Skip to main content
sharethis

งานวิจัยชี้ชัด สังคมใกล้วิกฤตหากรัฐยังไม่คิดลงทุนพัฒนาเด็ก ด้านไรเดอร์ ร้องขอศูนย์เลี้ยงเด็กฯ เปิดปิดสอดคล้องกับงาน ด้านสภาชนเผ่าฯ บอกว่า สวัสดิการเด็กเป็นเรื่องเดียวกับสัญชาติเด็ก

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2567 ในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (ภาคเหนือ)  ณ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) ตำบลสันทรายน้อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “ทบทวนแนวทางการขับเคลื่อน และข้อเสนอ รูปธรรม กรณีศึกษาบทเรียนที่ดี ด้านนโยบายสาธารณะ”

พื้นที่สะท้อน อบต.มีงานแต่ไม่มีอำนาจ ยังมีเด็กตกหล่น เสนอเด็ก เยาวชนในชุมชนเป็นกระบอกเสียงสื่อสารให้ผู้ปกครอง

สุมิตร วอพะพอ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าถึงสถานการณ์การทำงานในพื้นที่ แต่เดิมสุมิตรทำงานกับเด็กไร้สัญชาติมาก่อนแล้ว และเริ่มขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเมื่อปี 2564  ทั้งนี้จากการที่ได้ทำวิจัยและเก็บข้อมูลในพื้นที่จำนวน 8 ชุมชน 8 อบต. นำร่อง  มีตัวเลขที่น่าสนใจว่า มีเด็กไร้สัญชาติอยู่ในประเทศไทยประมาณ สี่ แสนกว่าคนในขณะที่กระทรวงมหาดไทยแก้ปัญหาเด็กเหล่านี้ได้ปีละประมาณหมื่นกว่าคน

สุมิตร ได้นำเสนอรายละเอียดของงานวิจัยในเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนกับเด็ก ซึ่งงานวิจัยนี้ทำเมื่อปี 2563 และคาดการณ์ไปอีก 20  ปีข้างหน้า คือปี 2583 แรงงาน 1.8 คนต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ในขณะที่ปัจจุบันแรงงาน 3.8 ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน นั่นหมายความว่าสังคมไทยค่อนข้างวิกฤต ดังนั้นแรงงานในอนาคตมีความสำคัญมาก จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลต้องพิจารณางบประมาณในการดูแลเด็ก  ทั้งนี้จากข้อมูลงานวิจัยระบุว่า ตั้งแต่เข้าเรียน – จนจบการศึกษา ของเด็ก 1 คน ระยะเวลาประมาณ 15 ปี ใช้เงิน 600,000 กว่าบาท จำนวนนี้รวมทั้งเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขของเด็ก และเมื่อเข้าสู่แรงงาน ทำงานเงินเดือน ๆ ละ 10,710 บาท เป็นเวลา 35 ปี คนนี้จะทำรายได้ให้ประเทศประมาณ 4 ล้านกว่าบาท รัฐลงทุนเพียงแค่ 6 แสนกว่าบาท

“หากรัฐบาลได้รับรู้ข้อมูลนี้รัฐจะไม่ลงทุนกับเด็กหรือ แต่ถ้าเด็กไม่ได้รับการพัฒนาที่ดีเด็กจะไม่ได้รับการพัฒนาที่ดี ไม่ได้เป็นแรงงานประชากรที่ดีด้วย”

ส่วนในประเด็นการขับเคลื่อนเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้านั้น สุมิตรสรุปว่า เงินอุดหนุน 3,000 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสม และยังได้สรุปปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คือ  เด็กไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยรัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไร  อบต.ท้องถิ่นต้องทำงานเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้อำนาจอย่างเต็มที่  ยังมีเด็กที่ตกหล่น ครูพี่เลี้ยงเด็กต้องได้รับการพัฒนา พร้อมกันนี้สุมิตร เสนอว่า การสื่อสารประเด็นนี้ เด็ก เยาวชนในชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการได้ดีกว่าบุคคลข้างนอก

เยาวชนชนเผ่าฯ พูดชัด การขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กต้องแก้ปัญหาเด็กไร้สัญชาติด้วย

คำอิ่ง ลุงแสง  สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย  ในฐานะเยาวชนที่ร่วมขับเคลื่อนประเด็นเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเด็นสวัสดิการเด็กยังมีเรื่องสัญชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของสิทธิเด็ก ซึ่งสภาชนเผ่าพื้นเมืองได้ผลักดันประเด็นนี้เข้าไปใน (ร่าง) กฎหมายชาติพันธุ์ และในทุกเวทีของเยาวชนสภาชนเผ่าพื้นเมือง จะมีการพูดประเด็นนี้ทุกครั้ง

ด้าน ปณิภาณ รุ่งศิริ   ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย /ผู้ช่วยประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนเชิงนโยบายทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก ในเวทีสมัชชาสุขภาพ อย่างไรก็ตามสภาเด็กในระดับจังหวัดก็มีทุกจังหวัด แต่การขับเคลื่อนอาจจะยังไม่ไปพร้อมกันนัก และจะได้นำเสนอประเด็นสวัสดิการเด็กในกรรมการเด็กและเยาวชนระดับประเทศ

เสียงจากไรเดอร์ ต้องแบกลูกไปส่ง order ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเปิด-ปิดไม่ตรงเวลาทำงาน

ณิชชารีย์ สมคำ รองนายกสมาคมไรเดอร์ภาคเหนือ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่เข้ามาในเวทีนี้ และอยากสะท้อนปัญหาการดูแลเด็ก โดยเฉพาะไรเดอร์ผู้หญิงที่ต้องพาลูกไปด้วยเพราะไม่มีคนดูแล ซึ่งมีความเสี่ยงลำบากในการทำงาน ต้องระวังในทุกๆเรื่อง ไรเดอร์หลายคนถ้าเป็นคนในพื้นที่จะสามารถนำลูกไปฝากไว้กับศูนย์เลี้ยงเด็ก แต่ปัญหาคือศูนย์เลี้ยงเด็กเปิดสายและปิดเร็ว เวลาไม่สัมพันธ์กับการทำงาน บางครั้งได้เวลารับลูกแต่ยังต้องติดงาน ส่งของให้ลูกค้าก็ต้องฝากลูกไว้ ซึ่งก็ไม่ได้มากนักครูก็ต้องรีบกลับ  นอกจากนี้ยังมีไรเดอร์บางคนที่ไม่รู้เรื่องนี้และไม่อยู่ในประกันสังคม ยังไม่ได้รับเงินยังตกหล่น ไม่ต้องพูดถึงว่า 600 บาทนี้ไม่เพียงพอ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย

“ไรเดอร์บางคน ไม่มีเอกสารก็ไม่สามารถนำลูกไปฝากศูนย์เด็กเล็กได้ ต้องจ่ายเงินฝากในศูนย์เลี้ยงเด็กของเอกชนซึ่งก็แพง และเวลาก็ไม่สัมพันธ์กับการทำงาน”

ด้านสภาคนพิการฯ เรียกร้องรัฐให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้ง่ายกว่านี้

ชรีพร  ยอดฟ้า ประธานสภาคนพิการทุกประเภทจ.พะเยา /ประธานศูนย์บริการคนพิการทั่วไปชมรมผู้ปกครองบุคคล ออทิสติกจ.พะเยา กล่าวว่า คนที่มีลูกพิการจะขาดรายได้ทันที เนื่องจากไม่สามารถฝากลูกให้ใครเลี้ยงได้ และภาวะของเด็กปัจจุบันเด็กมีภาวะเป็นออทิสติกเทียมสูงมากและมีภาวะที่ยากกว่าเด็กออทิสติกจริง

ชรีพร กล่าวอีกว่า  ส่วนคนพิการที่มีลูกจะลำบากมากเพราะกว่าจะได้สิทธิจากรัฐบาล ต้องขึ้นทะเบียนและเอกสารทางการจำนวนมาก รวมไปถึงคนที่มีภาวะทางจิตที่ต้องดำเนินการกับเอกสารทางการ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเข้าใจอะไรได้ ดังนั้นจึงไม่รู้สิทธิต่าง ๆ ที่จะต้องได้ และที่ลำบากมากสุดคือ คนออทิสติกที่มีลูกและการเข้าถึงสิทธิต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นแม่ เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลจะต้องดูแล

ชรีพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลไม่ลงทุนกับเด็กในการดูแลเด็กในด้านต่าง ๆ เพราะเด็กเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net