Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชนแสดงความชื่นชม หลังจากที่สภาเยอรมันเพิ่งจะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการผ่านร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพฉบับใหม่ ซึ่งจะมาแทนฉบับเดิมที่มีเกณฑ์เงื่อนไขในเชิงเลือกปฏิบัติและล่วงละเมิดคนข้ามเพศ โดยฉบับใหม่จะเน้นการกำหนดเพศตนเองได้โดยไม่ต้องให้แพทย์รับรอง ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่สมาคมแพทย์และจิตวิทยาระดับโลกสนับสนุน

 

18 เม.ย. 2567 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา รัฐสภาเยอรมันผ่านกฎหมายรับรองเพศสภาพ ที่จะอนุญาตให้บุคคลข้ามเพศและนอนไบนารี สามารถเปลี่ยนแปลงเพศที่ระบุในเอกสารทางกฎหมายต่างๆ ให้เป็นไปตามเพศสภาพของตนเองได้ โดยอาศัยกระบวนการแบบ ให้บุคคลเป็นผู้กำหนดอัตลักษณ์ตามเจตจำนงตัวเอง (self-identification)

 

คนข้ามเพศ หมายถึง คนที่มีเพศสภาพหรือสำนึกทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด เช่น ชายข้ามเพศ คือคนที่ถูกแปะป้ายให้มีเพศกำเนิดหญิงหรือเพศอื่นๆ แล้วมีสำนึกทางเพศเป็นชายและทำการข้ามเพศเป็นชาย หญิงข้ามเพศคือคนที่ถูกแปะป้ายให้เป็นเพศกำเนิดชายหรืออื่นๆ แล้วมีสำนึกทางเพศเป็นหญิงและข้ามเพศเป็นหญิง ส่วน นอนไบนารี คือ บุคคลที่มีสำนึกทางเพศนอกเหนือไปจากชายและหญิง หรือ อยู่ระหว่างชายและหญิง

 

ในการโหวตล่าสุดนี้มีการผ่านร่างด้วยคะแนนเสียง 374-251 เสียง โดยที่ตัวร่างกฎหมายได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคนำโดยนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ กับพรรคสังคมนิยมฝ่ายซ้ายของเยอรมัน

 

กฎหมายรับรองเพศสภาพใหม่ของเยอรมัน จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2567 เป็นต้นไป และจะมาแทนที่กฎหมายเดิมที่ล้าสมัยไปแล้วซึ่งเคยออกมาในปี 2523 ชื่อกฎหมาย "บุคคลแปลงเพศ" ที่มีเงื่อนไขให้คนข้ามเพศจะต้องใช้ "รายงานจากผู้เชี่ยวชาญ" 2 คนเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขา "มีความเป็นไปได้สูง" ที่จะไม่ย้อนกลับไปสู่ระบุตัวตนทางกฎหมายด้วยเพศสภาพเดิม ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีเคยสั่งให้ปรับปรุงกฎหมายฉบับเดิมโดยให้ตัดในมุมที่เข้มงวดออกเช่นตัดเรื่องเกณฑ์เงื่อนไขที่ต้องให้มีการผ่าตัดแปลงเพศก่อนถึงจะมีการรับรองเพศสภาพได้ออกไป

 

คริสเตียน กอนซาเลส คาเบรรา นักวิจัยอาวุโสด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า เยอรมนีกลายเป็นอีกหนึ่งในหลายประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ทำการยกเลิกเกณฑ์เงื่อนไขการขอรับรองเพศในแบบที่มองเพศสภาพของคนข้ามเพศหรือนอนไบนารีเป็นเสมือนความเจ็บป่วย ซึ่งเกณฑ์เงื่อนไขแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายและเป็นประชาธิปไตย

 

"ในช่วงที่นักการเมืองสายประชานิยมในยุโรปและในที่อื่นๆ พยายามจะเอาประเด็นสิทธิคนข้ามเพศมาเป็นเครื่องมือแบ่งขั้วทางการเมือง กฎหมายใหม่ของเยอรมนีได้ส่งสัญญาณอย่างหนักแน่นว่าคนข้ามเพศมีตัวตนอยู่และควรจะได้รับการรับรองตัวตน และได้รับการคุ้มครองโดยปราศจากการกีดกันเลือกปฏิบัติ" คาเบรรากล่าว

 

ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ คนข้ามเพศและนอนไบนารี จะสามารถไปที่สำนักงานทะเบียนราษฎรเพื่อเปลี่ยนการระบุเพศของตนเองและเปลี่ยนชื่อใหม่ได้เพียงแค่แจ้งความจำนงโดยไม่ต้องมีความคิดเห็นจาก "ผู้เชี่ยวชาญ" หรือใบรับรองแพทย์ใดๆ ทั้งนั้น ผู้แจ้งสามารถขอเปลี่ยนการระบุเพศตนเองให้เป็น ชาย, หญิง หรือ "เพศหลากหลาย" ได้ หรือสามารถเลือกที่จะเว้นว่างไว้ ไม่ระบุเพศตนเองเลยก็ได้

 

ในปี 2560 กระทรวงกิจการครอบครัว, พลเมืองผู้สูงอายุ, ผู้หญิงและเยาวชน ของรัฐบาลกลางเยอรมันเคยนำเสนอรายงานระบุว่า ภายใต้กฎหมายบุคคลแปลงเพศนั้น เงื่อนไขข้อกำหนดที่ต้องให้มีรายงานจาก "ผู้เชี่ยวชาญ" ด้วยนั้น ส่งผลให้คนข้ามเพศหรือนอนไบนารีต้องเปิดเผยรายละเอียดที่ไม่จำเป็นเกี่ยวกับเรื่องในวัยเด็กของตัวเองและชีวิตเซ็กส์ของตัวเองในอดีต และถึงขั้นมีการตรวจร่างกายพวกเขา ทางกระทรวงระบุว่ากระบวนการทางกฎหมายนี้อาจจะต้องใช้เวลาถึง 20 เดือน และมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยราว 1,868 ยูโร (ราว 73,000 บาท)

 

กฎหมายรับรองเพศสภาพในเยอรมันออกมาในช่วงเดียวกับที่นักกิจกรรมเตือนว่ามีความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในเยอรมันเพิ่มมากขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของเยอรมันกล่าวเมื่อเดือน มิ.ย. 2566 ว่า ในปีที่ผ่านมาตำรวจรับแจ้งกรณีอาชญากรรมจากความเกลียดชังหรือเฮทไครมต่อชาว LGBTQ+ มากกว่า 1,400 กรณี มีกรณีการก่อเหตุโจมตีขบวนไพรด์เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีอยู่ครั้งหนึ่งคือการโจมตีที่เกิดขึ้นในปี 2565 ส่งผลให้ชายข้ามเพศเสียชีวิต

 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ถึงแม้ว่าการรับรองเพศสภาพผ่านระบบให้เป็นไปตามการบอกยืนยันเพศของบุคคลนั้นๆ เอง จะไม่ได้ส่งผลให้คนข้ามเพศในเยอรมนีได้รับการคุ้มครองจากการถูกคุกคาม รังแกหรือการกีดกันเลือกปฏิบัติโดยอัตโนมัติ แต่กฎหมายใหม่นี้ก็บ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลได้สนับสนุนสิทธิขั้นพื้นฐานของคนข้ามเพศและนอนไบนารี ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับต่อบุคคลหลากหลายทางเพศสภาพอย่างกว้างขวางมากขึ้น

 

ทำไมการรับรองเพศสภาพ ด้วยการระบุเพศตามเจตจำนงของตัวเองถึงเป็นเรื่องดี

 

มีหลายประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ทยอยพากันให้การรับรองเพศสภาพโดยไม่ต้องมีอุปสรรคแบบเดิม โดยการยกเลิกเกณฑ์ข้อกำหนดที่สร้างภาระให้กับการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพตามกฎหมาย เช่น ยกเลิกการตรวจวัดทางการแพทย์หรือทางจิตวิทยา ประเทศที่ยกเลิกในเรื่องเหล่านี้แล้วหันมาทำให้เกิดการรับรองเพศสภาพด้วยวิธีการที่เรียบง่ายอย่างการระบุยืนยันเพศสภาพของตนเอง หรือก็คือการกำหนดตามเจตจำนงของบุคคลนั้นๆ เอง

 

การรับรองเพศสภาพแบบที่ผู้คนกำหนดตัวเองได้เช่นนี้ ยังนับว่าเป็นไปตามฉันทมติของวงการการแพทย์ระดับโลกและเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนด้วย

 

สมาคมวิชาชีพโลกเพื่อสุขอนามัยของคนข้ามเพศ ซึ่งเป็นสมาคมที่รวมกลุ่มวิชาชีพหลายสาขาวิชาจากทั่วทุกมุมโลก เคยวิจัยพบว่า การกำหนดเกณฑ์เงื่อนไขที่จะสร้างกำแพงในการรับรองเพศสภาพต่อคนข้ามเพศ เช่น เรื่องการต้องตรวจรับรองทางการแพทย์ก่อนนั้น จะเป็นเงื่อนไขที่ "มีโอกาสส่งเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต" ของบุคคลนั้นๆ นอกจากนี้แล้วตำราการจำแนกโรค (ICD) ฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลกก็มีการระบุอย่างเป็นทางการให้อัตลักษณ์คนข้ามเพศไม่นับเป็นโรคอีกต่อไป

 

 

ความคิดเห็นของกลุ่มคนข้ามเพศ

กาเบรียล น็อกซ์-เคอนิก จากสมาคมส่งเสริมสิทธิคนข้ามเพศเยอรมันชื่อกลุ่ม Trans* กล่าวว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำให้คนข้ามเพศมีโอกาสเผชิญกับการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวันน้อยลงมาก เช่นเรื่องการที่พวกเขาถูกกีดกันไม่ให้ชำระเงินเป็นบัตรเดบิตในร้านค้า ไปหาหมอก็ถูกกล่าวหาว่าประกันของพวกเขา (ที่ระบุเพศในเอกสารไม่ตรงกับเพศสภาพของคนข้ามเพศ-ผู้เรียบเรียง) เป็นประกันปลอมแปลง หรือในบางกรณีพวกเขาก็ถึงขั้นถูกตำรวจเรียก

 

"นี่คือบางเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนข้ามเพศอยู่เป็นประจำในเยอรมันตอนนี้ ... ด้วยการมีกฎหมายใหม่ ผู้คนจะสามารถเปลี่ยนชื่อและคำระบุเพศได้ง่ายขึ้น และสถานการณ์การกีดกันเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันก็จะเปลี่ยนแปลงไป" น็อกซ์-เคอนิก กล่าว

 

 

การรับรองเพศสภาพ คือ แนวทางตามแบบสิทธิมนุษยชนสากล

เนื่องจากเยอรมันเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ทำให้เยอรมันต้องมีการเคารพในสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองของบุคคลทุกคนอย่างไม่แบ่งแยกกีดกัน และคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผู้ตีความ ICCPR ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ การันตีสิทธิของคนข้ามเพศด้วย รวมถึงสิทธิในการได้รับการรับรองเพศสภาพ และให้มีการยกเลิกเงื่อนไขกำหนดในการเข้าถึงการรับรองเพศสภาพที่ล่วงละเมิดและไม่ได้สัดส่วน ส่วนประเทศไทยเรา ได้ลงนาม ICCPR มาตั้งแต่ปี 2539 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2540 แล้ว

 

นอกจากนี้ในข้อที่ 3 ของ 'หลักการยอกยาการ์ตา : ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ' ยังระบุยืนยันว่าอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลนั้นๆ ในแบบที่พวกเขานิยามตนเอง "ถือเป็นส่วนสำคัญของบุคลิกภาพของบุคคลนั้นๆ และเป็นหนึ่งในแง่มุมขั้นพื้นฐานที่สุดของ การกำหนดตัวเอง, ศักดิ์ศรีความเป็นคน และเสรีภาพ"

 

กอนซาเลซกล่าวว่า "กฎหมายรับรองเพศสภาพของเยอรมันนั้นเป็นการลบชื่อเสียงในแง่ไม่ดีของเยอรมนีเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และยังเป็นการเอื้อต่อพันธกิจในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย

 

"หลังจากการปฏิรูปที่สำคัญในเรื่องการรับรองเพศสภาพทางกฎหมายแล้ว ทางการเยอรมนีก็ควรจะผลักดันต่อไปให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง เพื่อให้มีการขจัดความรุนแรงในเชิงต่อต้านความหลากหลายทางเพศในเยอรมนี และขจัดการสนับสนุนกฎหมายต่อต้านความหลากหลายทางเพศในประเทศอื่นๆ" กอนซาเลซ กล่าว

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Germany: Landmark Vote for Trans Rights Law, Human Rights Watch, 12-04-2024

https://www.hrw.org/news/2024/04/12/germany-landmark-vote-trans-rights-law

 

Gender identity law passes in German parliament, DW, 04-12-2024

https://www.dw.com/en/gender-identity-law-passes-in-german-parliament/a-68800054

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net