Skip to main content
sharethis

'ศิริกัญญา' แถลงจัดทัพอภิปรายงบฯ รายจ่าย ปี’67 ธีม "วิกฤตแบบใด ทำไมจัดงบแบบนี้" มองการจัดงานงบฯ ไม่ตอบโจทย์วิกฤต ที่ไม่ควรมีกลับมี ที่ควรมีกลับหายไป แจงปัจจัย รบ. จัดงบฯ ไม่เป็นดั่งใจ ระยะเวลาที่สั้นเกินไป ข้าราชการประจำ และการประนีประนอมกับ รมต.จากพรรคร่วม ลั่นอภิปรายรอบนี้ไม่ทำให้ผิดหวัง

 

30 ธ.ค. 2566 ยูทูบ The Reporters ถ่ายทอดสดเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายขื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เนื่องในวันที่ 3-5 มกราคม 2567 นี้ ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 โดยได้ตั้งเป็นธีมว่า "วิกฤตแบบใด ทำไมจัดงบแบบนี้" 

ศิริกัญญา กล่าวว่า ที่ใช้ธีมนี้เนื่องจากเมื่อพรรคเพื่อไทย ได้เป็นรัฐบาลได้อ้างถึง 3 วิกฤตหลัก ได้แก่ วิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตเศรษฐกิจปากท้อง วิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตความขัดแย้ง และยังมีวิกฤตอื่นๆ ที่สังคมเห็นตรงกันว่าเป็นวิกฤตแล้ว เช่น วิกฤตการศึกษาทรัพยากรมนุษย์ วิกฤตสิ่งแวดล้อม PM 2.5 แต่พอลงไปดูงบฯ แล้ว เรากลับไม่เห็นการจัดงบฯ ที่สะท้อนว่าเราอยู่ท่ามกลางวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นงบฯ ที่ควรจะต้องเอามาใช้ตอบโจทย์ ตรงนี้ไม่มี งบฯ ที่ไม่เหมาะไม่ควร เราก็ยังเห็นว่ามีอยู่ และยังมีหลายงบฯ ที่หายไปทั้งที่ควรจะมี 

ศิริกัญญา ยกตัวอย่างวิกฤตเศรษฐกิจที่เราต้องการจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เราไม่เห็นโครงการที่เป็นแนวทางที่จะนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ งบฯ โครงการดิจิทัลวอลเลตก็ไม่เห็นในงบประมาณรายจ่ายปี'67 หมายความว่าต้องไปรอลุ้นเอาตอนที่ พ.ร.บ. งบประมาณเงินกู้ออกเพียงอย่างเดียว วิกฤตรัฐธรรมนูญ มีการทำงบฯ ประชามติไม่เพียงพอในการจัดประชามติแม้แต่ครั้งเดียว 

ศิริกัญญา ระบุต่อว่า ที่น่าผิดหวังไปมากกว่านั้น แม้ว่าจะต้องเห็นใจรัฐบาลเศรษฐาที่ต้องรับมรดกหนี้คงคลังจากรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เกือบ 4 แสนล้านบาทก็ตาม แต่ส่วนที่เหลือที่จะจัดสรรงบประมาณได้เอง เรากลับไม่เห็นการพยายามที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา นโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้เลย

สส.พรรคก้าวไกล ระบุด้วยว่า ในปี 2567 นี้มีโครงการใหม่ที่เริ่มต้นในปีหน้ากี่โครงการ เราก็ไปนับมามีจำนวน 200 โครงการจากที่แถลงไว้ 2,000 โครงการ และใช้งบประมาณเพียง 1.3 หมื่นล้านบาท 

"อันนี้เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเช่นเดียวกันว่า นอกจากว่างบประมาณฉบับนี้จะสะท้อนว่ามันเป็นการต้องมาใช้หนี้ใช้มรดกของพลเอก ประยุทธ์ แล้ว และไม่ได้สะท้อนความพยายามการจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของตัวเองด้วยซ้ำไป และงบประมาณแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยเดิมเลย" สส.พรรคก้าวไกล กล่าว

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เหตุที่งบฯ ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยเดิม เธอตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็น คือ ระยะเวลาที่สั้นเกินไป ที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถใส่โครงการอะไรใหม่เข้ามาได้ แต่ต้องยอมรับว่างบประมาณฉบับนี้มีการแก้ไขปรับปรุงตลอดเวลา ดังนั้น มันมีระยะเวลาที่เราสามารถทำแบบนั้นได้ เพราะว่ามีการเตรียมการก่อนล่วงหน้า และพอถึงเวลาที่จะต้องจัดสรรงบฯ ก็สามารถใส่ไปไว้ได้เลย งบฯ ที่เหลือมันไม่ได้เป็นไปตามที่ตั้งใจ มันสามารถปรับปรุงได้ ซึ่งงบฯ นี้มีการปรับปรุง 1 ครั้งหลังจากที่จัดทำไปแล้ว แต่ผลของการปรับปรุงคือต้องไปลดเงินชำระหนี้ ธกส. 2 หมื่นล้านบาท และเอาไปเพิ่มในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 1.5 หมื่นล้านบาท และก็เพิ่มกองทุน SME อีก 5 พันล้านบาท ดังนั้น จะบอกว่าไม่มีเวลา เวลาน้อย ปรับงบฯ ไม่ทัน ฟังดูไม่ค่อยขึ้นเท่าไร

ประเด็นต่อมา ความสามารถในการจัดการกับข้าราชการ เวลาอาจไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคืออาจจะไม่คุ้นชินกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่อาจจะคุ้นชินกับการบริหารบริษัทเอกชน ทำให้ยังไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนตัวข้าราชการให้ทำตามที่สั่ง หรือว่าทำตามที่มอบหมายไว้ให้ได้

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า เรื่องการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล ทำให้มีการประนีประนอมกับหลายๆ ฝ่าย รวมถึงพรรคพวกรัฐบาล อาจทำให้โครงการเรือธง เช่น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือแจก แท็บเล็ต ทำให้เมื่อมันไปอยู่กับรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็เลยไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนได้ ซึ่งเป็นข้อสรุปจากการที่วิเคราะห์งบประมาณมาได้เวลาประมาณ 4 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่หวั่นได้เวลาน้อย ‘ก้าวไกล’ เตรียมจัดหนักอภิปรายงบฯ ปี’67 ธีม 'วิกฤตแบบใด จัดงบฯ แบบนี้'

งบฯ กลาโหมเพิ่ม 2% - งบมหาดไทย ลดลงในรอบ 6-7 ปี 

ศิริกัญญา ตอบคำถามสื่อในประเด็นที่มีการตรวจสอบแล้ว มีงบประมาณกระทรวงที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่นั้น ศิริกัญญา กล่าวว่า ที่น่าผิดหวังคืองบฯ กลาโหม เพราะไม่มีการตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมตามที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะตัดงบฯ 10% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคืองบฯ เพิ่ม 2 % แต่มีตัวอื่นๆ พอที่จะหาเหตุผลได้ เช่น กระทรวงมหาดไทยได้งบฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดงบฯ ของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งต้องขึ้น-ลงตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น พอประมาณการรายได้เพิ่ม ตัวรายได้ที่ต้องจัดสรรให้ท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้นตาม แต่พอดูสัดส่วนแล้วกลายเป็นว่า สัดส่วนลดลงในรอบ 6-7 ปีด้วยซ้ำไป อันนี้น่าผิดหวัง 

“เราคาดหวังมากเนื่องจากในรอบ 9 ปี ที่เราได้เปลี่ยนผู้นำรัฐบาล และเราคาดหวังว่างบประมาณขะถูกจัดสรรแบบใหม่ๆ บ้าง เพื่อที่จะทำให้เราสามารถที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ นโยบายที่รัฐบาลได้สัญญากับประชาชน แต่แล้วจนแล้วจนรอด ปีที่ 10 เราก็ยังคงเจองบประมาณแบบเดิมๆ อยู่เช่นเดิม” ศิริกัญญา กล่าว

มองนโยบายเรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาจไม่ถึงฝัน มัดมือชกให้ กมธ.งบประมาณ โอนงบฯ ที่ตัดไปไว้งบฯ กลาง

สำหรับเรื่องน่าห่วงของงบฯ ปี’67 ศิริกัญญา กล่าวว่า ห่วงจะไม่ได้ทำสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเลต เพราะต้นปีหน้าน่าจะเห็นความชัดเจนว่าจะทำได้หรือไม่ได้ แต่ว่าการเอา ‘ไข่ไปไว้ในตะกร้าเดียว’ ฝากความหวังกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดอยู่ที่นโยบายดิจิทัลวอลเลต และเอาออกไปอยู่นอกงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบนี้ ซึ่งถ้าทำไม่ได้ งบประมาณที่เหลืออยู่ที่รัฐบาลสามารถที่จะจัดสรรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มีอยู่แค่ในงบประมาณกลางเท่านั้น แต่ในงบฯ กลาง เราพบว่ามีการจัดสรรไว้อย่างไม่เพียงพออยู่แล้ว และยังมีอีกหลายรายการที่ตั้งงบฯ ไว้ไม่เพียงพอ และต้องมาใช้งบฯ กลาง เช่น งบอุดหนุนรถยนต์ EV จำนวน 3 พันล้านบาท ถ้าไม่พอ ก็จะไปใช้งบกลาง และมีอีกหลายโครงการที่เป็นแบบนี้ เงินที่จะเหลือไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจจะน้อยลงๆ และจะไปมัดมือกรรมาธิการงบประมาณหลังจากตัดงบประมาณแล้วให้โอนไปสู่งบประมาณกลางทั้งหมดแบบนี้ มันก็กลายเป็นว่า กมธ.งบประมาณทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องมารับผิดชอบจากการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณผิดพลาด และช่วยกันผันงบประมาณที่จะประคองให้รัฐบาลสามารถทำงานต่อไปได้ แบบนี้มันควรวางแผนไว้ล่วงหน้าได้ดีมากกว่านี้

ลั่นอภิปรายปีนี้ไม่ทำให้ผิดหวัง

ต่อประเด็นสื่อมวลชนถามว่าได้คุยกับพรรคประชาธิปัตย์หรือยัง สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่าจะมีการตกลงเรื่องเวลา เดี๋ยวรอให้ประชาธิปัตย์ทำการบ้านให้เรียบร้อย ก็จะมีการหารือกันเพื่อจัดคิวในการอภิปราย โดยจะพยายามกรุ๊ปเรื่องเดียวกันให้อยู่ใกล้ๆ กันมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีจะได้รับฟังทีเดียว และตอบรวดเดียว แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้พยายามที่จะอำนวยความสะดวกให้ทางรัฐบาลมาขนาดนั้น แต่รับรองว่า ฝ่ายผู้อภิปรายจากก้าวไกล 33 คน ไม่มีใครอภิปรายซ้ำกันเลย และก็แต่ละคนเป็นเชิงประเด็น ไม่ได้เป็นแค่กระทรวงเดียว ดังนั้น เรื่องหนึ่งอาจจะต้องมีรัฐมนตรีหลายๆ คน ร่วมรับฟัง ไม่ใช่ฟังเฉพาะเรื่องของกระทรวงตัวเองอย่างเดียว เพราะนี่คือการอภิปรายวาระ 1 ในชั้นหลักการ จึงไม่ใช่เป็นการอภิปรายที่เป็นรายกระทรวงอย่างในวาระที่ 2 

ต่อประเด็นคำถามสื่อ มีอุปสรรคหรือเรื่องประเด็นใดบ้างในการอภิปราย ศิริกัญญา ระบุว่า ต้องทำงานหนักขึ้นสำหรับปีนี้ เนื่องจากมีเวลาศึกษาแค่ 7 วันเท่านั้นเอง ที่ซ้ำร้ายเองตรงกับช่วงวันหยุดปีใหม่ ทำให้ปกติ สส.จะมีนัดหมายเพื่อพบปะประชาชนในพื้นที่ หรือการอยู่ร่วมฉลองงานปีใหม่กับชุมชน จำเป็นยกเลิกนัดหมายงานเหล่านั้นไป  นี่เป็นความฉุกละหุกที่เกิดขึ้นที่ทำให้เรามีเวลาน้อย และทำงานหนักขึ้น แต่โชคดีที่ทางภาคประชาสังคม ‘WeVis’ และ ‘ก้าว Geek’ ได้ทำแปลง (คอนเวิร์ต - convert) เอกสารงบประมาณไฟล์ PDF ทั้งหมดให้กลายเป็น Excel ซึ่งทำให้เราสามารถวิเคราะห์งบประมาณได้ง่ายขึ้น ละเอียดขึ้น ลึกขึ้น และยืนยันว่า 7 วันนี้จะไม่ทำให้ผิดหวังในเรื่องการวิเคราะห์งบประมาณอย่างตรงไปตรงมา มีประสิทธิภาพ และแหลมคมขึ้น  

ต้องหารือพรรคร่วมฝ่ายค้าน-เร็วไปที่จะตอบ วางตัวจัดคิวอภิปรายเรื่องใดบ้าง

สำหรับการวางตัวผู้อภิปรายนั้น สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่าจะเน้นการอภิปรายรายวิกฤต ไม่ได้เป็นรายกระทรวง โดยอาจจะเปิดด้วยภาพรวมของงบประมาณ จากนั้นเริ่มที่วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้คนได้ทราบว่ารัฐบาลที่เก่งในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจจะทำให้ประเทศนี้เศรษฐกิจนี้โตได้อย่างไร ผ่านงบประมาณปี’67 วิกฤตความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้ วิกฤตการศึกษาและทรัพยากรด้านบุคคล Soft power อยู่ที่ไหน แต่ต้องดูประกอบกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ยังเร็วไปที่จะบอกว่าจะพูดเรื่องอะไรก่อนหลัง 

ทางรัฐบาลเสนอมาว่าอย่าใช้เป็นเวทีซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ศิริกัญญา ระบุว่า ถ้าได้ชมการอภิปรายงบฯ ของพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เวทีซักฟอกอย่างแน่นอน ซึ่งการแถลงงบฯ เป็นการแถลงนโยบายในระยะสั้นหรือ 1 ปี ดังนั้น เราจะเจาะจงเรื่องการบริหารนโยบาย และการบริหารราชการแผ่นดินล้วนๆ ว่า 1 ปี จะเจอกับอะไรบ้าง ส่วนการซักฟอก เป็นโครงการที่ตั้งไว้ว่าจะทำ แต่สุ่มเสี่ยงจะเกิดคอร์รัปชันได้ แบบนี้เราอาจจะมีพูดบ้าง แต่ไม่ใช่เป็นหลักใหญ่ใจความ

"อยากให้รัฐบาลเอาใจใส่ ใส่ใจในรายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี อย่าเพียงแค่อนุมัติๆ ไป เวลาที่ทางราชการส่งขึ้นมา หลายๆ เรื่องมันก็มีความสำคัญจำเป็นกับประชาชน หลายๆ เรื่องถ้าเราตัดสินใจอะไรพลาดไปผลกระทบจะเกิดขึ้นตามมา ที่เราเห็นรัฐบาลอาจจะให้ความไว้วางใจกับข้าราชการประจำมากไปสักนิด เลยทำให้จัดงบประมาณแปลกๆ หรือจัดสรรงบประมาณตามใจ ข้าราชการมากกว่าขับเคลื่อนนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน อันนี้น่าจะต้องเป็นเรื่องเกิดการเรียนรู้กันต่อไป ในการที่จะประสานความสำคัญระหว่างข้าราชการประจำ กับข้าราชการการเมือง ฝากไว้เป็นบทเรียน แล้วเดี๋ยวเราค่อยไปปรับปรุงในชั้น กมธ. จะมีงบฯ จำนวนหนึ่งที่ กมธ. ร่วมกันตัดขึ้นมาได้ และก็สามารถที่จะจัดสรรใหม่ไปเพิ่มให้กับหน่วยงานหรือโครงการต่างๆ ที่มีความเหมาะสมจำเป็น" ศิริกัญญา กล่าว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net