Skip to main content
sharethis

 

ประชาไทภาคเหนือ รายงาน



คณะกรรมการประสานงานเครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญ ได้มีการสัมมนาหัวข้อ "ข้อเสนอชนเผ่าและชาติพันธุ์กับการปฏิรูปการเมืองไทย" ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2550 ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Uniserv)


โดยวานนี้ (1 ..) ในช่วงเช้า ได้มีการเสวนาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การปฏิรูปการเมืองไทย โดยมี นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และผู้ประสานงานภาคสนามกลุ่มเพื่อนประชาชน และนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) เป็นวิทยากรนำการเสวนา


"สุริยันต์" ประกาศท่าที คมช. "ร่วมบ้างไม่ร่วมบ้าง" ยืนยัน "ปฏิเสธแต่พร้อมเจรจา"


นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และผู้ประสานงานภาคสนามกลุ่มเพื่อนประชาชน และอดีตผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ ได้ประเมินสถานการณ์ของภาคประชาชนไทยในขณะนี้ว่า โดยหลักของขบวนการภาคประชาชนนี้มี 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเข้าร่วมกับอำนาจปัจจุบันคือ คมช. ส่วนที่สองคือ ร่วมบ้างไม่ร่วมบ้าง ส่วนที่สามคือ ไม่สังฆกรรมเลย โดยกองเลขานุการ สกน. ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า "ส่วนของเราคือร่วมบ้างไม่ร่วมบ้าง ในลักษณะที่ว่า ปฏิเสธแต่พร้อมเจรจา หมายความว่า เราไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารหรอก เพียงแต่ว่าเรามีข้อผูกมัดกับการนำขบวน ที่จำเป็นต้องเรียกร้องทั้งระดับปัญหาปากท้องและระดับปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะฉะนั้นในมิตินี้ การร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องของการจัดขบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อปฏิรูปโครงสร้างตามเป้าหมาย"


ชี้เป้าหมายทางการเมือง 3 ประการยิ่งใหญ่กว่าเขียนรัฐธรรมนูญ


โดยเป้าหมายดังกล่าวนายสุริยันต์กล่าวว่ามี 3 ประการได้แก่ หนึ่ง ต้องสร้างพื้นที่ของการเมืองภาคประชาชน ให้มีพื้นที่เท่าๆ กับส่วนอื่น สอง ต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ เช่น ต้องยกร่างหมวดว่าด้วยสิทธิชุมชนขึ้นมา 1 หมวด ให้เป็นความก้าวหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 17 สาม คือ ต้องจัดกระบวนการเรียนรู้และสร้างความตื่นตัวของพี่น้องประชาชน


"ในสามด้านนี้คือกระบวนการที่ยิ่งใหญ่กว่าการเขียนรัฐธรรมนูญ ซึ่งความจริงแล้วเราเขียน เรามีการสรุป เรามีการปรับกันในเรื่องการปฏิรูปการเมืองมาตั้งแต่ปี 2541 ในปี 2549 ที่เราจัดมาตั้งแต่ในห้องประชุม จนกระทั่งมาเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) บางส่วน นี่คือเป็นเรื่องของการสร้างการเรียนรู้ภาคประชาชน"


"ก่อนที่เราจัดตั้งเป็น "คณะทำงานปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ" เรามีกรอบการทำงาน เช่น หนึ่ง ทำให้รัฐเล็กลง ทำให้อำนาจชุมชน/ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น สอง ทำให้ประชาธิปไตยกินได้ สาม เคารพจารีตประเพณี สี่ ต้องทบทวนวิถีทางการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม"


ซึ่งตนคิดว่าการจัดเวทีในวันนี้ ด้านหนึ่งเพื่อให้ร่างข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองของชนเผ่าให้ชัดเจน และคณะผู้จัดอยากให้ส่วนต่างๆ ได้ระดมความคิดเห็นร่วมกับพี่น้อง นายสุริยันต์กล่าว


ผอ.วิทยาลัยการจัดการทางสังคม เสนอเลือกผู้นำที่คุมได้ เป็นคนของประชาชนแท้จริง


นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) กล่าวถึงผู้นำในสังคมไทยว่า เรื่องผู้นำไม่ใช่เรื่องที่คนๆ หนึ่งจะปล่อยให้คนอีกคนหนึ่งทำอะไรก็ได้ ซึ่งตนอยากเสนอว่าจากนี้ไป ผู้นำของเราต้องเป็นผู้นำของเราจริงๆ ซึ่งตนคิดว่าวิธีการนั้นมีอยู่แล้ว แต่ละท้องที่มีวิธีการหาผู้นำของเราจริงๆ เพียงแต่ว่า "ต้องให้ผู้นำจริงๆ ของเราขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้นำจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้อาวุโส ผู้นำศาสนา ผู้นำสตรี ผู้นำเยาวชน ผู้นำอะไรก็แล้วแต่ เอามาให้ครบ แล้วให้ทุกคนมีบทบาท"


"และกระบวนการให้ผู้นำเหล่านี้ไปเป็นผู้นำทางการ ก็ให้ฐานมาจากผู้นำเหล่านี้ แล้วเราดูแลผู้นำของเราด้วย ให้เขาเป็นผู้นำของเราจริงๆ ให้เขาเป็นตัวแทนของเราจริงๆ ไม่ใช่พอเลือกเสร็จกลายเป็นผู้นำของนายทุนไป ไม่ใช่พอเลือกเสร็จกลายเป็นผู้นำของข้าราชการ เป็นลูกน้องนายอำเภอ หรือเป็นลูกน้องนักการเมือง ไม่เป็นผู้นำของเรา ผมคิดว่าอันนี้ชาวบ้านต้องคิดใหม่ และวิธีนี้ก็คือว่าเราไปดูว่าเราจะทำสภาหมู่บ้าน สภาชาวบ้าน หรือว่าสภาชุมชนท้องถิ่นขึ้นได้อย่างไร เราช่วยกันคิดเลยครับ แล้วก่อรูปเลยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ และเราก็จะเสนอไปที่รัฐธรรมนูญด้วย" ผอ.วิทยาลัยการจัดการทางสังคมกล่าว


รู้การเมืองไม่จำเป็นต้องรู้วิชารัฐศาสตร์ แต่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง


ผอ.วิทยาลัยการจัดการทางสังคมกล่าวต่อไปว่า "ในเรื่องความรู้เรื่องการเมือง ที่หลายท่านกล่าวว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่องการเมือง ผมคิดว่า คนที่จะรู้การเมืองไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นคนที่รู้วิชารัฐศาสตร์ แต่การรู้การเมืองหมายถึง การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งหมายถึง เราไม่นิ่งดูดาย เราต้องใส่ใจและติดตามว่าผู้นำที่ดีของเราควรจะเป็นใคร เราต้องมีส่วนในการเลือก ผู้นำทำอะไรเราต้องติดตาม"


"เมื่อชุมชนมีปัญหาเราต้องเข้าไปแก้ปัญหาของชุมชน เมื่อจะมีการพัฒนาชุมชนเราต้องไปร่วมวางแผนพัฒนาชุมชน เราจะจัดการทรัพยากรอย่างไร เราจะจัดการระบบการเกษตรอย่างไร เราจะมีกองทุน เราจะมีสวัสดิการอย่างไร เราจะมีระบบการศึกษาอย่างไรในชุมชน เราจะมีระบบประชาธิปไตยอย่างไร เป็นต้น เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่เฉยๆ ทำมาหากินไป ปล่อยเขาไป ผมคิดว่าไม่ได้" ผอ.วิทยาลัยการจัดการทางสังคมกล่าว


"และวิธีการเรียนรู้ทางการเมืองคือการเข้าไปมีส่วนร่วมแบบนี้ละครับ ไม่ใช่ไปอบรม ไม่ใช่ไปเรียนวิชารัฐศาสตร์ ไม่ใช่ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาชุมชน แก้ปัญหาชุมชน มีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกผู้นำ แล้วติดตามผู้นำของเราแบบนี้แหละ"


ชี้ความรู้สมัยใหม่เห็นแก่ตัว ขณะที่ภูมิปัญญาเดิมมีคุณธรรม-จริยธรรมกำกับ


ในตอนท้ายของการเสวนา ผอ.วิทยาลัยการจัดการทางสังคม กล่าวถึงเรื่องของความรู้สมัยใหม่ว่า ตอนนี้กระบวนการที่สำคัญก็คือว่า กำลังมีการใช้ความรู้สมัยใหม่กดสมัยเก่า ความรู้สมัยใหม่เป็นความรู้เพื่อเอา เอาเข้าตัวเองเยอะๆ เป็นความรู้ที่เห็นแก่ตัว เป็นความรู้ที่รับใช้ทุนนิยมมาก


"ความรู้หรือภูมิปัญญาเดิมของเรา เป็นความรู้ที่อยู่กับธรรมชาติ เป็นความรู้ที่อยู่กับพี่กับน้อง เป็นความรู้ที่อยู่กับวัฒนธรรม เป็นความรู้ที่อยู่กับศาสนา เพราะฉะนั้นความรู้ ภูมิปัญญาของท้องถิ่น เป็นความรู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมกำกับอยู่ด้วย"


เสนอเลือกผู้นำต้องมีทั้งคุณธรรมและความสามารถ


"เพราะฉะนั้น เราอย่าปล่อยให้ความรู้ใหม่อย่างเดียว เราต้องให้ความรู้ ภูมิปัญญา ที่มีฐานศาสนา ฐานคุณธรรมและจริยธรรม ควบคู่ไปด้วย ดังนั้นเวลาเลือกผู้นำ ต้องเลือกผู้นำทั้งสองอัน คือมีทั้งคุณธรรม มีทั้งความสามารถ คนที่จะมาช่วยดูแลผู้นำ ต้องมีทั้งคนรุ่นเก่า คนรุ่นกลาง คนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต เพราะว่าทำอย่างไรให้พวกเราทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมดูแลตัวเอง จัดการตนเองทุกเรื่อง ไม่ใช่ปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งมาทำแทนเรา ผมคิดว่าเราเริ่มจากตรงจุดนี้ครับ แล้วค่อยๆ ไต่ไปทีละระดับ ไปเป็นระดับชาติ" นายชัชวาลย์กล่าวในที่สุด


สำหรับการจัดสัมมนาหัวข้อ "ข้อเสนอชนเผ่าและชาติพันธุ์กับการปฏิรูปการเมืองไทย" จะจัดถึงวันที่ 2 .. ซึ่งในวันสุดท้ายนี้จะมีการระดมความคิดเห็นจากตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในภาคเหนือเพื่อเสนอต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะมีการมอบคำประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญต่อประธานกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาไทจะรายงานความเคลื่อนไหวของการสัมมนาดังกล่าวให้ทราบต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net