Skip to main content
sharethis

สุรพล ธรรมร่มดี


 


การเดินขบวนประท้วงการประชุม G8 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา เกิดความรุนแรงขึ้นจากการปะทะกันระหว่างนักกิจกรรมบางส่วนจากกลุ่ม Black Box กับตำรวจ มีผู้บาดเจ็บ ผู้ถูกจับกุม และรถยนต์ถูกเผาไหม้


สิ่งนี้กลายเป็นภาพข่าวแพร่กระจายโดยทั่วไป และนำมาซึ่งข้อถกเถียงในเรื่องการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ของขบวนการทางสังคม


 


ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเตรียมการเข้าปะทะกับตำรวจของกลุ่ม Black Box ด้วย ในที่ประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง Another World Is Possible วันที่ 3 มิ.ย. เวลา 10.00 น.ที่เต้นท์ใหญ่ในแค้มป์ที่บราโมว เมืองรอสต็อก จัดโดยกลุ่ม Attack ในกลุ่มสนทนาประเด็นว่าด้วยเรื่อง อำนาจรัฐกับขบวนการทางสังคม มีนักกิจกรรมของ Black Boxเข้าร่วมและแถลงแนวคิดของเขาต่อการใช้ความรุนแรงต่อตำรวจว่า ขณะนี้เราอยู่ในโลกที่ร้อนระอุด้วยภัยสงครามและปัญหาสังคม การปะทะกับตำรวจเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่จะปลุกให้คนทั่วไปตื่นจากการหลับไหลไปกับชีวิตประจำวันที่ราบรื่น มั่นคงแล้วหันมาเห็นการต่อสู้กับปัญหาและระบบทุนนิยม  นอกจากนี้ ยังทำให้สื่อมวลชนสนใจทำข่าวการเคลื่อนไหวเผยแพร่ออกมาได้มีพลังมากกว่าแค่การเดินขบวนโดยสงบ


 


ความเห็นเช่นนี้ได้รับการวิจารณ์จากผู้เข้าร่วมในกลุ่มอย่างมาก หลายคนเห็นตรงกันว่า การใช้ความรุนแรงจนเกินเหตุในกรณีการเดินขบวนประท้วง G8 เป็นข้อผิดพลาดเชิงยุทธวิธี เพราะทำให้ผู้ที่เข้าร่วมการเดินขบวนต้องผละออกจากขบวน เพราะไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ยังทำให้สาธารณชนสงสัย และเข้าใจผิดต่อความมุ่งหมายของการเดินขบวน และเมื่อสาธารณชนไม่เห็นด้วย ขบวนการย่อมเคลื่อนไหวต่อไปได้ยาก


 


นักกิจกรรมจากอิตาลีเล่าประสบการณ์ที่เคยร่วมจัดการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เมืองฟลอเรนซ์ให้ฟังว่า ความทรงพลังของการเคลื่อนไหว อยู่ที่การได้รับการยอมรับนับถือจากมวลชนทั่วไป คราวนั้น คนนับแสนเข้าร่วมโดยไม่มีสักคนที่ขว้างก้อนหินใส่ตำรวจ และผลสะเทือนก็ไปถึงคนทั่วไป


 


ผู้เขียนแลกเปลี่ยนกับที่ประชุมด้วยว่า ไม่อาจเห็นด้วยกับแนวคิดที่เป็นสูตรสำเร็จต่อการมองโลกว่าอยู่ในภาวะสงครามของพวก Black Boxได้ ความรุนแรงของอำนาจรัฐควรถูกพิจารณาอย่างเป็นรูปธรรม และตามกาลเทศะ ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดการกับอำนาจรัฐอย่างถูกต้อง และได้รับการยอมรับจากมวลชน โดยมีหลักการว่า เราจะไม่เป็นผู้เริ่มใช้ความรุนแรง และหากเกิดความรุนแรงจากอำนาจรัฐ เรามีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะป้องกันตัว ในกรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า นักกิจกรรมส่วนใหญ่ของ Black Boxเป็นเยาวชน ซึ่งย่อมมีแนวโน้มที่ต้องการปฏิบัติการที่เฉียบคม กระนั้นเมื่อเข้ามาร่วมทำกิจกรรมเป็นเครือข่ายใหญ่ น่าจะแลกเปลี่ยนและทำความตกลงร่วมกันว่า ในการเดินขบวนคราวนี้ มีขอบเขต เป้าหมาย และวิธีการอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกกลุ่มปฏิบัติร่วมกัน ดังนั้น ทางออกอยู่ที่การได้เปิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่เสียก่อน


 


การถกเถียงในเรื่องนี้ ไม่เพียงจำกัดอยู่ในห้องสัมมนาเท่านั้น แต่กลายเป็นประเด็นใหญ่โตขึ้นมา เมื่อคณะผู้ประสานงานของ Attack และนักกิจกรรมบางส่วนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย และกระทั่งเห็นว่า พวก Black Boxไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว


 


Donna นักเขียนจากหนังสือพิมพ์ปีกซ้าย Junge Welt เห็นว่า ความเห็นเช่นนั้นออกจะมากเกินไป Black Box เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการประท้วง G8 มาตั้งแต่ต้น และสามารถจัดตั้งผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมได้มาก แน่นอนว่ามีบางส่วนที่อาจแตกออกจากการเดินขบวนไปปะทะกับตำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องคิดวิธีดูแลควบคุมให้ดีสำหรับกลุ่มปีกซ้ายที่มีคนถึง 7,000 คน ฉะนั้น ทางออกไม่ใช่ผลักพวกเขาออกจากขบวน แต่ตรงกันข้ามควรดึงเข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนกัน


 


นอกจากนี้ Bjorn จากกลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์ (Antifaschishische linkc) หนึ่งในแกนนำของเครือข่ายInterventionist Lefts ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันว่า เป็นปัญหาการจัดการเดินขบวนที่ผิดพลาด โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มในขบวนอย่าง Black Boxแตกออกไปสู้กับตำรวจ แม้ว่าอันที่จริงได้เตรียมคนดูแลการเดินขบวนไว้แล้วถึง 500 คนเพื่อดูแลกลุ่มปีกซ้ายที่เข้าร่วมกว่า 7,000 คน สิ่งนี้เป็นบทเรียนที่น่าเรียนรู้และแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะความรุนแรงซึ่งควรใช้เมื่อจำเป็นต้องป้องกันตัวและไม่เกินเลยจนผู้คนรับไม่ได้ นั่นคือ จะต้องกลับมาสงบสันติในที่สุด สิ่งนี้จึงจะทำให้ขบวนการเกิดความชอบธรรมและยอมรับนับถือจากมวลชน ดังนั้น ท่าทีของขบวนการโดยรวมต่อเรื่องนี้คือ ชวนกลุ่ม Black Boxเข้าสู่การเรียนรู้บทเรียนนี้โดยผ่านการแลกเปลี่ยนที่เปิดกว้าง


 


บทเรียนจากการเดินขบวนประท้วง G8 และท่าทีที่มีต่อการจัดการปัญหาผู้คนที่มาร่วมทำกิจกรรมร่วมกันน่าเป็นอนุสติสำคัญสำหรับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของไทย เพราะเราเพิ่งผ่านพ้นการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลทักษิณ และจนไปถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารในปัจจุบัน เรามีบทเรียนหลายบทที่ต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะ การเป็นตัวของตัวเอง ไม่เคลื่อนไหวมวลชนด้วยการพึ่งพิงอำนาจเก่าหรือใหม่ แต่ด้วยทางออกที่สามของเราเอง ยิ่งไปกว่านั้น ความเห็นที่แตกแยกกันในหมู่นักกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว เราได้ใช้ท่าทีที่เปิดพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง หรือเพียงแต่ประนามกันผ่านสื่อของตนเท่านั้น


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net