Skip to main content
sharethis

กกต.ส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่คนไทยใน 66 ประเทศลงทะเบียนขอใช้สิทธิไว้ - แจงเหตุเดินทางไปดูงานการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. นอกราชอาณาจักรของ 6 กกต. เป็นไปตามแผนที่ได้ประสานกับทาง กท.ตปท. สลับกันไป ไม่ได้ไปพร้อมกันหมด ยืนยันไม่ทิ้งงาน สนง.รายงานทุกสถานการณ์ เรื่องนโยบายดิจิทัลอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนขยายลงทะเบียนแก้ปัญหาให้คนลงในระบบแล้ว ไม่มีการขยายเวลาเพิ่ม

14 เม.ย. 2566 เพจสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานว่าคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และไปรษณีย์ ดำเนินการจัดส่งวัสดุ อุปกรณ์ และบัตรเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรเป็นวันแรก โดยมีนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. นายพงษทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทไปรษณีย์ไทย และนายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงศุล

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรมการกงศุล กระทรวงต่างประเทศ และบริบัทไปรษณีย์ไทย ร่วมกันจัดส่งบัตรเลือกตั้งและอุปกรณ์ ในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 66 ประเทศ 94 เมืองปลายทาง

สำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรตามที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงทะเบียนใว้ โดยบัตรเลือกตั้งที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อใช้ "สีเขียว" และบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใช้ "สีม่วง"

ทั้งนี้ ยอดการลงทะบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ กกต.เปิดการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค - 9 เม.ย. มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิทั้งสิ้นจำนวน 115,139 คน เป็นลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต 109,442 คน ลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ เขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น 5,697 คน

แจงเหตุเดินทางไปดูงานการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. นอกราชอาณาจักรของ 6 กกต.

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2566 ว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงถึงการเดินทางไปดูงานการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของ 6 กกต. ว่าเป็นไปตามโครงการการเตรียมการและตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ในการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งโครงการดังกล่าวได้จัดขึ้นทุกครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจติดตาม การเตรียมความพร้อม รับฟังสภาพปัญหา รวมทั้งการบริหารจัดการการเลือกตั้งในแต่ละประเทศที่มีข้อจำกัดแตกต่างกันตามกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆ ลักษณะภูมิประเทศ สภาพความเป็นอยู่ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรืออาจนำมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อนดำเนินการสำนักงาน กกต.ได้มีการหารือร่วมกันกับกระทรวงการต่างประเทศมาโดยตลอด ถึงวิธีการที่จะทำให้การเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่ต่างประเทศสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและบรรลุตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด ต่อมากระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือเชิญ กกต.เดินทางไปเข้าร่วมโครงการเตรียมการและตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานทูตและสถานกงสุลในประเทศต่างๆ ซึ่ง กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาระบบการบริหารจัดการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ในโอกาสต่อไป จึงได้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่กระทบกับงานตามแผนปฏิบัติการที่ได้กำหนดไว้ รวมถึงการเดินทางในห้วงเวลาที่จะไม่เป็นภาระในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานทูตหรือสถานกงสุลในประเทศต่างๆ จึงได้กำหนดให้มีการเดินทาง ในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 24 เม.ย. โดยแต่ละเส้นทางไม่ได้เดินทางไปพร้อมกัน และแต่ละเส้นทางที่เดินทางประกอบด้วยกรรมการการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น เพียง 4-5 คน เท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว กกต.ได้กำหนดแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้สำนักงาน กกต. และหน่วยงานสนับสนุนดำเนินการไว้หมดแล้ว แม้จะเดินทางไปต่างประเทศก็ยังมีการนัดหมายการประชุม กกต.ตามปกติผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และหากมีเรื่องด่วนก็อาจนัดหมายการประชุมเพิ่มเติมจากการประชุมตามปกติก็ได้

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเดินทางไปต่างประเทศของ กกต.ทำให้ไม่สามารถพิจารณาคำร้องเรื่องการหาเสียงตามนโยบายให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท และการขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ทางสำนักงาน กกต.ชี้แจงว่าข้อสังเกตดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คือกรณีคำร้องนโยบายการหาเสียงการให้เงินทางดิจิทัล 10,000 บาท เป็นการยื่นคำร้องว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เมื่อมีผู้ยื่นคำร้อง สำนักงาน กกต.ได้รายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบเบื้องต้นแล้ว และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ กกต. จึงจะเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาต่อไป ซึ่งต้องเป็นไปตามกรอบระยะเวลาและขั้นตอนที่กำหนด ไม่อาจยกขึ้นมาพิจารณาได้ทันที ประกอบกับขณะนี้มีพรรคการเมืองรายงานเรื่องนโยบายที่ใช้หาเสียงตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพียง 6 พรรคการเมือง จากจำนวนพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 70 พรรคการเมือง หรือบางพรรคการเมืองยังอยู่ในระหว่างส่งเอกสารเพิ่มเติม จึงยังไม่สามารถพิจารณาได้

สำหรับเรื่องการขยายเวลาการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า กรณีเกิดปัญหาผู้ลงทะเบียนบางส่วนไม่อาจลงทะเบียนได้ในช่วงเวลา 21.00 – 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 9 เม.ย. เนื่องจากข้อจำกัดของระบบที่มีศักยภาพในการรองรับการเข้าใช้งานลงทะเบียนพร้อมกันเพียง 5,000 คนต่อ 1 วินาที ถ้าสูงเกินกว่าจำนวนดังกล่าวจะทำให้ระบบล่าช้า สำนักงาน กกต.ได้แจ้งให้ กกต.ทราบตั้งแต่เกิดเหตุและต่อเนื่องมาเป็นลำดับ พร้อมทั้งได้ประสานงานกับสำนักบริหารการทะเบียนเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข โดยได้ข้อสรุปว่าในช่วงเวลาดังกล่าวระบบสามารถบันทึกข้อมูลผู้ประสงค์จะลงทะเบียนแต่แสดงผลว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จไว้ ซึ่งระบบสามารถดึงข้อมูลผู้ประสงค์จะลงทะเบียนดังกล่าวมาจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้เกือบทั้งหมด สำนักงาน กกต.จึงเห็นว่าไม่จำต้องขยายเวลาลงทะเบียนออกไปและได้รายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วยแล้ว

เลขา ครป. ค้าน กกต.บินดูงานต่างประเทศ ห่วงไม่ได้กลับมาจัดการเลือกตั้ง

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าเนื่องในโอกาสวันสงกรานต์และวันเปลี่ยนผ่านปีใหม่ของชาวไทยดั้งเดิม ผมอยากขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี มอบของขวัญให้คนไทยสดใสชุ่มฉ่ำเย็นเนื่องในเทศกาลสงกรานต์และวันครอบครัวนี้ เพื่อแสดงความจริงใจต่อชาวไทยก่อนจะลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามของพรรครวมไทยสร้างชาติในการเลือกตั้งครั้งนี้

โดยขอให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้คนไทยรับทราบ ว่าท่านไม่ได้โกงไม่ได้กิน ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นจริงๆ ตลอดการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา เพราะหลังจากการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใน ครม.ประยุทธ์ 1 เมื่อปี 2557 จากการยึดอำนาจการปกครองโดยการรัฐประหาร ซึ่งตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก่อนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่ามีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 128,664,535 บาท โดยเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ 102,317,152 บาท

"ปัจจุบันเป็นนายกฯ ผ่านไปเกือบ 9 ปีแล้วท่านยังไม่เคยเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินแต่อย่างใด โดยอ้างกฎหมายป.ป.ช.ว่าไม่ต้องเปิดก็ได้เมื่อตอนรับตำแหน่งในปี 2562 แม้ ป.ป.ช.จะไม่กล้าเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนายกฯ แต่ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ ของตัวเองด้วยความบริสุทธ์ใจ ก่อการลงเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ท่านกล้าหรือไม่ เพื่อแสดงความจริงใจต่อพี่น้องประชาชนไทยเนื่องในวันสงกรานต์"

นอกจากนี้ผมไม่เห็นด้วยกับการที่ กกต.จะเดินทางไปดูงานต่างประเทศในช่วงนี้ เพราะจะกระทบแผนจัดการเลือกตั้ง 2566 อย่างแน่นอน ถ้าเป็นการดูงานก่อนหน้าที่จะมีกำหนดการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จจะไม่มีใครว่าเลย แต่ไปช่วงนี้จะนำมาซึ่งปัญหามากมาย เพราะท่านบริหารงบกว่า 6,000 ล้านบาท กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน แต่จะทำงานขาดประสิทธิภาพแบบนี้ไม่ได้ แม้แต่ระบบลงทะเบียนล่วงหน้ายังล่มแล้วจะจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธ์ยุติธรรมได้อย่างไร จะต้องทำงานให้ประชาชนไว้วางใจต่อ กกต.มากขึ้น 

และการเดินทางไปดูงานตั้งแต่ 4-24 เม.ย. 2566 เป็นเวลาที่นานเกินไป ให้ระวังว่ามีกลุ่มคนที่อยากขยายเวลาการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ให้มีการเลือกตั้ง และระวังว่าจะมีการสร้างเหตุไม่ให้ท่านกลับมาจัดการเลือกตั้งได้ทันด้วย เพราะการเมืองไทยเปราะบางมากสำหรับผู้ต้องการยึดอำนาจสืบต่อไป

สุดท้าย ขอสวัสดีปีใหม่ไท-อุษาคเนย์ และวันครอบครัวกับพี่น้องประชาชนไททุกท่านครับ ขอพุทธคุณอำนาจพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลจักรวาล ดลบันดาลให้ ท่านและครอบครัว มีความสุขสถาพร สุขภาพแข็งแรง ปลอดโรค  สดใส เบิกบาน ทำงานเพื่อบ้านเมือง และแผ่นดิน ประสบผลสำเร็จดั่งปรารถนา เพื่อสันติภาพและภราดรของมวลประชาสากลตลอดไป และขอให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองด้วยเทอญ

กต.แจงยิบ เหตุผล กกต.เดินสายทั่วโลก เตรียมใช้ระบบติดตามเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแบบเรียลไทม์

มติชนออนไลน์ รายงานว่านางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยความคืบหน้าในการเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพื่อให้คนไทยในต่างประเทศได้มีโอกาสลงคะแนนใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2565 เพื่อหารือเกี่ยวกับกฎระเบียบการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมถึงการมีวิทยากรจาก กกต. บรรยายให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์แก่เจ้าหน้าที่ สอท.และสกญ. ของไทยในต่างประเทศ เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเกิดความเรียบร้อยและถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและมีความโปร่งใส รวมถึงป้องกันความผิดพลาดต่างๆ

ในการเตรียมพร้อม  มีทั้งการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง  การจัดคูหาเลือกตั้ง  การเตรียมการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง  การประสานงานกับไปรษณีย์และสายการบิน  ตลอดจนสนามบิน  รวมทั้งการเดินทางของ กกต. เพื่อไปตรวจเตรียมความพร้อมของพื้นที่ในต่างประเทศ  เพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยราบรื่น มีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากสภาพและข้อจำกัดในแต่ละภูมิภาค  อาทิ ในครั้งนี้  คณะไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อตรวจสอบระบบและขั้นตอนในการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศไทย สืบเนื่องจากปัญหาการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับมายังประเทศไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เพื่อให้ทราบถึงขึ้นตอนที่ชัดเจนในการขนส่งบัตรเลือกตั้งและป้องกันปัญหามิให้เกิดกับการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศไทยในการเลือกตั้งในครั้งนี้

คณะไปแอฟริกาใต้ เคนยา และโมร็อกโก เพื่อตรวจเยี่ยม หารือและติดตามการเตรียมการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เนื่องจากแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่และการคมนาคมขนส่งค่อนข้างยากลำบาก รวมทั้งได้มีการหารือเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของการไม่มีเที่ยวบินตรงจากแอฟริกาไปประเทศไทย

ในส่วนของภูมิภาคยุโรปและอเมริกา คณะไปตรวจเยี่ยมความพร้อมในการจัดการลงคะแนนและพบปะชุมชนคนไทย พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและอุปสรรค เพื่อดำเนินการหาวิธีแก้ไข เนื่องจากมีชุมชนคนไทยขนาดใหญ่และมีคนไทยพำนักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งบางแห่งไม่มีเที่ยวบินของสายการบินไทยและมีเที่ยวบินตรงจำกัด จึงต้องมีการหารือเพื่อวางแนวทางการส่งถุงเมล์บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วกลับประเทศไทยที่เหมาะสม

ในส่วนของการส่งและรับบัตรเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้ กต. ได้นำประสบการณ์ที่ผ่านมามาปรับใช้เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยจะให้เจ้าหน้าที่ของ สอท.และสกญ.ในประเทศที่การขนส่งและระบบไปรษณีย์มีปัญหาและไม่สะดวกเดินทางถือบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วมาส่งที่ประเทศไทยด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ยังได้นำระบบดิจิทัล คือ ระบบติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร หรือระบบ OVMS (Overseas Voting Monitoring System) มาใช้ในการติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของ สอท.และสกญ. ทุกแห่ง โดยระบบสามารถประมวลผลความคืบหน้าในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรบน dashboard ได้แบบ real time สามารถสนับสนุนการบริหารจัดการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

“การดำเนินการเหล่านี้เป็นไปเพื่อประกันให้การเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม  มีประสิทธิภาพ  ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เพื่อรักษาสิทธิของพี่น้องคนไทยในต่างประเทศ”นางกาญจนากล่าว

สำหรับในการเลือกตั้งในอนาคต กต. เตรียมหารือ กกต. ให้พิจารณาถึงวิธีเลือกตั้งโดยลงคะแนนแบบ i-Vote ซึ่งสอดคล้องกับการก้าวไปสู่การเป็น e-Government ของรัฐบาล โดย i-Vote สามารถใช้ระบบ blockchain เข้ามาช่วยในการบันทึกขั้นตอนการลงทะเบียนและการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง กอปรกับ i-Vote จะเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้คนไทยทั้งในและต่างประเทศสามารถลงทะเบียนและใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวางและสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยหวังว่า กกต. จะสามารถพัฒนา i-Vote ได้ทันสำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อนึ่ง ปัจจุบันมีหลายประเทศทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางหลายแห่งในกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชีย และยุโรปได้เริ่มใช้ i-Vote อย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net