Skip to main content
sharethis

วงเสนองานวิจัยและเวทีเสวนาเรื่องคอร์รัปชันในสังคมไทยระบุ การใช้ภาษา วัฒนธรรมการสื่อสารมีผลต่อความเข้าใจและความคิดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ถกหลากมิติคอร์รัปชันจากหลากมิติทั่วไทย นักวิจัยแนะ ประชาชนควรเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น

เมื่อ 27 ก.พ. มีเวทีนำเสนองานวิจัย และวงเสวนา คุยฟาร์มรู้ "จากห้องทดลองสู่โลกจริง: เข้าใจคอร์รัปชันในสังคมไทย" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ SIAM Lab (Social Integrity Architecture and Mechanism design Lab) โดยงานจัดที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สื่อ ภาษา วัฒนธรรมสร้างความเข้าใจและวิธีแก้คอร์รัปชันที่แตกต่าง

ต่อภัสสร์ ยมนาค จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิจัยของ SIAM Lab ชวนตั้งคำถามว่า ภาษาที่ใช้ในสื่อมีผลกระทบต่อการเข้าใจและความรับรู้ของผู้เสพสื่อหรือไม่ ทำไมตัวเองรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับข่าวเรื่องเปรมชัย กรรณสูต กรณีเรื่องเสือดำ แต่รู้สึกเบื่อข่าวเรื่องดัชนีทุจริตของไทย ตนเคยคุยกับนฤดล จันจารุ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  ได้ความว่า สิ่งที่แฝงอยู่ในข่าวสองข่าวคืออุปลักษณ์ หมายถึงการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่งโดยที่ทั้งสองสิ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและระบบความคิดของมนุษย์ เชื่อมโยงกับสังคม การเมืองและวัฒนธรรมของคนที่พูด เช่น ชีวิตคือละคร แต่เรื่องการคอร์รัปชันนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะมีหลายลักษณะ หลายขั้นตอน

ต่อภัสสร์ ยมนาค

ต่อภัสร์กล่าวต่อไปว่า ตนเคยสืบค้นข้อมูลว่า สื่อไทยมีการใช้คำอุปลักษณ์ใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต พบว่ามีคำว่า สงคราม กองทัพ อาวุธ ความตาย สีเหลือง สีแดง หลากสี ยานพาหนะ รถเมล์ การขนส่งทางบก การกิน การบริโภค กินอิฐ หิน ดิน ปูน ทราย ผู้หญิง เกมส์ เมื่อวิเคราะห์คำอุปลักษณ์เหล่านี้พบว่ามีลักษณะการใช้งานแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายกรณีไป เป็นเรื่องการสนับสนุนให้เกิดเรื่องดราม่า เพราะคนชอบเรื่องดราม่า เสพแล้วตื่นเต้น อยากมีส่วนร่วม แต่ข้อเสียของดราม่าคือเรื่องหยุดอยู่แค่กรณีนั้น พอจบแล้วก็จบไปโดยที่ระบบการทุจริตไม่ถูกแก้ไข

ในทางกลับกัน คำอุปลักษณ์ที่ใช้ในกรณีการทุจริตในสื่อจากาตาร์ โพสท์ ประเทศอินโดนีเซียจะมีคำว่า กฎหมาย ระเบียบ ผิดจริยธรรม สื่อ หนังสือ อาชญากรรม เสียหาย ทำลาย การกระทำ การสร้าง การมีส่วนร่วม โดยคำว่า ‘การมีส่วนร่วม’ ถูกนำมาใช้มากกว่าในสื่อไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ธานี ชัยวัฒน์

ด้าน ผศ.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการ SIAM Lab ตั้งข้อสังเกตว่า การหาความเป็นรูปธรรมให้กับคอร์รัปชันที่แตกต่างกันนำมาสู่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ต่างกัน เคยมีการทดลองโดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็นสองกลุ่มแล้วอ่านเอกสารเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน โดยตั้งโจทย์ให้กลุ่มที่หนึ่งเปรียบคอร์รัปชันเป็นเหมือนไวรัสที่ระบาดรุนแรงในสังคม อีกกลุ่มให้เปรียบคอรัปชันเป็นสัตว์ร้ายที่ทำลายสังคม แล้วถามว่า จะแก้ปัญหาคอรัปชันอย่างไร คนที่มองว่าคอร์รัปชันเป็นไวรัสจะรู้สึกว่าต้องหาสาเหตุว่าเชื้อโรคมาจากอะไร ต้องช่วยกันแก้ไข ทำตัวเราให้แข็งแรง มีความเห็นเรื่องการปฏิวัติสังคม ในขณะที่คนที่มองคอร์รัปชันเป็นปีศาจจะตอบว่า ต้องร่วมกันกำจัดปีศาจ ซึ่งเป็นเรื่องปลายเหตุ เป็นการปราบปรามคนอื่น การมีอุปลักษณ์ที่แตกต่างของคำว่า ‘คอร์รัปชัน’ ที่มีความเป็นนามธรรมมากจึงมีผลต่อแนวคิดและความเข้าใจของคนมาก

ธานีกล่าวต่อไปว่า ในสังคมไทยเมื่อพูดถึงคอร์รัปชันก็พูดถึงการกิน เช่น กินสินบาทคาดสินบน กินอิฐ หิน ปูน ทราย ถนน สะท้อนว่าเป็นการผูกคอร์รัปชันกับวัฒนธรรมการกิน ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มากเพราะคนรู้สึกว่าการกินเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่มีลักษณะวัฒนธรรมแบบนี้ ในขณะที่อีกหลายประเทศผูกเปรียบคอร์รัปชันเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีพิษ

หลากมิติคอร์รัปชันจากหลากมิติทั่วไทย นักวิจัยแนะ ประชาชนควรเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น

ซ้ายไปขวา: อดิศักดิ์ สายประเสริฐ ต่อภัสสร์ ยมนาค ปกรณ์สิทธิ ฐานา นิชาภัทร ไม้งาม จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ สมคิด พุทธศรี 

วงเสวนา “หลากมิติคอร์รัปชัน หลายประเด็นพฤติโกง : ประสบการณ์จากนักวิจัย” เป็นการเล่าประสบการณ์การลงพื้นที่ใน จ.น่าน จ.นครราชสีมา และ กทม. จากนักวิจัยของ SIAM Lab โดยมีนักวิจัยที่ลงพื้นที่มาได้แก่ ปกรณ์สิทธิ ฐานา ผู้ลงพื้นที่กทม. จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ ผู้ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมาและนิชาภัทร ไม้งาม ผู้ลงพื้นที่ จ.น่าน

นิชาภัทรระบุว่า พื้นที่ จ.น่าน ที่ไปลงมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ชาวบ้านยังพึ่งพิงการผลิตแบบธรรมชาติอยู่ทั้งเพื่อยังชีพและการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ บางส่วนรับจ้าง การลงพื้นที่ได้เลือกพื้นที่ที่ห่างไกล เดินทางเข้าไปลำบาก มีความโดดเด่นคือลักษณะการเป็นชุมชนชนบทที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น จากที่เก็บข้อมูลพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีระดับการศึกษาน้อย และพบว่าชาวบ้านมีมุมมอง ความเข้าใจคอร์รัปชันในเรื่องที่เกี่ยวโยงกับการจัดการทรัพยากรและงบประมาณของหน่วยงานที่ลงไปในพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่มีงบจากภายนอกลงไปในพื้นที่จำนวนมาก เช่น งบปลูกป่า งบภัยพับัติ จะมีมุมมองเรื่องความโปร่งใส การเข้าไม่ถึงข้อมูล ในพื้นที่ใกล้กับตัวอำเภอ ชาวบ้านจะตระหนักเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส การกินเปอร์เซ็นต์ การรับเงินทอน

ต่อประเด็นการแก้ปัญหา นักวิจัยจาก SIAM Lab กล่าวว่า ชาวบ้านบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคอร์รัปชันอยู่ ยังไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมบางอย่างของตัวเองคือการคอร์รัปชัน  ต้องให้ความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น สอง เมื่อมีการรวมกลุ่มมากขึ้นจะส่งผลต่อการรับรู้ข้อมูลมากขึ้น ทั้งยังอยากให้เปิดเผยข้อมูลของโครงการพัฒนา และงบประมาณต่างๆ ให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้มากกว่าที่เป็นอยู่

จิรพันธ์กล่าวว่า พื้นที่ จ.นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ชุมชนส่วนใหญ่ผสมกันระหว่างเมืองและชนบท แต่การรวมตัวของภาคประชาชนอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่จะมีค่อนข้างเยอะ การรวมกลุ่มระหว่างพื้นที่จะค่อนข้างน้อย เพราะภูมิประเทศมีความกว้าง ในหัวเมืองใหญ่ๆ จะมีกลุ่มทุนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ การคอร์รัปชันเกี่ยวข้องการทำงานเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นการรับสินบน หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกตัวเอง เช่นใช้ทรัพย์สินราชการไปเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีงบประมาณปันมามากเป็นอันดับหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งบที่ลงมาทุกปีถูกจัดสรรไปลงทีโครงการพัฒนาเป็นจำนวนมาก จึงมีการคอร์รัปชันในโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น การทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง คอร์รัปชันในโครงการขุดคลอกคูคลอง  สร้างสนามฟุตซอล

จิรพันธ์เสนอแนวทางแก้ไขว่า เนื่องจากประชาชนยังไม่ตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชัน จึงต้องมีการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ เพราะหลายพื้นที่ในนครราชสีมาได้เปลี่ยนจากชนบทเป็นเมืองทำให้มีเวลาในการสืบค้นข้อมูลน้อยลง ประชาชนยังไม่ตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชัน

ปกรณ์สิทธิ์กล่าวถึงข้อค้นพบหลังลงพื้นที่ใน กทม.ว่า กทม. มีความน่าสนใจสองข้อ หนึ่ง กทม. มีระบบการปกครองแบบพิเศษที่แบ่งเป็นเขต สอง กทม. มีชุมชนกว่า 2,000 ชุมชน มีประชากรรวมหลักล้านคน ทำให้เป็นที่สนใจของพรรคการเมืองในการที่จะหาฐานเสียง การลงพื้นที่ กทม. ได้เลือกชุมชนที่เป็นบ้านจัดสรรและชุมชนแออัด

ปกรณ์สิทธิ์กล่าวว่า เมื่อมีการจัดตั้งชุมชนใน กทม. ทางเขตก็จะจัดให้มีเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชน คณะกรรมการจะมีวาระสามปี ได้รับงบประมาณจากเขตจำนวนเดือนละ 5,000-10,000 บาท ในชุมชนที่เขตจะมุ่งประเด็นการคอร์รัปชันไปที่การทำงานของคณะกรรมการชุมชน ลักษณะการโกงที่ได้รับทราบมามีเรื่องการโกงงบประมาณ เงิน สิ่งของ การเลือกปฏิบัติ จัดกลุ่มให้เงิน ให้สิ่งของเฉพาะพวกตัวเอง มีงบประมาณหรือกิจกรรมต่างๆ ลงมาแต่ไม่แจ้งให้ชุมชนทราบ

ในส่วนที่เป็นชุมชนแออัดจะมีเรื่องการจัดที่อยู่อาศัยให้ผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ภาครัฐได้จัดตั้งหน่วยงานที่มารับมือปัญหาเรื่องการไม่มีที่อยู่อาศัย โดยให้ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ มีคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ของตัวเอง เก็บเงินมาให้ได้ร้อยละ 10 ของยอดเงินกู้เพื่อหาที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีเรื่องการโกงของคนในคณะกรรมการบริหารสหกรณ์

ทั้งนี้ การไปลงพื้นที่ กทม. มีข้อสังเกตว่า ชุมชนที่มีพื้นที่ส่วนกลาง สามารถสร้างความร่วมมือได้มากกว่า เพราะมีพื้นที่ให้รู้จักกัน สร้างความไว้วางใจกัน ส่วนชุมชนที่มีธุรกิจผิดกฎหมายอยู่เยอะจะเป็นอุปสรรคในการรวมตัวกันของชาวบ้านเพราะคนในชุมชนไม่ไว้วางใจกันเนื่องจากกลัวจะเกิดอันตราย

ปกรณ์สิทธิแนะว่า อยากให้คณะกรรมการชุมชนเปิดเผยข้อมูล มีบอร์ดติดเอกสารว่าแต่ละเดือนกรรมการทำโครงการอะไรไปบ้าง ถ่ายเอกสารใบเสร็จมาแปะไว้ เวลาได้งบประมาณเข้ามาในชุมชนก็ต้องประกาศให้ทราบโดยทั่วกันและสุดท้าย การเลือกตั้งกรรมการชุมชนมีความสัมพันธ์กับคอร์รัปชัน ถ้ามีการเลือกตั้งสม่ำเสมอ คนที่โกงจะอยู่ได้ไม่นานเพราะชาวบ้านจะเริ่มรับรู้ และสุดท้ายก็จะมีการโกงเลือกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้ง คณะกรรมการชุมชนจึงเป็นได้ทั้งพื้นที่ที่ผู้ได้รับเลือกตั้งจะเข้ามากำจัดการคอร์รัปชันหรือเข้ามากินงบหลวง

ต่อภัสสร์กล่าวว่า การต่อต้านคอร์รัปชันมีความหลากหลาย ไทยประสบความสำเร็จมาในระดับหนึ่งแล้ว ปัจจุบันคนออกมาทำเรื่องคอร์รัปชันหลายองค์กรมาก ทั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ป้องกัน เปิดโปง และปลูกฝังการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่พบว่าต่างองค์กรก็ต่างทำกันเอง ไม่ได้ร่วมมือกันมากเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะแต่ละองค์กรมีประเด็นที่ต้องการจะทำในแบบของตัวเอง ทั้งแต่ละองค์กรก็มีงานล้นมือ ไม่สามารถคิดวิธีการทำงานแบบใหม่ และขาดการประสานงานกับหน่วยงานอื่นได้ในระยะยาว จึงเสนอว่าให้หน่วยงานที่ต่อต้านคอร์รัปชันในมุมมองและวิธีการทำงานทีต่างกัน แชร์เครื่องมือ ข้อมูลระหว่างกัน ต้องมีคนกลางเชื่อมโยง มีการวัดผลความสำเร็จของโครงการที่ทำไป เพื่อให้การร่วมมือกันมีประสิทธิผลและต่อเนื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net