Skip to main content
sharethis




ขณะที่หลายภาคส่วนในสังคมเริ่มเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการเมืองรอบสองนั้น  นักการเมืองอาจจะให้ความสนใจการปฏิรูปการเมืองเพียงแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและจะต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จภายในไม่กี่เดือนนั้น   แต่ก็มีนักวิชาการ  และภาคประชาชนบางส่วนเริ่มท้วงติงแล้วว่าการปฏิรูปการเมืองนั้นไม่อาจทำเพียงด้านเดียวเท่านั้น  สิ่งที่สังคมตกหล่นไปคือการปฏิรูปสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย   ความหมายก็คือ  หากเรามีระบอบการเมืองมีกลไกตรวจสอบโปร่งใส  มีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด   แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจน  และเข้าไม่ถึงทรัพยากร  สวัสดิการสังคมยังย่ำเท้าอยู่กับที่   ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าการปฏิรูปนั้นประสพความสำเร็จแต่อย่างใด  เพราะการปฏิรูปหมายถึงการทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้นด้วย


 


สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเวทีหารือเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิรูปการเมือง  มีหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน  สถาบันธรรมรัฐ  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ   ในเวทีดังกล่าวได้มีการนำเสนอประเด็นการปฏิรูปการเมืองที่น่าสนใจว่า  การปฏิรูปการเมืองจะต้องปฏิรูปสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย  โดยจะต้องครอบคลุมประเด็นที่เป็นปัญหาหลักของสังคมไทย ได้แก่การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า  พลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ  การสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ  การกำหนดนโยบายสาธารณะ  ปฏิรูปสื่อสาธารณะ  ที่สำคัญต้องแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในระดับรากหญ้า


 


ความจริงปัญหาสังคมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาเนิ่นนาน  แต่มาในช่วงที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ"  นั้นทำให้ปัญหาดังกล่าวโดดเด่น  เห็นชัดเจนมากขึ้น  ดังนั้นการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นใคร  มาจากไหน   จึงเป็นช่วงเวลาและโอกาสที่ดีที่ภาคประชาชนจะช่วยกันทำให้ประเด็นการปฏิรูปการเมือง  และสังคมมีความคมชัด  และเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น  ไม่ใช่เพียงการพูดของนักการเมืองที่เอาไว้หาเสียง สร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองเท่านั้น


 


ประเด็น "สวัสดิการสังคม"  เป็นหนึ่งในประเด็นทางสังคมที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ    ในช่วงที่ผ่านมาระบบสวัสดิการของสังคมเป็นลักษณะของสังคมสงเคราะห์   คือหน่วยงานรัฐเป็นผู้จัดการ  จนกระทั่งปี 2533  รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้ พ...ประกันสังคม  ทำให้ระบบสวัสดิการเปลี่ยนไปจากที่เน้นการสงเคราะห์มาเป็นแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลตนเองโดยการจ่ายเงินสมทบ 


 


แต่ระบบแบบนี้ก็ยังคุ้มครองเฉพาะกลุ่มคนที่มีงานทำ  และสังกัดอยู่ในหน่วยงานภาคเอกชน และผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น  แม้จะมีข้อเสนอให้มีการปรับปรุง พ...ประกันสังคมให้มีขอบเขตกว้างขวางขึ้น  แต่ก็ยังไม่มีผลใด ๆ 


 


ระบบสวัสดิการสังคมของไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุครัฐบาลทักษิณที่มีนโยบายประชานิยม  แต่เป็นลักษณะสวัสดิการแบบเอื้ออาทร  เช่น นโยบายด้านสาธารณสุขภายใต้แนวคิดหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า  โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค  โครงการบ้านเอื้ออาทร  กองทุนหมู่บ้าน โครงการพักหนี้เกษตรกร   เป็นต้น


 


การดำเนินนโยบายเอื้ออาทรเหล่านี้  สมารถกระจายไปยังกลุ่มประชาชนในวงกว้างได้   จนทำให้รัฐบาลทักษิณกลายเป็นที่นิยม  จนสามารถชนะการเลือกตั้งถล่มทลายถึง 19 ล้านเสียงในสมัยที่แล้ว  ซึ่งทำให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการกุมเสียงเบ็ดขาดในสภา


 


อย่างไรก็ตามสวัสดิการแบบเอื้ออาทรของรัฐบาลทักษิณ  ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการจากหลายภาคส่วนว่าเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้ในการขยายฐานเสียงของตนเอง  เมื่อเร็วๆ นี้ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี  และผศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล  จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานีได้นำเสนอบทความประเด็นดังกล่าวไว้ในเวทีที่จัดโดยศูนย์ข่าวอิศรา  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยอย่างน่าสนใจว่าแม้ว่านโยบายของทักษิณจะมีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือสามารถกระจายทรัพยากรไปให้กลุ่มประชาชนที่เป็นฐานเสียงในวงกว้างได้  


 


แต่ปัญหาของระบบนโยบายดังกล่าวยังไม่กระทบทรัพย์สินในกลุ่มชนชั้นสูง  เช่นในตลาดทุน  และตลาดการเงิน  ดังนั้นอาจารย์ทั้งสองท่านจึงมีข้อเสนอแนะว่าหากจะมีการปฏิรูปนโยบายจะต้องใช้ภาษีก้าวหน้า  ภาษีในตลาดทุน  และขยายการคุ้มรองการจัดการเรื่องประกันสังคม  ประกันการว่างงาน  ประกันการศึกษา ประกันสุขภาพอย่างทั่วด้าน  ซึ่งจะถือว่าเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการสังคมในแบบใหม่ที่กระจายผลประโยชน์ไปสู่กลุ่มคนในวงกว้างที่เป็นธรรมและยั่งยืนจริงๆ


 


ด้านจอน อึ๊งภากรณ์  ..กรุงเทพฯได้เสนอรายงานเรื่องหลักประกันทางสังคมก็ได้แสดงความเห็นว่านโยบายด้านสวัสดิการสังคมของรัฐบาลทักษิณนั้น  โดยเฉพาะเรื่อง 30 บาทที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียงมาโดยตลอดนั้นพบว่ามีทั้งด้านบวก  และลบ  ด้านบวกคือเป็นการริเริ่มที่ดี  แต่ด้านลบคือในทางปฏิบัติรัฐบาลไม่ได้หางบประมาณพอที่ทุกคนจะใช้ประโยชน์ได้  ทำให้เกิดปัญหาการบริการที่ไม่ดี


 


ส่วนสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ  นายจอนมีความเห็นว่ายังให้เงินไม่ครบถ้วนทั้งประเทศ  และจำนวนเงินไม่เพียงพอคือเพียง 300 บาทต่อหัวต่อเดือน  ทั้งนี้อย่างน้อยน่าจะได้ 1,000 บาทขึ้นไปต่อหัวต่อเดือน    ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศมีความเห็นว่าไทยสามารถทำได้  แต่ต้องเก็บภาษีคนรวย  เช่นภาษีมรดก  ภาษีหุ้น  แต่รักษาการรัฐบาลชุดปัจจุบันคงปฏิเสธแน่นอน  เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าใครจะเป็นผู้เสียประโยชน์


 


ส่วนสวัสดิการด้านการศึกษา  แม้รัฐบาลทักษิณจะชูนโยบายการปฏิรูปการศึกษา  แต่ในความเป็นจริงโอกาสด้านการศึกษาของคนจนกลับถอยหลัง   ในระดับประถม-มัธยมไม่ได้เรียนฟรีจริง  เพราะมีการเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ มากมายจากกองทุนกู้ยืมสำหรับมัธยมปลายโดนยกเลิก  เช่นเดียวกับกองทุนกู้ยืมระดับอุดมศึกษาที่ถูกยกเลิกไปเป็นกองทุนให้ผู้กู้คืนหลังมีงานทำ  ทุนนี้ยังไม่รวมค่ากินอยู่  หรือหอพัก  ทำให้คนจนมีโอกาสยากขึ้นที่จะเรียนในระดับมัธยมปลาย  และอุดมศึกษา


 


ดังนั้นในการปฏิรูปการเมือง และสังคมจึงไม่อาจปฏิเสธปัญหาการจัดการด้านสวัสดิการของภาครัฐที่ยังคงเป็นเพียงนโยบายประชานิยม  ที่ยังไปไม่ถึงแก่นแท้ของการจัดการสวัสดิการ   หากจะมีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง  การจัดการด้านสวัสดิการสังคมควรจะมีการนำบทเรียนการจัดการสวัสดิการที่ผ่านมา  ข้อคิดเห็น  ข้อเสนอแนะของจากภาคีหลายภาคส่วนที่เสนอไปแล้วมาทบทวนด้วย


 


ที่สำคัญการจัดการสวัสดิการสังคมควรจะครอบคลุมกลุ่มคนได้อย่างกว้างขวาง  และเท่าเทียมจริงๆ  มิใช่เป็นเพียงแค่นโยบายหาเสียงอย่างที่ผ่านมา.


 


สำนักข่าวประชาธรรม


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 


           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net