Skip to main content
sharethis

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ร่วมกับสนง.คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตั้งวงถกศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตและจากโลกนี้ไปอย่างสงบหรือตายดีกับการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาล

20 มี.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดเสวนา “Hospice กับการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาล” โดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ใน งานประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 19 (19th HA National Forum) ร่วมด้วย สช. ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี 

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า Hospice คือ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตและจากโลกนี้ไปอย่างสงบหรือตายดี คนไข้ไม่ทนทุกข์ทรมานจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายอยู่กับคนที่รัก ครอบครัว และทำในสิ่งที่ตนปรารถนา เป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไทยกำลังเรียนรู้และรับรองสิทธิตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

“ขณะนี้ Hospice เริ่มเปิดให้บริการที่ศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์แล้ว ส่วนโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ต้องการทำ Hospice ไม่ต้องมีความกังวลอุปสรรคด้านกฎหมาย เพราะทางศูนย์กฎหมายสุขภาพฯ ได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มธ. และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีทีมพร้อมให้คำปรึกษา ซึ่งขณะนี้มีศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ที่เปิดดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแล้ว และเราเข้าไปให้คำปรึกษาอยู่เช่นกัน” ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มธ.

ด้าน รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ป่วยมารับการรักษาแล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาล อาทิ โรคมะเร็งระยะสุดท้าย บางคนไม่ได้เสียชีวิตทันที แต่นอนโรงพยาบาลอีกเป็นเดือนหรือเป็นปี ต้องใช้บุคลากรและทรัพยากรจำนวนมาก แนวคิดเรื่องการจัดตั้งศูนย์ Hospice จึงเกิดขึ้นเพื่อการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และบ้าน ซึ่งตรงนี้จะเป็นตัวอย่างของระบบการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยในวาระท้ายให้กับประเทศไทยต่อไป

รศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า แนวทางของ Hospice คือ การดูแลผู้ป่วยในช่วง ๖ เดือนสุดท้ายของชีวิตให้ดีที่สุด เป็นการดูแลต่อเนื่องจากระบบ Palliative Care หรือการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ต้องดำเนินการตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อพบรู้ว่าเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง ไตวาย ตับวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง

“การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นการดูแลแบบองค์รวม (Holistic care) ซึ่งครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมด เพราะแนวทางที่เราจะก้าวไป จะไม่สิ้นสุดที่การตายเท่านั้น เนื่องที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยยังมีคู่สมรสที่มีโอกาสเสียชีวิตตามไปอีกในช่วง 1 ปีสูงมาก ซึ่งเราต้องยืดเวลาดูแลไปจนกว่าจะมั่นใจว่าครอบครัวผู้ป่วยดูแลตัวเองได้อย่างน้อย 3 เดือน” รศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ กล่าว

รศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์ Hospice ที่จะเกิดขึ้น ต้องมีการวางระบบฝึกฝนบุคลากร โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยประสงค์จะกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ต้องสบายใจ สามารถโทรปรึกษาได้ตลอด และหลังจากนี้โรงพยาบาลรามาธิบดีจะสร้าง End of life ward หรือหอผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อรองรับผู้ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลให้ช่วงเวลาปลายทางที่มีความสุข

ศ.นพ.ดร.อิศรางค์ นุชประยูร คลินิกกุมารชีวาภิบาล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคลินิกมุ่งเน้นการให้บริการแบบ “โฮมแคร์” คือดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้าน ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีระยะเวลาสุดท้ายต่างกัน บางคนออกจากโรงพยาบาล 48 ชั่วโมงก็เสียชีวิต แต่บางคนดูแลรักษาแบบประคับประคองอยู่ได้นานถึง 4 เดือน สิ่งสำคัญคือการปรึกษากับครอบครัวว่า จะทำอย่างไรผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำตามความต้องการของผู้ป่วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net