Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 25 ก.ค.48      "แม้รัฐบาลจะบอกว่าการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านไม่มีใบเสร็จทำอะไรไม่ได้ แต่ข้อมูลในงานวิจัยชิ้นนี้น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวโยงกับนักการเมืองที่ยังมีอำนาจในรัฐบาล" สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ หนึ่งในทีมวิจัย "โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน : คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย"กล่าวในการแถลงข่าวผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์


 


งานวิจัยเชิงลึกดังกล่าวจัดทำมาตั้งแต่ปี 2545 และมีดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้ประสานงานกลุ่มพิทักษ์รักษ์คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ร่วมทีมวิจัยด้วย ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสื่อประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชั่น (สปต.) และเคยจัดแถลงข่าวการทุจริตการจัดซื้อที่ดินของโครงการนี้ไปครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546


 


สุกรานต์ ชี้ให้เห็นเครือข่ายบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการได้รับผลประโยชน์จากโครงการ ได้แก่ กลุ่มบริษัทผู้จัดซื้อที่ดิน กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาแบบturn key และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวพันกับตระกูลนักการเมือง ข้าราชการ โดยเฉพาะบริษัทรับเหมาที่เกี่ยวพันกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ยุติธรรม นายปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ รมช.การต่างประเทศ และรักษาการรมช.พาณิชย์ 


 


สุกรานต์ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ขณะเดียวกันก็มีการย้ายนายสุวัจน์มาเป็นรมว.ยุติธรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีคลองด่าน ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สถาบันอนุญาโตตุลาการ ล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีทั้งสิ้น


 


ดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้ประสานงานกลุ่มพิทักษ์รักษ์คลองด่านกล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลสั่งยุติโครงการไปเมื่อ 24 ก.พ.2546 ได้มีการฟ้องร้อง 4 คดีสำคัญ ซึ่งรัฐก็ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา โดยปล่อยให้บางคดีหมดอายุความไป ขณะที่กรมควบคุมมลพิษก็ไม่ส่งเอกสารสำคัญให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด ทำให้ไม่มีทางจะชนะคดีที่ฟ้องเอกชนได้  อีกทั้งยังมีการให้งบ 65 ล้านทำการศึกษาการเดินหน้าโครงการนี้อีกครั้ง


 


"เรายืนยันว่ามาตั้งแต่ปี 42 ว่าไม่เอาบ่อบำบัด แต่การแก้ปัญหาน้ำเสียในจังหวัดสมุทรปราการก็ต้องจัดการ เพียงแต่ควรจัดการในพื้นที่นั้น"ดาวัลย์กล่าว พร้อมทั้งระบุด้วยว่า โครงการที่บริษัทเอกชนจะซื้อน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วไปใช้ใหม่ตามที่นายอภิชัย ชวเจริญพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ระบุก่อนหน้านี้ไม่น่ามีความเป็นไปได้ และหากเป็นจริงขอให้ระบุราคาที่เอกชนจะซื้อมาให้ชัดเจนและบอกกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและเกษตรกรที่จะต้องซื้อน้ำด้วยว่าเป็นน้ำที่มาจากบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน


 


ด้านสมเกียรติ เดชรักษาวัฒน์ ที่ปรึกษารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  ซึ่งร่วมฟังการแถลงข่าวด้วยระบุว่า ขณะนี้ทางทส.ไม่ได้นิ่งเฉยในการนำคนผิดมาลงโทษ แต่กำลังสรุปข้อมูลที่คณะกรรมการสอบสวนของทส.รวบรวมมา ซึ่งรับรองว่าต้องสาวไปถึงผู้กระทำผิดแน่นอน


 


"ถ้ามัวแต่เร่งจะฟ้องเพื่อเอามัน ไม่รัดกุม จะไม่มีใครได้อะไร บุคคลที่ท่านเอ่ยชื่อกับผลสอบของคณะกรรมการสอบสวนของเราก็ได้ผลใกล้เคียงกัน และขณะนี้รัฐมนตรียงทส.ก็สั่งการชัดเจนว่าถ้าจะเดินหน้าโครงการต่อต้องไม่มองว่าชาวคลองด่านเป็นปัญหา และให้มีส่วนร่วมในโครงการ รวมทั้งแบ่งผลประโยชน์ระยะยาว หรือพัฒนาอาชีพให้ชาวบ้านด้วย" ที่ปรึกษารัฐมนตรีกล่าว


 


ด้านนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น (คปต.) ตั้งข้อสังเกตว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีนักการเมืองคนไหนถูกฟ้องคดีอาญา เพราะต้องมีหน่วยงานรัฐที่เสียหายร้องทุกข์ผ่านปปช.เสียก่อน โดยที่ผ่านมาหน่วยงานก็ไม่ยอมร้องทุกข์  ดังนั้นน่าจะมีการทบทวนแก้ไขกฎหมายในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ใช้สิทธิ หน่วยงานอื่นจะใช้สิทธิในฐานะเป็นตัวแทนประชาชนดำเนินการร้องทุกข์แทนได้หรือไม่ เช่น สภาทนายความ ไม่ใช่ปล่อยให้หมดอายุความอย่างที่เป็น


 


น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา กล่าว่า งานวิจัยนี้ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ภาคประชาสังคมร่วมกันจัดการองค์ความรู้ สมควรที่หน่วยงานจะนำไปประกอบหรือต่อยอดเพื่อหาคนผิดมาดำเนินคดี


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net