Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 20 ปีตากใบ ครอบครัวผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ ข้อหาฆ่า หน่วงเหนี่ยวกักขัง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จากเหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ

 

ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ครอบครัวผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ

ภาพโดย: มูฮำหมัด ดือราแม

25 เม.ย. 2567  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งข่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ (25 เม.ย.) เวลา 10.45 น. ณ ศาลจังหวัดนราธิวาส ตัวแทนครอบครัวผู้เสียชีวิตและและผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 พร้อมกับทีมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม  และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ เดินทางมายังศาลจังหวัดนราธิวาสเพื่อยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยมีจำนวนโจทก์รวม 48 คน ลำดับที่ 1-34 เป็นผู้ที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนทันทีที่หน้าโรงพักตากใบ 2 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน รวม3 คน และที่เสียชีวิตจากการขนย้ายรวม 31 คน  ลำดับที่ 35-48 เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ  ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ289 (5)   ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309  หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย  ตามมาตรา 310  และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดฯ ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

ก่อนหน้านี้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าของคดีในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกเจ้าพนักงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแล้ว โดยการชี้แจงได้มีการอ้างว่าในสำนวนคดีไต่สวนการตาย พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนว่าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และไม่ทราบถึงสถานะและความมีอยู่ของสำนวนคดีอาญาที่ต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำความผิด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ  

ในขณะที่เหตุการณ์ได้ผ่านมาแล้ว 20 ปี ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่กว่า 1,300 คน ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ความรุนแรงสะเทือนขวัญและการสูญเสียที่เกิดขึ้น และแม้ครอบครัวผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งจะได้รับการเยียวยาจากภาครัฐไปแล้ว แต่ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตยังคงรอที่จะได้ทราบถึงความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรง แต่เรื่องกับเงียบหาย จนใกล้จะสิ้นอายุความแล้ว  ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้เสียหายซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์และครอบครัวผู้เสียชีวิตจึงจำเป็นต้องดำเนินคดีเองโดยยื่นฟ้องต่อศาลตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ ในระหว่างการเตรียมยื่นฟ้องคดีดังกล่าว ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บบางรายให้ข้อมูลแก่ทีมทนายความว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 เวลากลางวัน ถูกคุกคามจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ไม่แจ้งสังกัด ไม่มีการแสดงบัตรประจำตัวและไม่ได้แต่งเครื่องแบบ จากการเข้าพบชาวบ้านที่เป็นญาติผู้ตาย  มีพฤติกรรมทำนองบังคับให้เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจ เพื่อพูดคุยเรื่องการเยียวยาคดีตากใบ จะมีเงินค่าพาหนะให้ด้วย โดยตัวแทนของครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหาย เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะเป็นการข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวจากการเตรียมฟ้องคดีอาญาดังกล่าว 

ต่อมาในวันที่ 10 มีนาคม 2567 ตัวแทนของครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจึงได้ยื่นหนังสือกับจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) ร้องเรียนให้เร่งตรวจสอบกรณีพฤติกรรมกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจคุกคาม และให้ยุติการกระทำหากเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นการคุกคามสิทธิของประชาชนที่ดำเนินการใช้สิทธิทางกฎหมายโดยสุจริต

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการและทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความเห็นถึงคดีนี้ว่า  “คดีตากใบถือเป็นคดีสำคัญ ที่เป็นประวัติศาสตร์ความรุนแรงของไทย คดีนี้จะเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพของตุลาการไทยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยความเป็นอิสระและเป็นมืออาชีพในการค้นหาความจริงให้ปรากฏในชั้นพิจารณาของศาลไทย อีกทั้งการรับฟ้องคดีนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานและยืนยันในหลักนิติธรรมของไทย”

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมติดตามการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากรณีเหตุการณ์ตากใบต่อไปอย่างใกล้ชิด ให้มั่นใจว่าจะมีการค้นหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อให้ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรมและได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม อีกทั้งติดตามต่อไปว่ากลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ได้คุกคามครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายนั้น เป็นเจ้าหน้าที่รัฐจริงหรือไม่ สังกัดใด และด้วยคำสั่งใด เพื่อคุ้มครองครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายที่ได้ใช้สิทธิทางกฎหมายโดยสุจริต กรณีตากใบส่งผลอย่างมากต่อปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อมาตลอดกว่า20 ปี และการฟ้องคดีอาญาในครั้งนี้จะมีความสำคัญยิ่งต่อทิศทางกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net