Skip to main content
sharethis

'ภูมิธรรม' เตรียมส่งหนังสือถาม กกต. 3 ข้อ สัปดาห์หน้า ทำประชามติแก้ รธน. พ่วงเลือกตั้ง นายก อบจ.ได้หรือไม่ เล็งรับฟังความเห็นผ่านสภาฯ หากมีข้อโต้แย้ง พร้อมส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ คาดเสร็จก่อนปีใหม่

26 พ.ย. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำรัฐธรรมนูญ ขณะนี้เหลือเพียงการรับฟังความเห็นจาก สส. และ สว. ซึ่งได้ทำแบบสอบถามไปแล้ว เพื่อรอนำไปหารือร่วมกันเมื่อเปิดประชุมสภาฯ และคิดว่าไม่เกินกลางเดือนธันวาคม น่าจะรับฟังมาได้หมด หลังจากนั้นจะนำไปสรุปร่วมกันว่าส่วนใหญ่ประชาชนคิดอย่างไร เห็นต่างอย่างไร โดยให้บันทึกไว้ทั้งหมดว่ามีมุมใดบ้าง จากนั้นส่ง ครม.พิจารณา

ส่วนกรณีเรื่องการศึกษาทำประชามติ นายภูมิธรรม ยอมรับว่า ยังมีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องของการทำประชามติ ว่าจะทำ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ ที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจน เพราะหากส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วตีความ ว่าเราไม่สามารถทำได้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายจะตกไป ความคิดเห็นที่ทำมาก็จะตกไป ดังนั้นในสัปดาห์หน้า จะลงนามหนังสือ เพื่อสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหญ่ 3 ข้อ ว่า 1.การตีความของ กกต. จะมีการทำประชามติกี่ครั้ง 2.เพื่อประหยัดงบประมาณ จะสามารถจัดทำประชามติ ไปพร้อมกับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น เช่น นายก อบจ.ทั่วประเทศ ที่จะมีขึ้นในปีหน้าได้หรือไม่ และ 3.โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น หากจะใช้โซเชียลมีเดียมาร่วมลงทะเบียนได้หรือไม่ หากทำได้จะสะดวกมากขึ้น อาจทำให้การใช้จ่ายในการเลือกตั้งลดน้อยลงไปมาก


นอกจากนี้ นายภูมิธรรม ย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีปัญหาเรื่องการตีความ ว่าใครมีอำนาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จึงมีการเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นศาลรัฐธรรมนูญในการตีความเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจของคณะกรรมการฯ จึงเสนอให้พรรคการเมืองที่อยู่ในที่ประชุม ไปปรึกษาหารือ เพื่อให้มีการเสนอผ่านสภาฯ และ ให้สภาฯ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยให้ไปหาข้อสรุปกันในสภาฯ หากมีข้อขัดแย้งสภา ก็จะเป็นผู้เสนอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความ

นายภูมิธรรม ยังกำชับให้อนุกรรมการการศึกษาฯ ได้ศึกษาควบคู่ขนานกันไปเลยว่า หากจำเป็นต้องมาแก้ มาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้มี สสร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะจากการรับฟังความเห็นถ้าเอา สสร. เลือกตั้งบางกลุ่มวิชาชีพไม่มีโอกาส จึงน่าจะมี สสร. ที่มาจากการสุ่มหาจากวิชาชีพต่างๆ ที่ไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป จึงมอบให้อนุกรรมการศึกษาฯ ไปดูว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง

เดินหน้าคู่ขนานศึกษาการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เชื่อได้ข้อเสนอการทำประชามติต่อ ครม. ภายในสิ้นปี

ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานว่านายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึง ความคืบหน้าจากการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเป็นการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่เป็นครั้งที่ 2 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ทั้ง 2 คณะ โดยคณะกรรมการได้รับทราบผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ และได้มีมติร่วมกันที่จะดำเนินการต่อใน 2 เรื่อง ได้แก่

1. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ดำเนินการจัดทำข้อเสนอ ในการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พุทธศักราช 2564 เพื่อให้การทำประชามติเป็นเครื่องมือในการสอบถามความเห็นประชาชนที่ใช้งานได้จริง มีประสิทธิภาพและเป็นสากล รวมถึงพิจารณากำหนดประเด็นที่จะต้องแก้ไขในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. มอบหมายให้ประธานนำส่งประเด็นข้อสอบถามเกี่ยวกับดำเนินการทำประชามติ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ เพราะข้อคิดเห็นจากเลขาธิการ กกต. ที่ได้หารือร่วมกันก่อนหน้านี้ อาจไม่สามารถพิจารณาเป็นความเห็นที่เป็นข้อยุติได้

นายชนินทร์กล่าวว่า ในส่วนการรายงานความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ได้พบความเห็นแตกต่างในหลากหลายประเด็นและได้บันทึกประเด็นทั้งหมดไว้ก่อน เนื่องด้วยคณะอนุกรรมการฯ ยังต้องรวบรวมความคิดเห็นเพิ่มเติมจากการลงพื้นที่อีก 2 ภาค คือการรับฟังกลุ่มความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ภาคเหนือ และกลุ่มมุสลิมที่ภาคใต้ ตลอดจนรอความเห็นจากการทำแบบสอบถามจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 ท่านภายหลังการเปิดสมัยประชุมสภา เพื่อนำมาจัดทำข้อสรุปที่ครบถ้วน ในการรายงานที่ประชุมคณะกรรมการในการประชุมครั้งถัดไป

“กระบวนการเพื่อหาข้อสรุปในการทำประชามติของรัฐบาล มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แม้จะประสบความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่ทุกฝ่ายก็ตั้งใจจะแสวงหาจุดร่วมที่ลงตัว เพื่อให้กระบวนการเดินต่อไปได้ ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปี 2566 คณะกรรมการจะสามารถจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้สมบูรณ์ และได้เริ่มเดินหน้าการทำประชามติเพื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพี่น้องประชาชนที่แท้จริงได้แน่นอน” นายชนินทร์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net