Skip to main content
sharethis

จากที่รัฐบาลเมียนมา ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.) ยุติการจ่ายไฟไปยัง ‘ชเว่ก๊กโก่’  เมืองอาชญากรรมทุนจีนเทาติดชายแดนไทย อ.แม่สอด จ.ตาก เนื่องจากเป็นความพยายามปราบแก๊งสแกมเมอร์ออนไลน์ ชวนรู้จัก ‘ซอ ติน วิน’ ทหารคนสำคัญของกองกำลัง BGF ที่ซื้อไฟฟ้าจากไทย ผู้มีสัมพันธ์กับธุรกิจจีนเทา

เปิดหลักฐานไทยขายไฟให้พม่า

จากกรณี เมื่อ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ขอให้หยุดจ่ายไฟเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่ารวมถึงบริเวณ ‘ชเวก๊กโก่’ เมืองอาชญากรรมทุนจีนเทา แหล่งรวมบ่อนคาสิโน-แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากทางการพม่าตัดสินใจไม่ต่อสัญญาสิทธิสัมปทานซื้อ-ขายไฟฟ้านั้น 

ข้อมูลจากข่าวประชาสัมพันธ์ กฟภ. ระบุ สัมปทานสัญญาดังกล่าว เป็นลงนามระหว่างบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กับ Shwe Myint Thaung Yinn Industry & Manufacturing Company Limited  (บริษัท SMTY จำกัด) 

จากการสืบค้นพบว่า ในปี 2561 มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟภ. และ SMTY 2 ครั้ง คือในเดือนมกราคมและกรกฎาคม

โดยจุดที่ทำสัญญาซื้อขายเมื่อเดือนมกราคม 2561 ได้แก่

1. จุดซื้อขายบ้านห้วยม่วง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก-เมืองเมียวดี จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 8 เมกะวัตต์ และ

2. จุดซื้อขายบ้านท่าวังผา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก-บ้านก๊กโก่ จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 2 เมกะวัตต์

โดยบริเวณบ้านก๊กโก่ จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เป็นที่ตั้งของโครงการชเวก๊กโก่ ซึ่งลงทุนโดยกลุ่มทุนจีน YATAI International Holding Group (YATAI IHG)

จากข้อมูลสำคัญ กฟภ. เดือนมีนาคม 2559-มีนาคม 2562 จุดส่งไฟจากบ้านท่าวังผา อ.แม่ระมาด จ.ตาก ไปยังบ้านก๊กโก่ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง มีปริมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดตามสัญญา 2,000 กิโลวัตต์ แต่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2562 เป็นต้นมา มีปริมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดตามสัญญาเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 กิโลวัตต์

ส่วนจุดที่ทำสัญญาซื้อขายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 คือ บริเวณตรงข้ามบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง อ.แม่สอด จ.ตาก ไปยังบ้านเลเกก่อ จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งผ่านที่ตั้งของโครงการ KK Park ที่กลายเป็นเมืองใหม่ของกลุ่มอาชญากรรมไซเบอร์

การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 2 ครั้งเป็นการร่วมลงนามระหว่าง พูลสิริ ธรรมสโรช รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และซอติ่นวิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท SMTY

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวติดต่อ กฟภ. แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

ภาพการลงนามซื้อขายไฟฟ้าจำหน่ายไฟฟ้า เมื่อ 12 ม.ค. 2561

(ซ้าย) พูลสิริ ธรรมสโรช รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

(ขวา) พันตรี ซอติ่นวิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท SMTY

ภาพจากเฟซบุ๊ก กฟภ.

ภาพการลงนามซื้อขายไฟฟ้าจำหน่ายไฟฟ้า เมื่อ 11 ก.ค. 2561

ภาพจากเฟซบุ๊ก กฟภ.

พบภาพการลงนามซื้อไฟฟ้าเมื่อ ม.ค. 2561 ที่เว็บไซต์ของบริษัท SMTY ด้วย

คนซื้อไฟฟ้าคือใคร ?

เจ้าของบริษัท SMTY จำกัด ที่เป็นคู่สัญญาสัมปานกับ กฟภ. คือ พันตรีซอ ติน วิน (Saw Tin Win) และภรรยา

เขามีตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองพัน BGF 1014 กองร้อย 2 อ้างอิงจากสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย ภาษาพม่า เมื่อปี 2564

ซอ ติน วิน และ ภรรยา

พบคลิปวิดีโอเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเมียวดี โพสต์ขอบคุณ พันตรี ซอ ติน วิน และครอบครัวที่เป็นเจ้าภาพทำบุญเลี้ยงอาหารประชาชนในพิธีตักบาตรปีใหม่

 

มีภาพ นาน มิน มิน วิน ภรรยาของเขา เดินทางไปเยี่ยมบุคลากรทางการแพทย์

และภาพประชาชนโพสต์ขอบคุณที่เขาและภรรยา บริจาค ช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19

นอกจากนี้ พันตรีซอ ติน วิน ยังมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของสมาคมผู้ผลิตแร่ดิบเพื่ออุตสาหกรรมเมียนมา (Myanmar Industrial Raw Mineral Producers Association) โดยทำงานร่วมกับ ซอว์ มิน มิน อู (Saw Min Min Oo) ซึ่งเป็นคีย์แมนด้านธุรกิจของบีจีเอฟ 

สำหรับ ชเว่ก๊กโก่ เป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนหรือบีจีเอฟ ซึ่งเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เป็นพันธมิตรของกองทัพพม่า โดยมีพันเอกซอ ชิต ตู่ เป็นผู้บัญชาการ

โดยในปี 2537 ซอ ชิต ตู่ เป็นผู้นำทหารกะเหรี่ยงพุทธแยกตัวออกจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ออกมาตั้งกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA)

โดยตัวเขาเป็นผู้บัญชาการ DKBA กองพัน 999 มีฐานที่มั่นอยู่ที่บ้านก๊กโก่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านวังผา ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก

ต่อมาในปี 2552 กองกำลัง DKBA กลุ่มซอ ชิด ตู่ แปรสภาพมาเข้าร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ชายแดนบีจีเอฟตามความต้องการของรัฐบาลทหารพม่า

เคยถูกกองทัพพม่าบีบให้ลาออก อ้างเอี่ยวจีนเทา

เมื่อต้นปี 2564 สื่ออิรวดี ภาคภาษาอังกฤษ รายงานถึงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังบีจีเอฟ อันเนื่องมาจากความเกี่ยวข้องของทหารบีจีเอฟในโครงการเมืองใหม่ชเวก๊กโก่ เมืองอิทธิพลทุนจีนเทาริมฝั่งแม่น้ำเมยติดชายแดนไทย

มีรายงานด้วยว่า พันตรี ซอ ติน วิน อยู่ในกลุ่มผู้นำบีจีเอฟที่ถูกกองทัพพม่ากดดันให้ลาออก รวมทั้งพันเอก ซอ ชิต ตู่ เลขาธิการบีจีเอฟ และพันตรี ซอ มอ โธ ผู้นำระดับสูงอันดับ 2 ของบีจีเอฟ

การลาออกของผู้นำระดับสูงส่งผลให้มีทหารบีจีเอฟในรัฐกะเหรี่ยงทั้ง 13 กองพันแห่ลาออกตาม เพื่อเป็นการประท้วงกองทัพพม่า

อิรวดีรายงานด้วยว่า เมื่อปี 2562 กองทัพพม่าก็เคยบอกให้ พ.อ.ซอ ชิต ตู่ ลาออกจากกองกำลังบีจีเอฟ ถ้าหากว่าเขาต้องการทำธุรกิจ

พ.อ.ซอ ชิต ตู่ เลขาธิการบีจีเอฟ

ภาพแคปจากวิดีโอประชาสัมพันธ์โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชเว่ก๊กโก่

สายสัมพันธ์จีนเทาชายแดน กับจีนกรุงเทพฯ 

สื่ออิระวดี ภาษาอังกฤษ ระบุว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา กองกำลังบีจีเอฟดำรงอยู่ได้ด้วยการประกอบธุรกิจหลายประเภท อาทิ อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง การพนัน คาสิโน และการคุ้มครองธุรกิจสถานบันเทิงที่มีซ่องโสเภณี สถานคาราโอเกะ อาบอบนวด และบริเวณที่มีการขายยาเสพติด ในพื้นที่ภายใต้การควบคุมในรัฐกะเหรี่ยง

สำหรับโครงการชเวก๊กโก่ หรือที่เรียกว่า “ไชน่าทาวน์” เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ชิต ลิน เมียง (Chit Lin Myaing Co.) ที่ดำเนินการโดยบีจีเอฟ และบริษัท หย่าไถ้ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทของ “เฉอ เจ้อเจียง” (She Zhijiang) ชาวจีนที่ถือสัญชาติและหนังสือเดินทางกัมพูชา 

เมื่อปี 2565 เฉอ เจ้อเจียง เคยถูกทางการไทยจับกุมตามหมายจับของประเทศจีน และหมายแดงของตำรวจสากล ในข้อหาเปิดบ่อนพนันออนไลน์อย่างผิดกฎหมาย

(2 คนจากซ้ายสุด) หม่าตงลี่ และ พ.อ.ซอ ชิต ตู่ 

คนที่ 5 จากขวา เฉอ เจ้อเจียง 

ภาพแคปจากวิดีโอประชาสัมพันธ์โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชเว่ก๊กโก่

(แถวหลังสูทแดง) ซอ ชิตตู่ (ชุดเขียวข้างๆ) หม่าตงลี่

ภาพแคปจากวิดีโอประชาสัมพันธ์โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชเว่ก๊กโก่

เมื่อเดือน ก.พ. 2566 รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเปิดโปงเครือข่ายทุนพม่าและทุนจีนเทาที่คนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนเกี่ยวพัน รวมทั้งที่มีพฤติกรรมแอบอ้างความใกล้ชิดราชวงศ์ไทยเพื่อหาประโยชน์

รังสิมันต์ กล่าวถึง “Yatai New City” ระบุว่าโครงการดังกล่าวมีหน้าฉากโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นสมาร์ทซิตี้บนเนื้อที่กว่า 7 หมื่นไร่ เป็นศูนย์รวมธุรกิจ อุตสาหกรรมและความบันเทิง ในขณะที่ เฉอ เจ้อเจียง ประธานบริษัทฯ ก็สร้างภาพตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่มีรายงานข่าวว่าสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมแก๊งพนันออนไลน์ แก๊งคอลเซนเตอร์หลอกลวงต้มตุ๋น

รังสิมันต์ชี้ปัญหาอีกว่า บริษัทหย่าไถ้และเฉอ เจ้อเจียง พยายามรุกคืบเข้ามาตั้งโครงการในแม่สอดและกรุงเทพฯ ด้วยเส้นสายที่มีกับพรรคการเมืองทำให้ได้เข้ามาให้ข้อมูลในที่ประชุมกรรมาธิการ Entertainment Complex เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565

ภาพแคปรูปบันทึกประชุม

สอดคล้องกับบันทึกการประชุมฯ ที่ระบุว่าในวันดังกล่าว หม่าตงหลี่ และจงเป่าจา ผู้บริหารกลุ่มทุนหย่าไถ้เข้ามาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร และกาสิโนถูกกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ผ่านการประชุมออนไลน์

หม่าตงหลี่ ผู้บริหารหย่าไถ้ กรุ๊ป เข้าพบ เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการ จ.ตาก และ เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครแม่สอด ณ ขณะนั้น เพื่อยื่นความประสงค์ขอซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ . เมื่อ 26 เม.ย. 2562

ภาพจาก เว็บไซต์ศูนย์เศรษฐกิจและการลงทุนภาคที่ 7 (พิษณุโลก)

(2 คนตรงกลาง) พิชาญ กว้างชูชัย ประธานกรรมการบริหารสายการบินวิสดอมแอร์เวย์ และ หม่าตงลี่ ณ ท่าอากาศนานาชาติแม่สอด

ภาพแคปจากวิดีโอประชาสัมพันธ์โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชเว่ก๊กโก่

แม้ว่าสุดท้ายแล้วเมื่อเดือน ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา เฉอ เจ้อเจียงถูกจับกุมแล้วในไทยตามหมายแดงของประเทศจีน แต่บริษัทหย่าไถ้และคนที่รายล้อมรอบตัวเขาที่ลอยนวลอยู่มีอีกมากและอาจไปทำเรื่องร้ายแรงต่อสังคมไทยได้อีก เช่น “หยูซินฉี” ประธานสมาคมแห่งหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “มณฑลส่านซีสมาคมแห่งประเทศไทย”

รังสิมันต์ระบุว่า หยูซินฉี มอบตำแหน่งให้เฉอ เจ้อเจียงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของสมาคมแห่งนี้เมื่อเดือน ส.ค. 2563 และทั้งสองคนเคยพบปะกันที่สำนักงานของ Yatai ในกรุงเทพฯ โดยตัวหยูซินฉีได้แสดงออกถึงการสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อโครงการชเว่ก๊กโก

สำหรับสมาคม “มณฑลส่านซีสมาคมแห่งประเทศไทย” มีพิธีเปิดตัวขึ้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2560 ระบุการให้บริการ เช่น แนะนำการลงทุนและซื้ออสังหาริมทรัพย์, ช่วยคนจีนจดทะเบียนบริษัทในไทย, ติดต่อนัดพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล, ช่วยเหลือเรื่องการขอวีซ่า เป็นต้น แต่เมื่อไปค้นฐานข้อมูลสมาคมในประเทศไทย ไม่ปรากฏว่าเคยมีสมาคมชื่อนี้จดทะเบียนจัดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย

รังสิมันต์เปิดเผยด้วยว่าหยูซินฉีเขียนบทความลงโซเชียลมีเดียของสมาคมฯ อ้างว่าตนได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาด้านกิจการจีนของเชื้อพระวงศ์ไทยและนายพลราชองครักษ์

แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง เชื้อพระวงศ์ที่ว่าก็คือระดับหม่อมราชวงศ์ ซึ่งในไทยถือเป็นสามัญชนเท่านั้น ส่วนกับนายพลก็เพียงแค่จ้างมาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวเท่านั้น

พ.อ.ซอ ชิต ตู่ เลขาธิการบีจีเอฟ (ซ้าย) จับมือ เฉอ เจ้อเจียง นักธุรกิจทุนจีนสีเทา (ขวา)

ภาพแคปจากวิดีโอประชาสัมพันธ์โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชเว่ก๊กโก่ 

การพบกันที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ของ เฉอ เจ้อเจียง นักธุรกิจทุนจีน  (ซ้าย) 

หยู ซิน ฉี (ขวา) นายทุนจีนที่ถูก รังสิมันต์ โรม สส. พรรคก้าวไกล อภิปรายเปิดโปง เรื่องแอบอ้างเบื้องสูง

ภาพจาก Wechat

พม่าเร่งปราบสแกมเมอร์ อาจเพราะจีนกดดัน

สื่อเมียนมาตั้งข้อสังเกตถึงการที่เมียนมาขอให้ไทยหยุดจ่ายไฟป้อนเมืองอาชญากรรมทุนจีนเทา ว่าเป็นการบ่งชี้ถึงบทบาทของจีน และความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างเมียนมาและจีน

คำร้องขอยุติการจ่ายไฟของทางการเมียนมาเกิดขึ้นหลัง เฉินไฮ่ เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา ประชุมกับ พลโท โซทุต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเมียนมา เมื่อ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉินไฮ่ กระตุ้นให้พลโทโซทุต ยกระดับการปราบปรามอาชญากรรมข้ามแดน การหลอกลวงทางออนไลน์ และการพนันในพื้นที่ชายแดน

การหารือของ เฉินไฮ่ เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา กับพลโท โซทุต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเมียนมา เมื่อ 31 พ.ค. 2566

และเมื่อย้อนไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค. สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานเนื้อหาจากเว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศเมียนมา เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่า ในช่วงที่ ฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเยือนพม่า ได้มีการขอให้พม่าเร่งปราบปรามอาชญากรรมหลอกลวงทางไซเบอร์ โดยชี้ให้เห็นว่า เหล่าออนไลน์สแกมเมอร์ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ชายแดนเป็นระยะเวลานานได้ทำการหลอกลวงคนจีน ทำให้คนจีนไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก

 

ภาพข่าวประชาสัมพันธ์จากเว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศเมียนมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net