Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.50 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่เสนอโดยรัฐบาล กับ ฉบับของนายสมชาย แสวงการ สนช.และคณะ โดยกฎหมายนี้จะดูแลการออกใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์


ผู้สื่อข่าวรายานว่า ที่ประชุมลงมติรับหลักการฉบับที่รัฐบาลเสนอ ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 44 เสียง และลงมติรับร่างที่สมาชิก สนช.เสนอด้วยคะแนนเอกฉันท์ 46 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 27 คน แปรญัตติเป็นเวลา 7 วัน โดยให้ยึดร่างรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา 


ทั้งที่ องค์ประกอบของกรรมาธิการ อาทิ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ, นายเจษฎ์ โทณะวนิก นักวิชาการ, นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการ, นายมณเฑียร บุญตัน สมาคมคนตาบอด, นายสมเกียรติ อ่อนวิมล สนช., นายสมชาย แสวงการ สนช., นางบัญญัติ ทัศนียะเวช สนช., นายภัทระ คำพิทักษ์ สนช. อย่างไรก็ดี ไม่มีองค์ประกอบของกรรมาธิการที่มาจากสายสื่อชุมชน เคเบิลท้องถิ่น สื่อภาคประชาชน 


นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สายสื่อมวลชน ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว กล่าวว่า ปัจจุบันมีปัญหาที่มีผู้ประกอบการวิทยุชุมชน 2,000-3,000 แห่งอ้างตัวว่าเป็นวิทยุชุมชน ทั้งที่คลื่นที่ใช้เป็นทรัพยากรของชาติ สำหรับสิ่งที่ยังเป็นข้อกังวลในหลายมาตรานั้น อยากให้ภาคประชาชนติดตาม หากเห็นอะไรไม่ถูกต้องก็ให้ทวงติงผ่านกรรมาธิการได้ 


สำหรับความแตกต่างระหว่างร่างกฎหมายฉบับที่รัฐบาลเสนอกับฉบับที่สมาชิก สนช.เสนอนั้ัน นายสมชายกล่าวว่า ฉบับที่ สนช.เสนอไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการเงิน เพราะ สนช.ไม่สามารถเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินได้ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่า่ฉบับใดดีกว่ากัน  


นอกจากนี้ ในส่วนที่แตกต่างกันคือเรื่องกรรมการจริยธรรม ซึ่งในร่างของรัฐบาลมีกำหนดไว้ แต่ร่างของ สนช.ไม่มี "เพราะเรามองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องสภาวิชาชีพ ผมเชื่อในหลักปกครองตนเอง ต้องมีสภาวิชาชีพ" นายสมชายกล่าว 


เขากล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยในส่วนของบทเฉพาะกาล มาตรา 90-92 ในร่างของรัฐบาล ที่ให้กรมประชาสัมพันธ์มีส่วนในการทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ดูแลการออกใบอนุญาตชั่วคราว กำหนดอายุไม่เกิน 1 ปี  


ทั้งนี้ ในร่างเดิมของรัฐบาล จะให้จัดตั้งคณะกรรมการชั่วคราวกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนและการประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (กวช.) มาดูแลวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวี ซึ่งมีตัวแทนมาจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยได้กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการ กวช. ให้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว และกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่  มีอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งนายสมชายเห็นว่า ต้องการให้มีการตีความหน้าที่การให้ใบอนุญาตชั่วคราวอายุไม่เกิน 1 ปีอย่างละเอียด เพราะต้องการให้ชี้ชัดลงไปว่า เป็นใบอนุญาตชั่วคราว 


เมื่อถามถึงสาระสำคัญในกฎหมายที่มีแนวโน้มว่า กรมประชาสัมพันธ์และหน่วยงานรัฐที่กุมคลื่นอยู่อาจจะสามารถครอบครองคลื่นความถี่ได้ต่อไปนั้น นายสมชายกล่าวว่า สาระส่วนนี้ในร่างทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกันเล็กน้อย  


"เขาใช้คำว่า ต้องออกให้กรมประชาสัมพันธ์กับรัฐบาล ของเราใช้คำว่า ต้องออกให้ "ตามความจำเป็น" ซึ่งต้องมาพิสูจน์ว่าตามความจำเป็นมีเท่าไร สมมติพิสูจน์ว่า ตามความจำเป็นบอกว่ามี 75 จังหวัด ก็ต้องพิสูจน์ และเมื่อจำเป็นแล้วผลิตเองหรือเปล่า หรือจำเป็นแล้วเอาไปให้เช่า นั่นก็ไม่จำเป็น"  


เมื่อถามว่า ทำไมต้องมีมาตรานี้นั้น นายสมชายกล่าวว่า "ตราบใดที่รัฐไทยยังคิดว่าต้องมีกระบอกเสียง เราก็สู้ไม่ไหว เขาจึงไม่ให้ช่อง 11 มาเป็นทีวีสาธารณะ แล้วถ้าให้เขาก็จะไปเอาอีกอันหนึ่งมาทันที เขาจะไปเอาไอทีวีมาทันที เรียบร้อย กรมประชาสัมพันธ์ก็ขายโฆษณา รัฐบาลยังต้องการให้กรมประชาสัมพันธ์ยังมีโทรทัศน์และวิทยุอยู่" 


"มันก็ต้องยอมเขาในระดับหนึ่ง เป็นเทคนิคส่วนหนึ่ง แล้วคิดว่าถ้าได้มาระดับหนึ่งอาจจะพอตั้งรับได้ อาจจะไม่ดี พูดได้เลยว่าไม่ดี แต่ถ้าได้มาประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 70% ภาคประชาชนอาจจะช่วยดึงไว้ไม่ให้มันบิดเบี้ยว ทำให้มันตรงขึ้น แต่เขาเห็นตรงกับเราเรื่องปัญหาวิทยุชุมชนที่มันบิดเบี้ยว" นายสมชายกล่าว 


เครือข่ายสื่อคัดค้านสภาแต่งตั้ง ออกกฎหมายเกี่ยวข้องสิทธิเสรีภาพ
บ่ายวันเดียวกัน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายสื่อภาคประชาชน จากภาคเหนือ ใต้ และอีสาน เดินทางมายังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือถึงประธาน สนช. ผ่านนายสมชาย แสวงการ ขอให้ สนช.ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.... พร้อมทั้งยื่นหนังสือดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย


โดยในจดหมายระบุว่า นับจากมีการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 49 มาจนวันนี้ เหลือเวลาอีักเพียง 43 วันจะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ในขณะที่สังคมไทยกำลังฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการมีรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนมาทำหน้าที่นิติบัญญัติ แต่ขณะเดียวกัน สนช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารยังคงเดินหน้าพิจารณากฎหมายหลายฉบับ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อและสิทธิเสรีภาพอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 


คปส. และเครือข่ายสื่อภาคประชาชน ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด สมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) แสดงจุดยืนในการคัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมายด้วยเหตุผลดังนี้ 


1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่สมควรพิจารณาร่างกฎหมายใดๆ อีก โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่มีความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ที่ควรเปิดกว้างให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรอง ตรวจสอบถ่วงดุล อย่างเปิดเผย โปร่งใส 


2.สาระในร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีหลายประการที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อวิทยุโทรทัศน์ และสิทธิในการสื่อสารของสื่อภาคประชาชน เช่น การให้อำนาจรัฐสามารถสั่งปิดหรือถอดถอนรายการที่รัฐคิดว่ากระืทบต่อความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงของผู้่มีอำนาจรัฐ เป็นต้น  


3.ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีหลักประกันในการปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์ของรัฐให้เป็นอิสระและมีเสรีภาพแท้จริง ในทางตรงกันข้ามยังคงอภิสิทธิ์ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพ รวมถึงเอกชนรายใหญ่ที่ได้รับสัมปทานยังคงครอบครองทรัพยากรสื่อวิทยุโทรทัศน์ต่อไปเช่นเดิม 


4.กฎหมายนี้ไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนต่อสิทธิการประกอบกิจการของสื่อภาคประชาชน เช่น วิทยุชุมชน สื่อท้องถิ่น และเคเบิลทีวีรายเล็กอย่างเป็นอิสระและเท่าเทียม 


5.กระบวนการเจรจาต่อรองในการเข้าไปเป็น กมธ. เพื่อปรับแก้กฎหมาย ไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและกลุ่มธุรกิจสื่อขนาดเล็กได้เข้าถึง เนื่องเพราะตัวแทนของหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของสื่อ เช่น กองทัพและกลุ่มทุนโทรทัศน์รายใหญ่ เ้ข้าไปเป็นสมาชิก สนช. และมีอิทธิพลในการเจรจาต่อรองความเป็นไปของร่างกฎหมายดังกล่าว จนไม่สามารถเกิดการถ่วงดุลที่จะนำพาร่างกฎหมายดังกล่าวไปสู่การปฏิรูปสื่อได้แท้จริง 


ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวลงนามโดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์ิเพื่อการปฏิรูปสื่อ นายอินทอง ไชยลังกา คณะทำงานเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ, นายไพศาล ภิโลคำ รองประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา, น.ส.สดใส สร้างโศรก ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อภา่คประชาชนอีสาน, นางวชิราภรณ์ โครตสาร ผู้ประสานงานสมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน, ประสาร ประดิษฐ์โสภณ ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อภาคประชาชนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net