Skip to main content
sharethis

หัวหน้า คสช. เผย เตรียมออกคำสั่งมาตรา 44 ในบางประเด็น เพื่อให้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก รวดเร็วขึ้น เพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน  คู่ขนานระหว่างรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ใน สนช.

แฟ้มภาพ

24 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง การประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี กับ คสช. เช้าวันนี้ (24 ต.ค.)  ว่า  ที่ประชุมร่วมได้มีการหารือการเดินหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเตรียมออกคำสั่งมาตรา 44 ในบางประเด็น เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น และเป็นการทำงานคู่ขนานระหว่างรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งในเรื่องการลงทุนต่างๆ ในหลายประเทศ ก็ได้มีการปรับปรุง และพัฒนาส่งเสริมการลงทุนมากมาย  ไทยเองต้องเร่งพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ด้วย

หัวหน้า คสช. กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมออกคำสั่งมาตรา 44 สำหรับการจัดตั้งสถาบันวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จะให้มาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการบูรณาการงาน ทั้งแผนงาน บุคคลากร และงบประมาณ เช่นเดียวกับการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม คสช. ว่า ที่ประชุมคสช.ได้แก้ไขคำสั่งคสช.ตามอำนาจมาตรา 44 เพิ่มข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน เพราะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. จะมีผลบังคับใช้ 

“ยืนยันว่าหากร่างดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะไม่ขัดกับคำสั่งของคสช.เพราะได้เขียนข้อกำหนดที่สอดคล้องกัน โดยมีสาระสำคัญคือ จากเดิมการทำผังเมืองต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ต้องใช้เวลามากกว่า 1-2 ปี และได้จัดกระบวนการดำเนินการใหม่ให้สามารถทำได้รวดเร็วขึ้น โดยเริ่มต้นจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) จัดทำผังเมืองเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ของอีอีซีคือจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยองว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร จากนั้นนำเสนอขอบเขตของแผนคร่าว ๆ ต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ดำเนินการกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า  การจัดทำแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้ละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสาร ระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการน้ำ การควบคุมขจัดมลพิษ โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จากนั้นเสนอให้กรศ.รับทราบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จากนั้นส่งต่อให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำรายละเอียดแผนดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่ากฎหมายผังเมืองจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ในอนาคตประเทศไทยมีผังเมือง 2 รูปแบบ ได้แก่ ผังเมืองรวมโดยทั่วไป และผังเมืองที่ใช้เฉพาะกับจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net