Skip to main content
sharethis

ประชาไทชวนย้อนรำลึกเหตุการณ์สงครามทุ่งบางเขน และอนุสรณ์สถานรำลึก 17 ทหารตำรวจผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวที่ไม่ได้มีแค่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หลักสี่ แต่ยังมีสะพานคอนกรีตอีก 7 แห่ง นี่นำเอาชื่อทหาร-ตำรวจผู้เสียชีวิต มาตั้งเป็นชื่ออีกด้วย 

สำหรับเหตุการณ์กบฏบวรเดช เป็นการลุกฮือขึ้นมาของทหารหัวเมืองต่างๆ เพื่อต่อต้านระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร และไม่พอใจต่อการกลับมาจากการลี้ภัยของปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎร สายพลเรือน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ จากกรณี "สมุดปกเหลือง" 

เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อประมาณวันที่ 11 ต.ค. 2476 จนถึง 24 ต.ค. 2476 หรือ 1 ปี หลังคณะราษฎรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยทหารหัวเมืองมาจากหลายที่ แต่ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ และพิษณุโลก และบางส่วนจากเพชรบุรี พยายามเข้ามายึดกรุงเทพฯ เพื่อพยายามยื่นคำขาดให้รัฐบาลนำโดยพระยาพหลฯ ปีกทหารคณะราษฎร ลาออก และทำตามเงื่อนไขของคณะกู้บ้านกู้เมือง จำนวน 6 ข้อ โดยคณะกู้บ้านกู้เมือง เป็นชื่อเรียกของทหารหัวเมืองกลุ่มนี้ นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช 

สุดท้ายแล้ว รัฐบาลไม่ยอม และนำไปสู่สงครามกลางเมืองบริเวณหลักสี่ บางเขน ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.เป็นต้นมา สุดท้าย ฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร สามารถเอาชนะ และพระองค์เจ้าบวรเดช ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไปทางอินโดจีน เมื่อ 25 ต.ค. 2476 เป็นอันปิดฉากสงคราม 

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 25 ราย โดยเป็นฝ่ายกบฏบวรเดช จำนวน 8 ราย และฝ่ายรัฐบาล จำนวน 17 ราย ซึ่งภายหลังคณะราษฎร ได้ยกสถานะของ 17 ทหาร และตำรวจ ในฐานะวีรชนผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญของชาติ มีการจัดพิธีสวดศพที่ วัดราชาธิวาสวิหาร โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ มีการจัดพิธีมิสซามีการจัดงานเผาศพที่สนามหลวง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานเผาศพสามัญชนที่สนามหลวงอีกด้วย 

นอกจากนี้ มีการเก็บอัฐิบรรจุ 17 คน ทำเป็นลูกกระสุนปืนใหญ่ และเก็บรักษาไว้ในกระทรวงกลาโหม ขณะเดียวกัน ผู้มีส่วนร่วมกับการปราบกบฏ รัฐบาลยังมีการสร้างเหรียญที่ระลึกพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แจกให้ประชาชนที่เข้าร่วมเหตุการณ์ดังกล่าว 

กระทั่งปี 2477 หลังรัฐบาลมีการตัดถนนจากสนามเป้าไปที่ดอนเมือง คณะราษฎรได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ บริเวณหลักสี่ โดยความสำคัญของอนุสาวรีย์แห่งนี้ นอกจากรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นที่เก็บอัฐิของวีรชนผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คน และทำพิธีเปิด 15 ต.ค. 2479 โดยคนที่บทบาทสำคัญในงานนี้ คือ หลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการในการปราบกบฏบวรเดช 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คณะราษฎรได้ถือเอาวันที่ 14 ต.ค. เป็นวันจัดงานรำลึกการปราบกบฏบวรเดช เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2479 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในงานจะมีพิธีวางพวงมาลา เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การรบครั้งนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า อนุสรณ์ทหารตำรวจที่เสียชีวิตในคราวปราบกบฏบวรเดชไม่ได้มีแค่อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หลักสี่เท่านั้น แต่ชื่อผู้เสียชีวิตได้ถูกตั้งเป็นชื่อสะพานคอนกรีตสำคัญ 7 แห่งบนถนนพหลโยธิน (ชื่อเดิมถนนประชาธิปัตย์) และถนนแจ้งวัฒนะ ได้แก่

1. สะพานประดิษฐสกลการ (รำลึกนายร้อยตำรวจเอกขุนประดิษฐ์สกลการ) ข้ามคลองถนน บริเวณถนนแจ้งวัฒนะใกล้กับ มรภ.พระนคร

https://goo.gl/maps/Fp292T23Bah7Bg6A7

2. สะพานทองจรรยา (รำลึกนายร้อยโท น่วม ทองจรรยา) ข้ามคลองบางบัว ที่กม.16 ถนนพหลโยธิน ใกล้กับกรมทหารราบ11

https://goo.gl/maps/VCUzqhGTPwRzGsX1A

3. สะพานศุกรนาคเสนี (รำลึกนายร้อยเอก ขุนศุกรนาคเสนีย์) หรือ "สะพานใหม่" ข้ามคลองสอง  ที่กม.21 ถนนพหลโยธิน ใกล้ตลาดยิ่งเจริญ

https://maps.app.goo.gl/F8tTNW9bXiWNjPmz8

4. สะพานแก้วนิมิตต์ (รำลึกนายดาบ ละมัย แก้วนิมิต) ข้ามคลองรังสิต ที่กม.31 ถนนพหลโยธิน ใกล้กับตลาดรังสิต

https://goo.gl/maps/EpiTetFADywAzPLN8

5. สะพานบัวชม (รำลึกนายดาบ สมบุญ บัวชม) ข้ามคลองหนองน้ำสม (คลองหก) ที่กม.67ถนนพหลโยธิน ใกล้กับทางต่างระดับวังน้อย

https://maps.app.goo.gl/X5qCdnDd568G63jJ9

6. สะพานแก่นอบเชย (รำลึกนายร้อยตำรวจตรี ทอง แก่นอบเชย) ข้ามคลองรพีพัฒน์ ที่กม.85ถนนพหลโยธินสายเก่า ใกล้วัดสหมิตรมงคล อำเภอหนองแค สระบุรี

https://maps.app.goo.gl/4Y697PTGnmVHYx7A9

7. สะพานอำนวยสงคราม รำลึกนายพันโทหลวงอำนวยสงคราม ผู้เสียชีวิตในสมรภูมิบางเขน และเป็นเพื่อนคนสำคัญของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตั้งอยู่ตรงข้ามแม่น้ำป่าสัก ที่ กม.108 ถนนพหลโยธิน บริเวณเทศบาลเมืองสระบุรี

https://goo.gl/maps/vwkq34sShyn6dw5w5
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net