Skip to main content
sharethis

ประธานและที่ปรึกษาพีมูฟ 'ธีรเนตร-จำนงค์' ยื่นขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม หลังถูกแจ้ง 7 ข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พร้อมสะท้อนหลากหลายปัญหาที่ทำให้ประชาชนเข้าสามารถไม่ถึงกองทุนยุติธรรม เตรียมตัวแทนพีมูฟ 15 จังหวัดเข้าเป็นคณะอนุกรรมการประจำจังหวัดร่วมพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ด้าน PI ระบุคดีแบบนี้ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเอง จี้รัฐยุติการฟ้องปิดปากนักปกป้องสิทธิฯและประชาชนโดยทันที ขณะที่อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องไปเป็น 26 ก.ค. 67

ผู้สื่อข่าวประชาไทได้รับแจ้งว่าเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่กระทรวงยุติธรรม องค์กร Protection International (PI) รายงานว่าธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และ จำนงค์ หนูพันธ์  ที่ปรึกษาพีมูฟ สองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยสมาชิกพีมูฟ และเจ้าหน้าที่จากองค์กร Protection International ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมในกรณีที่ 2 นักป้องสิทธิมนุษยชนถูกรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากกรณีที่ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับสมาชิกของของขบวนฯ โดยมี วิเชียร ไชยสอน  ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานกองทุนยุติธรรมมารับหนังสือด้วยตนเอง

ธีรเนตร และ จำนงค์ ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยระบุหลายปัญหา อาทิ ปัญหาเรื่องการเดินทางมายังกองทุนยุติธรรมในแต่ละจังหวัดที่ประชาชนในบางพื้นที่อยู่ห่างไกล และอยู่ในถิ่นทุรกันดารกว่าจะเดินทางมาถึงก็ใช้เวลาเป็นวัน ทำให้ไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่บางคนไม่เข้าใจการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และยังมีเรื่องสัดส่วนในการคิดค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ไม่สัมพันธ์กับสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป รวมถึงระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติการให้ความช่วยเหลือที่ใช้เวลานานมากด้วย

ขณะที่วิเชียรกล่าวชี้แจงว่ากฎหมายหลักในการพิจารณาอัตราการให้ความช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรม นั้นมีระเบียบกำหนดอัตราการจ่ายค่าเดินทางไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันนี้เราได้มีการออกหลักเกณฑ์ใหม่โดยการเพิ่มการเหมาจ่ายค่าเดินทางเป็น 4 บาทต่อกิโลเมตร และในบางพื้นที่ที่ห่างไกลขึ้นเขาลงห้วยก็จะเพิ่มเป็น 5 บาทต่อกิโลเมตร  ส่วนเรื่องเวลาในการพิจารณาอนุมัตินั้นปรกติเราจะประชุมพิจารณาเดือนละ 2 ครั้ง แต่หากในกรณีไหนเป็นเรื่องเร่งด่วนเราก็จะพิจารณาเสนอประธานอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือหรือประธานอนุกรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดพิจารณา

ภายหลังหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง ธีรเนตรได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ที่เรามายื่นขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมที่กรุงเทพ เพราะเราถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ซึ่งการยื่นขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมในวันนี้เป็นการยื่นขอสองคนเพื่อเป็นการเข้าถึงสิทธิของเราเอง และอีกประเด็นที่ตั้งใจมาในวันนี้จะมาดูเรื่องระบบของกองทุนยุติธรรม เพราะในส่วนของพี่น้องในพื้นที่ที่เราทำงานอยู่ด้วยก็ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั่วประเทศ ดังนั้นหากเราเห็นว่ากระบวนการในการยื่นรับความช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมมีการติดขัดตรงส่วนไหน เราก็จะได้นำเข้าประชุมหารือในการแก้ปัญหาในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน

ซึ่งวันนี้เราก็ขอบคุณที่ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรม มารับหนังสือด้วยตัวเองแต่ตนคิดว่าพี่น้องที่ไม่ได้มีการประสานงานแบบเราก็จะเข้าถึงยาก  แต่ที่เราอยากได้มากกว่า คือ การพัฒนาระบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเบื้องต้นพีมูฟเราได้ผลักดันสมาชิกให้เข้าไปอยู่ในคณะอนุกรรมการอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือหรืออนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัด จำนวน 15 จังหวัดนำร่อง จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป

“ที่ผ่านมาเมื่อพี่น้องเรามีปัญหาจะอยู่ในส่วนของการมีคดีกับรัฐจะโดนใช้ดุลพินิจว่า เมื่อมีคดีกับรัฐก็จะไม่ได้ใช้กองทุนยุติธรรม  ดังนั้นจะต้องมีการพัฒนาระบบให้เข้าได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศมากขึ้น”

ด้านจำนงค์กล่าวว่า เราอยากให้กองทุนยุติธรรมช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งเริ่มเดิมทีนั้นคนที่จะขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้จะต้องติดคุกก่อน เราก็ต่อสู้ว่าเงินช่วยเหลือจะต้องช่วยประชาชนก่อนติดคุกที่จะต้องได้รับเงินเยียวยา ต้องสามารถใช้กองทุนได้ตั้งแต่ชั้นโรงพัก ชั้นอัยการ ต้องได้ทุกชั้นไม่ใช่ใช้หลังเข้าคุกแล้ว ซึ่งการมายื่นขอรับความช่วยเหลือในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งบททดสอบการทำงานของกองทุนยุติธรรม ที่เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเราจะสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้จริงหรือเปล่า

ขณะที่ธนายุทธ เชียงถิรเมธ นิติกรชำนาญการจากกองทุนยุติธรรมกล่าวว่า หลังจากรับหนังสือแล้วขั้นตอนต่อไปเราจะดำเนินการตรวจสอบว่าเอกสารที่ยื่นมานั้นครบหรือไม่ ถ้าไม่ครบก็จะขอเพิ่มและถ้าครบแล้วเราก็จะนำเสนอความเห็นผ่านผู้บังคับบัญชา และเสนอความเห็นในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากที่เราเสนอความเห็นแล้ว อำนาจในการให้ความช่วยเหลืออยู่ในคณะกรรมการช่วยเหลือประจำจังหวัด ซึ่งกรุงเทพเราใช้อนุกรรมการช่วยเหลือประจำกรุงเทพ ที่จะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกว่าทุกจังหวัดเพราะเป็นจังหวัดใหญ่ ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 8 พ.ค.นี้ถ้าเอกสารทุกอย่างครบถูกต้องเราก็พร้อมที่จะเสนอได้เลย

“ส่วนคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือประจำจังหวัดที่จะมีสัดส่วนของภาคประชาสังคมเข้าไปอยู่ด้วยจะมีอำนาจว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอรับความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เช่น ค่าทนาย และค่าประกันตัว เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการชุดนี้จะกำหนดโดยส่วนกลางโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะประธาน ซึ่งองค์กรภาคประชาชนที่มีสัดส่วนในคณะกรรมการชุดนี้จะมีจังหวัดละ 2คน  จะถูกเลือกและกำหนดมาว่าจะเป็นใครในแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่ใช่แค่ 15  จังหวัด แต่เป็นทั่วประเทศ โดยกรอบเวลาเริ่มคือวันที่ 1 พฤษภาคม ที่สามารถประชุุมขับเคลื่อนการทำงานของอนุกรรมการได้ ”นิติกรชำนาญการจากกองทุนยุติธรรมกล่าว

ด้านปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International (PI) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่รัฐบาลเศรษฐา แจ้งเจ็ดข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับประธานพีมูฟและที่ปรึกษา เพราะที่ผ่านมา 14 ปีทุกรัฐบาลรวมถึงรัฐบาลนี้ อ้างการเจรจากับพีมูฟมาโดยตลอดว่าเป็นการเจรจาที่สร้างกลไกในการปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่เป็นธรรม การฟ้องคดีโดยเฉพาะกับประธานพีมูฟแบบนี้เป็นการทำลายความชอบธรรมดังกล่าว ถ้ารัฐบาลเศรษฐาไม่อยากให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นรัฐบาลที่เป็นแค่กระบอกเสียงให้ชนชั้นนำและใช้กลไกในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการพูด แสดงออกและชุมนุม  ก็ต้องยุติการฟ้องคดีที่เป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (SLAPP)เช่นเจ็ดคดีนี้และคดีอื่นๆกับนักปกป้องสิทธิฯและประชาชน แล้วไปแก้ปัญหาที่แท้จริงของประชาชนเรื่องป่าไม้ ที่ดินและความเหลื่อมล้ำ การมาฟ้องคดีแบบนี้บ่งบอกถึงความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา และรัฐบาลขาดซึ่งความชอบธรรมในการเจรจาเพื่อแก้ปัญหา

ในส่วนความคืบหน้าของคดีของ 2 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนวันนี้พนักงานอัยการได้เลื่อนนัดฟังคำสั่งจะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องสองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไปเป็นวันที่  26 ก.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานอัยการพิเศษศาลแขวง 3

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net