Skip to main content
sharethis

กกต. เผย ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการใส่ร้ายผู้สมัครเลือกตั้ง ผ่านทางโซเชียลมีเดีย แล้ว  ประสานปอท. กระทรวงดิจิทัลฯ เก็บข้อมูลต่อเนื่อง เพื่อทำให้การเลือกตั้งสุจริต พร้อมทั้งติดตามการหาเสียงผ่านโซเชียลฯ ด้วย

บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ เว็บไซต์ กกต.)

19 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่ กกต.ได้หารือกันถึงแนวทางการตรวจสอบการใส่ร้ายในการเลือกตั้งผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งพรรคการเมืองต้องการให้ กกต.ทำ ว่า กกต.ได้ตั้งคณะทำงานไว้แล้ว  เพราะเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาในอนาคต หากมีคนใช้โซเชียลมีเดียไปใส่ความผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดรายหนึ่ง จนทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนดังกล่าวไม่ได้รับเลือกแล้วจะทำอย่างไร และหากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ชนะการเลือกตั้งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใส่ร้ายที่เกิดขึ้น จะถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบหรือไม่ ทาง กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งได้เลย ดังนั้นจึงจะต้องช่วยกันคิดเพื่อให้ได้คนดีเข้ามา

บุญส่ง กล่าวถึงเรื่องการหาเสียงในโซเชียลด้วยว่า ที่ผ่านมากกต.ได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อติดตามเรื่องดังกล่าว ในช่วงของการทำประชามติรัฐธรรมนูญ และได้ให้คณะ ทำงาน เร่งดำเนินการ ประสานกับองค์กรอื่น  เช่น  ไอซีที  สำนักงานอิเล็กทรอนิค  เพื่อสังเกตุการณ์รองรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กกต.จะพิจารณาในเรื่องการกระทำที่จะเป็นผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ซึ่งจะต้องนำไปสู่การดำเนินคดี ในการหารือ กกต.ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า สำนักงาน กกต.จะต้องพิจารณาว่าเมื่อเกิดเหตุจะสามารถเข้าไปจับกุมต้นตอได้อย่างไร  ทางสำนักงาน กกต.จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้น โดยมีการประสานงานกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  เพื่อหาแนวทางว่ากรณีที่เกิดเหตุขึ้น  นอกจากเป็นความผิดเรื่องการนำเข้าข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์แล้ว การจะหยุดการกระทำจำเป็นต้องร้องต่อศาลหรือใช้อำนาจรัฐมนตรีในการสั่งปิดเพจในโซเชียลมีเดียหรือไม่

ร.ต.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานสืบสวน กล่าวว่า ความผิดทางโซเชียล มี 3 กรณี คือ การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ การหมิ่นประมาท และการใส่ร้าย ซึ่งกกต.จะดูกรณีสุดท้ายเป็นหลัก เป็นการใส่ร้ายที่จะเป็นผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า กกต.จะต้องตรวจสอบ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเท่านั้น  จึงทำให้กกต.สามารถตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งขณะนี้ก็มีการเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ หากเกิดเหตุก็สามารถใช้ข้อมูลที่รวมรวมไว้มาพิจารณาได้

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net