ปมยืดบังคับใช้ ก.ม.ส.ส.เพิ่ม 90 วัน 'วิษณุ' บอกไม่ผิดหลัก 'มีชัย' ระบุทำได้

กระแสข่าวยืดบังคับใช้ ก.ม.ส.ส.เพิ่ม 90 วัน ส่งผลเลือกตั้งใหม่ลากยาวปี 62 'วิษณุ' บอกไม่ผิดหลักกฎหมายอะไร ขณะที่ 'มีชัย' ระบุทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลและตอบสังคมได้ 

แฟ้มภาพ

18 ม.ค. 2561 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า แหล่งข่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา ว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา กรรมาธิการวิสามัญ สนช. ได้มีการประชุมลับเพื่อพิจารณาแก้ไขมาตรา 2 กฎหมายด้วยว่าการเลือกตั้ง ส.ส. จากเดิม ที่ระบุว่า ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เป็น ให้ใช้บังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปแทน ซึ่งจะมีการนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาสนช.วาระ 2 และ 3 ในวันที่ 25 ม.ค.61 นี้

“การแก้ไขเงื่อนเวลาให้กฎหมายเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับออกไปอีก 90 วันดังกล่าว ถูกคาดหมายว่าอาจจะเป็นความพยายามในการหาทางช่วยเหลือพรรคการเมืองใหม่ของรัฐบาล คสช. ที่จะจัดตั้งขึ้นมาลงเลือกตั้ง ให้มีระยะเวลาเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่มากขึ้นจากเดิมอีก 3 เดือน ซึ่งจะมีการผลต่อการเลือกตั้ง ส.ว.ด้วย” แหล่งข่าวระบุ
 
แหล่งข่าว ยังระบุด้วยว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดว่า ภายหลังจากที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในระยะเวลา 150 วัน หากมีการแก้ไขระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน เท่ากับว่าระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะขยายออกไปเป็น 240 วัน ซึ่งตามโรดแมปการเลือกตั้งเดิมที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2561 อาจจะมีการขยับเลือนเวลาออกไปเป็นเดือนก.พ.2562 ด้วย  

วิษณุ บอกไม่ผิดหลัก หากใส่ให้เลื่อนการบังคับออกไป 90 วัน

มติชนออนไลน์ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ที่ผ่านมา กรรมาธิการวิสามัญ สนช. ได้มีการประชุมลับเพื่อพิจารณาแก้ไขมาตรา 2 กฎหมายด้วยว่าการเลือกตั้ง ส.ส. จากเดิม ที่ระบุว่า ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เป็น ให้ใช้บังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปแทน ว่า ไม่รู้ว่าเหตุผลของการปรับคืออะไร แต่หากมีการปรับก็ไม่ได้ผิดหลักกฎหมายอะไร เพราะกฎหมายบางฉบับก็จะมีผลบังคับใช้วันนั้นเลย แต่กฎบางฉบับก็จะทิ้งระยะเวลาไว้ 30 วัน 120 ก็มี อย่างกฎหมายธุรกิจรักษาความปลอดภัยเอกชนก็ทิ้งเวลาไว้ตั้ง 1 ปี เพื่อให้มีการเตรียมการ การจะบังคับใช้เมื่อใดนั้นจะต้องรอให้มีการคลี่คลายปัญหาที่อาจจะไม่ได้คิดมาก่อน เช่น การออกกฎหมายลูก หรือการตั้งหน่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อให้ไม่เกิดปัญหา หรือเกิดความสะดุด แต่กรณีกฎหมายเลือกตั้งนั้นจะเลื่อนเพราะสาเหตุใดต้นยังไม่ทราบเหตุผลตรงนี้เพราะยังไม่เคยเห็นตัวฉบับร่างนั้นทั้งฉบับเลยว่าจะก่อให้เกิดภาระอะไรอย่างไรหรือไม่และรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนอะไร รัฐธรรมนูญเขียนเพียงว่าภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่พ.ร.ป.ฉบับสุดท้ายมีผลใช้บังคับ ขนาดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ยังบอกเลยว่า หากปล่อยไว้แบบนี้เกรงว่าจะไม่ทันสงสัยจะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญเรื่อง 150 วันนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับให้ยืดออกไป แต่ถ้าจะเค้าจะแก้เรื่องวันใช้บังคับตรงนี้ก็ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญอะไรเลย
 
ต่อกรณีคำถามว่า หากยืดออกไป 90 วัน จะกระทบโรดแมปการเลือกตั้งหรือไม่ นั้น วิษณุ กล่าวว่า ถ้ายอมรับเสียแล้วว่าเป็นเหตุผลแล้วคุณกลัวอะไร เว้นแต่เหตุผลนั้นฟังไม่เข้าท่า

มีชัยระบุทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลและตอบสังคมได้ 

เว็บไซต์วิทยุรัฐสภารายงานว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง  ส.ส. เตรียมขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเษกษาแล้วว่า แม้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายสามารถทำได้ ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายหลายฉบับก็มีการกำหนดแบบนี้ เนื่องจากสภาเห็นว่าหากบังคับใช้ทันทีอาจมีผลกระทบ จึงสามารถขยับเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ 6 เดือน บางฉบับขยายเวลาการบังคับใช้ 1 ปี หรือไม่มีกรอบเวลา แต่ในการขยายเวลาจะต้องมีเหตุผลและสามารถอธิบายสังคมได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนยังไม่ทราบว่า ร่างพ.ร.บ.ข้างต้นจะมีการขยายระยะเวลาหรือไม่ จึงไม่อยากแสดงความคิดเห็นกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ. .... ในประเด็นยกเว้นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้กรรมการ ปปช. อยู่ต่อจนครบวาระนั้น นายมีชัย ระบุว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ข้อยุติในประเด็นที่เกิดข้อสงสัย ส่วนจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย 
 
มีชัย เผยด้วยว่าวันนี้ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. และ สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ได้เข้าหารือเรื่องที่มาของ ส.ว. ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการบล็อกโหวต ซึ่งตนได้แสดงความเห็นว่า การลดจำนวนกลุ่มอาชีพกับการเลือกภายในกลุ่มกันเอง จะทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย รวมถึงกรณีที่เสนอให้ การเปิดรับสมัคร ส.ว.ทำได้ 2 ช่องทาง คือ สมัครด้วยตนเองและผ่านองค์กรนั้น เห็นว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคนสามารถลงสมัครเป็น ส.ว.ได้ ดังนั้นการไปกำหนดให้ยื่นผ่านองค์กร อาจเป็นการจำกัดสิทธิ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ กมธ. ว่าจะดำเนินการอย่างไร
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท