Skip to main content
sharethis
  • คณะศิลปศาสตร์ มธ. จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ "The Ruling Game" เขียนโดย 'ดุลยภาค' ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียอุษาคเนย์ ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านสายตาของชนชั้นนำ 4 กลุ่ม ได้แก่ กษัตริย์ ทหาร นักธุรกิจ และนักการเมือง
  • ด้านนักวิชาการที่มาร่วมเสวนา มองหนังสือ The Ruling Game ในฐานะตำราที่ดี ใช้หลักฐานครอบคลุม อ่านทำความเข้าใจง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจ หรือเริ่มต้นศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ส่วนใหญ่เห็นตรงกัน หนังสือสามารถต่อยอดการศึกษาชนชั้นนำทางการเมืองอื่นๆ เพื่อให้เนื้อหาครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น ศิลปิน ข้าราชการ หรือนักศึกษา ที่มีบทบาททางการเมือง 


เมื่อ 6 พ.ค. 2566 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ “The Ruling Game” เขียนโดย ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และรองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. พิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์มติชน ณ ประชุมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์  โดยมีผู้ร่วมเสวนาหลายคน อาทิ ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และประธานเอเชียศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. นภดล ชาติประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มธ. และ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เขียนหนังสือ

(ซ้าย-ขวา) ภูริ ฟูวงศ์เจริญ นภดล ชาติประเสริฐ ดุลยภาค ปรีชารัชช และอรอนงค์ ทิพย์พิมล

ดุลยภาค กล่าวถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ว่า ส่วนตัวได้แรงบันดาลใจมาจากการประพันธ์งานเขียนประวัติศาสต์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชื่อดัง อาทิ ดี. อี. จี. ฮอลล์ นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ หรือมิลตัน ออสบอร์น นักประวัติศาสตร์จากออสเตรเลีย ผู้เขียนหนังสือชื่อ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สังเขปประวัติศาสตร์” ซึ่งเป็นหนังสือประพันธ์เดี่ยวความหนาฉบับพ็อกเกตบุ๊ก พกพาสะดวก พูดถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเชิงประวัติศาสตร์ และชนชั้นนำตั้งแต่ยุคโบราณ จนถึงขบวนการเรียกร้องเอกราช 

ดุลยภาค ระบุต่อว่า ตนจึงเริ่มเขียนงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาโดยแฝงเน้นแนวคิดรัฐศาสตร์ มองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านชนชั้นนำ และโครงสร้างอำนาจ ประกอบกับบริบทการเมืองในปัจจุบันอุษาคเนย์ก็มีความเปลี่ยนแปลง ชนชั้นนำแปรรูปเปลี่ยนร่างจากเผด็จการที่แข็งกระด้างใช้อำนาจเข้าปราบกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ แต่มาวันนี้การเมืองเอเชียตะวันเฉียงใต้มีความเป็นเผด็จการผู้ช่ำชอง (Sophisticated Authoritarianism) สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเอเชียอุษาคเนย์ไม่ได้มีประชาธิปไตยระดับสูง หรือเผด็จการเต็มรูปแบบ เป็นเผด็จการผสมประชาธิปไตย มีเลือกตั้ง และการที่มวลชนจะกระฉับกระเฉงเปลี่ยนสูตรเข้าสู่ประชาธิปไตยได้ต้องเข้าใจกลยุทธ์ของชนชั้นนำมีความช่ำชอง เข้าใจการใช้อำนาจอย่างแนบเนียน เขาคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งจำเป็นและนำมาสู่การรังสรรค์ผลงาน หวังว่าจะให้เป็นผลงานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาให้ใกล้เคียงงานของมิลตัน ออสบอร์น 

ดุลยภาค มองว่างานของเขามีความแตกต่างหรือเหนือกว่างานวิชาการก่อนหน้านี้ คือการใช้ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เข้าไปสอดรับในงาน ซึ่งทำให้ทุกคนเห็นองค์ความรู้และพัฒนาการระบอบสังคมการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น 

(ซ้าย) มิลตัน ออสบอร์น นักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลีย (ที่มา: เว็บไซต์ The Sydney Institute)

(ขวา) หนังสือ "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สังเขปประวัติศาสตร์" (ที่มา: bookbun)

ระบอบการปกครองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดเด่นที่การเป็นการเมืองแบ่งชนชั้น 

ดุลยภาค กล่าวถึงคอนเทนต์ในหนังสือ โดยเริ่มที่บทที่ 1 เป็นการพูดถึงทฤษฎีหรือคอนเซ็ปต์พื้นฐานในการนิยามชนชั้นนำทางการเมืองของนักรัฐศาสตร์แต่ละคน และบทที่ 2 จะขยับเข้ามาสู่บริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น หรือชนชั้นนำในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

"สิ่งที่ผมอยากจะพิสูจน์ก็คือว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัย แบ่งชนชั้นเสมอ แบ่งเป็นชนชั้นปกครอง กับชนชั้นผู้ถูกปกครอง ตามทฤษฎีของนักรัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ในบทที่ 1 มันสามารถพิสูจน์โดยหลักฐานเชิงประจักษ์ในเซาท์อีสต์เอเชีย (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)" ดุลยภาค กล่าว

(ซ้าย) ดุลยภาค ปรีชารัชช

นอกจากนี้ ดุลยภาค เสริมต่อว่า แม้แต่กระทั่งในสังคมชนชาติพันธุ์บนที่สูงของอุษาคเนย์ ก็มีการแบ่งการปกครองเป็นลำดับขั้น เมืองเอก เมืองโท หรือเมืองบริวาร สังคมที่สูงของชนเผ่าชิน ในเมียนมา หรือในมณฑลยูนนาน ก็แบ่งชนชั้นประมาณนี้ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีงานศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของ ลิช เอ็ดมุนด์ (Leach Edmund) ศึกษาในเขตภูเขาคะฉิ่น ทำให้เห็นว่าในเขตดังกล่าวมีการเมืองที่ทั้งเป็นเผด็จการรวมศูนย์ และหน่วยการเมืองแนวระนาบที่ทุกคนเท่ากัน ไม่มีใครเป็นหัวหน้าเผ่าอย่างเด่นชัด แต่ดุลยภาค เสริมว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณหน่วยการเมืองอื่นๆ ในพื้นที่อุษาคเนย์ ลักษณะเด่นของการปกครองยังเป็นการแบ่งชนชั้นทางสังคม แม้แต่การปกครองแบบจักพรรดิราช หรือการปกครองแบบรัฐแสงเทียน ถือเป็นการ 'Classification' หรือการจัดจำแนกประเภทเหมือนกัน 

นอกจากการพูดถึงระบอบการปกครองแบบรัฐแสงเทียน (Mandala) แล้ว ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเมียนมาอย่างดุลยภาค ระบุต่อว่า บทที่ 2 ยังมีการพูดถึงปกครองในยุคสมัยอาณานิคม และหลังอาณานิคม

ไฮไลท์ของงาน คือการพูดถึงชนชั้นนำทางการเมืองในอุษาคเนย์

ดุลยภาค ระบุต่อว่า ไฮไลท์ของหนังสือเล่มนี้คือการพูดถึงชนชั้นนำทางการเมืองในอุษาคเนย์ โดยยกมา 4 กลุ่ม ได้แก่ กษัตริย์ ทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจ 

อย่างไรก็ตาม ดุลยภาค ยอมรับว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีชนชั้นนำอื่นๆ อย่างนักบวชทางศาสนา หรือพระสงฆ์ เพราะในหลายประเทศ กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีบทบาทในกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแม้แต่นักแสดง หรือดารา ก็สามารถกระโจนเข้าสู่วงการการเมืองได้ แต่ที่เลือกมาเพียง 4 กลุ่ม เพื่อให้ปริมาณการนำเสนอในหนังสือมีเนื้อหาเหมาะสม และไม่มากจนเกินไปเมื่อเทียบกับบทอื่นๆ และมองว่าทั้ง 4 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีพลังขับเคลื่อนสำคัญเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศต่างๆ ของเอเชียอุษาคเนย์ 

ทั้งนี้ ในเมียนมา กลุ่มพระสงฆ์ ศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท ถือว่ามีบทบาททางการเมืองเมียนมา ตั้งแต่สมัยยุคจารีต แต่เหตุการณ์ที่สำคัญที่ทำให้เห็นบทบาททางการเมืองของพระสงฆ์เมียนมา เด่นชัดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คือเหตุการณ์การประท้วงผ้าเหลือง (Saffron Revolution เมื่อปี พ.ศ. 2550) หรือการมีส่วนร่วมในการปลุกระดมสร้างความเกลียดชังต่อชาติพันธุ์ชาวโรฮีนจา รัฐยะไข่ หรือในฟิลิปปินส์ เราได้เห็นบทบาทของ โจเซฟ เอสตราดา ที่เคยเป็นนักแสดง ก่อนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในภายหลัง

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเมียนมา ระบุต่อว่า บทที่เขาภูมิใจมากที่สุด คือบทที่ 4 เนื่องจากต้องใช้ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์เข้ามาวิเคราะห์ โดยเฉพาะ ลาร์รี ไดมอนด์ (Larry Jay Daimond) ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์จากสหรัฐฯ งานของไดมอนด์ แบ่งระบอบการเมืองในโลกเป็นหลายกลุ่ม ประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือเผด็จการประชาธิปไตยที่ทั้งโน้มเอียงมาทางเผด็จการ และโน้มเอียงไปทางประชาธิปไตย 5-6 ชนิด โดยดุลยภาค ได้นำเรื่องราวของชนชั้นนำในอุษาคเนย์ 11 ประเทศ สวมใส่เข้าไปการจัดแบ่งประเภทการปกครองตามแนวคิดของลาร์รี ไดมอนด์ ยกตัวอย่าง การอธิบายสิงคโปร์ เป็นเผด็จการการเลือกตั้งแบบครอบงำ เผด็จการแบบเมียนมา และอื่นๆ 

รวมถึงมีการอธิบายบางกรณีที่มีความพิเศษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกตัวอย่างกรณีที่พรรคคอมมิวนิสต์ลาว สร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าฟ้างุ้ม (กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง) ที่พิเศษเพราะว่าไม่มีรัฐมาร์กซิสที่ไหนจะสร้างวีรกษัตริย์ขึ้นมาเชิดชู แต่ทำไมชนชั้นนำลาว ถึงคิดแบบนั้น 

ท้ายสุด ดุลยภาค เน้นย้ำว่า หนังสือเล่มนี้จะฉายให้เห็นภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมุมมองของชนชั้นนำทางการเมือง และอำนาจ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ และทฤษฎีสอดรับในทุกบท ครบ 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

อนึ่ง 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และติมอร์เลสเต 

จุดเด่นการใช้แนวคิดและข้อมูลประวัติศาสตร์ในหนังสือ

ด้านอรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ และประธานเอเชียศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มองเช่นกันว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับใช้ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสิ่งที่ค่อนข้างชอบคือเรื่องกรอบแนวคิด และประวัติศาสตร์ที่เอามาใช้ โดยเฉพาะบทที่ 2 เนื่องจากใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์ค่อนข้างเยอะ 

อรอนงค์ เสนอว่าอยากเห็นเพิ่มเติมคือช่วงประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยสงครามเย็น เนื่องจากช่วงสมัยยุคจารีต อาณานิคม และช่วงต่อสู้เพื่อเอกราช จะเห็นภาพค่อนข้างชัดในหนังสือ ซึ่งเธอมองด้วยว่ายุคสงครามเย็นมีความสำคัญต่อพัฒนาการของภูมิภาคนี้เช่นกัน

มองคุณค่าเชิงการศึกษา ต่อยอดการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. แบ่งประเด็นอภิปรายหนังสือ “The Ruling Game” ออกเป็น 3 ประเด็น คือเป้าหมาย ความน่าสนใจ และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในหนังสือ หรือนำไปต่อยอด

ภูริ มองว่า หนังสือเล่มนี้ในฐานะตำราเรียน ถือเป็นตำราเรียนที่ดี ทำเนื้อหาออกมาอย่างครอบคลุม กวาดองค์ความรู้ในปัจจุบันมาทำให้เข้าใจง่าย เหมาะกับนักศึกษา คนทั่วไป หรือใครก็ตามที่อยากจะศึกษาลงลึก สามารถตามอ่านในบรรณานุกรม หรือเชิงอรรถได้ ถ้าในอนาคตใครอยากจะทำวิจัยเรื่องนี้ ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง อยากแนะนำเริ่มจากหนังสือเล่มนี้ได้

(ซ้ายสุด) ภูริ ฟูวงศ์เจริญ

ภูริ มองต่อว่า การเขียนหนังสือเล่มนี้ของดุลยภาค ถือว่ามีความท้าท้าย เพราะประเทศในอุษาคเนย์ มีด้วยกัน 11 ประเทศ ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และภาษา เมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปศึกษา สมมติ ถ้าเรารู้ภาษาฝรั่งเศส หรือละตินอเมริกา ก็สามารถทำงานศึกษาได้ในหลายประเทศ ซึ่งแตกต่างจากอุษาคเนย์ ทำให้ภูริ มองว่าการเขียนหนังสือ การศึกษา การใช้องค์ความรู้ และหลักฐานไม่ง่าย และต้องใช้ความอุตสาหะในการทำงาน

เสนอศึกษาชนชั้นนำอื่นๆ ในเอเชียอุษาคเนย์

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. มองว่า เขาชอบบทที่ 2 มากที่สุด ทำได้ดีมากในเชิงทฤษฎี และข้อมูล แต่อาจจะมีข้อท้วงติงเรื่องการเขียนสังคมยุคจารีตในประเทศต่างๆ ในอุษาคเนย์ 

สำหรับบทที่ 3 ว่าด้วย “กลุ่มก้อนชนชั้นนำในการเมือง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. มองว่าอาจจะเป็นบทที่ต้องเพิ่มเติมมากที่สุด เนื่องจากอาจจะมีชนชั้นนำทางการเมืองอื่นๆ ที่ควรระบุในหนังสือเพิ่ม เช่น ข้าราชการพลเรือน นักคิดนักเขียน (Intellectual) หรือดารานักแสดง ยกตัวอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ เคยมี โจเซฟ เอสตราดา (Joseph "Erap" Ejercito Estrada) ดารานักแสดงที่กลายมาเป็นประธานาธิบดี ทำให้ตอนอ่านคิดว่ามีชนชั้นนำอีกหลายกลุ่มก้อนที่ไม่ถูกระบุในหนังสือ และมีข้อคำถามว่าอะไรคือเกณฑ์ในการเลือก 

นอกจากนี้ ภูริ เสนอว่าอาจจะสามารถขยายการศึกษาได้หรือไม่ อาทิ บทบาทของกองทัพ ซึ่งในหนังสือพูดถึงบทบาทของกองทัพในอินโดนีเซีย ไทย และเมียนมา ซึ่งเขาเข้าใจได้ว่าทำไม ดุลยภาค ถึงเลือก 3 ประเทศนี้ แต่ส่วนตัวคิดว่ากองทัพในประเทศอื่นๆ น่าจะมีความสำคัญเหมือนกัน แต่ตรงนี้มันหายไป หรือบางประเทศอย่างสิงคโปร์ หนังสือเล่มนี้เจาะจงบทบาทนักการเมืองไปที่ลี กวนยู คนเดียว แต่มองว่ายังมีนักการเมืองอีกหลายคนที่มีอิทธิพลต่อสิงคโปร์ อย่างเช่น เอส.ราชารัตนัม ที่ร่วมก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ขึ้นมา 

ด้านอรอนงค์ กล่าวว่า เธอชอบการนิยามชนชั้นนำของดุลยภาค ที่ทำให้มองเห็นว่า ชนชั้นนำมีการผสมผสานบทบาท และเส้นแบ่งที่แพร่เลือน เวลานิยามชนชั้นนำ เขาอาจจะไม่ได้เป็นแค่หน่วยการเมืองเดียว บางคนเป็นทั้งทหาร และนักธุรกิจ ในเวลาเดียวกัน ซึ่งในการเมืองของอินโดนีเซีย ก็มีคนอย่าง “ปราโบโว ซูเบียนโต” ที่เป็นทั้งทหาร และนักการเมือง  

อย่างไรก็ตาม อรอนงค์ กล่าวสอดคล้องกับภูริ ว่า บทที่ 3 สามารถเสริมเรื่องชนชั้นนำอื่นๆ ได้อีก เช่น ผู้นำศาสนา โดยยกตัวอย่างในฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ผู้นำทางศาสนามีบทบาททางการเมือง หรือในเมียนมา พระในพุทธศาสนาเถรวาทก็มีบทบาทในเชิงการเมืองและสังคม 

นอกจากนี้ อรอนงค์ ตั้งคำถามด้วยว่าอย่างปัญญาชน หรือนักศึกษา นี่นับเป็นชนชั้นนำทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากในบางประเทศ เธอมองว่ากลุ่มนักศึกษาก็มีบทบาทนำทางการเมือง 

ท้ายสุด อรอนงค์ มองว่า หนังสือ The Ruling Game เป็นหนังสือที่ดีมากๆ ในการทำความเข้าใจประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โดยเฉพาะคนที่สนใจด้านอาณาบริเวณศึกษา  หรือเป็นผู้อ่านทั่วๆ ไป

หนังสือ The Ruling Game ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่ ภูริ ย้ำว่า ข้อวิจารณ์ที่กล่าวไปข้างต้นไม่ได้ทำให้คุณค่าเชิงวิชาการ และในฐานะตำราของหนังสือ “The Ruling Game” ลดน้อยถอยลงไปเลย พร้อมเชิญชวนให้คนที่ต้องการศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลองอ่านหนังสือของดุลยภาค เพื่อนำไปต่อยอดทำการวิจัยในอนาคตอีกด้วย

"หนังสือเล่มนี้ไปต่อ ต่อยอดได้  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมย้ำอีกทีนี่ไม่ได้ทำให้คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ที่ผมย้ำไปในตอนแรกลดลง …มันเป็นความพยายามที่น่าชื่นชม" คณบดีคณะรัฐศาสตร์ กล่าวย้ำ และเชื่อว่าในช่วงเวลาที่การเลือกตั้ง’66 การอ่านหนังสือเล่มนี้จะทำให้เห็นภาพมากขึ้น และอาจทำให้ผู้อ่านกลับมาคิด ต่อสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนไป หรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ นอกจากอรอนงค์ และภูริ มาร่วมอภิปรายแล้ว นภดล ชาติประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาร่วมอภิปรายประวัติศาสตร์การเมือง และชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องมีการปรับตัวตั้งแต่สมัยยุคจารีต การเข้ามาของอินเดีย และจีน จนถึงยุคจักรวรรดินิยม ผ่านปัจจัยและบริบทการเมืองจากภายนอกตลอดเวลา 

นภดล กล่าวทิ้งท้าย ชื่นชมการเขียนหนังสือของดุลยภาค ที่มีการใช้คำอย่างชาญฉลาด และมีประสิทธิภาพ ทำให้หนังสือน่าอ่าน มีข้อวิจารณ์ถึงปริมาณข้อมูลของแต่ละประเทศ 11 ประเทศ อาจจะไม่เท่ากัน โดยเฉพาะของติมอร์ เลสเต อาจจะน้อยเกินไป เนื่องจากติมอร์ฯ เป็นตัวอย่างของประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า มีภาคประชาสังคมที่แข็งแกร่ง มีการเลือกตั้งที่ฟรีและแฟร์ ก็น่านำมาพูดมากขึ้น แต่ภาพรวมของหนังสือยังคงน่าสนใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net