Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เกริ่นนำ

ประเด็นเรื่องการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนาย ฮาคีม อัล-อาไรบี ที่รัฐบาลบาร์เรนกำลังร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยที่รัฐบาลออสเตรเลียคัดค้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่นายฮาคีม กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยแต่รวมถึงระดับทั่วโลกไปแล้ว ในขณะที่สาธารณชนพุ่งเป้าความสนใจไปที่เรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 3[1]   จึงขอแสดงความคิดเห็นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายในเรื่องอนุสัญญาต่อต้านการทรมานเท่านั้น โดยงดเว้นที่จะไม่กล่าวถึงคดีนี้เนื่องจากคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลไทยอยู่ ข้อสังเกตบางประการมีดังนี้


1. ข้อ 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านและการกระทำอื่นๆที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

 อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ได้บัญญัติว่า “รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ ผลักดันกลับออกไป หรือส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน” key words อยู่ที่คำว่า “ส่งผู้ร้ายข้ามแดน” (extradite) กับคำว่า “เหตุอันควรเชื่อได้ว่า” (substantial grounds) ว่าหมายความว่าอย่างไร ประการแรก อนุสัญญาต่อต้านการทรมานได้กำหนดข้อห้ามมิให้รัฐภาคีของอนุสัญญากระทำการที่มีลักษณะทั้ง 3 ประการ คือ ขับไล่ (expel)[2] ส่งกลับ (refouler)[3] หรือส่งผู้ร้ายข้ามแดน (extradite) โดยพันธกรณีห้ามนี้มีลักษณะเป็นการห้ามอย่างเด็ดขาดอย่างสิ้นเชิง โดยปราศจากข้อยกเว้น[4] ซึ่งการที่ข้อ 3 กำหนดพันธกรณีในลักษณะห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดนแบบเด็ดขาดนั้น อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐภาคีที่ได้ทำขึ้นก่อนที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ขัดกับพันธกรณีข้อที่ 3 ในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ Herman Burgers และ Hans Danelius ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการยกร่างอนุสัญญาฉบับนี้ ให้ความเห็นว่า ในกรณีที่รัฐทำสนธิสัญญาหลังจากที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านทรมาน รัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องไม่ให้การดำเนินการตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนขัดกับวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ส่วนสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ทำก่อนที่รัฐจะให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ก็จะต้องมีการตีความในลักษณะทำนองเดียวกันด้วยคือไม่ให้ขัดกับวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน[5]

ประการที่สอง การพิจารณาว่า จะไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนหากมี “เหตุอันควรเชื่อได้ว่า” (substantial grounds) ถ้าส่งผู้นั้นกลับไปประเทศที่ร้องขอ บุคคลนั้นจะถูกทรมาน ความยุ่งยากอยู่ที่ว่าจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า มีเหตุอันควรเชื่อ ในข้อที่ 3.2 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน บัญญัติว่า “ให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจต้องคำนึงถึงข้อพิจารณาทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการที่มีรูปแบบที่ต่อเนื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐนั้นอย่างร้ายแรง” แต่แม้ข้อที่ 3.2 จะวางกรอบหรือแนวทางในการพิจารณาก็ตาม ในทางปฎิบัติ การพิจารณาคำว่า “เหตุอันควรเชื่อได้ว่า”ก็ไม่ง่ายนัก เคยมีข้อร้องเรียนส่วนบุคคลระหว่างนาย Mutombo กับรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์โดยคณะกรรมาธิการอนุสัญญาต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติ เคยกล่าวว่า การที่รัฐปลายทาง (รัฐที่จะส่งตัวกลับหรือที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดน) มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นยังไม่ถือว่าเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะถูกทรมาน แต่จะต้องมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่ชี้ชัดว่า บุคคลนั้นตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย ในทำนองเดียวกัน การที่รัฐปลายทางไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงก็ไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นจะไม่ถูกทรมาน[6] และการกระทำของบุคคลนั้นในอดีต (past conduct) ก็ไม่ต้องนำมาพิจารณา โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าบุคคลนั้นจะสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันได้หรือไม่ว่า หากตนเองถูกส่งกลับหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว ตนมีความเสี่ยงที่จะถูกทรมาน

อนึ่ง คณะกรรมาธิการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติยังได้ให้แนวทางในการพิจารณาเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นอาจถูกทรมานหากว่ามีการส่งตัวกลับหรือการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอีกด้วย[7]

2.ใครบ้างที่ได้รับความคุ้มครองตามข้อที่ 3

บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามข้อที่ 3 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานคือ “บุคคล” (a person) ทุกคนโดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะมีสถานะใดก็ตาม[8] ศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปเคยตัดสินว่า ผู้ค้ายาเสพติด (drug dealer) ก็อยู่ในความหมายของคำว่า “บุคคล” ด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่สมาชิกของกองกำลังติดอาวุธก็อยู่ในความหมายของคำว่าบุคคลด้วย[9] หากเปรียบเทียบกับอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 แล้ว บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานจะกว้างขวางกว่า เนื่องจากไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) เท่านั้น


3. พันธกรณีข้อ 3 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานจำเป็นต้องมีกฎหมายอนุวัติการหรือไม่

ในขณะที่เขียนนี้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอนุวัติการอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….. ประเด็นจึงมีอยู่ว่า พันธกรณีข้อ 3 จะมีผลใช้บังคับที่ไทยต้องปฎิบัติตามหรือไม่อย่างไร เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบทวินิยม (dualism) หมายความว่า สนธิสัญญาซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศไม่มีผลใช้บังคับในประเทศโดยอัตโนมัติจนกว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะตราพระราชบัญญัติให้เป็นไปตามสัญญานั้น หรือที่มักจะเรียกว่า กฎหมายอนุวัติการ (implementing legislation) ในประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า หากพิจารณาตัวบทของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแล้วจะพบว่า ในอนุสัญญาไม่ได้บังคับหรือกำหนดให้รัฐภาคีต้องตรากฎหมายอนุวัติการทุกข้อแต่เป็นบางข้อเท่านั้น เช่น การบัญญัติให้การกระทำทรมานเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายภายในของรัฐภาคี การกำหนดให้ศาลภายในของรัฐภาคีมีเขตอำนาจพิจารณาเหนือความผิดฐานทรมานและความพยายาม หรือเรื่องการเยียวยาความเสียหาย ด้วยเป็นต้น นอกจากนี้ อนุสัญญาจะกำหนดให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการอื่นๆก็จะระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อนั้นๆตามอนุสัญญา แต่ในข้อที่ 3 อนุสัญญาต่อต้านการทรมานไม่ได้บัญญัติให้รัฐภาคีต้องตรากฎหมายอนุวัติการหรือดำเนินมาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการใดๆที่จำเป็นเพื่อจะปฎิบัติตามพันธกรณีข้อ 3 นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า พันธกรณีข้อที่ 3 ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐภาคีต้องตรากฎหมายภายในอนุวัติการแต่อย่างใด[10]

นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายอนุวัติการรองรับพันธกรณีข้อที่ 3 เนื่องจากการปฏิบัติตามพันธกรณีข้อ 3 นี้เป็นเรื่องของรัฐโดยตรงในฐานะที่เป็นภาคีอนุสัญญาจึงสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศนี้ได้เอง การมีกฎหมายอนุวัติการอีกจึงเปรียบเสมือน “รัฐสั่งรัฐ” ซึ่งไม่มีความจำเป็นแต่ประการใด อนึ่ง มีข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า ตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 (Vienna Convention on the Law of Treaties)[11] ข้อที่ 27 บัญญัติว่า รัฐภาคีสนธิสัญญาไม่อาจอ้างบทบัญญัติของกฎหมายภายในเพื่อเป็นข้ออ้างสำหรับการไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาได้[12]
 

4. การทรมานเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ

นอกเหนือจากอนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ห้ามมิให้มีการทรมานบุคคลไว้โดยเฉพาะแล้ว มีตราสารระหว่างประเทศอื่นอีกที่ห้ามมิให้มีการทรมานบุคคลใดๆก็ตาม เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)[13] ปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[14] เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น ศาลระหว่างประเทศ ยืนยันว่าการทรมานถือว่าเป็นกฎหมายบังคับเด็ดขาดที่สนธิสัญญาใดจะขัดหรือแย้งมิได้ (jus cogens) ด้วย[15]

บทส่งท้าย

กรณีของนายฮาคีมมีประเด็นเกี่ยวข้องทั้งกฎหมายภายใน กฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ผู้เขียนหวังว่าเรื่องนี้คงจะคลี่คลายยุติลงด้วยดี

          

อ้างอิง

* อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ.
[1] ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550
[2] Expulsion หรือการขับไล่ใช้กับคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย
[3] Return (refouler) ใช้กับคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย
[4] ดู General Comment No. 4 (2017) on the implementation of article 3 of the Convention in the context of article 22, 9 February 2018 หน้า 2; Lene Wendland, A Handbook on State Obligations under the UN Convention against Torture,2002, หน้า 33;William Cohen, Implementing the U.N. Torture Convention in U.S. Extradition Cases, Denver Journal of International Law and Policy,1998, หน้า 518; David Weissbrodt and Isabel Hortreiter, The Principle of Non-Refoulement: Article 3 of the Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment in Comparison with the Non-Refoulement Provisions of Other International Human Rights Treaties, 5 Buff. Hum. Rts. L. Rev. 1 (1999) หน้า 16
[5] David Weissbrodt and Isabel Hortreiter, หน้า 8
[6] Mutombo v. Switzerland, Communication No. 13/1993, UN Doc. A/49/44 ,1994, ข้อ 9.3
[7] โปรดดูรายละเอียดในGeneral Comment No. 4 (2017) on the implementation of article 3 of the Convention in the context of article 22, 9 February 2018 หน้า 7-8
[8] Joanne Kinslor, Non-refoulement and torture: The adequacy of Australia’s laws and practices in safeguarding asylum-seekers from torture, Australian Journal of Human Rights,2000, หน้า 171-172
[9] Mutombo v. Switzerland, Communication No. 13/1993, UN Doc. A/49/44 ,1994
[10] William Cohen, หน้า 518; Joanne Kinslor, หน้า 172
[11] แม้ว่าประเทศไทยมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาเวียนนานี้ก็ตาม แต่อนุสัญญาเวียนนานี้มีสถานะเป็นการประมวลกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังเคยอ้างอนุสัญญาเวียนนาด้วยว่าเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โปรดดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 หน้า 8
[12] Article 27 : A Sate party to a treaty may not invoke the provisions of its internal law as justification for its failure to perform the treaty.
[13] ข้อ 7 บัญญัติว่า “บุคคลจะถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้ามิได้…” อนึ่ง ประเทศไทยเป็นภาคีกติกา ICCPR ด้วย
[14] ข้อ 3
[15] ดู Questions Relating to the Obligation to Prosecute or Extradite (Belgium v Senegal), Judgment of 20 July 2012, ICJ Reports 2012, para. 99.และคำพิพากษาของ the International Criminal Tribunal for the former Yugoslavia (ICTY) คดี Furundzija Case
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net