Skip to main content
sharethis

บทความในวอชิงตันโพสต์เมื่อพฤศจิกายน 62 โดยนักวิจัยด้านการประท้วงหลายคนระบุถึงบทบาทของโซเชียลมีเดียที่มีต่อการชุมนุมทั้งในแง่ที่เป็นคุณและเป็นโทษ รวมถึงข้อชี้แนะ 4 ประการว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อให้การเรียกร้องสำเร็จ ศึกษาจากบทเรียนการประท้วงร่วมสมัยจากหลายประเทศ

ผู้ชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวนักโทษข้ามแดน เมื่อ 9 มิ.ย. 2019 ที่ฮ่องกง (ที่มา: แฟ้มภาพ/HKFP/Apple Daily)

โดยบทความในวอชิงตันโพสต์ระบุถึงยุคสมัยที่มีการประท้วงอย่างสันติในหลายประเทศเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นในโบลิเวีย, ชิลี, เลบานอน, เอกวาดอร์, อาร์เจนตินา, ฮ่องกง, อิรัก หรืออังกฤษ ที่ตามมาหลังจากการประท้วงในซูดานและแอลจีเรียที่ทำให้เกิดการโค่นล้มอำนาจเผด็จการลงได้

วอชิงตันโพสต์มองว่าโซเชียลมีเดียมีส่วนในการทำให้เกิดกระแสการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เพราะโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการจั้ดตั้งประสานงาน อย่างไรก็ตามมันก็ทำให้การประท้วงคลี่คลายได้ยากขึ้น ในขณะที่การประท้วงยกระดับมากขึ้นทั่วโลก ก็มีปัญหาท้าทายในหลายเรื่องที่ทำให้การประท้วงคลี่คลายได้ยากและทำให้ประสบความสำเร็จเพียงแค่ได้ข้อตกลงระยะสั้นๆ โดยเฉพาะกับการประท้วงที่ไม่มีผู้นำและไม่มีการจัดตั้ง วอชิงตันโพสต์นำเสนอถึง 4 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุปสรรคนี้

ประการแรก การปล่อยให้มี "ปีกที่ใช้ความรุนแรง" จะส่งกระทบต่อขบวน

แม้ว่าจะเป็นการขบวนการประท้วงส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสันติ วอชิงตันโพสต์ระบุว่า "ปีกที่ใช้ความรุนแรง" อาจจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางขบวนการเสียเองได้

โดยถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยบางส่วนที่ระบุว่ากลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและต่อสู้บนท้องถนนด้วยระเบิดเพลิงหรือขว้างปาหินจะเป็นกลุ่มที่สามารถเรียกร้องความสนใจและสร้างความกดดันชนชั้นนำให้ต้องทำการยุติวิกฤตได้ตราบใดที่การประท้วงเป็นไปอย่างมีการจัดตั้งที่ดี แต่ก็มีงานวิจัยอื่นๆ ที่ระบุว่าปีกหัวรุนแรงเหล่านี้จะทำให้ขบวนการมีโอกาสสำเร็จทั้งในระยะสั้นและระยะยาวน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาจะทำให้คนไม่กล้าเข้าร่วมหรือสนับสนุน อีกส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีโอกาสยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมได้น้อยกว่า

วอชิงตันโพสต์ระบุว่าขบวนการประท้วงส่วนใหญ่จะช่วงชิงพื้นที่ชัยชนะได้มากจากการส่งอิทธิพลทางทัศนคติและนโยบายโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง พวกเขาทำการจัดตั้งประสานงานอย่างระมัดระวังและวางแผนการต่อสู้ไปในระยะยาว ขบวนการอื่นๆ ที่สามารถชนะได้แม้ว่าจะมีพวกปีกรุนแรงอยู่พวกเขาทำได้เพราะยังทำให้มวลชนจำนวนมากยังคงเข้าร่วมขบวนได้และเบนความสนใจออกไปจากการใช้ความรุนแรง

ประการที่สอง เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียไม่ได้ให้พลังแก่ผู้ชุมนุมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังให้พลังกับฝ่ายตรงข้ามด้วย

โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ดีในการทำให้คนได้เรียนรู้จากกันและกัน รวมถึงการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารและแรงบันดาลใจทำได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน เครื่องมือนี้ยังทำให้ผู้คนเข้าร่วมการประท้วงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเสนอว่าอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทำให้การประท้วงเติบโตได้ง่ายขึ้น

แต่วอชิงตันโพสต์ก็ระบุว่าโซเชียลมีเดียทำให้เกิดอุปสรรคต่อการประท้วงในระยะยาวเช่นกัน เพราะเมื่อสามารถรวมคนได้เร็วแต่ไม่มีรากฐานและปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องก็ส่งผลเสียได้ โดยที่การปฏิสัมพันธ์ต่อเนื่องนั้นต้องอาศัยโอกาสในการที่จะวางแผน ฝึกฝน จัดตั้ง เตรียมตัว และคุยรายละเอียดเกี่ยวกับการวางแผน

อีกปัญหาหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลใช้เครื่องมืออินเทอร์เน็ตนการบ่อนทำลายขบวนการ เช่น การแพร่กระจายข่าวเท็จ นอกจากนี้เครื่องมือดิจิทัลยังเป็นพื้นที่ๆ เสี่ยงต่อการถูกสอดแนม แทรกซึม สูงมากรวมถึงมีความเสี่ยงอื่นๆ

ประการที่สาม ฝ่ายเผด็จการเองก็ขับเคลื่อนการประท้วงเพื่อโต้ตอบเช่นกัน

เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ในการประท้วงต่อต้านระบอบ 7 ชุด จะมีการประท้วงเพื่อโต้ตอบจากฝ่ายรัฐบาลเอง 1 ชุด การที่ฝ่ายรัฐบาลดึงมวลชนมาลงท้องถนนเช่นนี้เป็นการแสดงออกว่าตัวเองมีความนิยมและมีพลังความเข้มแข็งทางการเมือง นอกจากนี้การประท้วงโต้ตอบยังเปิดโอกาสให้พวกเผด็จการสร้างภาพว่านี่ไม่ใช่การต่อสู้กันระหว่างประชาชนกับรัฐบาล แต่เป็นชนวน "ความวุ่นวายภายในประเทศ"

พวกฝ่ายที่รัฐบาลจัดให้มาประท้วงท้าชนกับผู้ชุมนุมมักจะเป็นกลุ่มที่ท้าทายให้เกิดความรุนแรงและผลักดันให้กลุ่มผู้ประท้วงต้านรัฐบาลออกไปจากพื้นที่ท้องถนน สิ่งที่จะต่อกรกับการประท้วงโต้กลับจากฝ่ายรัฐบาลนี้ได้คือการที่ฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐบาลเองต้องคงจำนวนผู้ชุมนุมไว้ให้มากกว่าอีกฝ่าย และยังคงมีหลักการวินัยของการชุมนุมไว้ได้ในขณะที่เผชิญหน้ากับพวกเขาคือการเน้นวิธีการแบบสันติ แต่ถ้าหากขบวนการไม่ได้วางแผนจัดการกับการประท้วงโต้ตอบเอาไว้ด้วยก็เสี่ยงที่จะแพ้ให้กับการเรียกเสียงความชอบธรรมจากผู้คน

ประการที่สี่ ขบวนการที่ไม่มีผู้นำจะยากลำบากหน่อยในการเจรจาจากท้องถนน

วอชิงตันโพสต์ระบุว่าในขณะขบวนการประท้วงแบบไม่มีผู้นำนั้นมีข้อได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์และความดึงดูดในเชิงอุดมการณ์ แต่มันก็มีข้อเสียเพราะขบวนการที่มีกลุ่มแกนนำนั้นจะช่วยรวบรวมและเสนอข้อเรียกร้อง เจรจา และสร้างดุลอำนาจภายในแนวร่วม ยิ่งถ้ามีแกนนำที่มีพลังดึงดูดผู้คนได้อย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และ คานธี ก็มีโอกาสสร้างความสำเร็จมากขึ้นโดยควรทำไปพร้อมๆ กับการตรวจสอบถ่วงดุลจากแกนนำคนอื่นๆ เพื่อให้พฤติกรรมของพวกเขาเป็นไปตามสิ่งที่ขบวนการต้องการ

วอชิงตันโพสต์ยังมองว่าการประท้วงที่มีการจัดตั้งแกนนำจะต้านทานการใช้กำลังโต้ตอบเกินกว่าเหตุของรัฐบาลได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับขบวนการที่ไม่มีผู้นำ โดยการที่ยังคงแนวทางแบบไม่ใช้ความรุนแรงและเน้นการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลจนทำให้ได้รับข้อตกลงที่รอมชอมกันได้ แต่การประท้วงแบบขาดแกนนำมักจะทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเปิดโอกาสให้เกิดการรวมศูนย์กันที่กลุ่มที่ยึดกุมการนำได้มากกว่าโดยไม่สร้างการมีส่วนร่วมต่อคนหมู่มาก รวมถึงไม่เปิดโอกาสให้มีการวางแผนการกระจายอำนาจหลังจากที่ได้รับชัยชนะด้วย

เรียบเรียงจาก

This may be the largest wave of nonviolent mass movements in world history. What comes next?, Washington Post, 16 November 2019

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net