Skip to main content
sharethis
เดช พุ่มคชา ชี้การทำงานภาคประชาสังคมต้องปรับให้ทำงานแบบมืออาชีพมากขึ้นอย่างเป็นขบวน ชี้ภาพลักษณ์ของภาคประชาสังคมที่ถูกมองในเชิงลบก็ยังมีอยู่ไม่น้อยตามที่งานวิจัยได้ออกมา คนทำงานไม่ควรเพิกเฉยต่อประเด็นนี้
เดช พุ่มคชา นักพัฒนาสังคมอาวุโส กล่าวเปิดเวที
 
21 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.)  ร่วมกับ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ได้จัดเวทีสาธารณะ  “เสริมพลังภาคประชาสังคมเพื่อสังคมสุขภาวะ” ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความหมาย คุณค่า และบทบาทของภาคประชาสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศจากอดีตจนถึงปัจจุบัน   และแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานของภาคประชาสังคมในประเทศไทย 
 
เดช พุ่มคชา นักพัฒนาสังคมอาวุโส กล่าวเปิดเวทีว่าการทำงานของภาคประชาสังคมในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยเริ่มการพัฒนาตามทิศทางของธนาคารโลกตั้งแต่ปี 2504  ซึ่งประเทศไทยเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 6.1 เติบโตเป็นประเทศรายได้ระดับกลาง ตั้งแต่ปี 2553  มีขนาดเศรษฐกิจลำดับที่ 22 ของโลก รัฐบาลมีข้อจำกัดไม่สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงได้  ประเทศไทยจึงมีความทันสมัยแต่ไม่พัฒนา คนรวยกระจุก จนกระจาย ทรัพยากรที่หลากหลายเสื่อมโทรม  ครอบครัวไม่มั่นคง ชุมชนกว่า 88,000  หมู่บ้านได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ดังนั้นช่วงของการพัฒนาที่ผ่านมาภาคประชาสังคมจึงเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยทำให้คนกลุ่มต่างๆ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 
 
“ผมมองว่าการทำงานของภาคประชาสังคมนับจากนี้จนถึงอนาคต ต้องปรับให้ทำงานแบบมืออาชีพมากขึ้น ต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นขบวน ทำงานด้วยความรู้และต้องใช้ศาสตร์และศิลป์เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาครัฐ การมีเวทีวันนี้ผมเชื่อว่าทุกคนมีฝันร่วมกันว่าเครือข่ายประชาสังคมจะธำรงการกระทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยส่งเสริมให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ พัฒนาดำรงกลุ่ม ชุมชนให้มีคุณค่า มีส่วนร่วม แบ่งปัน  สร้างความเป็นธรรมให้ทั่วถึง พัฒนาและดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รักษาความสัมพันธ์ และความงอกงามของตนเองและผู้อื่นได้ แม้ว่าวันนี้ภาคประชาสังคมจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) จากรัฐบาล แต่ไม่ควรมองว่าเราเก่งหรือดีแล้ว  จนหยุดการพัฒนาตนเอง เพราะภาพลักษณ์ของภาคประชาสังคมที่ถูกมองในเชิงลบก็ยังมีอยู่ไม่น้อยตามที่งานวิจัยได้ออกมาแล้ว ดังนั้นคนทำงานในภาคประชาสังคมไม่ควรเพิกเฉยต่อประเด็นดังกล่าว” เดช กล่าว
 
นอกจากนี้ สุนี ไชยรส  ผู้ประสานงานขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) และผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม  มหาวิทยาลัยรังสิต   ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทภาคประชาสังคมไทย : 5 ทศวรรษบนเส้นทางงานพัฒนา” กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510  ที่ ดร.ป๋วย  อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  ได้ร่วมกับเพื่อนก่อตั้งมูลนิธิชนบทแห่งประเทศไทยขึ้นมา  ที่จังหวัดชัยนาท  ด้วยแนวคิดว่า ไปหาชาวบ้าน ไปอยู่กับเขา  เรียนรู้จากเขาวางแผนกับเขา  ทำงานกับเขา  เริ่มจากสิ่งที่เขารู้  ซึ่งเป็นการเชื่อมร้อยที่อาจารย์ป๋วยพูดถึงสังคมไทยเรื่องจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน  สิ่งนี้เป็นแนวทางการทำงานของภาคประชาสังคม  ที่ต้องทำเพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิไตย
 
ตลอดการทำงานที่ผ่านมาพบว่าขบวนการประชาสังคมของไทยมีจุดแข็งหลายประการ  นับตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าการใช้ความรุนแรงไม่สามารถทำให้การทำงานของภาคประชาสังคมยุติลงได้  แต่เรายังคงยืนหยัดต่อเนื่อง เป็นเครือข่ายที่กว้างขวางจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าที่ผ่านมาภาพพจน์ของเอ็นจีโอ คือ กลุ่มคนที่ ขัดขวางการพัฒนา ก้าวร้าว รุนแรง ถูกสร้างภาพเป็นผู้ร้าย แต่ไม่สามารถปฏิเสธบทบาทภาคประชาสังคม ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยพัฒนามาได้จนถึงวันนี้ โดยไม่ได้ช่วงชิงอำนาจรัฐ  แต่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล และทำงานในส่วนการเมืองภาคประชาชน รวมทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชน กรณีที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถทำได้ และพบว่ามีการทำงานข้ามเครือข่าย ข้ามประเด็นแม้จะยังไม่เต็มที่เพื่อร่วมกันผลักดันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานด้วย
 
“อย่างไรก็ตามการทำงานของภาคประชาสังคมยังมีความท้าทายหลายประการ ได้แก่ การที่ภาคประชาสังคมมีความเป็นอิสระ  ต้องไม่ถูกแทรกแซง  กล้าต่อรองกับรัฐ  แต่ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกับภาครัฐ  เพื่อขับเคลื่อนงาน   แต่ละเครือข่ายจะสร้างให้เกิดจุดสมดุลในประเด็นดังกล่าวอย่างไร   การทำงานแก้ไขปัญหาเฉพาะประเด็นที่แต่ละองค์กรทำอยู่นั้นยังคงต้องทำต่อไป   แต่จะมีแนวทางที่จะยกระดับให้เป็นนโยบายอย่างไร  การทำงานในอนาคตจะเป็นเชิงรุกหรือเชิงรับ  งานภาคประชาสังคมแต่ละประเด็นจะส่วนในการผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างไร  และจะมีแนวทางในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าร่วมขบวนการภาคประชาสังคมได้อย่างไร” สุนีย์ กล่าวทิ้งท้าย
 
การขับเคลื่อนงานของสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม หรือ สสป.เป็นผลจากการที่ประเทศไทยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ พ.ศ.2558 ที่ทำให้เกิดมีการทำงานของภาคประชาสังคม  โดยแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2561-2564) , การยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ.... , การสำรวจข้อมูลสถานการณ์การทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคต่างๆ ฯลฯ  โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net