Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดปัตตานีนัดสืบพยานเดือนสิงหา 61 คดีบิดามารดาผู้ตายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก สตช. และสำนักนายกฯ กรณี จนท. ยิงประชาชน 4 ศพ เมื่อปี 58 บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี  

 

20 มี.ค.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีออกนั่งพิจารณานัดไกล่เกลี่ย ชี้สองสถาน และกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.397/2560 กรณีเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2558 เจ้าหน้าที่ยิงประชาชนเสียชีวิต 4 คน ในพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี  โดยโจทก์ทั้งแปด (จาก 4 ครอบครัว) เป็นบิดามารดาของผู้ตาย ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2560 เรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก จำเลยที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 2 และสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3 รวมเป็นเงินกว่า 39 ล้านบาท  

โดยในวันดังกล่าว ฝ่ายโจทก์มีทนายความของโจทก์ทั้งแปด และโจทก์ทั้งแปด มาศาล  ฝ่ายจำเลยมีพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นทนายความจำเลยทั้งสาม มาศาล  ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีได้สอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วว่าไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป โดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้ 1. เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งแปดหรือไม่ 2. จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งแปดหรือไม่ เพียงใด

ประเด็นข้อพิพาททั้งสองดังกล่าว โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์จึงเป็นของโจทก์ ให้โจทก์ทั้งแปดนำสืบพยานก่อน จำเลยให้การปฏิเสธต่อข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงให้จำเลยสืบพยานแก้ต่างภายหลังโจทก์นำสืบพยานเสร็จสิ้น

ทนายความโจทก์แถลงต่อศาลว่าประสงค์สืบพยานรวม 21 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 5 นัด ทนายความจำเลยแถลงสืบพยาน 14 ปาก ใช้เวลาสืบ 3 นัด ศาลจึงกำหนดวันนัด สืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 ถึงวันที่ 10 และวันที่ 14 ถึงวันที่ 15 ส.ค.2561 และสืบพยานจำเลยวันที่ 16 ถึงวันที่ 17 และวันที่ 21 ส.ค. 2561

ความเป็นมาของคดีโดยย่อ

 
คดีนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2558 มีการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารฉก.ปัตตานี 25 นปพ. 431 ฉก. ทพ.41 ร้อย ร.35314 ฉก.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ทุ่งยางแดง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ หมู่ที่ 6 บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี การปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมประชาชนจำนวน 22 คน และเจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 คน หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ให้ข่าวสารต่อสาธารณะว่าผู้เสียชีวิต 2 คน คือ อันวาร์ ดือราแม และมากูรอซี แมเราะ เป็นแกนนำก่อความไม่สงบในพื้นที่ทุ่งยางแดงระดับปฏิบัติการ (RKK) ได้ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ความจริงของเหตุการณ์ ไม่ได้มีบุคคลทั้งสองรายชื่อดังกล่าวเสียชีวิต แต่ผู้เสียชีวิต 4 คน ได้แก่ สุไฮมี เซ็น คอลิด สาแม็ง มะดารี แม้เราะ และ ซัดดัม วานุ สองในสี่คนที่เสียชีวิต คือ คอลิด และมะดารี เป็นนักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดปัตตานี
 
ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงและญาติของผู้เสียชีวิตต่างเชื่อว่า ผู้เสียชีวิตดังกล่าวไม่มีอาวุธและไม่ได้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด จากรณีดังกล่าวนี้ทำให้ภาคประชาสังคมและองค์กรมุสลิมมีความสงสัยว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ
 
โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2559 ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายถูกกระสุนยิงเข้าทางด้านหลัง โดยตำรวจและทหารอ้างว่าเป็นการปฎิบัติหน้าที่ จนเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net