วัส ติงสมิตร ระบุข้ออ้าง กรธ. เพื่อเซ็ตซีโร่ กสม. ไม่ถูกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ประธาน กสม. ขอ สนช. พิจารณาให้ถ่องแท้ก่อนตัดสินลงมติวาระ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. ชี้เหตุผลเซ็ตซีโร่จาก กรธ. ไม่ถูกข้อเท็จจริง ไม่ถูกข้อกฎหมาย ระบุที่ผ่านมา กสม. มีผลงานเป็นที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะการผลักดันให้รัฐบาลและเอกชนลงนามในปฏิญญาว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

17 ส.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วัส ติงสมิตร  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ระบุว่า กสม. ไทยไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศทำให้ต้องไปประชุมในฐานะทีมงานของกระทรวงการต่างประเทศว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขอยืนยันว่า กสม. ไม่ได้ไปประชุมในฐานะทีมงานของกระทรวงต่างประเทศ ต่างคนต่างมีบทบาทของตน กสม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประจำอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี กสม.ไทย ถือว่ามีศักดิ์ศรี และเท่าเทียมกับประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ

ส่วนที่ กรธ. ต้องการเซ็ตซีโร่ กสม. โดยอ้างว่าการได้มาซึ่ง กสม. ชุดปัจจุบันไม่สอดคล้องกับหลักการสากลนั้น ประธาน กสม. เห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะเมื่อปี 2557 คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation-SCA) ประเมินสถานะ กสม. ไทยชุดที่แล้ว ได้ให้เวลาในการแก้ไขปัญหา 1 ปี โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง กสม. และให้ความคุ้มกันในการปฎิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีหลักประกันความเป็นอิสระ และความหลากหลายของ กสม. ซึ่งกระบวนการสรรหา กสม. ชุดปัจจุบันที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) เมื่อปลายปี 2558 เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า กสม. ชุดปัจจุบันมีความหลากหลายตามหลักการปารีส

“เป็นที่น่าสังเกตุว่า กรธ. อ้างเหตุผลจากต่างประเทศเพื่อเซ็ตซีโร่ กสม. ชุดนี้ แต่จุดยืนของ กสม. ไม่นิ่ง เห็นได้จากในร่าง พ.ร.ป. กสม. ของกรธ. ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2560 มีบทบัญญัติเรื่องความคุ้มกันการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต กสม. ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง หรือทางอาญา แต่ในร่างที่ กรธ. ส่งเข้า สนข. กลับถอดหลักเกณฑ์ข้อนี้ออกไป ครั้นมี สนช. สอบถามในการประชุมพิจารณาวาระแรกขั้นรับหลักการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ฝ่าย กรธ. กลับตอบว่าใส่หลักเกณฑ์ข้อนี้ไม่ทัน จะขอให้ไปใส่ในชั้น สนช. และเป็นผู้แทนของ กสม. ที่ได้เสนอขอให้ใส่ความคุ้มกันกลับเข้าไปในร่าง พ.ร.ป. กสม. เพราะหากไม่มีมาตรการดังกล่าว กสม.ไทยจะไม่มีทางเรียกสถานะ A กลับคืนมาได้” วัส กล่าว

วัส กล่าวด้วยว่า  กสม. ชุดปัจจุบันมีผลงานเป็นที่ชื่นชมในเวทีระหว่างประเทศ และได้รับคำชมเชยว่า เป็นแบบอย่างที่ดีนการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญ ได้กำเนินการผลักดันให้รัฐบาล และภาคธุรกิจร่วมกันลงนามในปฏิญญาว่าจะนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์กรสหประชาชาติมาปฏิบัติใช้ในประเทศ อันเป็นกลไกผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จนเลื่องลือไปยังสหภาพยุโรปและทั่วโลก จึงอยากให้ สนช. พิจารณาเหตุผลให้ถ่องแท้ เพราะการเซ็ตซีโร่ หรือแม้กระทั่งลดวาระการดำรงตำแหน่ง กสม. ชุดปัจจุบัน อาจจะสร้างความคลางแคลงใจแก่สถาบันสิทธิมนุษยชนในอาเซียน และองค์กรระหว่างประเทศได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท