Skip to main content
sharethis

นักวิชาการแนะเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานและทุนด้วยการลงทุน สร้างความเป็นธรรมผ่านกลไกรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานด้วยรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ปฏิรูประบบแรงงานให้สอดรับกับพลวัตตลาดแรงงาน


ที่มาภาพประกอบ: Joko_Narimo (CC0)

28 เม.ย. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเร่งรีบและการส่งเสริมการส่งออกด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาการกระจายรายได้อย่างรุนแรง นโยบายมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วยค่าแรงราคาถูกทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาต้องเข้ามาแทรกแซงแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการ สร้างข้อกีดกันในการจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือองค์กรลูกจ้าง ทำให้ “ขบวนการแรงงาน” อ่อนแอและขาดเอกภาพ แม้นแรงงานทักษะสูงและช่างเทคนิคจะเพิ่มขึ้นในระบบการผลิตของไทย แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้ระบบการผลิตของไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากพอที่จะรักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกไว้ได้ การเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานและทุนด้วยการลงทุนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งและควรเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีให้อยู่ในระดับ 40% จึงจะสามารถทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปอยู่ในระดับ 5% หากสามารถรักษาระดับการเติบโตได้เช่นนี้ประมาณ 13 ปี ไทยก็น่าจะก้าวข้ามพ้นกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลางไปได้ การเพิ่มผลิตภาพทั้งทุนและแรงงานเป็นพื้นฐานสำคัญของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจระยะยาว อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานที่ผ่านของไทยไม่ได้ลดลงแต่ไม่เพียงพอต่อการรองรับการผลิตแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติอาจทำให้ตำแหน่งแรงงานมนุษย์หดหายมากเกินไปจนทำให้จีดีพีโดยรวมอาจลดลงได้ แต่แนวโน้มที่คาดการณ์ได้แน่ๆ เลย ก็คือ ส่วนแบ่งจีดีพีที่เคยเป็นค่าจ้างแรงงานมนุษย์จะลดลงอย่างชัดเจน  

ตนเสนอให้มีการปฏิรูประบบแรงงานรับมือสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI และเพิ่มความเป็นธรรมและความสามารถแข่งขัน  การเร่งอัตราการขยายตัวทางผลิตภาพขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยดีขึ้นและตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมนุษย์ที่จะรุนแรงขึ้นในทศวรรษหน้า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ จักรกลอัตโนมัติจะทำให้อาชีพและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกโฉม จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาเรียนรู้ ระบบพัฒนาทักษะ และ ระบบแรงงานทั้งระบบเพื่อให้ แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และ ระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น และ หลายอย่างสมองกลอัจฉริยะหรือ AI สามารถทำงานได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์และเสริมการทำงานของมนุษย์ ระบบ Software คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณประกอบกับการใช้ Big Data และ Machine Learning สามารถทำงานทางด้านการวิเคราะห์ การคำนวณ การประเมินการลงทุน การศึกษา การวิจัย ได้อย่างดี เป็นต้น การฝึกอบรมและเพิ่มทักษะให้แรงงานตลอดเวลาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

การเพิ่มผลิตภาพแรงงานและทุน จำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ลงทุนทางด้านการศึกษาเพื่อให้คุณภาพแรงงานตรงกับความต้องการของตลาด ลดการผูกขาดและเพิ่มการแข่งขันเพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆเกิดขึ้น ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงระบบการผลิต ลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำอย่างไรที่สามารถทำให้แรงงานใช้ชั่วโมงการทำงานน้อยลงแต่ได้ผลผลิตเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นซึ่งจะสะท้อน คุณภาพแรงงาน (Labor Quality) ทำอย่างไรจะเพิ่มสัดส่วนของทุนต่อแรงงาน (Capital per Labor Ratio) จะทำให้แรงงานสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น หากสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้มากขึ้นบนมูลค่าการลงทุนเท่าเดิมก็สะท้อนให้เห็นว่า Total Factor Productivity ของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น  

หากในอนาคตการใช้เอไอมีผลกระทบต่อการจ้างงานแรงงานมนุษย์ควรใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเข้มงวดเรื่องการเลิกจ้าง มากกว่า การใช้วิธีเก็บภาษีหุ่นยนต์และภาษีเอไอ เพราะการเก็บภาษีอาจไปสกัดกั้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ หรือ การเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับ “กลุ่มผู้ใช้แรงงาน” สามารถรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรแรงงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้นโดยรัฐบาลรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ILO 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง  

นอกจากนี้ต้องมีการปฏิรูประบบแรงงานให้สอดรับกับพลวัตตลาดแรงงาน ไทยมีปัญหาการกระจุกตัวของการผลิตและการจ้างงานสูง เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ แต่ระบบประกันสังคมช่วยสร้างระบบสวัสดิการขนาดใหญ่ครอบคลุมแรงงานในระบบทั่วทั้งประเทศ และ สร้างระบบการออมแบบบังคับเพื่อดูแลผู้สูงอายุในวัยเกษียณ อย่างไรก็ตาม ระบบประกันสังคมจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความมั่นคงและความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว รัฐบาลควรมีการจัดระบบการทำงานและคุ้มครองแรงงานของคนทำงานในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น แรงงานภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่ปรากฎสถานะความเป็นลูกจ้างนายจ้างอย่างชัดเจน

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานมากขึ้นตามลำดับตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคการผลิตและบริการ แรงงานภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องแต่สังคมไทยมีลักษณะพิเศษเมื่อเทียบกับประเทศเอเชียอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ในมิติที่ไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมโดยยังคงรักษาภาคเกษตรกรรมในครัวเรือนได้ค่อนข้างดีในรูปแบบ “เกษตรกรที่มีอาชีพเสริม” นอกจากนี้ โครงสร้างการจ้างงานไทยยังมี แรงงานนอกระบบจำนวนมาก ทำงานใน Informal Sector ที่ยังไม่มีสวัสดิการหรือการคุ้มครองแรงงานดีเท่าที่ควร ลักษณะการจ้างงานมีการกระจุกตัวในบริษัทหรือกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นตามการกระจุกตัวของระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานหญิงอันดับต้นๆในภูมิภาคเอเชีย มีการจ้างงานชั่วคราว สัญญาจ้างระยะสั้นเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความยืดหยุ่นของการจ้างงานในตลาดแรงงาน แต่ แรงงานกลุ่มนี้มักไม่มีความมั่นคงในงานและไม่มีสวัสดิการที่ดี รัฐจำเป็นต้องไปจัดระเบียบให้มีมาตรฐานการจ้างงานที่เป็นธรรม 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net