Skip to main content
sharethis

เผยนายทะเบียนพรรคการเมืองตีตก 4 คำร้องยุบ 'ก้าวไกล' ทั้งปราศรัยหาเสียงพาดพิงสถาบัน-ยกเลิก ม.112 ยอมให้ 'ธนาธร-พรรณิการ์' ครอบงำพรรค - ต้นปี 66 มีคำร้องยุบพรรคการเมืองรวม 83 เรื่องร้องเรียน 61 เรื่องไม่มีมูลจึงให้ยุติ  เหลือคำร้องยุบพรรคการเมืองพิจารณาอยู่ 5-6 คำร้อง

11 มิ.ย. 2566 หลายสื่อ อาทิ สำนักข่าวไทย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานตรงกันว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีความเห็นสั่งยุติเรื่องกรณีมีการยื่นร้องขอให้กกต.พิจารณาเสนอเรื่องความพร้อมเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลตามมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูล โดยทั้ง 4 คำร้องประกอบด้วย กรณีกล่าวหานายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1พรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรค ในขณะนั้นปราศรัยหาเสียงที่จ.พิษณุโลกเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 66 กล่าวร้ายโครงการพระราชดำริ พาดพิงสถาบันเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อ 17 ระเบียบกกต.ว่าด้วยการเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งส.ส. 2561 กรณีร้องว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอ้างการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ซึ่งมีเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย กรณีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึง จุดยืนของตนเองและจุดยืนของพรรคก้าวไกล เรื่องมาตรา 112 การระบุ #ยกเลิก 112 “112เป็นกฎหมายหรือเปล่า ถ้าเป็น..ต้องแก้ไขให้เหมาะสมกับยุคสมัยได้ ไปจนถึงต้องยกเลิกได้ ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าสังคมมีฉันทามติร่วมกัน หยุดลิดรอนเสรีภาพในการรณรงค์แสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย”

รวมถึงกรณีกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลยินยอมให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และน.ส.พรรณิการ์ วานิช เป็นผู้นำในการหาเสียงเลือกตั้ง และเป็นตัวแทนในการดิเบตกับพรรคการเมืองอื่นแทนพรรคก้าวไกล เป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคขาดอิสระ โดยสำนักงานฯได้มีการแจ้งผู้ร้องทราบแล้ว

ทั้งนี้การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นให้ยุติเรื่องเป็นการใช้อำนาจตามข้อ 7 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2564 ที่กำหนดว่าในกรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมความเห็นว่า ไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ให้ยกคำร้องหรือยุติเรื่องแล้วแต่กรณีและแจ้งให้ผู้ร้องทราบและรายงานให้กกต.ทราบ

อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีการรายงานข้อมูลว่าจากจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 66 มีคำร้องยุบพรรคการเมืองรวม 83 เรื่องร้องเรียน และมี 61 เรื่องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าไม่มีมูลจึงให้ยุติเรื่อง เหลือ 19 เรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการอยู่ และการดำเนินการจนถึงขณะนี้พบว่าเหลือคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานฯ 5- 6 คำร้อง

นักวิชาการชี้ กกต.ยก 4 คำร้องยุบก้าวไกล เป็นธรรม ยึด กม.

สำนักข่าวไทย รายงานว่ารองศาสตราจารย์ เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย อดีตที่ปรึกษาคณะ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่กกต.ยก 4 คำร้องยุบพรรคก้าวไกล ว่า ถือเป็นสัญญาณดีสำหรับพรรคก้าวไกลที่กำลังจะตั้งรัฐบาล เพราะหากทุกเรื่องที่ร้องพรรคก้าวไกล แล้ว กกต.รับไว้หมด ไม่ว่ามีประเด็นหรือไม่ ก็จะถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หรืออยากจะล้มพรรคก้าวไกล ซึ่งถือว่าไม่ดี ดังนั้นการปลดสิ่งที่รก คือเรื่องที่ร้องแล้วไม่มีมูล ไม่มีประเด็น กกต. ก็ต้องไม่รับ เพื่อความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามการที่ยกคำร้องดังกล่าวก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างที่ต้องการไปเลยเพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง

สำหรับกรณีที่ กกต.ไม่รับคำร้อง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลถือหุ้น ITV แต่รับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังฝืนนั้น อดีตที่ปรึกษา กรธ. กล่าวว่า ประเด็นนี้มีทั้งบวกและลบ เพราะในกรณีที่บอกว่า ขาดคุณสมบัติเลย อันนั้นไม่เอาเจตนา ไม่เอาเรื่องความประมาท หากถือหุ้นสื่อจริง ก็จะขาดคุณสมบัติเลย แต่ถ้ายึดตามมาตรา 151 จากระบุว่าผู้ใดรู้อยู่แล้ว ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติแล้วยังไปสมัครรับเลือกตั้งนั้น แม้ว่าจะโทษแรง แต่ภาวะการพิสูจน์มีมากกว่า ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า เพราะสุดท้ายต้องส่งไปศาลอาญา และเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะนำหลักฐานมาพิสูจน์

ส่วนหากดูจากเอกสารหลักฐานที่ปรากฏตามสื่อแล้วจะทำให้นายพิธารอดพ้นจากการขาดคุณสมบัติหรือไม่นั้น รองศาสตราจารย์ เจษฎ์ กล่าวว่าเท่าที่ดูโอกาสมี 50 ต่อ 50 เพราะ มีปรากฏตามสื่อยังไม่สามารถยืนยันเรื่องอะไรได้เลยว่าตกลงนายพิธาถือหุ้นในฐานะอะไร ในฐานะผู้จัดการมรดกหรือไม่ ในฐานะถือให้กับทายาทหรือถือให้กับตัวเองด้วย และการโอนหุ้น ที่บอกว่าโอนนั้นโอนอย่างเดียว หรือสละมรดก และท้ายสุดหากต้นทางยังถืออยู่ ปลายทางหมายถึง ITV สรุปแล้วยังเป็นสื่อหรือไม่ ยังประกอบการอยู่หรือไม่ ดังนั้นจึงยังสรุปอะไรไม่ได้ เพราะข้อมูลปฐมภูมิยังไม่ชัดเจน และขณะนี้ยังไม่ทราบว่า คำสั่งศาลให้นายพิธา จัดการมรดกในระดับไหน ระยะเวลาเท่าไหร่

เลขา ครป. วิเคราะห์คดีพิธาฝ่าด่าน กกต.-ส.ว. ได้เป็นนายกฯ ห่วงทุนใหญ่ไล่ฟ้องปิดปาก ระวังประชาชนทวงคืน

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนกล่าวว่าการที่ กกต.มีมติรับเรื่องคดีถือหุ้นสื่อของแคนดิเดตนายกฯ ไว้พิจารณาเอง ตาม ม.151 กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งแต่ยังฝืน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนต่อไปนั้น ผมเห็นว่า เป็นเรื่องปกติตามกฎหมาย เนื่องจากมีหลักฐานปรากฎต่อสาธารณะที่ต้องใช้อำนาจตีความ จะไม่พิจารณาเพื่อตัดสินไม่ได้ แต่สุดท้ายเมื่อไต่สวนข้อเท็จจริงและหลักฐานแล้ว เชื่อว่าจะชนะคดี เนื่องจากไม่ใช่หุ้นสื่อเพราะไม่ทำกิจการมา 17 ปี รวมถึงจำนวนหุ้นไม่เพียงพอที่จะมีอิทธิพลต่อบริษัท สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดี ส.ส.ถือหุ้นสื่อก่อนหน้านี้ และคำวินิจฉัยของศาลฎีกาคดีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ 

ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลคงจะดำเนินไปตามเงื่อนไขเวลาอย่างราบรื่น ขณะนี้ กกต.คุมกติกาการเลือกตั้ง แต่ประชาชนคุมการทำงาน กกต. เชื่อว่าไม่มีใครอยากติดคุกเพราะละเว้นหรือเลือกปฏิบัติตาม ม.157 และเชื่อว่าจะได้รับการโหวตผ่านจากสมาชิกวุฒิสภาไปได้ด้วยดี รวมถึงการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่่นที่อยู่ฝ่ายค้านเพื่อฝ่าด่านกับดักบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยคงไม่มีใครเสนอชื่อลงแข่งเพื่อให้ ส.ว.โหวตช่วย

ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร คงต้องวางมือทางการเมืองตามกติกาและคงไม่ได้คุมยุทธศาสตร์ชาติตามที่มีข่าวออกมา เพราะมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ระบุให้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง และพล.อ.ประยุทธ์ เอง อาจจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากการออก พรก.มิชอบ

ผมจึงเห็นว่า ตามโควต้าตอนนี้ ตำแหน่งนายกฯ จึงจะเป็นของพรรคก้าวไกล ส่วนประธานสภาจะเป็นของพรรคเพื่อไทย ซึ่งที่ผ่านมา 8 พรรคร่วมรอดูความชัดเจนเรื่องคดีหุ้นสื่อไอทีวีของพิธา เนื่องจากหวั่นว่าจะมี "ธง" ทางการเมืองตัดสิทธิ์พรรคก้าวไกล แต่จริงๆ ก็คิดกันไปเอง ว่ากันไปตามกติกาประชาธิปไตย ประเทศไทยก็ไปต่อได้เหมือนเดิม ส่วน ส.ว.บางคนที่ออกมาเคลื่อนไหว ก็คงเพียงการชงรับแนวทางเสียงข้างน้อยสืบทอดอำนาจที่มีโอกาสริบหรี่ จึงเกิดการปั่นกระแส การโฆษณาชวนเชื่อต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการแทรกแซงจากมหาอำนาจ แต่แท้จริงแล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่างหากที่มีโครงการความร่วมมือกับมหาอำนาจมากที่สุด อนุญาตให้มีการซ้อมรบร่วมกัน และเปิดให้ รอง ผอ. CIA เข้าพบเมื่อปีก่อน รวมถึงการตั้งกงศุลเฉียดหมื่นล้านท่ามกล่างข้อกังวลการติดตั้งยุทธภัณฑ์สอดแนม แต่ดันมากล่าวหาว่ารัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนพรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวทางการเมือง

การเมืองที่น่าสนใจในเวลานี้ คือกลุ่มทุนพลังงานรายใหญ่ ไล่ฟ้องผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดการผูกขาดระบบไฟฟ้าและปัญหาค่าไฟแพง ซึ่งไม่ควรฟ้องปิดปากประชาชนและนักวิชาการเหล่านั้นเพราะเป็นประโยชน์สาธารณะ และทุนใหญ่ทั้งหลายควรออกมาช่วยเหลือประเทศที่เหลื่อมล้ำ เพราะได้ส่วนเกินไปจากสังคม จากนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้รวยขึ้นจากสุญญากาศหรือความสามารถส่วนตัว ดังนั้น ขอเตือน กลุ่มทุนที่กำลังผูกขาดต้องหยุดเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน หาไม่แล้ว ระวังจะถูกยึดทรัพย์และไม่มีแผ่นดินอยู่ ถ้าไปดูแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net