Skip to main content
sharethis

กสม.ชี้ตำรวจบันทึกภาพใบขับขี่ ปชช. โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นการละเมิดสิทธิฯ พร้อมเดินหน้าภารกิจการต่างประเทศ พัฒนาความร่วมมืองานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งานแถลงข่าว กสม.  ครั้งที่ 8/2564

18 พ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก กสม. ระบุว่า วันนี้ (18 พ.ย.) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวอัจฉรา ฉายากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 8/2564 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

กสม.ชี้กรณีเจ้าหน้าที่ ตร. ด่านตรวจบันทึกภาพใบขับขี่ประชาชนโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นการละเมิดสิทธิฯ

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนสองกรณีอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น และสถานีตำรวจภูธรกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องโดยไม่ได้รับความยินยอม โดยทั้งสองกรณีผู้ร้องได้ขับรถยนต์ผ่านจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ และจับกุมสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ และผู้ร้องได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายทอดสด (Live) และบันทึกภาพเคลื่อนไหวการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ร้องก่อน ผู้ร้องทั้งสองกรณีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จึงขอให้ตรวจสอบ

นางสาวอัจฉรา ฉายากุล รองเลขาธิการ กสม.

กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ได้พิจารณาคำร้อง ข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32  ได้รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลไว้ โดยเฉพาะการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17 ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้เช่นเดียวกัน การแทรกแซงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวจึงอาจกระทำได้เฉพาะกรณีที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น

สำหรับการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อาจมีกรณีที่ล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องหรือบุคคลที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัดได้ เช่น การค้น หรือการตรวจหาสารเสพติด ดังนั้นจึงต้องกระทำโดยระมัดระวัง เท่าที่จำเป็น และส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้น้อยที่สุด

แม้การขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ ณ จุดตรวจ จุดสกัด จะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ แต่การที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องหรือบุคคลที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัด ถือเป็นขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ และโดยที่ใบอนุญาตขับขี่ปรากฏข้อมูลส่วนบุคคลหลายรายการ การบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่เก็บรวบรวมไว้จึงอาจเป็นการล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลได้ นอกจากนี้ การที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่เพื่อเก็บหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติหน้าที่ หรือหากปรากฏว่าผู้ร้องนำภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกไว้ไปเผยแพร่ในทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย เจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการติดตามตัวผู้ร้องมาสอบสวนได้โดยง่าย นั้น ก็มิใช่เหตุตามกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำเช่นนั้นได้

ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่า การที่ผู้ร้องใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวการปฏิบัติหน้าที่และโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์เข้าข่ายขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ หรือทำให้เกิดความเสียหาย ย่อมสามารถรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวเพื่อดำเนินคดีกับผู้ร้องได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ผู้ร้องแต่อย่างใด ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่โดยที่ผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งก่อน จึงถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องอันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุนี้ กสม.จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดให้เป็นไปตามหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/5578 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 56 เรื่อง กำชับมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด และหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/681 ลงวันที่ 3 มี.ค. 64 เรื่อง มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และความผิดอื่นเกี่ยวกับรถ หรือการใช้ทาง โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระมัดระวังการบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่หรือเอกสารอื่นใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งอาจล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัด และต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่าที่จำเป็นและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

กสม.เดินหน้าภารกิจด้านต่างประเทศ ประชุมร่วมคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) และเตรียมเข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาค หารือความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกัน

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. นำโดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. ร่วมประชุมทางไกลกับคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD) ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 18 คน เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีของประเทศไทยตามอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งคณะผู้แทนรัฐบาลไทยจะได้เสนอรายงานและตอบคำถามต่อคณะกรรมการฯ ในประเด็นต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 22-23 พ.ย. 64 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์

วสันต์ ภัยหลีกลี้ จาก กสม.

ในส่วนของ กสม.ซึ่งทำหน้าที่กลไกการติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีในระดับชาติอย่างเป็นอิสระตามหลักการปารีส ได้เสนอรายงานคู่ขนานต่อคณะกรรมการ CERD ไปก่อนหน้านี้ และในการประชุมครั้งนี้ได้ยืนยันถึงรายงานคู่ขนานดังกล่าว รวมทั้งตอบข้อซักถามต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการ CERD จะนำข้อมูลไปใช้ประกอบการพิจารณาหารือกับคณะผู้แทนไทย รวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยต่อไป

นอกจากนั้น ในวันที่ 24 พ.ย. 64 กสม.ในฐานะสมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions: SEANF) ซึ่งประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเต และไทย จะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคระหว่าง SEANF และ AICHR  ด้วย

จากนั้น วันที่ 29-30 พ.ย. 64 กสม.จะเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการปฏิรูปเรือนจำ (Regional Conference on Prison Reform) ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุมประจำปี SEANF ครั้งที่ 18 ในการที่สมาชิก SEANF จะหารือกับผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาค และผู้แทนภาครัฐในการพัฒนามาตรฐานเรือนจำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเข้าร่วมประชุมเป็นผู้ดำเนินการหารือและอภิปราย และได้เชิญนายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กสม. และผู้แทนไทยด้านสิทธิเด็กในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาเป็นผู้เชี่ยวชาญของไทยในการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการพัฒนาด้วย

สำหรับการประชุมประจำปี SEANF ครั้งที่ 18 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2564 มีสาระสำคัญในการประชุมหลายประการ เช่น การจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการถาวรของ SEANF ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย การเปิดตัวเอกสารแนวปฏิบัติของ SEANF ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน การรับรองและการเปิดตัวแผนยุทธศาสตร์ของ SEANF (ปี พ.ศ. 2565-2569) โดยในแผนฉบับนี้ จะมีเรื่องการสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และประเด็นการป้องกันการทรมาน เป็นประเด็นยุทธศาสตร์ที่สมาชิกจะขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม รวมถึงจะมีการรับรองตราสัญลักษณ์ของ SEANF อย่างเป็นทางการและการเปิดตัวเว็บไซต์ของ SEANF ซึ่งในปีนี้ กสม. มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพในฐานะประธาน SEANF และจะส่งมอบประธาน SEANF ปีต่อไปให้แก่ กสม.ฟิลิปปินส์ ส่วน กสม.ไทย จะเป็นประธาน SEANF ใน พ.ศ. 2566

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net