Skip to main content
sharethis

นิด้าโพล เผยผลสำรวจ ประชาชน 76% เห็นว่ามีความไม่ปกติ ไม่โปร่งใสในรัฐบาล-คสช. ส่วนความเป็นกลางของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบรัฐบาล-คสช. พบ 48.6% เห็นว่ามีความเป็นกลางในการตรวจสอบ ขณะที่ 42.9% เห็นแแย้ง และ 61% เห็นว่ามีการแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. 

26 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อการทำงานตรวจสอบรัฐบาล/คสช ของ ป.ป.ช.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 25 ม.ค. 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อการทำงานของ ป.ป.ช. การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random  Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

เมื่อถามถึงความคิดเห็นว่ามีความไม่ปกติ/ไม่โปร่งใสในรัฐบาล/คสช. หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่  ร้อยละ 76.32 ระบุว่า มีความไม่ปกติ/ไม่โปร่งใส รองลงมา ร้อยละ 16.64 ระบุว่า มีความปกติ/โปร่งใส และร้อยละ 7.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ ความกล้าของ ป.ป.ช. ที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล/คสช. อย่างเที่ยงตรง ยุติธรรม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.60 ระบุว่า กล้าเข้ามาตรวจสอบ รองลงมา ร้อยละ 46.88 ระบุว่า ไม่กล้าเข้ามาตรวจสอบ และร้อยละ 3.52 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นกลางของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล/คสช.พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.64 ระบุว่า มีความเป็นกลางในการตรวจสอบ รองลงมา ร้อยละ 42.96 ระบุว่า ไม่มีความเป็นกลางในการตรวจสอบ และร้อยละ 8.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชาชนในสัดส่วนใกล้เคียงกันมากเชื่อว่าป.ป.ช จะมีและไม่มีความเป็นกลางในการตรวจสอบ สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ ความรวดเร็วของ ป.ป.ช. ที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล/คสช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.24 ระบุว่า เข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล/คสช. ได้อย่างล่าช้า รองลงมา ร้อยละ 35.52 ระบุว่า เข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล/คสช. ได้ปกติ ร้อยละ 11.36 ระบุว่า เข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล/คสช. ได้อย่างรวดเร็ว และร้อยละ 2.88 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด ประชาชนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับว่าการแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. จากรัฐบาล/คสช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.04 ระบุว่า มีการแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. จากรัฐบาล/คสช. รองลงมา ร้อยละ 28.72 ระบุว่า ไม่มีการแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. จากรัฐบาล/คสช. และร้อยละ 10.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มประชากรตัวอย่าง 

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.64 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ตัวอย่างร้อยละ 25.44 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 36.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 11.84 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 57.36 เป็นเพศชาย และร้อยละ 42.64 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.72 มีอายุ 18 – 25 ปี ตัวอย่างร้อยละ 17.36 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.64 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.48 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 19.04 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 92.48 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.20 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.80 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 3.52 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.72 ระบุว่า สถานภาพโสด ร้อยละ 67.76 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.92 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.60 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 22.00 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.80 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.40 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.68 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.64 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.48 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ11.44 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.48 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.36 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.56 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.68 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.00 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.76 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.24 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 4.48 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 11.44 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท  ร้อยละ 23.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.84 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 –  40,000 บาท ร้อยละ 9.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.44 ไม่ระบุรายได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net