Skip to main content
sharethis

โปรเทคชันอินเตอร์เนชั่นแนล (PI) ออกแถลงการณ์ให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ต้องร่วมมือกับประชาชนในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง ช่วยให้เกิดความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง - กกต. ชื่นชม 'กปน.' เสียสละทุ่มเท หัวใจของการเลือกตั้ง เผยเลือกตั้งครั้งนี้มีประชาชนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่มากกว่า 1 ล้านคน

13 พ.ค. 2566 โปรเทคชันอินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International - PI) ออกแถลงการณ์ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยระบุว่า Protection International (PI) เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ทำงานสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยและการคุ้มครอง เรามุ่งมั่นทำงานโดยยึดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิของประชาชนในการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน

นับแต่กองทัพได้ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารในปี 2557 สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เต็มไปด้วยการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการชุมนุมอย่างสงบและการแสดงออก การปราบปรามผู้เห็นต่าง การสลายการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย การส่งกลับผู้ลี้ภัยจากพม่าและประเทศอื่นๆ และการคุกคาม (ทางการเมือง ทหาร และกระบวนการยุติธรรม) ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น จากสถิติด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายเช่นนี้ หลายคนในประเทศไทยมองว่าการเลือกตั้งในปี 2566 เป็นโอกาสที่จะปลดแอกจากระบอบปกครองของทหารและระบอบเผด็จการ เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งมีการเคารพสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในวันที่ 14 พ.ค. 2566 PI ยืนยันถึงความสำคัญในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศไทย ซึ่งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและเสรีภาพด้านการแสดงออก รวมทั้งสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนและสนทนาสาธารณะ การทำงานด้านสื่อมวลชน การแสดงความเห็นในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สิทธิเหล่านี้ต้องได้รับการเคารพ ยกย่อง และคุ้มครอง  

โปรเทคชันอินเตอร์เนชั่นแนลย้ำว่าต้องมีการคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกทุกวัน และในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเดิมพันสูง สิทธิดังกล่าวมีความสำคัญเป็นพิเศษ และต้องได้รับการคุ้มครองในทุกสภาพการณ์ องค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งติดตามกระบวนการเลือกตั้ง ควรที่จะสามารถดำเนินงานของตนโดยไม่มีอุปสรรค มาตรฐานระหว่างประเทศให้ความสำคัญต่อบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชุมชนและองค์กรของพวกเขา ในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ เพื่อคุ้มครองหลักนิติธรรม และการดำเนินงานตามสิทธิมนุษยชน โดยจะต้องมีการเคารพและคุ้มครองบทบาทของพวกเขาในทุกสภาพการณ์

“ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ ต้องมีการรับฟังเสียงของประชาชนคนไทยผ่านการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมนี้และมติของประชาชนต้องได้รับการเคารพ ไม่ถูกกีดขวางหรือเบี่ยงเบน ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญไทยใหม่โดยประชาชนและเพื่อประชาชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันจัดทำขึ้นโดยกองทัพ ซึ่งได้ขยายอำนาจควบคุมของตนในหลายด้าน ส่งผลให้เกิดการจำกัดสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม” - ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนประเทศไทยของโปรเทคชันอินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว 

“เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โปรเทคชันอินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ประกันว่า ประชาชนคนไทยจะสามารถใช้สิทธิในการออกเสียงและเสรีภาพด้านการแสดงออกได้ เราเรียกร้องรัฐบาลไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนให้ประกันว่า จะมีการดำเนินงานตามกระบวนการต่าง ๆ ของการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส ปลอดภัย และเป็นธรรม” Mae Ocampo ผู้อำนวยการบริหารโปรเทคชันอินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

ในส่วนของการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 PI สนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 และ เรียกร้องรัฐบาลไทยและหน่วยงานต่าง ๆ ให้ 

· เคารพและคุ้มครองประชาธิปไตยที่แท้จริงและสิทธิของบุคคลทุกคนในประเทศไทยในช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรากระตุ้นให้รัฐบาลตระหนักถึงและส่งเสริมบทบาทที่สำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จะดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้งที่ปลอดภัย ยุติธรรม และเป็นธรรม 

· ใช้มาตรการที่รวดเร็วและมีผลในทางป้องกัน เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคม ที่เข้าร่วมติดตามผลการเลือกตั้ง ให้ปลอดจากการข่มขู่และการทำร้าย รวมทั้งในพื้นที่ดิจิทัล ควรมีการประกาศพันธกิจต่อ “จุดยืนที่ไม่ยอมรับความรุนแรงอย่างสิ้นเชิง” ที่จะเกิดขึ้นต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาชนทุกคนในประเทศไทย

· ต้องให้หลักประกันว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง

o ให้คำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมต่อบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า รวมทั้งการเสนอทางออกและหลักฐานอย่างละเอียดเพื่อคลี่คลายความกังวลของประชาชน สำคัญอย่างยิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องยอมรับว่าเกิดปัญหานี้ และใช้มาตรการอย่างโปร่งใสและเด็ดขาด การนับบัตรเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ควรเกิดขึ้นอย่างโปร่งใส และไม่มีความผิดปกติ เพื่อประกันให้เกิดกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นธรรม 

o  ประกาศล่วงหน้าให้ทราบถึงสถานที่ที่ใช้เพื่อนับบัตรเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าร่วมและสังเกตการณ์การนับคะแนนในทั้ง 400 เขตได้ กฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้มีการเปิดเผยรายงานการนับผลคะแนนที่เว็บไซต์ของสำนักงานจังหวัดของคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเวลาห้าวันหลังการเลือกตั้ง และ 

o  ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เปิดเผยเอกสารสำคัญอีก 2 ฉบับ เพิ่มเติมบนเว็บไซต์ของ กกต. จังหวัดไปพร้อมกัน ดังนี้
ฉบับแรก แบบรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (แบบ ส.ส.5/5) และ 
ฉบับที่สอง ประกาศรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งเมื่อเสร็จสิ้นการออกเสียงลงคะแนน (ส.ส.5/7)

· ให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)  จะต้องร่วมมือกับประชาชนในการสังเกตการณ์ กระบวนการเลือกตั้ง ทั้งนี้รวมถึงการบันทึกข้อมูลกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และการบันทึกผลการออกเสียงในแต่ละคูหา การมีส่วนร่วมเช่นนี้จะช่วยให้เกิดความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการเลือกตั้งที่สำคัญครั้งนี้ในประเทศไทย

PI หวังว่าภายหลังการเลือกตั้งเดือน พ.ค. 2566 รัฐบาลไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม และประชาชนคนไทยในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางสังคม และเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่อไป 

กกต. ชื่นชม 'กปน.' เสียสละทุ่มเท หัวใจของการเลือกตั้ง

สำนักงาน กกต. ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง กปน. หัวใจแห่งความสำเร็จในการเลือกตั้งของประชาชน โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ออกแบบให้การเลือกตั้งเป็นของประชาชนซึ่งพิจารณาได้จากทุกกระบวนการจัดการเลือกตั้งได้กำหนดให้ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสมัครรับเลือกตั้ง การกำหนดสถานที่หรือหน่วยเลือกตั้ง โดยผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (กกต.เขต) และผู้อำนวยการ การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ที่มีจำนวน 400 เขตเลือกตั้ง รวมไปถึงเจ้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้งหรือคณะกรรมการ ประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้ง จำนวน 94,775 หน่วยเลือกตั้ง จึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการ การเลือกตั้งเป็นเพียงผู้ออกระเบียบ ประกาศ และคำสั่งต่างๆ เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมาย สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งก็เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุน ให้บุคคลดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปกฎหมายได้ออกแบบ ให้มี กปน. หน่วยละ 9 คน ต่อจำนวน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 800 คน และจะเพิ่มหน่วยละ 1 คน ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้น 100 คน และหากหน่วยเลือกตั้งใดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,400 คน ขึ้นไป จะมี กปน. ได้ 2 ชุด คือ 18 คน ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงมีประชาชนที่ได้รับการแต่งตั้ง เป็น กปน. เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้งมากกว่า 1,000,000 คน

“กปน.” คือประชาชนที่มี “คุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” เป็นผู้มีจิตอาสาเข้ามาทำงานในวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ ตลอดกว่า 18 ชั่วโมง โดยไม่ได้หยุดพัก ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 – 22.00 น. เพื่อรับมอบบัตรเลือกตั้งและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดำเนินการจัดสถานที่เลือกตั้ง ตรวจสอบความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบและภายในที่เลือกตั้ง ตรวจสอบและนำคำสั่ง ประกาศต่างๆ ไปปิดป้ายประชาสัมพันธ์หน้าที่เลือกตั้ง รวมไปถึงการบริการและอำนวยความสะดวกในระหว่างการลงคะแนนเลือกตั้ง และเมื่อปิดการลงคะแนนแล้ว กปน. ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ในการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงการรายงานผลคะแนน นำส่งคืนหีบบัตรและวัสดุอุปกรณ์กลับมายัง กกต.เขต จึงถือว่าเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่

“กปน.” จึงถือเป็นหัวใจของการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับการปฏิบัติหน้าที่ของ กปน. อย่างถูกต้องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะ กปน. จะเป็นผู้ดูแลรักษาเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ได้ออกเสียงลงคะแนนไว้ ยังผลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอชื่นชมในการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญต่อประเทศชาติและมีเกียรตินี้ ทั้งในวันลงคะแนนเสียงล่วงหน้าที่ผ่านมาด้วยความเข็มแข็ง มุ่งมั่น เสียสละ ทุ่มเท อดทน ท่ามกลางการสังเกตการณ์จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอส่งกำลังใจไปให้ “กปน.” ทุกท่าน ในการปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุน ความร่วมมือจากทุกท่านในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีดังเช่นที่ผ่านมา ที่จะยังผลให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยสมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้การเลือกตั้งเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างแท้จริง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net