Skip to main content
sharethis

(อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผอ.โครงการพัฒนองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (บีอาร์ที)

(คำชี้แจงเรื่องจีเอ็มโอต่อกมธ.พัฒนาสังคมฯ และกมธ.ต่างประเทศ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2547)

"เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ เรื่องอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่จนมาถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีเรื่องใดๆ ปรากฎในเรื่องการจัดการทรัพยากรที่เรามีอยู่ ก็คงต้องเถียงกันไปอย่างนี้ไม่จบ เพราะข้อมูลมันน้อย และทุกคนก็พูดแต่ในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ผมไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในทางใดทั้งสิ้น แต่ผมยังยึดมั่นอยู่ในการจัดการบนฐานของข้อมูล ถ้าข้อมูลเราน้อย การบริหารจัดการก็อาจจะผิดพลาดได้"

ผมไม่ได้ทำวิจัยหรือทำกิจกรรมด้านนี้โดยตรง แต่ได้ติดตามข่าวเรื่องนี้ และในความรู้ส่วนตัวผมมีความมุ่งเน้นมาที่ทรัยพากรทางชีวภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่าประเด็นจีเอ็มโอด้วยซ้ำไป แต่เราไม่ค่อยได้พูดถึงกัน

เรื่องจีเอ็มโอมันมาเชื่อมโยงกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของประเทศต่างๆ ในเขตร้อนรวมทั้งประเทศไทยด้วย ผมเชื่อว่าสว.หลายท่านคงจะทราบเรื่องนี้ดี

ผมได้ยินทั้ง 4-5 ท่านได้พูดถึงแล้ว รู้สึกกังวลและห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เพราะพืชจีเอ็มโอในมุมหนึ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ให้รู้เท่าทันกับสถานภาพของโลกที่เป็นอยู่ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ แต่วิทยาศาสตร์ก็เป็นดาบสองคมเช่นเดียวกัน ถ้าใช้ดีก็เป็นประโยชน์ ถ้าใช้ไม่ดีก็เป็นโทษ

ประเด็นที่ผมอยากจะนำเสนอในที่นี้ก็คือ ผลกระทบที่มีทั้งทางบวกและทางลบที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์และสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดด้วย ผมไม่อยากจะมองว่ามีเฉพาะมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมนุษย์นั้นเอาตัวรอดอยู่แล้ว แต่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เป็นองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศน์นั้น เราไม่รู้เพราะเราไม่ได้สนใจมัน แล้วผลกระทบที่มีต่อสิ่งเหล่านั้นจะย้อนกลับมากระทบกับมนุษย์ในท้ายที่สุด ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ

เท่าที่ฟังมายังไม่มีข้อมูลวิจัยทั้งในเรื่องสุขภาพของคน เท่าที่ฟังมาก็เป็นผลการวิจัยด้านสุขภาพที่เป็นผู้ผลิตจีเอ็มโอ ซึ่งตรงนั้นก็พอจะยอมรับได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์ก็มีความหลากหลายทางพันธุกรรม ฉะนั้นอะไรก็ตามที่ต่างประเทศได้ทำวิจัยแล้ว อาจจะนำมาเป็นข้ออ้างอิงได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตรงนี้บ้านเรายังขาดมิตินี้

ผมไม่อยากเห็นการวิจัยมุ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่ง ควรจะเป็นการวิจัยทั้งระบบ เพราะมันจะมีผลกระทบทั้งระบบ เราคงไม่ลืมคำโบราณที่ว่าลางเนื้อชอบลางยา ฉะนั้นในการวิจัยในเชิงสุขภาพของมนุษย์ที่อาจจะเกิดจากผลกระทบของจีเอ็มโอนี้ต้องให้ความสำคัญ ผมยังไม่เห็นประเด็นนี้เปิดเผยออกมา และคิดว่าอาจจะมีข้อมูลน้อย ถ้าเราสนใจตรงนี้จริงๆ อยากจะทำเรื่องจีเอ็มโอให้ทันโลกจริงๆ ต้องทำในด้านนี้ด้วย คงจะเป็นภาระของรัฐบาล ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่านี่มีความสำคัญ เพราะว่าจากข้อมูลที่เรามีอยู่ในการวิจัยช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มันสะท้อนว่าบ้านเรานั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชสัตว์รวมทั้งจุลินทรีย์มาก จุดด้อยของเราในการวิจัยทางด้านจุลินทรีย์นี้ก็ค่อนข้างมีน้อยมาก เพราะเราไปเน้นแต่เรื่องจุลินทรีย์ที่มีผลกระทบต่อพืช จุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อก่อโรคในพืชและสัตว์ แต่มันมีจุลินทรีย์มากกว่านั้นอีกร้อยเท่าพันเท่า ซึ่งอาจจะมีทั้งคุณต่อสรรพชีวิตทั้งหมด เราไม่ค่อยได้สนใจ เรามีมิตรมากกว่าศัตรูแน่นอน จุลินทรีย์จำนวนมากมีประโยชน์กับเรา อันนี้เป็นจุดด้อยของประเทศไทย ทำให้การถกเถียงถึงผลกระทบเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลเท่านั้น

ฉะนั้นเราคงสรุปไม่ได้มากว่า มันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน แต่ที่ผมฟังมาและพอจะพูดได้ก็คือ จีเอ็มโอมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ข้อดีและข้อเสียนั้นมุ่งเน้นแต่ทางเศรษฐกิจ สังคมหรือไม่ แต่เราไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจีเอ็มโอจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารมากน้อยเพียงใด ผมยกตัวอย่างง่ายๆ พืชจีเอ็มโอที่ปลูกนี้ ละอองเกสรจะปลิวไปได้มากน้อยแค่ไหนในสภาวะของประเทศไทย ทางกรีนพีซบอกว่าไปได้เยอะ แต่ทางนักวิชาการบอกว่าน้อย เราพูดกันโดยที่ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ก็คงจะต้องทำอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกัน

ส่วนพืชที่เราปลูกในดิน ความหลากหลายในดินมีเยอะมาก ซึ่งเราไม่ค่อยรู้กัน เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการประชุมเรื่อง Soil Science Congress ระดับโลก ผมได้ตั้งคำถามว่าประเทศไทยมีอะไรที่จะตักตวงจากความรู้ที่ได้จากการประชุมระดับโลกตรงนั้นหรือไม่ คำตอบก็คือได้เพียงอย่างเดียวคือเป็นผู้จัดประชุมและนำผู้ร่วมประชุมให้เห็นสภาพของเมืองไทย แต่ทางวิชาการแทบจะไม่มีเลย ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

ความหลากหลายของชีวภาพในดินมีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างเช่น เชื้อบีทีที่ใช้กันอยู่ ที่จริงต้นตอมาจากดินในประเทศอิสราเอล และใช้กันอยู่มีประโยชน์มากมายมหาศาล ผมเชื่อว่าในบ้านเราก็อาจจะมีเพราะมีความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ แต่การศึกษาวิจัยในด้านความหลากหลายในดินยังไม่เป็นที่ปรากฏกัน แล้วเราจะมาพูดกันถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพียงนิดเดียว โดยไม่รู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในสภาพดิน

ผมยังตั้งคำถามอยู่คำโตพอสมควรว่า พืชจีเอ็มโอที่ปลูกแล้วนอกจากพอเลนจะกระเด็นไปสู่พืชอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงมากน้อยเพียงใดผมยังไม่ชัดเจน ส่วนสารที่สร้างโดยพืชจีเอ็มโอจะมีพิษหรือไม่มีพิษเพียงใดก็ยังไม่ค่อยชัดเจนอีกเช่นกัน ในขณะเดียวกันสารที่เกิดจากการสร้างของพืชจีเอ็มโอจะไหลลงไปสู่ดินผ่านรากตรงนั้นก็ยังไม่ชัดเจน ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นของการวิจัย ศึกษา หาข้อมูล

ผมไม่มีคำถามใดๆ ที่ทางศูนย์พันธุฯ ได้ทำวิจัยตรงนี้ ผมเห็นด้วยที่ทำวิจัยเรื่องจีเอ็มโอ แต่ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมนั้นยังเป็นประเด็นที่เป็นคำถามก้อนโตที่ยังไม่มีคำตอบ แล้วประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางชีวภาพ มันเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเกษตรกรรมอย่างบ้านเรา ฐานทรัพยากรบ้านเราคือฐานทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งรวมทั้งพืชสัตว์และจุลินทรีย์

ประเด็นที่สำคัญก็คือมันจะโยงไปสู่ความมั่นคงของอาหาร ซึ่งเราประกาศตัวแล้วว่า เราคือครัวอาหารของโลก แต่ผมยังไม่มั่นใจว่า ประเด็นตรงนี้เป็นจริงหรือไม่ ในขณะที่เรากำลังทำนโยบายหลายเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งมันจะโยงไปถึงความมั่นคงของมนุษย์ด้วย ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเชื่อมโยงไปในหลายมิติ ซึ่งที่จริงแล้วปัญหาตรงนี้จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดแต่ไม่รุนแรงเท่าหากเราใส่ใจในเรื่องเหล่านี้เมื่อ 7-8ปีทีแล้ว

ผมขออนุญาตเอ่ยตรงนี้นิดหนึ่งว่า เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วรัฐสภาในขณะนั้นได้มีการประชุมโดยระดมนักวิชาการ ผู้บริหาร และองค์กรเอกชนเข้ามาร่วม ประชุม 2 วัน แล้วมีมติตรงกันว่า เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ เรื่องอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรจะได้มีการประสานในเรื่องนี้อย่างแท้จริง จนมาถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีเรื่องใดๆ ปรากฎในเรื่องการจัดการทรัพยากรที่เรามีอยู่ ก็คงต้องเถียงกันไปอย่างนี้ไม่จบ เพราะข้อมูลมันน้อย และทุกคนก็พูดแต่ในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่

ผมไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในทางใดทั้งสิ้น แต่ผมยังยึดมั่นอยู่ในการจัดการบนฐานของข้อมูล ถ้าข้อมูลเราน้อย การบริหารจัดการก็อาจจะผิดพลาดได้ นี่เป็นประเด็นที่อยากฝากไว้ และผมคิดว่ามันมีเรื่องที่ต้องถกเถียงอีกเยอะ และเวทีตรงนี้คงมีเวลาน้อยเกิน ผมอยากเสนอให้รัฐสภาหรือวุฒิสภาได้จัดเวทีนี้ให้กว้างขวางขึ้น และอยากเห็นข้อสรุปจริงๆ บนฐานของข้อมูลที่มีอยู่แล้ว บนฐานของข้อมูลที่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทยในอนาคต

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net