Skip to main content
sharethis

เสวนาเปิดตัวหนังสือ "ปรัชญาการเมือง: ความรู้ฉบับพกพา" เกษียร เตชะพีระ ระบุทุกสังคมมีกรอบโอกาสความเป็นไปได้ทางการคิดที่กำหนดว่าอะไรที่คิดได้ และคิดไม่ได้ ครอบอยู่โดยที่อาจไม่รู้ตัว แต่ปรัชญาการเมือง คือสมรรถนะในการตั้งคำถามลงไปที่รากฐานเหล่านั้นของสังคม ภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าปรัชญายังไม่ตาย อาจเป็นความตายของนักปรัชญา

คลิปอภิปราย "ปรัชญาการเมืองตายแล้ว?" โดยเกษียร เตชะพีระ

3 พ.ย. 2560 ที่ห้อง ร 102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ปรัชญาการเมือง: ความรู้ฉบับพกพา" (Political Philosophy: A very short introduction) โดยมีการเสวนาในหัวข้อ ปรัชญาการเมืองตายแล้ว ร่วมเสวนาโดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยงานเสวนาครั้งนี้ร่วมจัดโดยสำนักพิมพ์ open worlds และศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม

เกษียรเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงคำถามนำของประจักษ์ว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แห่งศตวรรษที่ 21 ปรัชญาการเมืองจะมีน้ำยาหรือไม่ ปรัชญาการเมืองมีคุณค่าและความหมายอย่างไรในโลกสมัยใหม่ และทำไมเราต้องอ่านปรัชญาการเมือง และในยุคสมัยที่ความเชื่อทางการเมืองทั่วโลกเริ่มสั่นคลอน อาจถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมาสำรวจปรัชญาการเมืองกันอีกครั้ง

เกษียร กล่าวว่ารู้สึกติดใจกับประโยคประโยคสุดท้าย เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้อ่านบทความชิ้นล่าสุดของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในเว็บไซต์มติชน (ยุคสมัยแห่งความหงอยเหงาโดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์) ซึ่งเป็นเรื่องที่เสนอให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับความคิดที่มีพลังทางการเมืองในสมัยอดีต

เกษียร ยกเนื้อหาในบทความของนิธิมาอ่านเสริมมีรายละเอียดว่า

“จะด้วยเหตุใดไม่ขอกล่าวถึง โลกเราเวลานี้เป็นโลกที่ขาดพลังขับเคลื่อน อุดมการณ์ที่เคยขับเคลื่อนผู้คน – ชาตินิยม, ประชาธิปไตย, วิทยาศาสตร์, เสรีนิยม, ทุนนิยม, สังคมนิยม, ท้องถิ่นนิยม, ศาสนา, ลัทธิพิธี (cults), การพัฒนา, เสรีนิยมใหม่ ฯลฯ – หมดพลังขับเคลื่อนอย่างที่เคยมีมาแล้ว ตัวบุคคลที่เคยเป็นพลังขับเคลื่อนนับวันก็ร่อยหรอลง เพราะสิ้นอายุขัย

เหลือแต่คนอย่างทรัมป์, ปูติน, สีจิ้นผิง, อาเบะ, ดอว์ซู, หรือประยุทธ์ จันทร์โอชา

เราทุกคนบนโลกใบนี้ กำลังเคลื่อนเข้าไปมีชีวิตในรัฐที่ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากระบบราชการ ซึ่งไม่มีแม้แต่พลังที่จะทำหน้าที่ของตนเองคือกำกับควบคุม หรือ regulate

นี่คือยุคแห่งความหงอยเหงาที่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าประชากรโลกจะหลุดพ้นออกไปได้”

เกษียร กล่าวต่อว่า มีคำอธิบายความหงอยเหงาที่เหมือนจะสอดรับกับข้อคิดของนิธิ และคำถามนำของประจักษ์ โดยผู้ที่เสนอไอเดียดังกล่าวเป็นนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อ Alain Badiou ซึ่งเสนอถึงความพยายามของมนุษยชาติที่จะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น เช่น อุดมคติยูโทเปีย โครงการสังคมศาสตร์เพื่อพลิกเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คิดฝันกันไว้ในศตวรรษที่ 19 อย่างประชาธิปไตย สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ แต่เอามาทำจริงในศตวรรษที่ 20 ซึ่งลงเอยด้วยความเลวร้ายบัดซบ

เกษียร กล่าวต่อไปว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นจากความคิดของ Badiou คือ 1. หลักความวิปริต หมายถึงการกระทำใดที่ตั้งใจปรับปรุงระเบียบการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจบางอย่างในด้านที่ดีขึ้น รังแต่จะทำให้เรื่องที่ต้องการจะแก้ไขเยียวยากลับยิ่งเลวร้ายลง

“สมมติเราคิดว่า 2475 เป็นโครงการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างหนึ่ง ทำไมมันวิปริต ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ แต่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ่องกัญชา ขึ้นต้นดูเหมือนจะเป็นความฝันอันดีงาม แต่พอเหลาลงไปฉิบหายทุกที หรือพูดในภาษาหลัง 2475 ก็คือ อันนี้เป็นความหมายของคนที่วิจารณ์ 2475 นะครับ คือเปลี่ยนจากกษัตริย์องค์เดียว เป็นระบบกษัตริย์หลายองค์ ก็คือมันวิปริต มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด” เกษียร กล่าว

สาเหตุที่ 2 คือความเหลวเปล่า หมายถึงการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมมีแต่เปล่าประโยชน์ ไม่ทำให้เกิดความก้าวหน้าใด หากคิดแบบไทยๆ ก็คือการเข็นครกขึ้นภูเขา และสาเหตุสุดท้ายคือ เภทภัย หมายถึงต้นทุนต่อการเปลี่ยนแปลง หรือการปฏิรูปที่เสนอนั้นแพงเกิดไป เพราะเป็นภัยต่อความสำเร็จที่ทรงคุณค่าแต่เก่าก่อน ข้อสรุปของ Badiou คือการมองเห็นว่า ศตวรรษที่ 20 ราวกับไม่เคยเกิดขึ้นเลย ทั้งนี้ความพยายามที่จะทำโครงการในศตรวรรษที่ 19 จนถึงตลอดศตวรรษที่ 20 มีผู้คนล้มตายไปจำนวนมาเพื่อสังคมนิยม เพื่อประชาธิปไตย หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือการนำไปสู่ค่ายกักกันแรงงานในรัสเซีย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง ซึ่งคำถามที่ตามมาคือ เราจะเชื่ออะไรต่อ เกษียรเห็นว่าในช่วงหลังมานี้ มีความพยายามที่จะนำเอา ศาสนาเข้าไปเชื่อมกับอุดมการณ์ชาตินิยม ประชานิยม ลัทธิบูชาตัวบุคคล

“ของพวกนี้ผมรู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ถูกเอามาแก้หงอย ในขณะที่อดุมการณ์หลักกำลังพัง ซึ่งในแง่หนึ่งมันเป็นปฏิกิริยาตอบกลับ ต่อความล้มเหลวของอุดมการณ์ที่ต้องการจะเปลี่ยนสังคม” เกษียร กล่าว

 

เกษียร กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นการคิดจากโจทย์ที่ประจักษ์ตั้ง ซึ่งหากจะคิดต่อจากนี้จะต้องใช้เครื่องมือคิดอย่างอื่น นั่นก็คือ ปรัชญาการเมือง แม้สำหรับหลายคนปรัชญาการเมืองอาจจะเป็นปริมณฑลที่ไม่เคยเดินเข้าไปมาก่อน แต่สิ่งที่หนังสือ "ปรัชญาการเมือง: ความรู้ฉบับพกพา" ให้คือ แผนที่ และเข็มทิศ และงานชิ้นดังกล่าวไม่ได้เป็นการพูดถึงปรัชญาลอยๆ แต่มีการเชื่อมกับความรู้ทางสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และมีการยกตัวอย่างประกอบ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองของโลก

เขาอธิบายต่อว่า ในสังคม สังคมหนึ่ง จะมีโครงสร้างโอกาสทางการคิด และวัฒนธรรมครอบอยู่ ซึ่งทำหน้าที่บอกว่าอย่าคิดเรื่องนั้น อย่าหมกมุ่นไปทางนั้น เพราะมันไม่พึงประสงค์ มันจะบอกปัด กีดกันความเป็นไปได้ และทางเลือกของการคิด และความเป็นไปได้ของทางเลือกทางวัฒนธรรมออกไปตั้งแต่ต้น ซึ่งทุกสังคมเป็นแบบนี้ และสิ่งที่หล่อเลี้ยงโครงสร้างโอกาสความเป็นไปได้ทางความคิด โอกาสความเป็นไปทางวัฒนธรรมคือ สมมติฐาน ซึ่งปกติแล้วเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันอยู่ลึก และเราทึกทักว่ามันจริงตั้งแต่ต้น โดยที่เราไม่รู้ว่ามันมีอยู่ ฉะนั้นปรัชญาการเมืองคือ สมรรถนะในการถามลงไปตรงฐานรากของสังคม ซึ่งหากมีการถามลงไปกระทบโอกาสทางการคิดของสังคมได้ ก็จะมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งสิ่งนี้คือพลัง และหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของปรัชญา

“ถ้าพูดในความหมายนี้แล้ว อะไรคือความหมายของ สมมติฐาน ที่เราใช้มันอยู่ รองรับมันอยู่ และทำให้เราไม่คิดบางอย่าง เพราะเรารู้สึกว่าอย่างไปคิดมันเลยดีกว่า เพราะว่ามันผิด หรือเราไม่ทำบางอย่างเพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือ วัฒนธรรม และสถาบันทั้งหลาย ดังนั้นในความหมายนี้ปรัชญาการเมืองคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมและสถาบัน ทันทีที่คุณกระตุกใช้ปรัชญาการเมือง มันถามซักลงไปตรงวัฒนธรรม ทันที่ที่คุณกระตุกมันถามซักลงไปที่สถาบัน” เกษียร กล่าว

เขาอธิบายต่อไปว่า ปรัชญาการเมืองคือการฝึกคิดที่ฝืนวัฒนธรรม และสถาบัน เป็นการฝึกคิดในสิ่งที่ปกติแล้วเราจะไม่คิด และหากมีการฝึกคิดนั้นเท่ากับว่าเป็นการเดินสวนกระแสวัฒนธรรม และสถาบัน จนที่สุดจะก้าวไปสู่จุดที่เราคิดเองเป็น เลิกเชื่อเป็น จะมองเห็นความเป็นได้และทางเลือก และความเป็นไปได้ทางการคิด และความเป็นได้ทางวัฒนธรรมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เขายกตัวอย่างถึง การปะทะกันระหว่างปรัชญากับวัฒนธรรม คือกรณีของ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล วิจารณ์ผู้สื่อข่าว BBC ว่าไร้จริยธรรมจากกรณีสัมภาษณ์ หม่อมราชวงศ์ นริศรา ว่าไม่รู้ขนบทำธรรมเนียมประเพณีของประเทศไทย และเห็นว่าควรทำความเข้าใจกับประเพณีไทยเสียก่อนที่จะมาทำข่าวในประเทศไทย และขอให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านตนเองเสียก่อน ขณะที่โจนาธาน เฮด ได้ตอบกลับว่าสิ่งที่เขาได้ถามนั้น เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติซึ่งไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมไทยต้องการจะรู้ ซึ่งผู้คนข้างนอกจะต้องอยากถามอยู่แล้วว่า ความรักนี้เป็นสิ่งแท้จริงหรือไม่

“ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญข้างจากตัวคำถามคือ เขาถามแทนคนไม่ไทย เขาถามแทนคนที่ไม่ได้อยู่วัฒนธรรม และสถาบันของสังคมนี้ พูดอีกอย่างคือ การถามคำถามเชิงปรัชญาการเมืองคือ การมีสายตาของคนนอกหรือการมีสายตาของเด็กที่ไร้เดียงสา  เพราะถ้าคุณเดียงสา คุณเสร็จความเป็นไทยแล้ว คุณจะไม่สงสัยอีกต่อไป”เกษียร กล่าว

อีกเรื่องที่เขายกตัวอย่างคือ การตั้งคำถามในเชิงปรัชญาการเมือง กับรัฐธรรมนูญปี 2550 ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐในบทความของประชาไท (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่หลายคนไม่เคยถามมาก่อน เช่นเรื่อง ทำไมจึงไม่เขียนว่าประชาธิปไตยได้มาจากการต่อสู้ของประชาชน ทำไมไม่เขียนว่าประเทศไทยเป็นองค์ประกอบของกลุ่มชนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา แต่มารวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้รัฐไทย ทำไมไม่เขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยประชาชนใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ  

เกษียร อธิบายต่อไปว่า ปรัชญาเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับวัฒนธรรม และสถาบัน เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ปฏิบัติจนคุ้นชินโดยไม่ทันคิดไม่ทันถามด้วยซ้ำไป แต่ทำโดยอัตโนมัติเหมือนถูกกดปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็น แล้วเราก็โต้กลับ ขณะที่สถาบันคือแบบแผนการประพฤติปฏิบัติ ที่ทำซ้ำมาอย่างตั้งมั่น ยืนนานลงร่องลงตัว สถาปนาเป็นแบบธรรมเนียมเป็นที่ยอมรับนับถือและได้รับการปกป้องจากระเบียบอำนาจ ดังนั้นปรัชญาจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมและสถาบัน เพราะมันรื้อคิดตั้งคำถามลงไปตรงฐานรากที่รองรับวัฒนธรรมและสถาบันทั้งหลาย ว่าจริงไหม?  ทำไม?  เพื่ออะไร? เป็นอย่างอื่นได้ไหม?  

“ดังนั้นการตั้งคำถามพวกนี้มันก่อปัญหา เพราะมันเหมือนกับโดนกดปุ่มที่คุณปู่คุณทวดปลูกฝังติดตั้งไว้กลางหลังเรา ดังนั้นคุณลูกคุณหลานย่อมยัวะ หรือบันดาลโทสะโดยอัตโนมัติทันที การทำงานของปรัชญาจึงเสี่ยงอันตรายต่อความยัวะ ความเข้าใจผิด แต่ถ้าปรัชญาไม่ทำงาน ปรัชญาเงียบเสียง หรือตายแล้ว สังคมก็จะถูกคุมขัง หรือแช่แข็งไว้กับฐานคิดที่เป็นอยู่ชั่วกาลปาวสาน มิใยว่าฐานคิดนั้นจะไม่สมเหตุสมผล ฝืนขัดทวนกระแสความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปของโลก ผิดยุคผิดสมัย หรือใช้การไม่ได้เลยก็ตาม เราคิดไม่ออก ทั้งๆ ที่โลกมันเปลี่ยนแล้ว เราคิดไม่ออกถึงความเป็นไปได้และทางเลือกอื่นเพราะเราอยู่ในกรอบโครงสร้างโอกาสการคิดและวัฒนธรรม” เกษียร กล่าว

“ตราบใดที่สังคมหนึ่งๆ ยังถามฐานคิดทางการเมืองของตัวเองเป็น คิดเองเป็น เลิกเชื่อเป็น ปรัชญาการเมืองก็ยังไม่ตาย และสังคมนั้นก็ยังหวังได้ว่าจะค้นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางเลือกใหม่ๆ ทางการเมือง แต่ที่น่าเศร้าและหดหู่ หรือสัญญาณหมายที่บอกให้เรารู้แน่ว่าปรัชญาการเมืองยังไม่ตาย ปรัชญาการเมืองยังทำงานอยู่อย่างขะมักเขม้นขันแข็งก็คือ การเสี่ยงภัยที่จะถูกโกรธเกลียด ขับไล่ให้ออกไปจากที่นี่ซะ และพิพากษาลงโทษให้ถึงตาย” เกษียร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net