Skip to main content
sharethis







 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณา ปรานีเสมอ


ขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสดามุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน


 


ในช่วง วันที่ 25 ตุลาคม 2548- 2 พฤศจิกายน 2548 เป็นช่วงที่ชาวไทยมุสลิมและมุสลิมทั่วโลกกำลังถือศีลอด ช่วง 10 วันสุดท้าย (โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนใต้) และ วันที่3-4 พฤศจิกายน 2548 จะเป็นวันอีดิลฟิตรี (ฉลองหลังถือศีลอด)


 


การถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจในช่วงนี้จะมีความเข้มข้นทั้งกลางวันและกลางคืน(โดยเฉพาะกลางคืน) หลายๆ กิจกรรมหากองค์กรของรัฐและหน่วยความมั่นคงไม่เข้าใจและไม่ทราบหลักปฏิบัติของชุมชนมุสลิมอาจจะนำไปสู่การจับผิดและอาจจะเป็นน้ำผึงหยดเดียวสู่ความรุนแรงได้


 


ในขณะเดียวกันผู้ที่คิดร้าย (ส่วนน้อยของชุมชน) อาจจะฉวยโอกาสช่วงนี้สร้างสถานการณ์ได้เช่นกัน


 


หลักปฏิบัติช่วงท้ายรอมฎอน


 


1.การเอี๊ยะติกาฟ (การพำนักในมัสยิด)


ในที่นี้หมายถึง การพำนักอยู่ในมัสยิดโดยมีเจตนาปฏิบัติศาสนกิจต่ออัลลอฮฺเจ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นจากความสับสนวุ่นวายในสังคม มาเป็นการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ และเพื่อให้ได้พบกับคืนลัยละตุ้ลก๊อดรฺ(คืนที่พระเจ้าจะเพิ่มพูนผลบุญมากกว่าหนึ่งพันเดือนของการปฏิบัติศาสนกิจปกติ) และเพื่อปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านศาสดา ดังมีหลักฐาน


 


จากท่านหญิงอะอิชะภรรยาของท่านรอซูลซอลวัลลอฮุวะลัยฮิวะสัลลาม(ศาสดามุฮัมมัด) ซึ่งท่านรอซูลมักจะเอี๊ยะติกาฟ (ณ มัสยิด) ในสิบวันสุดท้ายจากรอมฏอน กระทั่งท่านเสียชีวิต ต่อมาภรรยาของท่านได้เจริญรอยตามซุนนะห์(แบบอย่างของศาสดา)การเอี๊ยะติกาฟกระทั่งเสียชีวิต ( ดูหนังสือ เศาะเฮี๊ยะห์ อัล-บุคอรี 2/255 และเศาะเฮี๊ยะมุสลิมหมายเลข/1172 (2/831))


 


ในจังหวัดชายแดนใต้จะมีหลายมัสยิดจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่ที่มีชื่อเสียงมีอยู่ไม่เกิน 10 แห่งเช่นที่มัสยิดอิบาดุรเราะมาน บ้านปูยุด ปัตตานีภายใต้การอำนวยการโดย อ.ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา(กรรมการสมานฉันท์) และมัสยิดศูนย์ดะห์วะฮฺยะลาเพราะมีการจัดการอย่างเป็นระบบทั้งให้ความรู้ด้านวิชาการ การปฏิบัติศาสนกิจและระบบสาธารณูปโภค


 


ทั้งสองแห่งนี้จะมีผู้มาร่วมไม่ต่ำกว่าหมื่นคนจากทุกจังหวัดและผู้คนทุกสาขาอาชีพแม้แต่ข้าราชการมุสลิมยอมใช้สิทธิลาพักร้อนในช่วงนี้


 


2.การละหมาด


การละหมาดและปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดช่วง 10 วันสุดท้ายจะมีอยู่ 2 ช่วงที่สำคัญคือ


ช่วงที่หนึ่ง ละหมาดตะรอเวี๊ยะตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-20.30 น.(ความเป็นจริงการละหมาดดังกล่าวทำตั้งแต่ต้นรอมฎอนแต่จะเข้มข้นช่วง10 วันสุดท้าย)



ละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺถูกบัญญัติให้ละหมาดรวมกันเป็นญะมาอะฮฺ(รวมที่มัสยิด) ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ภรรยาศาสดา)แจ้งว่า "แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้ออกไปคืนหนึ่งในกลางดึกแล้วท่านได้ละหมาดในมัสยิด และได้มีผู้คนมาร่วมละหมาดกับท่านนะบี ในวันรุ่งขึ้นผู้คนได้พูดถึงกันและได้รวมตัวกันมากขึ้น แล้วท่านได้ละหมาด (ในคืนที่สอง) ผู้คนก็ได้มาร่วมละหมาดกับท่าน ต่อมาในวันรุ่งขึ้นก็ได้มีการกล่าวถึงกันอีก ผู้คนได้มารวมตัวกันในมัสยิดมากยิ่งขึ้นในคืนที่สาม ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ก็ได้ออกมาทำการละหมาดเช่นเคย ต่อมาในคืนที่สี่มัสยิดเนืองแน่นไปด้วยผู้คน จนกระทั่งท่านนะบีได้ออกไปละหมาดศุบฮฺ เมื่อท่านละหมาดเสร็จแล้วท่านได้หันหน้าไปยังผู้ที่มาร่วมละหมาดแล้วได้กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ และกล่าวชะฮาดะฮฺ(ปฏิญานตน) แล้วกล่าวว่า "พึงทราบเถิดสถานภาพของพวกท่านเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ฉันแล้ว แต่ฉันกลัวว่าการละหมาดนี้จะถูกบัญญัติให้เป็นฟัรฎู(หน้าที่)แก่พวกท่าน แล้วพวกท่านก็ไม่สามารถจะกระทำได้ ต่อมาท่านร่อซูลุลลอฮฺได้กลับสู่ความเมตตาของพระเจ้า  การละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺก็คงสภาพอยู่เช่นนั้น"


 


ช่วงที่สองละหมาดตะฮัจยุด  ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00น. - 04.30 น.(ช่วงกลางดึกถึงรุงอรุณ)ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชราจะไปละหมาดและปฏิบัติศาสนกิจในมัสยิดอีกครั้งหนึ่ง


การละหมาดทั้งสองช่วงจะมีผู้คนมากที่สุดในคืนที่ 27 ของเดือนรอมฎอน


 


3. การจ่าย ซะกาตฟิตเราะฮฺ(ทานบังคับ)
ซะกาตฟิตเราะฮฺ คือ ซะกาตที่จำเป็นจะต้องจ่ายอันเนื่องจากหมดภาระถือศีลอดในเดือนรอมฎอน  ซึ่งจำเป็น (วาญิบ) แก่มุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ เพศชาย หรือหญิง แต่ผู้ที่จะเป็นผู้จ่ายนั้น จะ เป็นหัวหน้าครอบครัว และผู้อุปการะผู้อื่นโดย จ่ายเพื่อตัวเขา และเพื่อคนที่อยู่ในครอบครัวทุกคน และคนที่ต้องรับผิดชอบด้วย


 


สำหรับปริมาณที่ต้องจ่าย คนละ 1 ศออฺ (ในภาษาอาหรับ)หรือประมาณเกือบ 4 ลิตรของอาหารหลักในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ในประเทศไทยคือข้าวสาร เป็นต้นโดยจะจ่ายให้คนยากจน หรือให้เจ้าหน้าที่เก็บซะกาตของมัสญิดก็ได้ เพื่อจะได้แจกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตต่อไป


 


เพราะฉะนั้นจะเห็นชาวบ้านจำนวนมากจะออกจากบ้านในคืนสุดท้ายหรือช่วงเช้าของวันอีด(ฮารีรายอ)ไปหาคนยากจนหรือเจ้าหน้าที่มัสยิด


 


4. ภารกิจมุสลิมวันอีด(ฮารีรายอ)


เมื่อสำนักจุฬาราชมนตรีประกาศวันอีดมุสลิมจะมีหลักปฏิบัติในวันอีดพอสรุปได้ดังนี้


 


- กล่าวตักบีร (สรรเสริญความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า)
เมื่อมีการประกาศกำหนดวันอีดแล้ว มุสลิมทั้งชายและหญิงควรกล่าวตักบีรไปเวลาละหมาดอีด โดยให้กล่าวว่า "อัลลอฮุ อักบัร, อัลลอฮุ อักบัร, อัลลอฮุ อักบัร, ลาอีลาฮาอิลลัลลอฮ วัลลอฮุอักบัร, อัลลอฮุ อักบัร วะลิลลาฮิลฮัมดฺแปลว่า อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์  และมวลการสรรเสริญมอบแด่พระองค์" และการกล่าวเช่นนี้ในชุมชนมุสลิมจะเปิดเครื่องขยายเสียงดังที่มัสยิด


 


- อาบน้ำและทำความสะอาดร่างกาย


ควรมีการอาบน้ำชำระล้างและทำความสะอาดร่างกาย ก่อนสวมใส่เสื้อผ้าไปยังที่ละหมาด พร้อมทั้งขจัดขนอวัยวะเพศ ขนรักแร้ ตัดเล็บ กลิ่นกายที่น่ารังเกียจและรบกวนผู้อื่น


 


-  แต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ดี


ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ดี ที่สามารถหามาได้ พร้อมกับใช้น้ำหอม ยกเว้นบรรดาสตรี ซึ่งไม่อนุญาติให้พวกนางใช้น้ำหอมในการไปละหมาด


 


- ไปยังที่ละหมาดตั้งแต่เช้า


สำหรับผู้เป็นมะมูม(ประชาชนทั่วไป) ควรรีบออกไปยังที่ละหมาดตั้งแต่เช้า ทั้งนี้เพื่อไปจองที่และรอละหมาด ยกเว้นผู้เป็นอิมาม(ผู้นำละหมาด)ให้ออกไปเมื่อใกล้เวลาละหมาด โดยการออกไปยังที่ละหมาดควรปฏิบัติดังนี้


 


ก. - ควรออกไปและกลับด้วยการเดินเท้า นอกจากมีเหตุจำเป็น เช่นไม่สบาย เป็นไข้ อยู่ไกล เช่นนี้อนุญาตให้ใช้พาหนะได้


ข.- กล่าวตักบีรตลอดทางไปสู่ที่ละหมาด


ค.-เดินเท้าไปและกลับควรใช้เส้นทางต่างกัน


ง.- พาครอบครัวไปด้วยกัน


จ.- ควรพาครอบครัว ลูก ภรรยา ไปที่ละหมาด เพื่อร่วมละหมาดหรือฟังคุฏบะฮฺ (ธรรมเทศนา) เช่นปีที่ผ่านมา(2547) ปัตตานีจัดละหมาดอีดที่สนามโรงเรียนเบญจมราชูทิศมีผู้เข้าร่วมเกือบหมื่นคน


 


- ภารกิจหลังละหมาดอีด


หลังละหมาดให้ต่างคนต่างแสดงความดีใจและยินดีซึ่งกันและกัน โดยให้กล่าว (ตะก๊อบ บะลัลลอฮู มินนา วะมินกุม แปลว่าขอให้อัลลอฮฺเจ้าจงตอบแทนความดีของเรา) และอภัยซึ่งกันและกันหลังจากนั้นให้มีการบริจาคทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาสตรี สุดท้ายไปเยี่ยมญาติและเพื่อนๆ


 


5.ถือศีลอดอีก 6 วัน หลังจากวัน อีดิ้ลฟิตร์แล้ว


หลังรอมฎอนแล้วมุสลิมที่มีความสามารถควรถือศีลอดอีก 6 วัน ซึ่งเป็นการถือศีลอดซุนนะฮฺ(ตามความสมัครใจและตามแบบฉบับศาสดา)


 


ตามรายงานของอะบีอัยยู๊บ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮฺ (อัครสาวกศาสดาท่านหนึ่ง) แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า "ผู้ใดถือศีลอดเดือนรอมฎอนแล้วติดตามหลังจากรอมฎอนอีก 6 วันจากเดือนเซาวัล เสมือนกับว่าเขาถือศีลอดทั้งปี" บันทึกโดยมุสลิม ในการถือศีลอดซุนนะฮฺ 6 วันนี้ไม่มีเงื่อนไขให้ถือติดต่อกันไป แต่ควรให้กระทำหลังจากวันอีดทันที


 


นี่คือหลักปฏิบัติของอิสลามพอสังเขปซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมภาคใต้ ซึ่งอยากจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าใจและนำเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติในพื้นที่ เพราะหลายๆกิจกรรมเป็นช่วงกลางคืนและดึกดื่น


 


ในขณะเดียวกันการเรียกร้องให้องค์กรของรัฐและสังคมอื่นเข้าใจ  เข้าถึงและพัฒนา ได้ดีอย่างสมบูรณ์ได้นั้น มุสลิมเองต้อง มีคุณลักษณะและแสดงความเป็นมุสลิมที่ดีตามแนวทางศาสดาทุกอริยะบทของการดำเนินชีวิต และเข้าใจ  เข้าถึงและร่วมมือกับสังคมอื่นตามกรอบที่ศาสนาได้กำหนดไว้เช่นกัน รับรองสังคมไทยจะอยู่ร่วมอย่างสมานฉันท์และหวังว่าตากใบสองคงไม่เกิดในช่วงท้ายรอมฎอนอีกครั้งในปีนี้


 


สุดท้ายขอประณามเหตุการณ์ล่าสุดผู้ที่ฆ่าพระ ทำลายทรัพย์สินของวัดเพราะเป็นการขัดคำสั่งท่านศาสดาที่ได้เน้นย้ำไว้อย่างมากคือ อย่าฆ่าสตรี เด็ก คนแก่ หรือนักบวชที่อยู่ในโบสถ์ของเขา และห้ามตัดต้นไม้


 


หวังว่าศาสนธรรมและสันติธรรมไม่ใช่เป็นเพียงเป้าหมายเท่านั้น แต่เป็นวิถีทางที่สำคัญในการอยู่ร่วมอย่างสันติและขอดุอาอ์(พร)จากอัลลอฮ ซุบฮานะฮุ วะ ตะอาลาโปรดทรงรวมพลังของพวกเาให้อยู่บนทางนำ และรวมหัวใจของพวกเาอยู่บนความรักฉันท์พี่น้อง และความมุ่งมั่นของพวกเาอยู่บนการงานที่ดีและขอทรงทำให้ วันนี้ของพวกเาดีกว่าเมื่อวาน และให้ พรุ่งนี้ของพวกเาดีกว่าวันนี้ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยินและทรงอยู่ใกล้และนำความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนใต้และประเทศชาติทั้งมวลด้วยเทอญ สุขสวัสดีวันตรุษอีดดิลฟิตรี 1426  อามีน


 


เรียบเรียงโดย อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์  ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net