Skip to main content
sharethis

คุยกับตัวแทนกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ผู้ผลักดันการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ‘พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน’ ที่มุ้งเน้นปกป้องคุ้มครองสิทธิของนักเรียน และส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน อะไรคือสาเหตุที่เปลี่ยนแนวทางการเรียกร้องจากการลงถนนจัดกิจกรรมมาเป็นการผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภา รวมถึงอนาคตการศึกษาไทยที่จะได้เห็นหากการผลักดันกฎหมายนี้เป็นจริงขึ้นมาได้

วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี ตรงกับวันสำคัญ คือ “วันเด็กแห่งชาติ” ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลไทยกำหนดขึ้นตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยองค์การสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2498 เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันประเทศในอนาคต สำหรับ พ.ศ.2565 นี้ วันเด็กแห่งชาติตรงกับวันเสาร์ที่ 8 ม.ค. แต่กิจกรรมหลายอย่างต้องยกเลิกหรือจัดขึ้นได้อย่างจำกัดเพราะสถานการณ์โลกระบาดโควิด-19 ทำให้องค์กรต่างๆ ที่จัดกิจกรรมวันเด็กต้องเปลี่ยนแผนมาดำเนินงานทางออนไลน์แทน

กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ หนึ่งในองค์กรนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็กและเยาวชนที่มีผู้ขับเคลื่อนเป็นเด็กวัยมัธยมก็เป็นหนึ่งในผู้จัดกิจกรรมวันเด็กออนไลน์ในปีนี้ โดยมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มนักเรียนเลวเปิดตัว “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน” ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่รับประกันและปกป้องสิทธิของนักเรียนไทยในสถานศึกษา เปิดให้ลงชื่อผ่านทางเว็บไซต์ https://www.badstudent.co/

นักเรียนมัธยมรวมตัวกันชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2563 โดยเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา
 

‘แบม’ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลวเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าตลอดหนึ่งปีที่กลุ่มนักเรียนเลวเคลื่อนไหวมาได้ทำทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดการชุมนุม ยื่นหนังสือเรียกร้องกับรัฐมนตรี จัดทำคู่มือ รายงานข่าวการละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเรียกร้องโดยตรง แต่กลับยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็น ทางกลุ่มจึงคิดว่าต้องทำอะไรที่ใหญ่กว่านี้เพื่อให้สังคมเห็นว่านักเรียนเลวกำลังทำอะไรอยู่ ทางกลุ่มจึงคิดว่าการร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ของสถานการณ์การละเมิดสิทธิในโรงเรียนตอนนี้น่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ข้อเรียกร้องการสิทธิเด็กของกลุ่มนักเรียนเลวมีผลอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

แบมกล่าวต่อไปว่าตอนแรก ทางกลุ่มตั้งใจจะทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่เมื่อศึกษาแล้วเห็นว่ารัฐบาลมีแนวโน้มจะปัดตกร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอเข้าไปเพราะตีความว่าเป็นกฎหมายปฎิรูป เมื่อทำไม่ได้จึงต้องหาทางอื่น เช่น เข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่ประชาชนมักไม่ค่อยมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ หรือไม่ก็ต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กแล้วพบว่าไม่มีเรื่องสิทธินักเรียนเขียนอยู่ในนั้น หน่วยงานที่ร่างก็มองว่าไม่เกี่ยวกับเขา เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ ทางกลุ่มจึงตัดสินใจเขียนร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา

“เราดูแล้วมันไม่มีช่องทางไหนที่จะให้เราใส่เรื่องสิทธิเด็ก ประกาศสิทธิอย่างจริงจัง ใส่กฎระเบียบให้โรงเรียนดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราก็เลยตัดสินใจจะยกร่างใหม่” แบมกล่าว

แบมบอกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พูดกว้างๆ ว่าจะคุ้มครองเด็กจากการถูกทำร้ายร่างกาย แต่ไม่ได้พูดถึงการคุ้มครองสิทธิของเด็กในสถานศึกษาโดยตรง แต่กลับมีบางมาตราที่พูดถึงเรื่องการควบคุมความประพฤติของนักเรียนนักศึกษา เช่น มาตรา 64 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ระบุว่า “นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษาและตามที่กำหนดในกระทรวง” และในมาตรา 65 ที่ระบุว่า “นักเรียนหรือนักศึกศึกษาผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และมีอำนาจนำตัวไปมอบแก่ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษาของนักเรียนหรือนักศึกษานั้น เพื่อดำเนินการสอบถามและอบรมสั่งสอนหรือลงโทษตามระเบียบ ในกรณีที่ไม่สามารถนำตัวไปมอบได้จะแจ้งด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ เมื่อได้อบรมสั่งสอนหรือลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้บริการโรงเรียนหรือสถานศึกษาแจ้งผู้ปกครองว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนเด็กอีกชั้นหนึ่ง”

แบมบอกว่ากฎหมาย 2 มาตราดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธินักเรียน แต่เป็นเรื่องบังคับว่านักเรียนควรจะประพฤติตัวอย่างไร และมีบทลงโทษด้วย เป็นการสั่งมากกว่าการยืนยันสิทธิของเด็ก ซึ่งกลุ่มนักเรียนเลวเห็นว่าข้อกฎหมายลักษณะนี้มีปัญหามาก เหตุใดจึงมารวมอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

เราก็หวังว่าเขาจะไม่ส่งต่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่เขาเคยเจอในรุ่นเขาไปให้คนรุ่นต่อไป

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน ที่กลุ่มนักเรียนเลวเสนอนั้นระบุชัดเจนเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมถึงการให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของนักเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ นักเรียนยังมีสิทธิด้านความปลอดภัยและต้องได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายว่าการลงโทษใดๆ ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนจะต้องไม่ละเมิดสิทธิของพวกเขา

นอกจากสิทธิที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังคุ้มครองสุขภาพจิตของนักเรียน และระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะต้องให้นักเรียนมีสิทธิเข้าถึงที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตและนักสังคมสงเคราะห์ โรงเรียนต้องสร้างภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มขีดความสามารถและส่งเสริมให้นักเรียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งต้องให้สิทธิด้านความยุติธรรมแก่นักเรียนก่อนดำเนินการลงโทษ หากนักเรียนคนนั้นกำผิดกฎโรงเรียน

นักเรียนกำลังผูกโบสีขาวที่ผมและข้อมือของเพื่อนนักเรียนในระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2563 โดยริบบิ้มหรือโบผูกผมสีขาวถูกใช้เป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษาในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในช่วงปี 2563-2564
 

อีกหนึ่งเรื่องที่ถูกบรรจุเข้าไว้ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน คือเรื่องสิทธิในการพักผ่อน ที่ระบุว่าผู้เรียนมีสิทธิที่จะมีเวลาส่วนตัวอย่างเพียงพอในการพักผ่อน การเข้ากิจกรรมที่สนใจ การละเล่นทางสันทนาการ หรือการทำงานอดิเรก และสถานศึกษามีหน้าที่ควบคุมเวลาเรียนและเวลาที่ใช้สะสางภาระงานจากการเรียนให้ไม่กระทบต่อเวลาส่วนตัวของผู้เรียน

แบมกล่าวว่าสิทธิในการพักผ่อนไม่เคยถูกกล่าวถึงในกฎหมายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และไม่เคยถูกสังคมมองว่าเป็นสิทธิที่เด็กควรจะได้รับ เธอเล่าต่อไปว่ากลุ่มนักเรียนเลวได้แรงบันดาลใจในการร่างกฎหมายข้อนี้ขึ้นมาเพราะเห็นกฎหมายด้านการศึกษาในต่างประเทศ เช่น ฟินแลนด์ และสวีเดน ที่ระบุว่านักเรียนต้องมีเวลาสำหรับทำกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการเรียน ขณะที่นักเรียนไทยนั้นใช้เวลาส่วนมากไปกับการเรียน ทั้งเรียนในห้องเรียนปกติที่โรงเรียน เรียนพิเศษที่สถาบันกวดวิชา และต้องแบ่งเวลาสำหรับทำการบ้าน ถึงแม้ว่ารัฐบาลเคยประกาศนโยบายลดการบ้าน แต่ความพยายามนั้นก็ไม่ได้ผล

“เรารู้สึกว่าสังคมยังไม่ได้เห็นว่าเวลาว่างเป็นสิทธิของเด็กด้วย เราก็เลยคิดว่าถ้าอยากจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราอาจจะต้องใส่มันไปใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้มันกลายเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนขึ้นมาจริงๆ” แบมกล่าว

ไม่เพียงแค่การปกป้องครุ้มครองสิทธิด้านการเรียนของผู้เรียนเท่านั้น แต่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้เรียน ของกลุ่มนักเรียนเลวยังเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่าสถานศึกษาต้องสนับสนุนการสร้างเสริมความเข้าใจและความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้เรียนและบุคลากรในสถานศึกษา ต้องจัดให้มีระบบดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในสถานศึกษา ทั้งยังต้องจัดการและพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษาให้สามารถสอบและให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างถูกต้องตามหลักการสากล รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกกฎหรือระเบียบของสถานศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อผู้เรียน และต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

แบมระบุว่ากลุ่มนักเรียนเลวตั้งใจให้การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเรียนและบุคลากรการศึกษาที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ ขณะเดียวกัน นักเรียนควรเรียนรู้ว่าเขามีสิทธิอะไรบ้างและรู้จักวิธีพิทักษ์สิทธิของตัวเองทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน ส่วนครูควรรู้ว่าเมื่อใดที่การกระทำของตนไปละเมิดสิทธิของนักเรียน พวกเขาจะได้ระวังและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น

แบมกล่าวว่านักเรียนไทยถูกละเมิดสิทธิมาเป็นเวลานาน นักเรียนไทยรุ่นสู่รุ่นถูกลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรงตั้งแต่ถูกตีด้วยไม้เรียว วิ่งรอบสนาม หรือใช้เล็บขูดกำแพง นอกจากนี้ นักเรียนที่ทำทรงผมผิดระเบียบก็จะถูกครูลงโทษด้วยการตัดผม และยังมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติตามเพศสภาพ หรือถูกคุกคามทางเพศ แบมบอกว่ากลุ่มนักเรียนเลวได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนลักษณะนี้มากกว่า 5,000 ครั้งซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในโรงเรียน ถึงแม้ว่าคนรุ่นก่อนหน้าจะบอกว่าพวกเขาผ่านเรื่องเหล่านี้และอดทนได้ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่คิด และคนรุ่นเธอไม่ต้องการจะอยู่ในสังคมแห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้อีกต่อไป

“ถ้าเกิดว่าเด็กรู้เรื่องสิทธิ เราก็คาดหวังว่ามันน่าจะเป็นสังคมที่ตระหนักรู้มากยิ่งขึ้นและเป็นสังคมที่ไม่ยินยอมให้ใครมาละเมิดสิทธิตัวเองได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างเวลาครูจะมากล้อนผมเราในโรงเรียน เขาก็จะรู้ว่าจริงๆ เราทุกคนมีสิทธิในร่างกายตัวเอง สิ่งที่ครูทำมันขัดกับสิ่งที่เราเคยเรียนมาหรือเปล่า อยากให้มันมีการตั้งคำถามเรื่องนี้เยอะๆ ในสังคม จะได้ก้าวข้ามไปได้” แบมกล่าว

กลุ่มนักเรียนเลวจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสนับสนุนสิทธิกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในโรงเรียน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ (ภาพโดย Chana La)
 

แบมกล่าวว่าสิ่งที่กลุ่มนักเรียนเลวกำลังเรียกร้องนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ แต่คนไทยกลับไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงออกมารณรงค์เรื่องเหล่านี้ หลายคนมักพูดว่าพวกเขาล้วน “ได้ดีเพราะไม้เรียว” และไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลวที่ขอให้ยุติการกระทำต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน

“เรามองว่ากฎหมายมันต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์เชิงความคิดด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเราทำเรื่องรณรงค์เชิงความคิดมาตลอด ครั้งนี้เป็นครั้งหนึ่งที่เราอาจจะผลักมันไปให้ได้ไกลกว่าเดิม ให้มันไปสู่ความเป็นรูปธรรมากขึ้น” แบมกลาว

แม้ว่าการเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชนภายในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ระบุไว้ว่ากฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนจะต้องมีผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายอย่างน้อย 10,000 รายชื่อ โดยผู้ที่ร่วมเข้าชื่อจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่แบมบอกว่าผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีก็สามารถลงชื่อในแบบฟอร์มออนไลน์ได้เพื่อแสดงออกว่าสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ถึงจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่กลุ่มนักเรียนต้องการให้นักเรียนทั่วประเทศเข้ามาลงชื่อเพื่อเป็นการรณรงค์ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม แบมยอมรับว่าผู้ใหญ่ถือเป็นกำลังหลักในการช่วยให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถผ่านเข้าไปในสภาได้

“เราก็หวังว่าเขาจะไม่ส่งต่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่เขาเคยเจอในรุ่นเขาไปให้คนรุ่นต่อไป” แบมกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากเปิดตัวเว็บไซต์ให้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายมาเป็นเวลาครบ 1 เดือน มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วมากกว่า 15,400 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 6,000 คน เป็นผู้ใหญ่อีกกว่า 9,400 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565) ซึ่งหากรวบรวมรายชื่อได้ตามเป้าแล้ว ทางกลุ่มก็จะนำร่างกฎหมายฉบับนี้ยื่นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

อ่านข่าวต้นฉบับ:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net