Skip to main content
sharethis

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์ ตอบคำถามที่ไม่ควรถาม 6 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ ติงหมดเวลาที่จะมาสร้างวาทะกรรมเพื่อกลบเกลื่อนกระแสขาลงของตนเองแล้ว

9 พ.ย. 2560 จากรณีวานนนี้ (8 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจกเอกสารคำถาม 6 ข้อ ให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนตอบผ่านช่องทางกระทรวงมหาดไทย นั้น

ล่าสุด ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยแพร่แถลงการณ์ของสมาคมฯ เรื่อง ตอบคำถามที่ไม่ควรถาม 6 ข้อของ “บิ๊กตู่” หรือ พล.อ.ประยุทธ์ อย่าเสียสัตย์เพื่อชาติก็แล้วกัน โดยระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้โยนหินตั้งคำถามถึงอนาคตการเมืองไทย 6 ข้อเมื่อวานนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขอติงว่า “บิ๊กตู่” หมดเวลาที่จะมาสร้างวาทะกรรมเพื่อกลบเกลื่อนกระแสขาลงของตนเองที่สะท้อนผ่านโพลที่เคยมีกระแสนิยมจาก 78.4 % เหลือเพียง 52 % อยู่ในขณะนี้ เพราะผลงานตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการเข้ามายึดอำนาจและบริหารราชการแผ่นดินแทบทุกด้านไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหาก “บิ๊กตู่” อยากรู้จริงๆ เกี่ยวกับอนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรนั้น

สมาคมฯ ขอตอบคำถามเป็นข้อ ๆ ให้ดังนี้ คำถามที่ 1 การที่จะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ หรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่าการเป็นนักการเมืองต้องกล้าเปิดเผยตัวเองออกมาให้ประชาชนได้เลือก ดีกว่ามีนักการเมืองพวกอีแอบที่ไม่ยอมรับความจริงว่าเป็นนักการเมือง เพราะนักการเมืองถึงจะชั่วจะดีประชาชนก็สามารถตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์ได้

คำถามที่ 2 คสช.ไม่มีสิทธิที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ต้องวางตัวเป็นกลางเท่านั้น เพราะ คสช.และแม่น้ำ 5 สายเป็นผู้วางกฎ ระเบียบใหม่ของสังคม หาก คสช. อยากจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะก็ขอให้ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดเสีย ณ บัดนี้ อย่างทำตนเป็นอีแอบต่อไป

คำถามที่ 3 สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประชาชนมองไม่เห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติเลย ดังนี้ การแก้ไขปัญหาที่อ้างว่าหมักหมมมานาน ด้วยการรื้อใหม่ ทำใหม่ การวางแผนงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระยะสั้น กลาง ยาว อาทิ การแก้ไขปัญหา IUU , ICAO ฯลฯ นั้นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ใช้ประชาชนเป็นข้ออ้างเท่านั้น แต่กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนใกล้ชิดรัฐบาลแทบทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มมากกว่าเดิม ทั้งการแก้ IUU, ICAO และไม่เห็นด้วยกับการให้มียุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ที่ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง แค่เริ่มต้นจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศก็ขาดธรรมาภิบาล ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนจะไปคาดหวังการเมืองไทยในอนาคตที่มีประสิทธิภาพที่มาจาก คสช. หรือรัฐบาลนี้ได้อย่างไร

การทำงานของทุกรัฐบาล แน่นอนว่าต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ คนทั้งประเทศ ทุกจังหวัด แต่นโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันด้วย ส่วนยุทธศาสตร์ชาติหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ เพราะไม่มีการะบวนการการมีส่วนร่วม ก็เป็นสิทธิของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่จะแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ประชาชนต้องการ

คำถามที่ 4 ตลอดระยะเวลากว่า 85 ปีของระบอบประชาธิปไตยของไทย หากการจัดตั้งรัฐบาลต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่หรือฉันทามติของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่มีมือที่สามหรืออำนาจแฝงมาคอยควบคุมการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลในยุคใด พ.ศ.ใดก็สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้เพราะนิสัยคนไทยชอบรักสงบ เว้นแต่พวกที่อยากจะมีอำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น ที่มักชอบใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นใหญ่ โดยเอาประชาชนมาเป็นข้ออ้าง อ้างขจัดความขัดแย้ง อ้างปราบปรามคอรัปชั่น ฯลฯ ณ วันนี้ดัชนีคอรัปชั้นของไทยทำไมจึงตกจาก 76 ไปอยู่ที่ 101

คำถามที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย แม้จะขาดประสิทธิภาพ ขาดธรรมาภิบาลไปบ้าง แต่เมื่อถึงเวลาครบวาระประชาชนก็สามารถที่จะใช้สิทธิในการเลือกตัวแทนของตนขึ้นไปเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและตรวจสอบได้ คนไหนดีประชาชนก็เลือกกลับมาได้ คนไหนไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือกเข้ามา แต่การพัฒนาประเทศที่ไม่มีความต่อเนื่องที่ผ่านมาเพราะคนที่อยากมีอำนาจไม่อยากผ่านการเลือกตั้งต่างหาก

คำถามที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุที่พรรคการเมืองนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรีบิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกตินั้น ก็เพราะประชาชนขาดความเชื่อถือ เชื่อมั่น คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรีต่างหาก นายกรัฐมนตรีต้องหันกลับไปทบทวนตัวเองบ้างว่าเคยสัญญิงสัญญาอะไรไว้กับประชาชนแล้วทำไม่ได้บ้าง เคยลั่นวาจาว่าจะจัดการเลือกตั้งในปี 58 ก็เลือนมาเป็นปี 59 ก็เลือนมาเป็นปี 60 ก็เลือนไปเป็นปี 61 และก็ไม่แน่ใจว่าในปี 62 จะมีรัฐบาลใหม่หรือไม่ เช่นนี้ยังคิดจะมาถามประชาชนอยู่อีกหรือ การใช้อำนาจโดยขาดการตรวจสอบนั้นชอบหรือไม่ การแทรกแซงองค์กรอิสระนั้นมีหรือไม่ การใช้เงินภาษีของประชาชนไปใช้ซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลในขณะที่ข้าวยากหมากแพงนั้นเหมาะสมหรือไม่ การออกกฎหมายหรือยกเว้นกฎหมายเพื่อเอื้อนายทุนนั้นชอบหรือไม่ ฯลฯ

"ท่านนายกฯ ไม่ต้องมาถามประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร แต่ควรกลับไปศึกษาอดีตเมื่อปี 2535 ว่า “การเสียสัตย์เพื่อชาติ” นั้นมันคุ้มหรือไม่ต่างหาก" แถลงการณ์ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ทิ้งท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net