Skip to main content
sharethis

แลกเปลี่ยนเรื่องการศึกษาระหว่างไทยและฝรั่งเศส ไทยแม้พยายามทำระบบโควตาให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่เกรดคือตัววัดคุณค่าและตัดสินการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ด้านฝรั่งเศสเน้นประเมินทักษะการใช้ชีวิต การเป็นพลเมืองตื่นตัว ฝึกเด็กโต้เถียงในห้องเรียน ข้อสอบส่วนใหญ่ให้เขียนแสดงความเห็น ถ้าเด็กไม่พอใจเกรดสามารถโต้แย้งกับครูได้

เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ที่ Warehouse 30 มีงานเสวนา “เกรดเปลี่ยนชีวิต” โดยมีวิทยากรคือ ทัศนวรรณ บรรจง จากมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท (FES) และปราศรัย เจตสันติ์ ครูสังคมศึกษา รร.บางปะกอกวิทยาคม และผู้ดำเนินรายการคือโสภิดา วีรกุลเทวัญ นักเขียนอิสระ

หลังเสวนามีการฉายภาพยนตร์สารคดี The Graduation ถ่ายทอดเหตุการณ์การสอบเข้าสุดโหดของโรงเรียนสอนภาพยนตร์ชื่อดังของฝรั่งเศส “La Fémis” โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL Week 2017 : พลังพลเมืองดิจิทัล จัดโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส), ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center), Documentary Club และ Warehouse 30

จากซ้ายไปขวา ปราศรัย เจตสันติ์, ทัศนวรรณ บรรจง, โสภิดา วีรกุลเทวัญ

ระบบการเรียนการสอนของประเทศฝรั่งเศส

ทัศนวรรณ บรรจง จากมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท เล่าว่า เราเรียนที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ป.1 จนจบปริญญาโทเพราะครอบครัวไปอยู่ที่นู้น ตอนแรกที่เข้าเรียนพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เลย เขาให้ผ่านกระบวนการการเรียนภาษาก่อน ซึ่งเรียกว่า integration process ทำให้เราได้ปรับตัวเข้ากับระบบของการศึกษา

การศึกษาของฝรั่งเศสมี 2 ช่วงหลักๆ คือ ป.1-ม.3 พอจบม.3 เด็กทั้งประเทศจะต้องเข้าสอบวิชาพื้นฐาน วิชาที่สำคัญคือประวัติศาสตร์ และอีกวิชาคือภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศส เพราะเราต้องเรียนภาษาอื่นเพิ่ม ถ้าสอบไม่ผ่านก็เลื่อนไปม.ปลายไม่ได้ ส่วนอีกช่วงคือหลังจบม. 6 ก็ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบเข้าโรงเรียนเฉพาะ

ตั้งแต่จบ ม.3 เด็กสามารถเลือกโรงเรียนวิชาชีพ (vocational) ได้ พบจบแล้วสามารถเข้าไปอยู่ในตลาดแรงงานได้เลย หรือจะต่ออีก 2 ปี เรียนเฉพาะด้านหรือที่เรียกว่า technical university เช่น การเป็นผู้ช่วยหมอ

ส่วนคนที่เรียนสายสามัญจบม.6 ไม่จำเป็นต้องสอบเข้า แต่มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับเรา เพราะมันเป็นสิทธิของเราที่จะเข้าถึงการศึกษา และเรียนฟรี มีค่าใช้จ่ายนิดหน่อยเรื่องการลงทะเบียน เรียนฟรีจนถึงปริญญาเอก ยกเว้นพวกโรงเรียนใหญ่ๆ ดังๆ เช่น La Fémis ในหนังที่ผลิตคนในแวดวงหนัง หรือโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนศิลปะ พวกนี้ต้องสอบเข้าและสอบเข้ายากมาก

ระบบการเรียนการสอนของประเทศไทย

ปราศรัย เจตสันติ์ ครูสังคมศึกษา รร.บางปะกอกวิทยาคม ให้ภาพระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันว่า มีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันระบบการเข้ามหาวิทยาลัยของไทยคือระบบ TCAS โดยจำแนกการเข้ามหาวิทยาลัยหลักด้วยกัน 3 วิธี

1. การเข้าแบบโควตา ซึ่งแต่ก่อนมีอยู่แล้วแต่ปัจจุบันก็จะขยายมากขึ้นไปอีก

2. การสอบเข้าด้วยวิธีการปกติ ซึ่งใช้ข้อสอบส่วนกลาง ที่เราได้ยินชื่ออย่าง O-net หรือ 9 วิชาสามัญ

3. การสอบเข้าด้วยวิธีการรับตรง ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีข้อสอบของตัวเอง เป็นการเปิดรับซึ่งเป็นความชำนาญเฉพาะด้านของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น การสอบรับตรงคณะรัฐศาสตร์ ข้อสอบก็จะมีความเกี่ยวข้องกับรัฐศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งแยกออกจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ระบบที่ค่อนข้างแตกต่างในปัจจุบันคือระบบโควตา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อปีที่แล้ว แต่ก่อนเราอาจคุ้นเคยกับระบบโควตาแบบนักกีฬา นักดนตรี หรือนาฏศิลป์ แต่ปัจจุบันระบบโควตาขยายไปครอบคลุมเนื้อหาส่วนอื่นด้วย เช่น มหาวิทยาลัยจัดประกวดแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ในหลายโรงเรียน ทีมที่ได้รับรางวัล 1 2 3 ก็มีสิทธิได้เข้ามหาวิทยาลัยทั้งทีม ส่วนใหญ่จะเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นโครงการที่เกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา

เห็นได้ว่ามีการพยายามปรับตัวของการศึกษาไทยเหมือนกัน พยายามเปิดรับไอเดียจากต่างประเทศมากขึ้น ไม่จำกัดตัวเองแค่การสอบอย่างเดียว

เกรดกับระบบการศึกษาไทย

ปราศรัยกล่าวว่า เกรดมีความสำคัญอยู่ แม้จะมีการขยายระบบโควตา แต่เด็กส่วนใหญ่ก็ยังเข้าระบบด้วยการสอบ และคะแนนส่วนหนึ่งก็ยังเป็นเกรด ระบบของเรามีวิธีการสอบเข้าด้วยหลากหลายคะแนน ผมจะไม่มองเฉพาะเกรด แต่ความหมายในเชิงเกรดจะหมายถึงการแข่งขันเชิงวิชาการทั้งหมดด้วยการใช้ข้อสอบ ถ้าตีความอย่างนี้นอกจากเกรดในโรงเรียนแล้ว การทำข้อสอบที่ใช้วัดเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันเหมือนกัน เด็กในทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ทำเกรดในโรงเรียนให้ดี แต่ต้องมีการทำข้อสอบให้ได้ด้วย

เพราะฉะนั้นการศึกษาเราไม่ว่าจะผ่านวิธีการอะไรมามากมาย ทั้งการคิดการสร้างกระบวนการเรียนการสอน แต่พอปลายทางมาถึงคอขวดคือการสอบ แล้วขวดก็บีบเข้าไป เด็กทุกคนก็ต้องผ่านการทำข้อสอบไปให้ได้ บางโรงเรียนถึงกับไม่สนใจการเรียนการสอน แต่ติวตั้งแต่ม.4 ม.5 ม.6 เพื่อทำข้อสอบปากขวดนี้ให้ได้

เมื่อระบบการศึกษาถูกออกแบบเช่นนี้ เด็กจึงต้องมองหาวิธีที่จะทำข้อสอบให้ได้ ก็มีวิธีมากมาย เช่น แต่ก่อนเราใช้การโกง แต่เดี๋ยวนี้เราใช้วิธีการเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมด เปลี่ยนระบบการศึกษาที่ควรจะเป็นการพัฒนามนุษย์ในทุกๆด้าน ทั้งสติปัญญา จิตใจ ทักษะชีวิต เป็นการ “ทำอย่างไรคุณถึงสามารถชนะเกมนี้ได้”

 

เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เกรดจึงมีความหมายกับเด็กมากๆ ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐนอกจากเกรดจะส่งผลกับเด็ก เกรดยังส่งผลต่อครูและโรงเรียนด้วย หากโรงเรียนไหนมีเกรดของเด็กดีขึ้น ครูทั้งหมดจะได้รับอานิสงค์บางอย่าง เช่นเดียวกันผู้บริหาร จากการประเมินคุณภาพครู ผู้บริหาร และโรงเรียน

เกรดกับระบบการศึกษาฝรั่งเศส

ทัศนวรรณกล่าวว่า ในการเรียนของฝรั่งเศสไม่มีโรงเรียนกวดวิชา ไม่มีการติว ถ้าเลิกเรียนก็คือเลิกเรียน ปิดเทอมก็คือปิดเทอม เพราะถ้าครูดีจริงเราก็ไม่ต้องมีการติวเพิ่ม

การสร้างเกรดมันขึ้นกับปรัชญาพื้นฐานของการศึกษาด้วย เราอยากให้เด็กเรียนไปเพื่ออะไร

 

เธออธิบายว่า ปรัชญาการศึกษาของฝรั่งเศสมี 4 หลักการ คือ

1. ระบบการศึกษาฝรั่งเศสต้องอยู่บนพื้นฐานของความคิดความเชื่อเรื่องสาธารณะ เราแชร์อะไรกัน ภาษา หลักการการปกครองเพื่อประชาชน โดยประชาชน

2. ไม่ให้ศาสนามายุ่งเกี่ยวกับการศึกษา ในโรงเรียนจะสอนศานาแต่ในเชิงหลักการหรือประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แต่ไม่ได้สอนว่าตอนเช้าต้องไปนั่งทำสมาธิ เนื่องจากสังคมมีความหลากหลาย ถ้าเราเอาศาสนาใดศาสนาหนึ่งมามันก็ไม่เท่าเทียมกันแล้ว

3. เรื่องประชาธิปไตย

4. เรื่องความเท่าเทียมในสังคม

“ถ้าเรามีปรัชญาพื้นฐานแบบนี้เราก็ต้องออกแบบเกรดเพื่อให้เด็กโตมาเป็นพลเมืองตามหลักการพื้นฐานแบบนี้ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงมีปัญหากับเกรดของไทย ทำไมเด็กต้องติว แล้วสุดท้ายได้เกรดดีออกมาแล้วยังไงต่อ ความรู้ทักษะชีวิต ความรู้ด้านอื่นๆ เกรดทำให้คุณดำเนินชีวิต หรือให้คุณสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ยังไง” ทัศนวรรณตั้งคำถาม

เธอเล่าต่อว่า ที่ฝรั่งเศสก็มีเกรด แต่เกรดไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเรามีคุณค่าหรือไม่ คุณค่าเราไม่ได้ขึ้นกับเกรด แต่การประเมินของครูจะเกี่ยวกับเรื่องว่าเด็กคนนี้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดี เข้าใจเรื่องสังคม มีทักษะในการดำเนินชีวิต

นอกจากนี้เด็กยังสามารถตั้งคำถามกับเกรดของตัวเองได้ ว่าทำไมฉันได้เท่านี้ มีระบบที่ตั้งมาไม่นานในปี 2013 ทุกอย่างเป็นดิจิทัลหมด พ่อแม่เด็กก็สามารถเข้าไปดูเกรดได้ ถ้าเขามีคำถาม คิดว่าไม่ควรได้แบบนี้ สามารถไปหาครูได้ เรียกร้องได้

ทัศนวรรณยกตัวอย่างเพิ่มเติมที่เยอรมัน การประเมินเกรดในโรงเรียนหนึ่ง เขาประเมินเสร็จแล้วเขาเอาเกรดมานั่งคุยกับเด็กทีละคน ถามว่าคุณโอเคไหม แล้วเขาก็อธิบายด้วยว่าข้อสอบคุณข้อนี้ผิดนะ หรือถ้าครูมีมุมมองการให้คะแนนแบบหนึ่ง แล้วเด็กเข้าไปอธิบายมุมมองของตัวเองอีกรอบ ครูก็อาจจะยอมรับและอาจเปลี่ยนเกรดก็ได้

เกรดทำให้ชีวิตนักเรียนไทยเป็นยังไง?

ปราศรัยอธิบายว่า เกรดเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผล ซึ่งการประเมินผลและวัดคุณค่าของเด็กว่าเขาเรียนรู้แล้วได้อะไรบ้าง จุดประสงค์แรกคือการติดตามว่าเขามีพัฒนาการอย่างไรในการเรียนรู้ เขาเข้าใจมากขึ้นรึเปล่า เขายังติดปัญหาอะไรไหม และอีกจุดประสงค์คือใช้ในการตัดสินว่าผ่านหรือไม่ผ่าน

ปัจจุบันเราให้ค่ากับจุดประสงค์แรกลดลงไปเยอะมาก แต่ให้คุณค่ากับการตัดสินว่าเด็กอยู่ในขั้นไหน เราพยายามจะจัดคลาสเด็กว่าเด็กอยู่ในส่วนไหนของชั้น ของสังคม ความจริงหัวใจของเกรดมันถูกสร้างขึ้นมาให้เด็กเขารู้ตัวเองว่าเขาถนัดวิชานี้หรือไม่ มีทักษะตรงนี้หรือไม่ ทำให้เขาเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าเขาจะไปไหนต่อ

ผมเจอเด็กหลายคนที่เกรดดีมาก แต่ตอนอยู่ม. 6 ผมถามเขาว่าจะไปเรียนไหนต่อ เขาตอบไม่ได้ สุดท้ายเขาก็เอาการตัดสินใจว่าเกรดแบบนี้ และค่านิยมในสังคมเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นควรเรียนคณะแบบนี้ เป็นตัวตัดสินใจ ทำให้ไปสู่สังคมที่คิดว่าตัวเองน่าจะเข้ากันได้มั้ง ผ่านเกรดของตัวเอง แต่ไม่เคยถามตัวเองว่ามีทักษะอะไรบ้าง อ่อนตรงไหน ทำตรงไหนได้ดี

 

แล้วการประเมินของฝรั่งเศสล่ะ?

ทัศนวรรณกล่าวว่า หลังจากม.3 เราก็จะพยายามดูว่าเด็กสนใจอะไร เหมาะกับสายสามัญหรืออาชีพ ดูว่าเด็กคนนี้ถนัดอะไร จะมีการเน้น 3 แบบ คือ literature เน้นเรียนปรัชญา วรรณกรรม ภาษา แบบที่ 2 คือ economic and science และแบบที่ 3 คือ scientific เน้นเรียนความรู้เชิงวิทยาศาสตร์

การประเมินของฝรั่งเศสคือการตั้งคำถาม และให้เด็กเรียนรู้วิธีการ argument ตั้งแต่เด็กๆ มีวิธีการตอบคำถามแบบมีเหตุผล Thesis, antithesis, synthesis เราต้องทำให้ได้ นี่คือวิธีการวัดประเมินของเขาส่วนมาก

- Thesis คือ ทฤษฎี หรือองค์ความรู้หลักที่ใช้เป็นฐานในการพิสูจน์

- Antithesis คือขั้นตอนการสรุปผลที่ได้ว่าขัดแย้งหรือสอดคล้องกับทฤษฎี (หากเป็นการตรวจสอบทฤษฎีจะได้ผลยืนยันทฤษฎี) ต้องกล้าคิดตอบโต้ไว้ก่อน

- Synthesis คือขั้นตอนการสังเคราะห์ วิเคราะห์ คิดและตีความ

 

เธอเล่าว่า ตอนม.6 เหมือนการสอบโอเน็ตในไทย แต่ทุกวิชาจะมีเวลา 4 ชั่วโมงในการเขียน argumentation ซึ่งทำให้ครูต้องมีวิธีการสอนอีกแบบในห้องเรียน ไม่ได้สอนท่องจำเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนมากจะสอนให้เด็กถกเถียง สร้างเหตุผลของตัวเองขึ้นมาได้ รู้ว่าทำไมตัวเองคิดแบบนี้ รู้ว่าทำไมเราไม่เห็นด้วยกับคนอื่น และฟังคนอื่นว่าทำไมเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรา  การให้เกรดแบบนี้ ประเมินผลแบบนี้มันส่งผลต่อวิธีการที่เราเรียน เราต้องสอนให้เขามีทักษะในการไปตอบคำถามพวกนี้ให้ได้

ในขณะที่ไทยเป็นปรนัยส่วนมาก แล้วก็ไม่ถามในเปเปอร์ด้วยว่าทำไมคุณตอบแบบนี้

ขณะที่ปราศรัยอธิบายถึงแนวคิดการเป็นปรนัยของไทยว่า ส่วนหนึ่งเพราะระบบการศึกษาไทย แต่ละห้องเรียนมีนักเรียนเยอะมากประมาณ 50 คน การใช้วิธีให้เด็กสอบแบบเขียน essay ก็ต้องใช้เวลาในการตรวจนานมาก และระบบครูของไทย ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐจะเห็นชัด คือ มันไม่เอื้อให้ครูใช้เวลากับห้องเรียนเยอะ มันจะมีงานอื่นๆ ในโรงเรียนที่พรากเวลาครูไป

เพราะฉะนั้นครูไม่มีเวลามานั่งตรวจงานอ่าน essay เด็กทีละหน้า ทั้งที่จริงๆ มันควรเป็นงานหลักของครู เพราะการที่เด็กเขียนแล้วเราตอบกลับไปมันคือช่องทางเดียวที่เราจะสื่อสารกับเด็กได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการเปิดเผยให้เพื่อนรับรู้ เราสามารถวิจารณ์เขาได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งช่องทางมันมีน้อย

การออกแบบโครงสร้างการศึกษาที่คุมเนื้อหาจนครูต้องกังวลว่าจะสอนไม่ครบหลักสูตร

ปราศรัยได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทยว่า เป็นการควบคุมโครงสร้างในเชิงของรัฐ รัฐจะควบคุมทั้งหมดว่ามีความรู้ 7-8 ก้อน ต้องเรียนอะไรบ้าง การคุมเนื้อหาเช่นนี้ ทำให้ครูทุกคนที่ต้องออกแบบการสอนต่อจากโครงสร้าง ต้องมานั่งพะวงกับเนื้อหาวิชาพวกนี้ ว่าจะสอนทันไหม  

แต่สิ่งที่ออสเตรเลียทำคือการวัดในเชิงความสามารถของเด็ก ว่าเด็กมีทักษะเช่นนั้นรึเปล่า มีทัศนคติเช่นนั้นรึเปล่า สื่อสารได้ แก้ปัญหาได้ รู้จักการการวิเคราะห์และถกเถียง ถ้ามีเช่นนี้แล้วรัฐถือว่าโอเคแล้ว ส่วนวิชาแต่ละวิชาแต่ละโรงเรียนจะสอนยังไง คุณปรับเอาได้เลย ดังนั้นครูก็จะเปิดกว้าง ไม่ต้องกลัวว่าจะสอนไม่ครบตามหลักสูตร

ทัศนวรรณเสริมว่า เช่นเดียวกัน ฝรั่งเศสก็เป็นแบบนี้ จะวัดในเชิงสมรรถนะเป็น 7 หมวด ไม่ได้วัดเชิงความรู้หรือเนื้อหาในส่วนมาก อย่างสมรรถนะ digital intelligent เป็นสมรรถนะหนึ่งที่สำคัญมากในหลักสูตรของฝรั่งเศส เน้นเรื่องการตระหนักเท่าทันสื่อ เน้นการนำสื่อมาสร้างเป็นโปรเจคท์ของตัวเองได้

ความสัมพันธ์ของครูนักเรียน

ปราศรัยอธิบายว่า ขึ้นอยู่กับช่วงวัยของครู และวัฒนธรรมของโรงเรียน ถ้าเป็นโรงเรียนชั้นนำ ชื่อเสียงเยอะ ประวัติยาว ก็จะมีการทรีตเด็กแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีพื้นฐานมาจากวัด จากในชุมชน ก็จะอีกแบบหนึ่ง

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ทุกวันนี้เด็กเป็นเจน Z เขาใช้โซเชียลมีเดียเป็น เขารับรู้ข้อมูลข่าวสาร สำคัญคือระบบการศึกษาเตรียมที่จะรองรับพวกเขารึยัง ถ้าระบบยังเป็นแบบเดิม มันก็จะขัดแย้งกับตัวเด็ก

ทัศนวรรณกล่าวว่า ถ้าพูดถึงความสัมพันธ์ของครูกับเด็ก ต้องคำนึงว่า แล้วครูมาทำอาชีพครูเพื่ออะไร เราก็เคยเจอครูที่เขาแก่แล้ว หมดไฟ และสอนไปเพื่อให้มันหมดคาบ แต่เราก็เจอครูที่ให้แรงบันดาลใจ ครูประเภทนี้ก็จะเป็นครูที่มุ่งมั่นในการสอน มีอุดมการณ์ เขาอยากเปลี่ยนสังคม และเขารู้ว่าการศึกษาช่วยเปลี่ยนสังคมได้ ถ้าเจอครูแบบนี้ปฏิสัมพันธ์กับครูก็จะเป็นว่า เขาให้ความสำคัญกับความรู้ของเรามากกว่าเกรดของเรา

เข้าเน็ตมากขึ้น เรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น?

ปราศรัยกล่าวว่า ศูนย์กลางความรู้มันต่างจากเมื่อก่อน เมื่อก่อนครูคือศูนย์กลางความรู้ เพราะไม่อาจหาความรู้จากที่อื่นได้ ถ้าครูพูดเด็กก็ต้องรีบจด ปัจจุบันความรู้มันกระจายไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น เพราะฉะนั้นเด็กหลายคนอ่านและเรียนรู้เรื่องราวบางอย่างก่อนเข้าชั้นเรียนด้วยซ้ำ หน้าที่ครูจึงไม่ใช่ผู้ให้ความรู้ เพราะเด็กบางคนรับรู้เรื่องราวในอีกแบบด้วยซ้ำไป

ห้องเรียนที่ครูปรับตัวได้เขาจะใช้โอกาสนี้ชื่อมโยงความรู้จากโลกในชีวิตจริงเข้ามาสู่ห้องเรียนให้มากขึ้น เปลี่ยนพื้นที่ในห้องเรียนจากพื้นที่ “ให้” อย่างเดียว เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนกัน อาจมีมุมมองที่ต่างกันจากเรื่องราวเดียวกัน และมันแตกต่างจากการแสดงความเห็นในโลกดิจิทัล การไม่เผชิญหน้ากันในการแสดงความเห็นนั้นต่างจากการเผชิญหน้ากันในการแสดงความเห็น ดังนั้นมันเป็นโอกาสดีมากที่ครูจะหยิบฉวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองกันของเด็กและครู การเรียนการสอนก็จะเปลี่ยนไป

ผมเป็นครูในเครือข่าย civic education ก็นำแนวคิดการสร้างประชาธิปไตยเข้าไปในห้องเรียน ผมเปลี่ยนรูปแบบการเรียน จากเดิมที่ให้เขารับข้อมูลอย่างเดียว ให้เด็กได้เรียนแบบ active learning มากขึ้น ใช้วิธีการต่างๆ มากมาย

ที่สำคัญคือการดึงพวกข่าวสารต่างๆ เข้ามาในห้อง บางครั้งความรู้เป็นความรู้ที่แยกขาดจากชีวิตจริงของเด็ก เด็กไม่เข้าใจว่าเรียนไปแล้วมันมีความหมายอะไรกับเขา

 

ปราศรัยกล่าวต่อว่า การใช้ข่าวสารหรือเรื่องราวในชีวิตจริง และทำให้เกิดการถกเถียง ทำให้เด็กรู้สึกว่านี่คือการเรียนรู้ การเตรียมพร้อม ทักษะ ความคิด จิตใจ ฝึกการตั้งคำถาม เพื่อออกไปเผชิญโลกในชีวิตจริง เพราะหน้าที่ของครูไม่ใช่การถ่ายทอดวิชาการความรู้ แต่คือการเตรียมเขาให้พร้อม ทั้งทักษะและการรู้เท่าทันบางสิ่งทั้งสื่อและชีวิตจริง และเขาจะได้ปรับตัวกับบางสิ่งที่ต้องเจอในอนาคตได้

ทัศนวรรณเสริมว่า การสร้างพลเมืองควรเป็นจุดมุ่งหมายทางการศึกษา เพื่อให้เขาเป็นพลเมืองที่เปลี่ยนแปลงสังคม สร้างสังคมที่เขาอยากอยู่ เราควรรวบรวมแนวคิดนี้ให้เข้าไปในทุกวิชาได้ มันขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเรา เพราะสังคมเผด็จการเขาก็มีเรื่องการสร้างพลเมืองเหมือนกัน แต่เป้าหมายก็อาจต่างกัน

สำหรับสังคมไทยเราเห็นอะไร ต้องการอะไร อยากให้การศึกษาช่วยเราไปถึงจุดไหน ต้องโยนให้สังคมไทยช่วยกันถกเถียงและตอบด้วย

 

นอกจากนั้น ทัศนวรรณเห็นว่า สื่อก็ไม่ได้มีแค่สื่อดิจิทัล มีสื่ออื่นๆด้วย เช่น ศิลปะ ทุกวันนี้ในห้องเรียนก็เห็นเขาทำกิจกรรมเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยหรือการอยู่ร่วมกัน หลักการความหลากหลาย จะคุยยังไงกับเด็ก ยกตัวอย่างก็มีครูให้เด็กทำงานศิลปะขึ้นมาเพื่อสื่อกับเรื่องนี้ แล้วเด็กก็ต้องอธิบายผลงานของเขาว่ามันสื่อถึงความหลากหลายยังไง มันอาจไม่ได้เป็นวิธีการนอกกรอบอะไร แต่ก็เป็นวิธีการที่ทำให้เด็กมีความสนใจกับตรงนี้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net