Skip to main content
sharethis

'เซีย' ติงโฆษกแรงงานบอกให้ใจเย็น ขอให้ช่วยออกมานอกห้องแอร์คุยกับแรงงานบ้าง เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ควรขึ้นค่าแรงได้แล้ว เจ้าตัวเสียดาย ร่างแก้ พ.ร.บ.แรงงาน ที่มีระบบขึ้นค่าแรงทุกปี ถูกปัดตกวาระแรกไปแล้ว

 

2 พ.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (2 พ.ค.) เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าขอให้ตน "เย็นให้พอ รอให้ได้" ในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีที่ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น ฝ่ายการเมืองหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือทำอะไรได้ตามอำเภอใจ พร้อมขออย่าให้ตนนำแรงงานมาอ้างเพื่อเรียกคะแนนให้ตัวเองหรือสร้างความขัดแย้ง

เซีย จำปาทอง (ที่มา: ทีมสื่อพรรคก้าวไกล)

เซีย กล่าวว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน ให้ได้ภายในปี 2567 ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นเมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) ว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค.นี้ การออกมาพูดเช่นนี้ก็ยังไม่ผ่านมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเช่นกัน ถ้าโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าขอให้ตน "เย็นให้พอ รอให้ได้" เพราะรัฐบาลนี้ทำงานโดยยึดหลักกฎหมาย แล้วรัฐบาลจะออกมาให้คำมั่นเช่นนี้ได้อย่างไร นี่คือความย้อนแย้งหรือไม่ แล้วจะไม่ให้ตนกล่าวว่าเป็นการให้ความหวังกับพี่น้องแรงงานแบบลมๆ แล้งๆ ได้อย่างไร

เซีย กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลเศรษฐา ให้ความหวังกับพี่น้องแรงงานแบบลมๆ แล้งๆ เช่นเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2567 รัฐบาลออกข่าวตีปี๊บใหญ่โตว่าได้อนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันแล้วใน 10 จังหวัด แต่ที่จริงเป็นการขึ้นแค่บางพื้นที่ในจังหวัดนั้นๆ และขึ้นเฉพาะธุรกิจโรงแรม 4 ดาวที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป อีกทั้งพื้นที่ที่ปรับขึ้นส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่เมืองที่ปกติได้รับค่าแรงเกิน 400 บาทอยู่แล้ว

ขณะที่เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 ก็มีข่าวว่ารัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงานจะประกาศเซอร์ไพรส์ใหญ่ในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม โดยจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท ซึ่งสุดท้ายต้องออกมาแก้ข่าวว่าเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน นี่คือความสับสนและความไม่ชัดเจนที่รัฐบาลเศรษฐาก่อขึ้นเอง ให้ความหวังกับพี่น้องแรงงานเอง เมื่อมีพี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการ SME สะท้อนข้อกังวลจากความไม่แน่นอนเช่นนี้ขึ้นมา ตนก็แค่สื่อสารความทุกข์ร้อนเหล่านั้นออกไป แล้วจะมาบอกให้ตน "เย็นให้พอ รอให้ได้" ได้อย่างไร

"ท่านโฆษกฯ อย่าพูดเพื่อเอาใจนายโดยไม่ลืมหูลืมตา ขอให้รัฐบาล รัฐมนตรี รวมถึงท่านโฆษกฯ ออกมาจากห้องแอร์ เปิดใจมองเรื่องนี้ให้รอบด้าน รับฟังเสียงพี่น้องแรงงานบ้าง ยอมรับความจริงว่าจากสภาพค่าครองชีพปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำต้องสูงขึ้นกว่านี้ได้แล้ว ความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงานรอไม่ได้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมลูก ค่าเช่าบ้าน ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค มันรอไม่ได้ ต้องจ่ายเป็นประจำ ท่านให้สัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ผิดสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วมาบอกให้ผมกับพี่น้องแรงงาน ‘เย็นให้พอ รอให้ได้’ ใครจะมาเย็นกับท่านครับ" สส.พรรคก้าวไกล กล่าว

เซีย กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนและพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับแรงงานตลอดมา จึงได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเข้าสภาฯ ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญคือการจัดตั้งกลไก "การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบอัตโนมัติทุกปี" ผ่านสูตรคำนวณที่อ้างอิงตัวชี้วัดสำคัญ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย คือ แรงงานไม่ต้องลุ้นปีต่อปีว่าปีนี้ค่าแรงจะขึ้นเท่าไร รายได้จะโตทันรายจ่ายหรือไม่ ขณะที่ผู้ประกอบการก็คาดการณ์ต้นทุนและวางแผนธุรกิจไปข้างหน้าได้ ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเติบโตสำหรับทุกคน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ร่างฯ ดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบในสภาฯ ตั้งแต่วาระ 1 แต่ตนและพรรคก้าวไกล ยืนยันว่าจะทำงานอย่างหนักต่อไปผ่านกลไกกรรมาธิการ และการประสานงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคนให้ดียิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ โฆษกกระทรวงแรงงานว่าอย่างไร

เว็บไซต์ มติชน ออนไลน์ รายงานว่า เมื่อ 1 พ.ค. 2567 ภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ เซีย จำปาทอง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวพาดพิง พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าให้ความหวังลมๆ แล้งๆ เรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  ดังนั้น ฝ่ายการเมืองหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือทำอะไรได้ตามอำเภอใจ 

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล กระทรวงแรงงานจึงได้รับนโยบายมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และมีหน้าที่อธิบายถึงเหตุความจำเป็นให้คณะกรรมการค่าจ้างเข้าใจในจุดนี้ เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น 

"การให้อำนาจคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณานั้นเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่การโยนบาป เพราะหากไม่ทำตามกฎหมายเชื่อว่านายเซีย ก็คงหาเหตุมาโจมตีอีกว่า ฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูกหรือแทรกแซงทำให้คณะกรรมการไม่มีอิสระ เช่นนี้กระทรวงแรงงานก็ตกเป็นจำเลยของสังคมทั้งขึ้นทั้งล่อง จึงขอความเป็นธรรมด้วย ที่ผ่านมาเราประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่จากนี้ พิพัฒน์ ประกาศแล้วว่าสามารถประกาศได้มากกว่านั้นตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ โดยขอให้เซีย รู้จักใจเย็นและอย่านำพี่น้องแรงงานมาอ้าง เพื่อเรียกคะแนนให้ตัวเองหรือสร้างความขัดแย้งเพราะคนเหล่านี้เข้าใจดีถึงหลักกฎหมายอยู่แล้ว ความจริงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะถูกกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามกฎหมายเพื่อนำมาประกอบกัน เช่น อัตราค่าจ้างปัจจุบัน ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน จีดีพีของประเทศ และสภาพเศรษฐกิจสังคม นอกจากนี้ ยังกระจายอำนาจไปยังภูมิภาคผ่านคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานครรวม 76 คณะ ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีเช่นกัน เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะอัตราค่าจ้างให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยกระทรวงแรงงานมีเป้าหมายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ และจะปรับขึ้นในปีต่อๆ ไป" ภูมิพัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวว่า นายพิพัฒน์ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายทั้งลูกจ้างและนายจ้างบนพื้นฐานของเหตุและผลที่ปฏิบัติได้จริง และประโยชน์ของทุกฝ่าย รวมทั้งเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้ปรับตัวด้วย

"จึงไม่อยากให้นายเซียใช้ข้อมูลของตัวเองมาตีกินเพียงฝ่ายเดียว และควรทำตัวแบบเย็นให้พอรอให้ได้ คอยดูผลลัพธ์ปลายทางจะดีกว่า ส่วนการออกมาเดินขบวนสังคมนิยมแรงงาน ผนึกกำลังทางชนชั้น เพื่อเสนอข้อเรียกร้องในวันแรงงานนั้นถือเป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถทำได้ และเป็นเรื่องที่คนกลุ่มนี้ถนัดอยู่แล้ว" โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net