Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 3 เม.ย.50 เวลา 8.30 น.ที่ห้องประชุมปทุมวัน โรงแรมเอเชีย  มีการจัดการสัมมนาเวทีวิพากษ์ร่างกฏหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยมีโครงการบูรณาการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เป็นผู้จัดงาน โดยมีทั้งตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน ที่เป็นผู้จัดทำร่างพรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.... ซึ่งกำลังจะนำเข้าเสนอร่างให้กับรัฐบาลพิจารณา และตัวแทนของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ซึ่งก็ร่วมกันจัดทำร่างพรบ.คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้านพ.ศ. ... คู่ขนานไปกับฉบับของกระทรวงแรงงาน รวมถึงตัวแทนแรงงานจากหลายฝ่ายเข้าร่วมด้วย


 


ในช่วงต้นมีการนำเสนอสาระสำคัญของร่างพรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ... โดยนางลาวัลย์ พัฒนภัค จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงการคลัง จากนั้นจึงมีเวทีเสนอความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปแนวทางของกฎหมายที่จะเกิดผลกับแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยมีนายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ จากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน เป็นผู้ดำเนินรายการ


 


นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เริ่มต้นเสนอให้การคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านนั้น ครอบคลุมไปถึงสมาชิกในครอบครัวของผู้รับงานนั้นด้วย เพราะ เมื่อรับงานไปทำแล้ว สมาชิกในครอบครัวก็จะช่วยทำงาน ซึ่งถ้าเกิดอันตรายขึ้นคนเหล่านั้นก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย และได้รับความเสี่ยงไปพร้อมๆ กันด้วย นอกจากนั้นแล้วการรับงานไปทำที่บ้าน ยังมีต้นทุน มีค่าใช้จ่ายที่ผู้รับงานไปต้องแบกรับสูงกว่าแรงงานในโรงงานในกรณีที่เป็นงานที่เหมือนกัน ชนิดเดียวกัน เพราะต้องเสียทั้งค่าขนส่ง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ  อย่างการเย็บผ้า ค่าเข็มค่าจักร ค่าไฟ ผู้รับงานมาก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กฎหมายที่ออกมาจึงต้องรองรับการให้ค่าแรง ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม อาจควรได้เท่ากับหรือมากกว่างานที่ทำในโรงงานด้วย


 


นางสุจินยังกล่าวถึงเรื่องสวัสดิการและความปลอดภัยว่า ร่างพรบ.ของกระทรวงแรงงานยังไม่ครอบคลุมไปถึงอัตราความเสี่ยงในการทำงานที่อาจเกิดขึ้น จึงเสนอให้มีการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงของงานที่ทำ แต่ละงานก็มีความเสี่ยงต่างกัน บางงานบางอาชีพ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลต่อสุขภาพ ต่อสิ่งแวดล้อมของผู้รับงาน ก็ต้องมีการคุ้มครอง มีสวัสดิการการดูแลที่เหมาะสม และดูแลผลกระทบที่เกิดจากงานด้วย เช่นการเกิดอุบัติเหตุ ความเจ็บปวด การทุพพลภาพที่เกิดจากงานที่ทำด้วย


 


ไพสิฐ พานิชกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวถึงหลักการของกฎหมายฉบับนี้ ว่าในปัจจุบันสภาพของการจ้างงานในระบบโรงงานได้ปรับตัวไปสู่ระบบที่ผลักภาระ เปลี่ยนรูปแบบสัญญาไปสู่การจ้างทำของ ซึ่งถ้าเรามองแต่ผลกระทบมัน แล้วไม่สร้างระบบให้ดี จะมีผลเป็นการขยายพรบ.โรงงานและมีผลเป็นการคลายของกฎหมายคุ้มครองแรงงานลง


 


"กฎหมายฉบับนี้ถ้าไม่วางระบบให้ดีแล้ว จะทำให้ทุกครัวเรือนที่รับงานไปทำที่บ้าน กลายสภาพเป็นโรงงานโดยอัตโนมัติ เป็นสภาพกึ่งโรงงาน ที่กฎหมายแรงงานก็คลุมไม่ถึง เพราะไม่มีลักษณะของโรงงานเป็นกิจลักษณะ จะให้เจ้าหน้าที่โรงงานไปตรวจสอบ เขาก็จะบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของเขา การเอางานไปทำที่บ้าน เท่ากับเป็นการหลบกฏหมายจากการจ้างแรงงานแบบประจำ ไปสู่การจ้างทำของ ซึ่งมันมีปัญหาว่ากฏหมายจะคลุมไปถึงเรื่องนี้ด้วยหรือไม่"


 


อาจารย์ไพสิฐตั้งข้อสังเกตว่าร่างของกระทรวงแรงงานให้การคุ้มครองเฉพาะคนที่รับงานไปทำที่บ้าน ส่วนร่างของเครือข่ายแรงงานนอกระบบจะคุ้มครองคนที่อยู่ในบ้าน สมาชิกในครัวเรือนด้วย แต่ก็ต่างเป็นความสัมพันธ์ของผู้รับงานไปทำกับนายจ้างเท่านั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน บ้านใกล้เรือนเคียงยังไม่มี  แม้ว่างานที่นำไปทำที่บ้านบางประเภทจะเป็นประโยชน์กับคนด้อยโอกาส หรือคนที่ไม่มีงานทำ แต่งานหลายชนิดก็มีผลกระทบและมีอันตรายได้ ซึ่งทั้งสองร่างก็พยายามกำหนดว่าควรจะห้ามงานประเภทใดไปทำที่บ้าน ซึ่งคงต้องมีการถกเถียงต่อไป เขายังเสนอให้มีการคุ้มครองสิทธิของเด็ก คนชรา หรือหญิงมีครรภ์ ให้มีระบบดูแล เช่นกรณีบังคับให้ลูกหรือเด็กในบ้านเข้ามาช่วยงาน


 


"ผมนึกถึงมิเตอร์ของTaxi เขากำหนดค่าพื้นฐานเริ่มต้น 35 บาท หลังจากนั้นจะขึ้นไปเรื่อยๆ ตามระยะทาง ตามความไกล คือจะทำอย่างไรจะให้ค่าตอบแทนของการรับงานไปทำที่บ้าน มีลักษณะผันแปรตามความยากง่ายของงาน ความเร่งรัดของงาน ความเสี่ยงของงาน และจะมีวิธีการ มาตรการอย่างไรในการคุ้มครองเรื่องการจ่ายค่าแรง ให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลา ไม่เนิ่นช้าเกินไปอย่างไร


 


"ผมคิดไปถึงว่าทำอย่างไรให้กลุ่มของชาวบ้านที่รับงานไปทำ รวมตัวกันเป็นสหกรณ์ นำไปสู่การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เป็นเรื่องการเสริมสร้างสวัสดิการด้วย หรือทำอย่างไรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในการรับภาระในเรื่องสวัสดิการดังกล่าว ร่วมกับคนที่รับงานไปทำที่บ้าน อาจต้องคิดกันต่อว่าจะนำไปสู่เรื่องของการจดทะเบียนไหม ซึ่งจะช่วย set ระบบอะไรอีกมากมาย"


 


อาจารย์ไพสิฐกล่าวถึงประเด็นบทลงโทษต่อนายจ้างที่ทำผิดว่าเสนอให้นำหลักกฎหมายหนี้มาใช้ คือถ้าทุกคนมีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย ทุกรายต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น แต่รายใดจะรับผิดมากน้อยเท่าไรให้คำนึงถึงการได้ประโยชน์จากชิ้นงาน รายที่ได้ประโยชน์น้อยก็รับผิดน้อย รายที่ได้ประโยชน์มาก็รับผิดมาก


 


นายมนัส โกศล รองประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอให้กำหนดชัดเจนลงไปว่าค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และมีกองทุนเงินทดแทนสำหรับดูแลสวัสดิการการเจ็บไข้ได้ป่วยของผู้รับงานไปทำ โดยมีนายจ้างเป็นผู้รับผิดจ่ายเงินสมทบกองทุน ซึ่งไม่มากมายนัก นอกจากนั้นนายมนัสยังตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์ข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA จะส่งผลกระทบต่อแรงงาน ส่งผลต่อผู้ที่รับงานไปทำที่บ้านด้วย


 


รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งคำถามถึงร่างพรบ.ของกระทรวงแรงงานที่กำหนดให้ยกเว้นไม่บังคับใช้แก่รัฐและรัฐวิสาหกิจ เป็นไปได้ว่าอาจจะเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ทำให้รัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนที่ต้องคำนึงถึงผลกำไรมากขึ้น และร่างพรบ.นี้ยังมีความเป็นห่วงนายจ้างค่อนข้างมาก น่าจะเพิ่มความรับผิดของนายจ้างมากกว่านี้ นอกจากนั้นการคุ้มครองสิทธิแรงงานยังไม่ครอบคลุม กองทุนเงินทดแทน สวัสดิการสังคม ประกันสังคม ยังไม่ถูกให้ความสำคัญ


 


รศ.ดร.วรวิทย์กล่าวต่อไปถึงข้อควรระวังคือการไปคุ้มครองหรือส่งเสริมกระแสการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย ของผู้ผลิตหรือนายจ้างโดยการผลักภาระมาสู่บ้าน โดยที่เดิมกลไกตลาดดึงคนต่างจ้งหวัดเข้ามาทำงานในโรงงาน แต่ตอนนี้กลไกตลาดเข้าไปแทรกถึงในครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยกำหนดได้ จึงต้องระวังการหนุนเสริมให้ไทยกลายเป็นฐานแรงงานราคาถูก 


 


"สำนักพัฒนามาตราฐานแรงงานทำการศึกษาเรื่องผู้รับงานมาทำที่บ้านนี้ แต่ข้อมูลไม่ได้ถูกนำมาใช้ในพรบ. อย่างการกระจายตัวของผู้รับงานมาทำ 10% อยู่ในกทม. และกว่า 90% อยู่ในต่างจังหวัด แต่เรากลับกำลังคิดถึงระบบที่รวมศูนย์มาแก้ปัญหา เราจะรู้ข้อเท็จจริงในชนบทได้อย่างไร ทำไมเราไม่เอาเรื่องนี้ decenterization ให้ชุมชนจัดการ มีส่วนร่วม  นอกจากนั้นถามว่าพ.ร.บ.ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้รับงานมาทำที่บ้าน ซึ่งงานศึกษาบอกว่าต้องการงานที่ทำอย่างต่อเนื่อง และคุ้มครองค่าตอบแทน ก็ไม่มีว่าจะกำหนดค่าจ้างอย่างไร ค่าจ้างจะเป็นธรรมได้อย่างไร เราต้องส่งเสริมให้มีการต่อรอง มี่กระบวนการรวมกลุ่ม" รศ.ดร.วรวิทย์กล่าว


 


ในช่วงท้าย รศ.ดร.วรวิทย์ ฝากถึงกระทรวงแรงงานให้รวบรวมข้อเสนอแนะ และเปิดรับคำวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนำไปปรับปรุงร่างกฎหมาย และกฎหมายหลายฉบับที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือไม่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และเครือข่ายแรงงานนอกระบบก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมเพื่อให้ร่างของตนสมบูรณ์มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net