Skip to main content
sharethis

เมื่อคนรุ่นใหม่พูดถึงการเมือง พูดถึงสังคมที่อยากเห็น คุณลักษณะประการหนึ่งที่พบเห็นได้น้อยในหมู่นักการเมืองเชี่ยวสนามคือความกล้าที่จะฝันให้ใหญ่ พวกเขาไม่แยแสว่าสิ่งที่พวกเขาฝันและจะลงมือทำนั้น ใครจะมองว่าเป็นความเพ้อฝันหรือไร้เดียงสา การไม่ทำอะไรเลยต่างหากที่อาจเป็นความไร้เดียงสาต่อชีวิตและสังคม

ไม่ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะยื้อยุดอย่างไร การเลือกตั้งย่อมต้องมีขึ้นในปีหน้า หลังจากไม่มีการเลือกตั้งระดับประเทศเลยมาเกือบ 7 ปี คนรุ่นใหม่ที่อายุประมาณ 24-25 ปีในเวลานี้ ยังไม่เคยได้ใช้สิทธิการกำหนดชีวิตตนเองผ่านการเลือกตั้งกำลังจะได้ใช้สิทธิ

กว่าทศวรรษที่สูญหายไปในหล่มความขัดแย้ง รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วร่างมันขึ้นมาใหม่ เป็นวงจรอุบาทว์ที่คนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองจำนวนหนึ่งครุ่นคิดกับมันและถึงเวลาต้องตัดวงจร พวกเขาไม่รังเกียจการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง

เมื่อคนรุ่นใหม่พูดถึงการเมือง พูดถึงสังคมที่อยากเห็น คุณลักษณะประการหนึ่งที่พบเห็นได้น้อยในหมู่นักการเมืองเชี่ยวสนามคือความกล้าที่จะฝันให้ใหญ่ พวกเขาไม่แยแสว่าสิ่งที่พวกเขาฝันและจะลงมือทำนั้น ใครจะมองว่าเป็นความเพ้อฝันหรือไร้เดียงสา การไม่ทำอะไรเลยต่างหากที่อาจเป็นความไร้เดียงสาต่อชีวิตและสังคม ส่วนที่ว่าพวกเขาจะทำมันได้หรือไม่ ต้องพบแรงเสียดทานหนักหนาอย่างไร เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องพิสูจน์ตัวเอง

‘ประชาไท’ รวบรวมทัศนะคนรุ่นใหม่ผู้สนใจการเมือง ในการเปิดภาพความฝันประเทศไทยที่พวกเขาต้องการสร้างมันขึ้นมาว่า ใหญ่และงดงามเพียงใด โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นกลุ่มที่ได้ร่วมหารือเรื่องอนาคตสังคมไทยกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ที่มีกระแสข่าวว่าจะตั้งพรรคการเมืองใหม่

 

นลัทพร ไกรฤกษ์

'สังคมที่ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ'

นลัทพร อายุ 25 ปี เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่เด็ก และต้องนั่งวีลแชร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการ Thisable.me กล่าวว่า เธออยากเห็นอนาคตของประเทศไทย ที่คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระ พึ่งตนเองได้ เธอยกตัวอย่างคนพิการในต่างประเทศที่เห็นในสารคดีว่า เมื่อคนพิการอายุครบ 18 ปี ก็ใช้ชีวิตอย่างผู้ที่บรรลุนิติภาวะที่ไม่พิการ ซึ่งก็คือ สามารถออกจากบ้านไปมีชีวิตของตัวเองได้ แต่ในไทยกลับไม่ค่อยมีคนพิการแบบนั้นให้เห็น แม้คนพิการคนนั้นจะอายุมากถึงสี่สิบห้าสิบปีแล้วก็ตาม “ในประเทศไทย ถ้าคนพิการต้องการคนดูแลเต็มเวลา ก็มักจะเป็นพ่อแม่หรือคนในครอบครัว ซึ่งไม่ถูกมองเป็นอาชีพ จึงไม่ได้เงินเดือน แต่ถูกมองว่าเป็นการเลี้ยงลูกหลาน ซึ่งเป็นระบบอุปถัมภ์ และก็มีการครอบงำคนพิการคนนั้น ทำให้คนพิการเหล่านั้นไม่กล้าที่จะใช้ชีวิตของตัวเอง”

นลัทพรกล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้คนพิการในไทยไม่เป็นอิสระมาจากทัศนคติของคนไทยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายและยอมรับในความแตกต่าง เวลามีการออกแบบอาคาร ถนน ฟุตบาท ไปจนถึงระบบการศึกษา หนังสือเรียน จึงทำให้ออกแบบโดยนึกถึงแต่คนที่มีร่างกายแข็งแรงเท่านั้น และคิดออกแบบนโยบายสำหรับคนพิการแบบแยกต่างหาก ซึ่งนลัทพรไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดเช่นนี้ และมองว่า สังคมไทยควรเน้นการคิดและทำนโยบายแบบครอบคลุม (inclusivity) ที่จะรวมคนทุกแบบของสังคมไว้ในระบบโครงสร้างทางสังคมเดียวกัน

นลัทพรกล่าวอีกว่า เธอสนใจเล่นการเมืองและจะแสดงให้สังคมเห็นว่า คนพิการไม่จำเป็นต้องทำแต่ประเด็นของตนเอง “การจะลงเล่นการเมืองสำหรับเราเป็นอะไรที่ดูท้าทายและดูเจ๋งมาก ลองจินตนาการว่า เราจะไปหาเสียงยังไง แค่เดินออกไปนอกบ้านยังไม่ได้เลย ถ้าเราไปหาเสียงคงจะลำบากคนรอบข้างมากๆ แต่มันจะทำให้คนเห็นถึงปัญหาว่าประเทศไทยต้องการ universal design และเป็นข่าว เกิดเป็นกระแส และคนจะเห็นว่า มันต้องมีการแก้ปัญหา และเป็นกระบอกเสียงให้คนที่เผชิญปัญหาเหมือนเรา”

 

ไกลก้อง ไวทยการ

'Open Government ที่ทุกคนมีส่วนร่วม'

ไกลก้อง อายุ 43 ปี จากสถาบันเทคโนโลยีเพื่อสังคม (Social Technology Institute) ผู้มีส่วนผลักดันให้เกิดฐานข้อมูลเปิด หรือ Open Data ในประเทศไทยกล่าวว่า ปัญหาที่เขาอยากจะแก้คือจะทำอย่างไรให้คนมีส่วนร่วมในกระบวนการออกนโยบายรัฐมากขึ้นทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ อยากให้มีกลไกที่เป็นประชาธิปไตยทางตรงในการจัดการงบประมาณและทรัพยากร เขากล่าวว่า “จริงๆ ทุกวันนี้ ถ้าดูยอดจำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตของเมืองไทยมันปาเข้าไปเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์กว่าๆ แล้ว ถ้าเราสามารถทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ เสนอความเห็น ความคิดได้ และสะท้อนเชื่อมโยงไปถึงรัฐบาลได้ นโยบายมันก็จะมาจากประชาชนจริงๆ อยากจะเห็นสิ่งที่ต่างประเทศเรียกว่า open government”

ไกลก้องอยากให้ข้อมูลทางราชการไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นหรือส่วนกลางเปิดเป็น Open Data ที่ทำทั้งคนธรรมดา หน่วยงานรัฐ และภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ข้อมูลงบประมาณหรือข้อมูลการใช้จ่ายในแต่ละเดือน รวมไปถึงเรื่องแผนที่ข้อมูลสถานพยาบาล ข้อมูลนักเรียน และสิทธิการถือครองที่ดินว่าใครถือครองมากแค่ไหนอย่างไร เพื่อการวางแผนพัฒนาในอนาคตอย่างยั่งยืน

เหตุผลที่ไกลก้องคิดว่าคนรุ่นใหม่ ควรจะมีบทบาททางการเมืองคือ “เพราะคนรุ่นเก่าทำไม่สำเร็จ คนรุ่นใหม่มีวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไป มีการสื่อสารที่ไม่ได้มีลำดับขั้นจากบนลงล่าง ไม่ยึดติดกับกฎระเบียบ มีความฝัน คนรุ่นใหม่คิดว่าวันพรุ่งนี้ต้องดีกว่า ผมว่าหลายๆ ประเทศในโลกได้พิสูจน์ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สามารถบริหารประเทศได้ เป็นผู้นำได้ เราอาจจะเห็นตัวอย่างอย่างทรูดอร์ของแคนนาดา มาครองของฝรั่งเศส หรือโจชัว หว่องในฮ่องกง เขาก็สามารถเข้าสู่การเมืองได้ แม้จะถูกคุกคาม แต่เขาก็สามารถนำเสนออนาคตประเทศที่เขาอยากให้เป็นได้”

 

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

'การพัฒนาของคนรุ่นใหม่ เพื่อคนรุ่นใหม่ โดยคนรุ่นใหม่'

ในวัย 23 ปี เปรมปพัทธเป็นกรรมการและผู้อำนวยการองค์กร New Ground ประเทศไทยที่เขาอยากเห็นไม่มีอะไรซับซ้อน มันคือการตื่นขึ้นมาและพบว่ามีความหวังที่ชีวิตจะดีขึ้นกว่าเมื่อวาน

“เวลาเราฝันถึงอะไรบางอย่าง สิ่งที่ง่ายที่สุด ง่ายกว่าการเข้าคูหาเลือกตั้ง คือการไปสวดมนต์ขอพรให้เรามีชีวิตที่ดีกว่าอย่างน้อยในชาติหน้า ให้ชาติหน้าเราเกิดมารวย เกิดมาในประเทศที่สนับสนุนประชาชนมากกว่านี้ แต่ผมฝันที่จะอยู่ในประเทศนี้แล้วเห็นชีวิตที่ดีในชาตินี้ ดังนั้น เราควรทำอะไรบางอย่างมากกว่าสวดมนต์ขอพร ถ้าคนตื่นมาแล้วมีความหวังว่าชีวิตต้องดีกว่าเมื่อวาน ไม่ใช่ขอไปดีอีกทีชาติหน้า ผมว่าสังคมแบบนี้ไม่น่าอยู่ อยู่แล้วหมดหวัง ไม่มีทางออก มองไม่เห็นอนาคต มันอาจเป็นโลกที่มีสวัสดิการที่ยืนยันว่าต่อให้ผมตกงาน เจ็บป่วย เป็นอื่น หรือพ่ายแพ้ ผมจะยังเป็นคนของโลกใบนี้อยู่ ไม่ได้ถูกทำให้เป็นสินค้าหรือถูกทำให้เป็นแรงงานที่ไม่มีใครสนใจความรู้สึก”

เมื่อเจาะจงลงไปในเนื้องานเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ที่เปรมปพัทธทำ ความแสดงทัศนะว่า งานพัฒนาคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เป็นงานของคนรุ่นใหม่ เพื่อคนรุ่นใหม่ แต่โดยผู้ใหญ่ เขาลงรายละเอียดถึงงบอุดหนุนรายหัวต่อปีด้านการศึกษาที่แม้จะสูงมาก แต่เด็กและเยาวชนแทบไม่มีส่วนในการตัดสินว่าต้องการใช้ทรัพยากรนี้อย่างไร

“เรามีงบประมาณเด็กเล็กแล้วก็กระโดดมาเป็นของแรงงาน แล้วก็ผู้สูงอายุ แต่คนรุ่นใหม่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ เข้าถึงสวัสดิการโดยไม่นับสวัสดิการการศึกษาประมาณ 0.012 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วประมาณ 250 เท่า มันเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างชัดเจน เขาไม่มีสวัสดิการเลย ถ้าเขาเกิดในประเทศอื่น เขาจะมีงบประมาณส่วนนี้ไปเติมเต็มชีวิตเขา อย่างสิงคโปร์จะมีงบประมาณให้คนไปเพิ่มทักษะ คุณจะไปทำอะไรก็ได้ โดยที่รัฐไม่ตัดสินใจให้ คุณเลือกของคุณเองได้ จึงควรมีงบประมาณให้เยาวชนใช้แก้ปัญหาของตัวเอง”

ในส่วนความคิดต่อการเมือง เปรมปพัทธ กล่าวว่า สังคมไทยเคยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่เคยมีวัฒนธรรมประชาธิปไตย หากคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว ก็อาจสร้างวัฒนธรรมนี้ขึ้นมาได้

 

อลิสา บินดุส๊ะ

'ทุกคนเท่ากัน'

อลิสา อายุ 23 ปี นอกจากเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานคริรนทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เธอยังทำงานกับกลุ่มนักกฎหมายอาสา (Law Long Beach) กระบวนกรสิทธิมนุษยชน และทีม Buku FC เธอมีความฝันต่อประเทศไทยที่เรียบง่าย แต่ไม่ง่ายที่จะก่อรูปให้เป็นจริงท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน

“ประเทศที่เราอยากจะอยู่ อันแรกเลยคือประเทศที่ไม่กำจัดใครออกไป เปิดรับคนที่มีความหลากหลาย ในตัวคนคนหนึ่งก็มีความหลากหลาย ไม่ว่าเรื่องศาสนา เพศ ความคิดเห็นทางการเมือง แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้รักษาสิ่งเหล่านี้และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความหลากหลายเหล่านี้ ที่ผ่านมาเราขัดแย้งเพื่อนำไปสู่ความรุนแรงและการไล่ออกไป ไม่ได้นำไปสู่การเรียนรู้เลย เราจึงอยากการเปิดรับความหลากหลายและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

“เรื่องที่ 2 เราเท่ากับทุกคน เห็นคนเท่ากันจริงๆ ทุกคนมีเสียงเท่ากัน อยู่ภายใต้ระบบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน มันเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ตอนนี้ที่เป็นปัญหาเพราะเราไม่เท่ากัน จากงานที่เราทำ เรามีโอกาส เรามีพื้นที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเวทีของรัฐต่างๆ แต่พอเราเข้าไป เราเห็นว่ามีเยาวชนอยู่น้อยมาก ทั้งที่โครงการนั้นส่งผลต่อชีวิตของเราทุกคน ของเยาวชนด้วย ถึงจะไม่ได้ปิดกั้น แต่ไม่ได้เปิดโอกาสให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมจริงๆ ไม่มีการส่งเสริม สนับสนุนให้เราเข้าไป แล้วก็ไม่ได้แยแสกับการที่ไม่มีเราเข้าไปด้วย เราอยากเห็นการมองทุกเสียงในสังคมเท่ากัน มีพื้นที่ให้คนทุกคนได้แสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ คือคนทุกคนเป็นนักการเมืองได้ ยุ่งกับการเมืองได้ เพราะมันส่งผลต่อชีวิต

“สุดท้ายคือเงินภาษีของเราทุกคนถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพในเรื่องที่เราต้องการจริงๆ ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพหรือการศึกษา”

 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

'รัฐที่โอบอุ้มดูแลทุกคน'

อาจารย์หนุ่มวัย 33 ปีจากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความฝันและความเชื่ออย่างมั่นคงว่า เป้าหมายอันดับแรกของรัฐคือการโอบอุ้มดูแลทุกคน นั่นคือการมีสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครบวงจร ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของพบว่าสามารถเป็นจริงได้

“คนรุ่นใหม่ที่แบกรับความเสี่ยงมาหลายเจเนอเรชั่น แบกรับความสิ้นหวังมาจากคนรุ่นก่อน และทำให้เราคิดถึงได้แต่เพียงแค่เรื่องตัวเอง มันถึงจุดแล้วที่เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไร เราจะเปลี่ยนเงื่อนไขความเป็นไปได้นี้ให้เกิดขึ้นในเจเนอเรชั่นของเรา ที่ผมให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการ มันไม่ใช่แค่ผม ผมคิดว่าคนครึ่งโลกกำลังสู้เพื่อสิ่งนี้ ไม่ว่าเขาจะเรียกมันว่าอะไร สังคมที่เท่าเทียม ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น แต่หลักใหญ่ใจความที่รวมทั้งหมดเข้าด้วยกันคือแนวคิดรัฐสวัสดิการ ซึ่งจะทำให้เราเปลี่ยนจากมนุษย์ที่ถูกระบบทุนนิยมทำให้กลายเป็นเครื่องจักรให้กลับมาเป็นมนุษย์มากขึ้น มีศักดิ์ศรีมากขึ้น และมีเสรีภาพในการเลือกมากขึ้น”

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า การสร้างรากฐานความคิดรัฐสวัสดิการนับเป็นเรื่องเร่งด่วน ประชาชนต้องเข้าใจว่ามันคือเป็นสิทธิ ไม่ใช่การสงเคราะห์ เขายกตัวอย่างว่าไม่มีใครรู้ว่าการกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำในการทำงานและรับเงินเดือนโดยใช้ปริญญาตรีเป็นเกณฑ์เกิดขึ้นได้อย่าไร มันเป็นลักษณะที่ค่อนข้างเฉพาะมากในไทยหรือบางประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งมันสร้างความเชื่อว่าต้องจบปริญาตรีจึงจะมีชีวิตที่ดีได้

“แต่เงื่อนไขการจะจบปริญญาตรี คุณต้องลงทุนเอง ต้องกระเสือกระสนเอง แล้วทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ขยายตัวขึ้นจากความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา ถ้าเราสามารถสร้างภาคีบริษัทต่างๆ ที่เอาคุณสมบัติข้อนี้ออกไป มันจะทำให้คนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษามีน้อยลง มันทำให้เราพูดกันตรงไปตรงมาได้ว่า ไม่ว่าคุณจะจบปริญญาตรีหรือไม่ คุณก็ควรสามารถมีชีวิตที่ดีได้ ไม่ต้องไปไต่บันไดปริญญา และจะทำให้ความเท่าเทียมอื่นๆ ตามมา”

 

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง

'Safety Net ที่รองรับทุกคน'

วิภาพรรณ อายุ 25 ปี เจ้าของเพจ Thai Consent และสมาชิกหลักกลุ่ม New Ground ซึ่งมีอาชีพหลักเป็นนักออกแบบกราฟฟิกและบอร์ดเกม กล่าวว่า อนาคตประเทศไทยที่เธออยากเห็น คือ ประเทศไทยที่มี safety net หรือสวัสดิการให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง “อยากเห็นประเทศที่เกิดเราซวยขึ้นมา ประสบอุบัติเหตุหรือเป็นโรคร้ายแรง เราจะไม่สูญเสียอย่างหนัก ไม่ต้องเอาเงินเก็บที่หามาตลอดชีวิตมารักษาตัวเอง เราควรจะมีเซฟตี้เนทหรือสวัสดิการที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกว่านี้”

วิภาพรรณยังอยากให้อาชีพนักการเมืองเป็นสิ่งที่คนธรรมดา ลูกตาสีตาสีก็เข้าถึงได้ และมีโอกาสเท่าเทียมกับคนที่เกิดมาในตระกูลคนร่ำรวย ตระกูลเก่าแก่หรือตระกูลคนที่มีอำนาจ “ทำไมถ้าเกิดมาโดยมีภูมิหลังธรรมดาๆ เราคงจะฝันอย่างมากว่า อยากจะเป็นหมอหรือข้าราชการ แต่เราจะไม่ฝันเป็นนักการเมือง แล้วคนที่จะฝันเป็นนักการเมืองได้ คือคนที่มีภูมิหลังบางอย่าง เช่น มาจากครอบครัวคนรวยหรือครอบครัวที่อยู่ในอำนาจ เราอยากให้มันเป็นเหมือนอาชีพๆ หนึ่ง ที่ลูกชาวบ้านเข้ามาได้ ไม่อย่างนั้นการเมืองจะอยู่ในวังวนกงสีทางการเมือง”

วิภาพรรณอธิบายการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ในครั้งนี้ว่า เป็นการเอาจริงเอาจังในแบบสตาร์ทอัพ “เรายังมีสตาร์ทอัพในโลกธุรกิจเลย แล้วทำไมจึงจะใช้ไม่ได้กับโลกการเมือง” เธอกล่าวว่า คนรุ่นเธอนั้นเกิดมาในช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่สูงมาก ซึ่งต่างไปจากรุ่นพ่อแม่ที่อยู่กับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ “ตั้งแต่สตีฟ จอบส์ทำไอโฟนขึ้นมา ชีวิตมันเปลี่ยนไปเร็วมาก สตีฟ จอบส์มาบอกตอนเรากำลังจะเรียนจบปริญญาตรีว่า ปริญญาไม่ใช่ทุกอย่าง เราก็สงสัยว่า แล้วที่ผ่านมามันคืออะไร ทำไมเราถึงโตมาแบบที่เข้าใจว่า ไม่มีทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากการต้องมีใบปริญญา ในยุคพ่อแม่เรา การเปลี่ยนแปลงมันมีความเร่งที่ช้า แต่ในยุคเราคือเดือนต่อเดือน เราจึงมองว่าวิธีการรับมือกับอนาคตของคนรุ่นเรานั้นมีรูปแบบที่เฉพาะตัว เราไม่สามารถจะรับมือแบบ passive (ตั้งรับ) ที่จะรอไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าวันหนึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตอนนี้เรายี่สิบห้าแล้ว จะไม่ให้ทำอะไรตอนนี้มันไม่ได้ อีกห้าปีเราก็สามสิบแล้ว”

 

กฤตนัน ดิษฐบรรจง

'สวัสดิการสุขภาพที่เท่าเทียม'

กฤตนัน อายุ 20 ปี ขณะนี้กำลังศึกษาชั้นปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและเป็นแกนนำกลุ่มเยาวชนอาสา ทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี กล่าวว่า อนาคตประเทศไทยที่เขาอยากเห็นคือ การที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งสิทธิในการดูแลและการรักษา “ถ้าเราอยากให้ประชากรในสังคมไทยมีคุณภาพ อย่างแรกเลยคือ ทำให้พวกเขาได้เข้าถึงระบบประกันสุขภาพที่ดีตั้งแต่เกิดจนตายอย่างเท่าเทียมกัน ตอนนี้มีบัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคม คนที่มีบัตรทองกับประกันสังคม ก็จะได้ยาคนละตัวกัน คุณภาพไม่เท่ากัน เหมือนเป็นเรื่องชนชั้นทางด้านสุขภาพ”

เขากล่าวว่า คนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาพร้อมกระโดดลงมาเล่นการเมือง และไม่มองว่าพวกเขาเด็กเกินไปแต่อย่างใด “คนรุ่นเก่าชอบมองพวกเราคนรุ่นใหม่ว่าเป็นตัวปัญหา เช่น ปัญหาเด็กหนีเรียน เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เด็กท้องไม่พร้อม ต่างๆ นานา และจัดการปัญหานั้นมาจากความคิดแบบผู้ใหญ่มองเด็ก ที่มีแต่มองว่าเด็กเป็นตัวปัญหา และใช้วิธีการแบบสั่งสอน ผมว่ามันน่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้”

 

ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ

'เปลี่ยนแปลงสังคมด้วย Digital Native'

ฑิตฐิตา นักเขียนและนักแปลฟรีแลนซ์ วัย 24 ปี กล่าวว่า เมื่อพูดถึงอนาคตประเทศไทย สิ่งที่เธอเห็นคือความมืดมน “มันเหมือนจะไม่ให้เรากล้าฝันเกินตัวกว่าวันพรุ่งนี้เท่าไหร่ เราไม่เห็นว่ามันจะหลุดออกจากวังวนนี้ไปได้ยังไง เราโตมากับการที่การเมืองไม่ไปไหนสักที เรียกได้ว่าหยุดนิ่งเลย เราโตพอที่จะก้าวต่อไปแล้ว แต่เหมือนประเทศยังไม่ให้เราไปไหน คนรุ่นใหม่มักจะพูดว่าทำงานเก็บเงินไปอยู่เมืองนอกดีกว่าเพราะอยู่ประเทศนี้แล้วรู้สึกสิ้นหวัง”

ฑิตฐิตากล่าวว่าการที่ประเทศติดอยู่กับวังวนดังกล่าว ทำให้ความฝันของคนรุ่นใหม่ถูกจำกัดโดยคนรุ่นเก่า ซึ่งตัวเธอเองก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน “เรามาเป็นฟรีแลนซ์ เราจะโดนคนอื่นตอกย้ำตลอดว่าทำไมไม่ไปรับราชการ เพราะเขามองว่าราชการมั่นคง มีฐานเงินเดือนชัดเจน มีสวัสดิการให้พ่อแม่สามารถใช้ได้ มันน่าเศร้านะ ที่ประเทศนี้จะทำให้หนทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตนี้มั่นคงคือต้องเป็นข้าราชการ เราไม่อยากเป็นข้าราชการ เราอยากทำอยางอื่น อยากไปทดลองอะไรใหม่ๆ สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ซึ่งเราไม่เห็นว่าข้าราชการทำอะไรอย่างนั้นได้”

ฑิตฐิตาเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะสามารถต่อสู้กับแนวคิดทางการเมืองแบบเก่าได้ผ่านการสื่อสารบนโลกออนไลน์ และความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีทางการสื่อจะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถก่อรูปความคิดคนในสังคมตามแบบที่พวกเขาต้องการได้

ตอนนี้เราก็พูดได้ว่าเราอยู่ใต้อำนาจดิบ “เราคิดว่าพลังอำนาจของคนรุ่นใหม่อยู่ที่วัฒนธรรมมและเทคโนโลยี พูดง่ายๆ คืออินเตอร์เน็ตนี่แหละจะเป็นตัวแสดงถึงอำนาจของเราได้ชัดเจนที่สุด การต่อสู้จะย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่บนอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้น เทคโนโลยีผสานกับวัฒนธรรมมันจะเชปความคิดคนในสังคมได้ และคนรุ่นใหม่ที่เป็น digital native เราจะรู้ว่าต้องใช้เครื่องมือชิ้นไหนเพื่อสร้างการสื่อสารในแบบที่่เราต้องการ ถึงมันไม่เห็นผลในวันนี้ แต่เมื่อมีหลายๆ คนเข้ามาช่วยเชปความคิด เชปสังคมไปพร้อมๆ กับเรา มันก็จะมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้”

 

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

'รัฐต้องสนับสนุนทุกคนให้ทำตามความฝัน'

เท่าพิภพ อายุ 29 ปี นอกกจากการทำธุรกิจส่วนตัวและมัคคุเทศก์ เขานิยามอาชีพตัวเองอีกอาชีพหนึ่งว่านักปรุงเบียร์ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่เขาจะพูดถึงประเด็นนี้ โดยกล่าวว่า ในอดีต ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคราฟต์เบียร์ เพราะเบียร์ทุกชนิดเป็นคราฟต์ทั้งสิ้น ครั้นเมื่อเบียร์ถูกทำให้เป็นอุตสาหกรรม มันจึงเปลี่ยนไปสู่การผลิตขนาดใหญ่ รัฐไทยที่ลอกเลียนกฎหมายจากต่างประเทศมาคิดไปเองว่า การผลิตเบียร์มีแค่รูปแบบนี้เท่านั้น

“ทั้งที่มันสามารถผลิตแบบขนาดเล็กได้ รัฐควรส่งเสริมความสามารถของปัจเจก เรื่องนี้ถ้าเปลี่ยนได้ มันจะทำให้ศิวิไลซ์หลายอย่าง ทำไมทำไม่ได้ ก็จะมีประเด็นเรื่องคุณภาพ เดี๋ยวคนดื่มเป็นอันตราย แล้วยังมีประเด็นศีลธรรม ศาสนา ซึ่งค่อนข้างเป็นลักษณะเฉพาะของไทย ผมยอมรับประเด็นเมาแล้วขับว่าสร้างผลกระทบ แต่ก็เหมือนเรื่องเพศศึกษา ถ้าเราปิด ปล่อยให้ไปลองเอง มันก็จะยิ่งผิด รัฐไม่ควรมองประชาชนเป็นลูก ตอนนี้ทุกคนมีสิทธิคิดได้ ถ้าปัจเจกทุกคนสามารถดูแลตนเองและคิดได้ รัฐก็จะเสียทรัพยากรน้อยลง เพราะเขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ความฝันประเทศไทยผมก็มีตรงนี้อยู่ ถ้าผมเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ เรื่องอื่นก็น่าจะเปลี่ยนได้ เพราะเรื่องนี้มันยาก มันมีกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง มีเรื่องการใช้อำนาจรัฐ

“ผมอยากเห็นอำนาจอยู่กับประชาชน ปัจเจกสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง อย่างกรณีผม ผมไม่สามารถทำในสิ่งที่ผมอยากทำได้ ทุกคนมีฝัน รัฐไม่ควรมาห้ามปราม แต่ควรสนับสนุนความฝันของทุกๆ คน ผมไม่สามารถออกแบบความฝันของตัวเอง ผมอยากทำคราฟต์เบียร์ ทำยังไงให้ทุกคนสามารถทำตามฝันของตัวเองได้ มันก็ต้องมีเรื่องการศึกษา คนต้องไม่ใช่เรียนเก่ง แต่ต้องเรียนรู้เก่ง โลกมันไม่ได้มีแค่นี้ ผมคิดว่าทุกอย่างจะดีขึ้น”

การที่เท่าพิภพก้าวออกมาเป็นอีกคนหนึ่งในกระแสคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองและต้องการผลักดันความคิด ความฝันของตน เขาให้เหตุผลว่า

“ผมทนไม่ไหวแล้ว ผมเลยต้องออกมาเอง คนรุ่นใหม่อาจจะเป็นใครก็ได้ที่อยากเป็นตัวแทนกลุ่มของเขา อยากเล่นตามกฎ นี่คือคนที่มีแนวคิดทางการเมืองใหม่ จะไม่พึ่งอะไรแบบเดิมๆ แล้ว”

 

ภูวกร ศรีเนียน

'กระจายอำนาจสู่ประชาชน'

ภูวกรนักจัดรายการทีวีและนักรณรงค์การเมือง อายุ 45 ปี กล่าวว่า อนาคตประเทศไทยที่เขาอยากจะเห็นนโยบายกระจายอำนาจการบริหารไปยังส่วนท้องถิ่น เช่นการมี อบจ. อบต. เนื่องจากเขามองว่าเป็นนโยบายที่ช่วยลดช่องว่างทางสังคม ควบคู่ไปกับมาตรการการตรวจสอบที่เข้มข้นมากกว่าเดิมเพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น “หลักการกระจายอำนาจมันถูกต้องอยู่แล้ว เราควรจะยึดมันเป็นหลัก แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมชอบดูถูกว่าคนในท้องถิ่นดูแลกันเองไม่ได้ ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งมันก็มีอยู่จริง แต่ในอนาคตมันจะมีการตรวจสอบขึ้นมาเอง ถ้าเราไปยุบมันแล้วกลับมาสู่ส่วนกลางมันก็ไม่พัฒนาไปข้างหน้า มันอาจจะมีคอร์รัปชั่นจริง แต่เราก็ต้องสร้างการตรวจสอบ”

ในฐานะที่ตนเป็นคนรุ่นกลางระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ภูวธรมองว่าคนรุ่นใหม่มีวิธีคิดที่จะก้าวไปข้างหน้า คิดที่จะหาทางยุติความขัดแย้งทางความคิดที่มีมายาวนาน ในฐานะที่เคยคลุกลีอยู่ในวงการการเมืองมาก่อน ภูวกร มองว่าคนรุ่นเขามักมั่นใจในความคิดของตัวเอง จนลืมมองหาจุดร่วม และประโยชน์ของสังคม แต่คนรุ่นใหม่เป็นคนที่ปราศจากการครอบงำแบบเก่าๆ เป็นกลุ่มคนทีมีพลังบวกสูงและกล้าได้กล้าเสีย คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่เขารู้จักมีแนวคิดทางการเมืองแบบ “ไม่รู้จักทักษิณ ไม่เห็นประชาธิปัตย์อยู่ในสายตา และรำคาญประยุทธ์” ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาอยากเห็นการเมืองแบบใหม่ ทีี่คนเห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งตัวเขาเองรู้สึกว่าการเมืองรูปแบบนี้เริ่มมีความเป็นไปได้เมื่อเราไม่พูดถึงทักษิณ

“ผมรู้สึกเหมือนกับว่าพอเราถอดทักษิณออกไป ระบบความคิดของคนอีกฝั่งเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น อย่างเช่นเรื่องนาฬิกาหรูหรือกรณีคุณเปรมชัย มันค่อนข้างจะชัดเจน หลายคนเริ่มไม่ได้คิดว่าทักษิณเป็นปัญหาของการเมืองไทยอีกต่อไป ผมไม่ได้บอกว่าทักษิณไม่ดี แต่ผมคิดว่าพอเราไม่พูดถึงเขาแล้วความคิดคนในสังคมมันเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net