติประกันสังคมบังคับใช้เมื่อปี 2533 กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง ร่วมกันจ่ายสมทบ คล้ายกับการออมเงินในธนาคาร ระหว่างนี้คณะกรรมการกองทุนจะนำเงินไปลงทุนสร้างผลกำไร และจะจ่ายบำเหน็จ หรือบำนาญเมื่อเกษียณผู้ประกันอายุครบ 55 ปี
 
ขณะนี้มีผู้ประกันตนในระบบกว่า 11 ล้าน กองทุนเริ่มจ่ายเงินตอบแทนครั้งแรกในปี 2557 เป็นเงิน 8 พัน 270 ล้านบาท หลังจากนั้นยังคงจ่ายเงินบำนาญต่อเดือน และจ่ายตอบแทนให้กับลูกจ้างที่เกษียณในแต่ละปีอีก ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงติดลบ
 
ก่อนหน้านี้แกนนำเครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กังวลว่า มาตรการดังกล่าวหากทำอย่างเร่งด่วนจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแรงงาน เสมือนเป็นการละเมิดสัญญาโดยเฉพาะเมื่อพวกเขาตั้งใจจะเกษียณใน 1 ถึง 2 ปีนี้
 
ล่าสุดประธาน และเลขาธิการกองทุนประกันสังคม ระบุว่า แนวคิดทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยสำนักงานพร้อมจ่ายเงินที่พึงได้รับก่อน ตามความตั้งใจเกษียณเดิม
 
 
มาเลเซียจับแรงงานไทยลักลอบทำงานกว่า 100 ราย ก.แรงงานย้ำไปทำงานให้ไปอย่างถูกต้อง
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แจ้งว่า กรมการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มาเลเซียประกาศว่าได้เริ่มปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอย่างเข้มงวดหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Kad) ผ่อนผันให้กับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ไม่มีหนังสือเดินทาง ตามโครงการ Rehiring Program เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยในช่วงวันที่ 1-10 กรกฎาคม 2560 สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้จำนวน 3,014 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนไทย จำนวน 111 คนและดำเนินคดีนายจ้างแล้ว 57 ราย ทั้งนี้ ตม.มาเลเซียยังย้ำอีกว่าปฏิบัติการตรวจค้นและจับกุมอย่างเข้มงวดในครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่มีกำหนดสิ้นสุด
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานจึงขอแนะนำให้คนไทยในมาเลเซียทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างรีบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายมาเลเซีย และขอย้ำเตือนผู้ที่ประสงค์จะไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียให้ไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่าลักลอบเข้าไปโดยเด็ดขาด เนื่องจากการเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียในทุกอาชีพและทุกประเภทจะต้องได้รับอนุญาตให้ทำงาน (work permit) ซึ่งหากพบว่าเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จะมีโทษรุนแรง ปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับและถูกเฆี่ยน 6 ครั้ง และทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตามระยะเวลาของโทษคือ 6 เดือน ถึง 1 ปี ปรับ 2,100 ริงกิต มากกว่า 2 ปี ถึง 6 ปี ปรับ 3,000 ริงกิต หรือทั้งจำทั้งปรับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 นายวรานนท์ฯ กล่าว
 
 
"กรมบังคับคดี" ดับฝันลูกหนี้เงินเดือนไม่ถึง 2 หมื่นคิดชักดาบ ชี้มีหนี้ต้องจ่ายอย่าปล่อยดอกเบี้ยท่วมจนถูกฟ้องล้มละลาย
 
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ชี้แจงการบังคับใช้พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับวันที่ 4 ก.ย.นี้ โดยระบุถึงลูกจ้างบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจซึ่งกฎหมายเดิมกำหนดให้เจ้าหนี้สามารถอายัดเงินลูกหนี้ที่มีเงินเดือนมากกว่า 10,000 บาท ตามอัตราที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถตกลงกันได้ แต่อายัดได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน แต่กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้มา 12 ปี ปัจจุบันเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นจึงเห็นว่าควรปรับอัตราเงินเดือนลูกหนี้อยู่ที่ 20,000 บาท แต่กฎหมายได้เพิ่มเงื่อนไขสำหรับทรัพย์สินที่ไม่สามารถยึดหรืออายัดได้ ประกอบด้วยทรัพย์ต่าง ๆ ดังนี้ อาทิ เครื่องนุ่งห่มหลับนอน และเครื่องใช้ส่วนตัวที่มีราคาประเมินไม่เกินประเภทละ 20,000 บาท สัตว์สิ่งของที่ใช้ในการประกอบอีพของลูกหนี้มีราคารวมกันไม่เกิน 100,000 บาท สัตว์ สิ่งของหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่แทนอวัยวะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาล ทรัพย์สินส่วนตัวประจำวงตระกูลและทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย
 
ส่วนทรัพย์ประเภทเงินที่ไม่สามารถอายัดหรือยึดได้ เช่น เบี้ยเลี้ยงชีพตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น เบี้ยคนพิการ เบี้ยคนชรา เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ เบี้ยหวัดหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ และบำเหน็จหรือค่าชดเชยอื่นจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท รวมทั้งเงินฌาปนกิจจากการตายของบุคคลอื่นด้วย
 
ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีเงินเดือนประมาณ 20,000 บาท มีหนี้สินจากบัตรเครติดและบัตรสินเชื่อเงินสด เมื่อถูกฟ้องบังคับคดีแล้วศาลมีคำสั่งให้ชำระหนี้จะออกหมายบังคับคดี เพื่อปิดช่องไม่ให้มีการประวิงคดีเพราะถึงอย่างไรลูกหนี้ก็จะต้องถูกบังคับชำระหนี้และมีภาระจะต้องจ่ายดอกเบี้ยด้วย ไม่ใช่ว่าเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาทแล้วไม่ต้องจ่ายหนี้ จึงอยากแนะนำให้ผู้มีหนี้สินชำระหนี้ตามกฎหมายไม่เช่นนั้นดอกเบี้ยจะทบต้นแล้วจะเป็นภาระในการที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อใดที่ปล่อยให้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเกิน 1 ล้านบาท ก็จะถูกฟ้องล้มละลายทันที ในการชำระหนี้เจ้าหนี้และลูกหนี้จะต้องตกลงกันให้ได้เรื่องการชำระหนี้ขั้นต่ำ แต่หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีกลไกอื่นมาช่วยไกล่เกลี่ยได้
 
"สำหรับลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดีตามกฎหมายเดิมยังต้องชำระหนี้ตามเดิมจะอ้างว่ามีเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาทไม่ได้ ยอมรับว่า กฎหมายที่ออกมามีผลสะท้อน 2 ด้าน ฝ่ายลูกหนี้อาจจะดีใจคิดว่าไม่ต้องชำระหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ก็คิดว่าจะไม่ได้หนี้คืนเพราะไม่รู้จะบังคับหนี้อย่างไร แต่สิ่งที่กรมบังคับคดีเป็นห่วงคือ กลัวประชาชนจะไม่มีวินัยทางการเงิน อยากทำความเข้าใจว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ออกมาเพื่อปลดหนี้ แต่ช่วยดูแลให้ลูกหนี้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และยืนยันว่าเมื่อเป็นหนี้ยังต้องชำระ ไม่เช่นนั้นดอกเบี้ยก็จะท่วม และควรจะเลือกการผ่อนจ่ายหรือเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อลดต้นและลดดอก ซึ่งกรมบังคับคดีพร้อมจะดูแลทั้ง 2 ฝ่าย" อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าว
 
ส่วนข้อกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะผลักคนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาทต้องไปกู้หนี้นอกระบบนั้น อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ผู้มีรายได้น้อยยังสามารถขอยื่นกู้กับสถาบันการเงินได้ตามปกติ เพียงแต่อาจถูกเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือหาบุคคลมาค้ำประกันหนี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวในส่วนของสถาบันการเงินได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว เพราะขั้นตอนการยกร่างกฎหมายได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว
 
 
องค์การค้าฯ มีเงินจ่ายคืนพนักงานแล้ว
 
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.60- ดร.พิษณุ ตุลสุข ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทาการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ได้อนุมัติปล่อยเงินกู้ให้แก่องค์การค้าของสกสค. จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่พนักงานองค์การค้าฯ และผู้เกษียณอายุราชการ ตามคำสั่งศาล จำนวน 2,241 คน โดยคาดว่าจะจ่ายให้พนักงานและเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯได้ครบทั้งหมดภายใน 1 สัปดาห์
 
ทั้งนี้การจ่ายเงินตามคำสั่งศาลฎีกาที่พิจารณาตามสัญญาจ้างพนักงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ ดังนั้นพนักงานองค์การค้าฯก็ต้องได้รับปรับอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องด้วยเช่นกัน โดยในเรื่องนี้องค์การค้าฯได้พยายามชำระมาแล้วจำนวน 5 งวด และงวดนี้จึงถือเป็นงวดที่6 ซึ่งเป็นการชำระเงินต้นงวดสุดท้าย ส่วนเรื่องดอกเบี้ยทั้งหมดที่พนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯจะได้รับนั้นจะต้องรอการพิจารณาจากศาลว่าจะให้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยตามที่กรมบังคับคดีได้เสนอหรือจะให้คิดตามที่องค์การค้าฯได้ตกลงกับพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้แล้ว ซึ่งไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไรองค์การค้าฯก็พร้อมจะปฎิบัติตาม
 
“ขอให้เจ้าหน้าที่และพนักงานอย่ากังวลว่าจะไม่ได้รับเงินแล้วไปจ้างทนายความให้ไปกรมบังคดีมาบังคับให้จ่ายเงิน เพราะจะเสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ เพราะบางคนได้เงินต้นเป็นล้านก็ต้องไปเสียค่าบังคับคดีเป็นแสน ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้เกษียณอีกประมาณ 40 กว่าคนที่ดำเนินการเรื่องการบังคับคดีก็สามารถขอคำแนะนำจากฝ่ายกฎหมายขององค์การค้าฯ เพื่อไปขอถอนการบังคับคดีได้ด้วยตนเอง”ดร.พิษณุ กล่าว
 
ปฎิบัติหน้าที่ เลขาธิการ สกสค.กล่าวต่อไปว่า องค์การค้าฯ พยายามหาเงินเพื่อนำมาจ่ายตามคำสั่งศาลมาโดยตลอด ไม่ได้นิ่งนองใจ แต่เนื่องจากเป็นเงินก้อนใหญ่ อีกทั้งองค์การค้าฯเองก็มีปัญหาในการบริหารงานเรื่องผลประกอบการ จึงต้องหาแหล่งเงินกู้ โดยขอกู้เงินจากกองทุน ช.พ.ค.ซึ่งกว่าที่คณะกรรมการ ช.พ.ค.จะอนุมัติเงินก้อนดังกล่าวมาได้ องค์การค้าฯต้องทำแผนปรับปรุงองค์การค้าฯใหม่ เพื่อสามารถมีเงินมาชำระหนี้คืนให้กองทุน ช.พ.ค.ได้ด้วย
 
 
นายหน้าลอยแพแรงงานเมียนมาร์ร่วม 100 คน
 
นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริม คุณภาพชีวิตแรงงาน หรือแอลพีเอ็น เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา แอลพีเอ็น รับเรื่องร้องเรียนเคสพิเศษ มีแรงงานชาวเมียนมา ถูกหลอกทำ MOU จากนายหน้าฝั่งเมียนมา เสียเงินทำ Passport กว่า 500,000 จ๊าด เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ผ่านช่องทางด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกือบ 100 คน แต่เมื่อเข้ามาแล้ว นายหน้าฝั่งไทย นำตัวมาพักไว้ที่ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อรอทำงาน แต่เนื่องจากไม่มีวีซ่า คนงานกว่า 58 คน ยังไม่มีงานทำ นายหน้านำมาพักไว้ในห้องแถว ต.บางโทรัด
 
 
ขรก.เฮ!กรมบัญชีกลางร่นจ่ายเงินเดือนเร็วขึ้น 1 วัน
 
นางอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหนังสือ ที่ กค 0412.4/ว 253 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 เรื่อง ขอเลื่อนกำหนดวันและวิธีการปฏิบัติงานสำหรับงบบุคลากรและเงินอื่นที่กำหนดจ่ายสิ้นเดือน ถึงหน่วยราชการทุกแห่ง เนื่องจากวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 เป็นวันหยุดราชการเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ดังนั้นจึงเลื่อนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการจากเดิมกำหนดจ่ายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เป็นวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 แทน
 
“ปกติการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จ่ายก่อนวันสิ้นเดือน 3 วันทำการ เมื่อวันที่ 28 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเลื่อนจ่ายเร็วขึ้นอีก 1 วัน ตรงนี้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ปกติของกรม เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติขั้นตอนในการเบิกเงินเดือนข้าราชการในเดือนกรกฎาคมให้ถูกต้อง”นางอรนุช กล่าว
 
 
โควตาเก็บผลไม้ป่า “สวีเดน-ฟินแลนด์” เต็มแล้ว ไม่รับสมัครเพิ่ม ระวังถูกหลอกไปทำงาน
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2560 แรงงานไทยได้รับอนุญาตไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน และ ฟินแลนด์ จำนวน 6,618 คน เป็นประเทศสวีเดน จำนวน 3,351 คน และ ประเทศฟินแลนด์ จำนวน 3,267 คน ซึ่งเริ่มเดินทางไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้แจ้งการเดินทางไปแล้วจำนวน 4,900 คน เป็นสวีเดน 2,800 คน ฟินแลนด์ 2,100 คน ซึ่งคาดว่าจะเดินทางไปหมดประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม โดยในปี 2559 มีแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าจำนวนทั้งสิ้น 6,744 คน เป็นสวีเดน 3,300 คน ฟินแลนด์ 3,444 คน สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานประเทศสวีเดนรวมแล้วไม่เกินคนละ 75,000 บาท ขณะที่ประเทศฟินแลนด์ มีค่าใช้จ่ายจำนวนคนละ 65,000 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง เช่น ค่าวีซ่า ค่าเดินทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ค่าประกันต่างๆ เป็นต้น
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า ระยะเวลาการเก็บผลไม้ป่ามีประมาณ 75 วัน ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายนของทุกปี ซึ่งผลไม้ที่เก็บจะเป็นประเภทผลเบอร์รี่ ได้แก่ ผลยู่ตรอน ผลบลูเบอร์รี่ และ ผลลินง่อน ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในแถบประเทศสวีเดน และ ฟินแลนด์ โดยในปีนี้เต็มจำนวนโควตาแล้ว ไม่มีการรับสมัครเพิ่มและไม่สามารถจัดส่งไปทำงานได้อีก ดังนั้น จึงอย่าหลงเชื่อผู้ไม่หวังดีแอบอ้างว่าสามารถจัดส่งไปทำงานได้ โดยผู้ที่หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 02 245 6714 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือ โทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
 
เตือนอย่าหลงเชื่อจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบ 2
 
22 ก.ค.2560 พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณีที่มีข่าวลือในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และผู้ประกอบการบริษัทนำเข้าแรงงานว่า รัฐบาลไทยเตรียมยืดระยะเวลาผ่อนผันการใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ออกไปโดยไม่มีกำหนด และจะเปิดรับจดทะเบียนให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและออกบัตรสีชมพูรอบใหม่ เพื่อให้แรงงานผิดกฎหมายอยู่ในไทยได้ต่อไปโดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศไปทำเอกสาร
 
โดยยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่มีนโยบายเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายอีกรอบ ดังนั้น หากนายจ้างและสถานประกอบการประสงค์จะจ้างแรงงานต่างด้าวขอให้จ้างแรงงานที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายในระบบเอ็มโอยู เท่านั้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้อำนวยความสะดวกให้นาย จ้างสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศดำเนินการแทนได้
 
สำหรับศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวที่จะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.– 7 ส.ค. นี้ เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่รัฐบาล และกระทรวงแรงงานดำเนินการเพื่อให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่มีการจ้างงานและทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้ดำเนินการให้ถูกต้องก่อนที่มาตรา 101, 102, 119 และ 122 แห่งพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2561 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท