Skip to main content
sharethis


 


29 มี.ค.50 - ราษฎรในรัฐฉานกว่า 400 คน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพม่าเกณฑ์บังคับไปร่วมงานพิธีเปิดโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซางอย่างเป็นทางการที่สถานที่ก่อสร้างเขื่อนในรัฐฉานภาคตะวันออก โดยทางกลุ่มสภาวะ(กลุ่มสภาวะเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งฉาน) ได้เรียกร้องให้ บริษัท MDX ของไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดพิธีเปิดงานในวันนี้ ให้ถอนตัวออกจากโครงการนี้ทันที ก่อนที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิ อันเนื่องมาจากโครงการสร้างเขื่อนที่ไม่โปร่งใสนี้  


 


ทางเจ้าหน้าที่พม่าได้เกณฑ์รถบรรทุก 6 ล้อ จำนวนหลายคันไปใช้สำหรับขนส่งราษฎรที่ถูกเกณฑ์ไปร่วมงานซึ่งมีกว่า 400 คน ไปยังสถานที่ก่อสร้างเขื่อน ซึ่งในจำนวนผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปร่วมงานนี้มีทั้งเด็กนักเรียนจากเมืองโต๋นและเมืองปั่นรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อเตรียมให้การต้อนรับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงที่จะมาร่วมในพิธี  ซึ่งจะเดินทางมาโดยเฮลิคอปเตอร์


 


ก่อนหน้านี้ราษฎรได้ถูกข่มขู่ว่าจะถูกจำคุกหากปฏิเสธการเข้าร่วมงานพิธี ซึ่งการบังคับข่มขู่ของทหารพม่าลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำsรับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อน ชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์มาครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเขื่อนท่าซางซึ่งได้ถูกบังคับให้ย้ายออกจากถิ่นฐานตัวเองเมื่อสิบปีที่ผ่านมา โดยกองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้สั่งอพยพชาวบ้านกว่า 60,000 รายที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบๆ ของเขื่อนท่าซางและที่อยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วม  ทำให้ชาวบ้านที่ได้หลบซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขารอบๆ พื้นที่ที่ถูกบังคับโยกย้าย บางส่วนได้ถูกทหารพม่ากระทำทารุณ ข่มขืน และฆ่า


 


"ชาวบ้านเหล่านี้ ถูกทหารพม่าบังคับให้ย้ายออกจากบ้านเกิดตัวเองด้วยกระบอกปืน วันนี้พวกเขาถูกบังคับให้มาปรบมือและส่งเสียงเชียร์การร่วมมือระหว่างบริษัท MDX ของไทยกับผู้ซึ่งกดขี่ประชาชนตัวเองที่กำลังจะสร้างเขื่อนมหันตภัย อันเป็นสิ่งทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของพวกเขาเอง" จาย จาย โฆษกกลุ่มสภาวะกล่าว


 


ตั้งแต่ปี 2541 บริษัท MDX ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานของไทย ได้เข้าไปเตรียมการเพื่อที่จะสร้างเขื่อนท่าซาง โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2549 บริษัท MDX และรัฐบาลทหารพม่า หรือ สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) ได้ลงนามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ ในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 7110 เมกกะวัตต์


 


"MDX ได้เข้าไปทำงานในพื้นที่สร้างเขื่อนนี้มาเกือบ 10 ปี พวกเขามัวแต่หลงใหลในผลประโยชน์จนมองไม่เห็นการละเมิดสิทธิ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นรอบตัวเองนี้ได้อย่างไร? พวกเราอยากให้พวกเขาเปิดตาให้กว้างและถอนตัวออกทันที  ก่อนที่มือพวกเขาจะเปื้อนเลือดเหมือนกับ SPDC" จาย จาย กล่าว


 


บริษัท MDX ได้เชิญจีนเข้ามาร่วมลงทุนโครงการนี้ด้วย และนักลงทุนของจีนได้เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการอย่างเปิดเผยตั้งแต่ต้นเดือนนี้ เมื่อครั้งที่กลุ่มบริษัท Gezhouba ของจีนได้ประกาศการชนะการประมูลเพื่อสร้างเขื่อนเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้มีรายงานจากคนในพื้นที่อีกว่า บริษัท Yunnan Power Grid corporation ของจีนได้เข้าไปศึกษาและสำรวจในพื้นที่สร้างเขื่อนด้วยเช่นกัน


 


ทั้งนี้ เขื่อนท่าซาง จะสร้างกั้นแม่น้ำสาละวินในรัฐฉาน ประเทศพม่า ศึกษาโดยบริษัทนิปปอน โคเออิจากญี่ปุ่น ประกอบด้วยเขื่อนตอนบนและตอนล่าง กำลังผลิต 7,100 เมกกะวัตต์ สันเขื่อนสูง 188 เมตร ซึ่งจะเป็นเขื่อนที่มีความสูงมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้งบประมาณการก่อสร้างประ มาณ 120,000 ล้านบาท โดยกระแสไฟฟ้าจะขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)


ท่าซาง เป็นเขื่อนแห่งหนึ่งในจำนวน 5 แห่งที่กระทรวงพลังงานของไทยกับกระทรวงการไฟฟ้าแห่งสภาพพม่าได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of Understanding : MOU) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 ประกอบด้วย โครงการเขื่อนท่าซาง (7,000 MW) โครงการเขื่อนฮัจจี (600 MW) โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน (5,600 MW)  โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง (900 MW) โครงการเขื่อนตะนาวศรี (600 MW)


 


 


 


 


ศึกษาข้อมูลเขื่อนท่าซางเพิ่มเติม จากรายงาน "สัญญาณเตือน" ของกลุ่มสภาวะได้ที่ www.slaweenwatch.org


 


 


รายละเอียดเขื่อนท่าซาง "เขื่อนท่าซาง : เมื่อสายน้ำของชาวรัฐฉานหยุดไหล"


http://www.searin.org/Th/SWD/swbook22.pdf


 


 


ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่สร้างเขื่อนท่าซาง


http://www.searin.org/Th/SWD/SWDinfo5.htm


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net