Skip to main content
sharethis


 


ก่อนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.50 ผู้สมัคร ส.ส.เกือบทุกพรรคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หาเสียงว่าจะแก้ปัญหาอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ทับที่ทำกินชาวบ้าน ซึ่งก็เหมือนกับการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ที่ได้ชูนโยบายนี้หาเสียงด้วยเช่นกัน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2542 ที่มีการประกาศตั้งเขตอุทยานดังกล่าวทับที่ทำกินชาวบ้าน


 


มาวันนี้ ดูเหมือนว่ากระบวนการแก้ปัญหาอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกิน ที่ถูกระบุว่าเป็นเงื่อนไขหนึ่งของความไม่สงบในพื้นที่ รุดหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นความพยายามทั้งจากฝ่ายรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชาวบ้านในพื้นที่


 


ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ม.ค.51 มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สไหงปาดี กรณีพื้นที่นำร่องอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับอำเภอ ตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550


 


ในที่ประชุมได้รับฟังรายงานผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวไปแล้ว เพื่อจะร่วมกันจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อขอให้เพิกถอนสภาพอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้านให้ทันการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ม.ค.51 ผ่านทางคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. ที่มี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานคณะอนุกรรมการ


 


การประชุมในวันดังกล่าว เป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่ต่อเนื่องมา เกี่ยวกับการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนกรณีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบาเจาะ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2550


 


นายสายัณห์ ชนะชัยวงศ์ นายอำเภอบาเจาะบอกว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่เมื่อปลายปี 2549 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ได้เข้าจับกุมชาวบ้านที่กำลังตัดโค่นต้นยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทน จึงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากชาวบ้านยืนยันว่าได้เข้ามาทำกินในที่ดินดังกล่าวก่อนประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี


 


ในการเข้าสำรวจของทางอำเภอพบว่า พื้นที่สวนยางของชาวบ้านบางรายมีเอกสารแสดงการครอบครองอยู่ก่อนที่จะมีการประกาศตั้งเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เมื่อปี 2542 และก่อนที่จะประกาศกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาบูโด เมื่อปี 2508 เสียอีก โดยประกาศตั้งเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีนั้น ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาบูโดด้วย นั่นเป็นเหตุให้ชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในที่ดินของตน กลายเป็นผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทันที


 


เขาบอกว่า ทางอำเภอจึงหยิบกรณีที่ดินของนายหะยีขาเดร์ สะมะนิ บ้านสุไหงบาตู หมู่ที 5 ตำบลลูโบะสาวอ ขึ้นมาเป็นกรณีตั้งต้นในการแก้ปัญหา โดยนายหะยีขาเดร์ มีเอกสารแสดงการครอบครอง สค.1 ซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2498 ก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีและเขตป่าสงวนแห่งชาติบนเทือบเขาบูโดเสียอีก


 


ทั้งนี้ การดำเนินการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับอำเภอได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 19 (นราธิวาส) และศูนย์ปฏิบัติการที่ดินจังหวัดปัตตานี จากเดิมที่แต่ละหน่วยงานพยายามแก้ปัญหาทับที่ทำกินชาวบ้านเฉพาะในพื้นที่ของตนเอง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ของ (ศจพ.) เมื่อวันที่ 9 พ.ย.50 ด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวที่มี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานนั้น ได้หยิบยกปัญหาอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีทับที่ทำกินชาวบ้านขึ้นมาแก้ปัญหาด้วย


 


จากการสำรวจข้อมูลของคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ สรุปได้ว่า ได้แบ่งกลุ่มปัญหาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ดินนอกเขตอุทยาน 745 ราย 994 แปลง จำนวน 4,116 ไร่ กลุ่มที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ 795 ราย 1,108 แปลง จำนวน 4,942 ไร่ และกลุ่มที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 264 ไร่ 332 แปลง จำนวน 2,439 ไร่ รวมผู้เดือนร้อนทั้งหมด 1,804 ราย 2,434 แปลง จำนวน 11,505 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา


 


คณะกรรมการฯ ระดับอำเภอจึงมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ คือ ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติมอบหมายให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 ไปตรวจสอบ ที่ดินนอกเขตอุทยานแห่งชาติมอบหมายให้กรมที่ดินตรวจสอบ และที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติมอบหมายให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 19 (นราธิวาส) และศูนย์ปฏิบัติการที่ดินจังหวัดปัตตานีตรวจสอบ ภายใน 15 วัน แล้วรายงานผลต่อคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ ในวันที่ 9 มกราคม 2551


 


นอกจากนี้ในส่วนมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ของ ศจพ.ที่มีพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานอนุกรรมการนั้น เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.50 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ได้เร่งรัดให้กรมที่ดินตรวจสอบและออกเอกสารสิทธิ์ให้ชุมชนในพื้นที่โดยด่วน เนื่องจากทราบว่ามีการตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 300 ปีแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความสมานฉันท์ และลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ลงได้อย่างมาก แต่การดำเนินงานยังขาดงบประมาณ จึงขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) พิจารณาสนับสนุนงบประมาณพร้อมทั้งให้สำรวจหรือประมวลข้อมูลสวนยางพาราในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติ แยกตามอายุของสวนยางเพื่อประโยชน์ในการเสนอแนวทางแก้ปัญหาการตัดโค่นต้นยางเพื่อปลูกทดแทนต่อรัฐบาลต่อไป และให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ตรวจสอบรังวัดและลงพิกัดตำแหน่งเขตรอบนอกอุทยานแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นตำแหน่งอ้างอิงของการแก้ปัญหาของหน่วยงานอื่นๆ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างน้อย 1 หมู่บ้านก่อนการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับอำเภอในวันที่ 9 ม.ค.51


 


โดยการลงพิกัดตำแหน่งเขตรอบนอกอุทยานแห่งชาตินั้น ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.51 มีมติเพิ่มเติมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จครอบคลุมพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ในพื้นที่อำเภอบาเจาะในระยะเวลา 4 เดือน


 


นายกฤษศักดิ์ฎา สีเพชร์ ปลัดอำเภอบาเจาะ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ บอกว่า หากลงพิกัดตำแหน่งเขตรอบนอกอุทยานแห่งชาติแล้วเสร็จ จะส่งผลให้กรมที่ดินสามารถรังวัดและออกโฉนดที่ดินนอกเขตอุทยานแห่งชาติฯ ให้ชาวบ้านทั้ง 745 รายได้ เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่กล้าเข้าไปรังวัดเพราะเกรงจะล้ำเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เพราะยังไม่ได้กำหนดแนวเขตที่ชัดเจน มีเพียงแนวเขตที่กำหนดขึ้นในภาพถ่ายทางอากาศเท่านั้น


 


สำหรับพื้นที่นำร่องที่คณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ศจพ. กำหนดขึ้นในการตรวจสอบและลงพิกัดแปลงที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ในเขต 2 ตำบล คือ การเยาะมาตี และตำบลบาเจาะ จากทั้งหมด 5 ตำบล รวม 15 หมู่บ้าน ที่มีปัญหาอุทยานแห่งชาติฯ ทับที่ทำกินชาวบ้านในพื้นที่ 5 ตำบล


 


สำหรับตำบลกาเยาะมาตีมี 3 หมู่บ้าน ที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่น่าร่อง ได้แก่ หมู่ที่ 3 บ้านกาเยาะมาตี หมู่ที่ 4 บ้านส้มป่อย และหมู่ที่5 บ้านบลูกา ส่วนตำบลบาเจาะ 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 4 บ้านสะแต หมู่ที่ 6 บ้านบาดง โดยมีสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี, อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์กรมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทีมทำงานแก้ไขปัญหาที่ดิน ชาวบ้านในพื้นที่ นายพราน ร่วมกันดำเนินการดังนี้


1.       ตรวจสอบรังวัดโดยใช้อุปกรณ์ GPS ลงพิกัดตำแหน่งแปลงที่ดินของชาวบ้านที่อยู่ในเขตอุทยานและจัดทำแบบสำรวจการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่า ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2550 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2551 รวม 15 วัน ได้ข้อมูลดังนี้


ตำบลกาเยาะมาตี


หมู่ที่ 3 บ้านกาเยาะมาตี 206 ราย 242 แปลง จำนวน 1,033 ไร่ 1 งาน


หมู่ที่ 4 บ้านส้มป่อย 100 ราย 108 แปลง จำนวน 643 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา


หมู่ที่ 5 บ้านบลูกา 195 ราย 204 แปลง 884 ไร่ 42 ตารางวา


รวม 501 ราย 544 แปลง รวมจำนวน 2,560 ไร่ 3 งาน 83 ตารางวา


ตำบลบาเจาะ


หมู่ที่ 4 บ้านสะแต 83 ราย 91 แปลง จำนวน 598 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา


หมู่ที่ 6 บ้านบาดง 303 ราย 356 แปลง จำนวน 1,294 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา


รวม 386 ราย 447 แปลง รวมจำนวน 1,892 ไร่ 4 งาน 141 ตารางวา


2.       นำตัวเลขจากค่าพิกัดตำแหน่งที่ดินมาใส่ในโปรแกรม Autocad และโปรแกรมสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ GIS โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเป็นฐานข้อมูล


 


สำหรับข้อมูลผู้ครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ที่ผ่านการรังวัดแปลงที่ดินGPS และลงค่าพิกัดGIS แล้วในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านกาเยาะมาตี จากทั้งหมด206 ราย พบว่า ผู้มีที่ดินครอบครองน้อยกว่า 2 ไร่ จำนวน 50 ราย ที่เหลือส่วนใหญ่ครอบที่ดินประมาณ 3-6 ไร่ มากที่สุด 20 ไร่ มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ครอบครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ที่เหลือครอบครองมาก่อนหน้านั้น แต่ทั้งหมดไม่มีเอกสารแสดงการครอบครองที่ดิน


 


เช่นเดียวกันหมู่ที่ 4 บ้านส้มป่อย จากทั้งหมด 100 ราย พบว่า ผู้ครอบครองที่ดินน้อยกว่า 2 ไร่ มี 19 ราย ส่วนใหญ่ครอบครอง 4 ถึง 10 ไร่ มากที่สุด 38 ไร่ มีทั้งที่เริ่มครองมาก่อนและหลังปี พ.ศ.2500


 


ส่วนหมู่ที่ 5 บ้านบลูกา จากทั้งหมด 195 ราย พบว่า มีถึง 68 รายที่ครอบครองน้อยกว่า 2 ไร่ ส่วนใหญ่ครอบครอง 2 ถึง 8 ไร่ มากที่สุด 30 ไร่ ส่วนใหญ่เริ่มครอบครองหลังปี พ.ศ.2500 แต่ก่อนปี พ.ศ.2542 ที่มีการประกาศตั้งเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี และมีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่มีเอกสารสิทธิ์ สค.1


 


โดยที่ดินทั้งหมดที่ลงพิกัดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพาราเก่า รองลงมาเป็นสวนผลไม้ โดยส่วนยางพารานั้น ส่วนใหญ่มีกำหนดโค่นในช่วงปี 2551-2560 แต่สวนยางพาราเก่าที่มีอายุครบกำหนดแล้วก่อนหน้านั้นก็ยังไม่สามารถโค่นได้ เพราะผิดกฎหมายเนื่องจากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาตินั่นเอง


 


นายสายัณห์ บอกด้วยว่า เหตุที่ต้องรีบเสนอขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น เนื่องจาก ศจพ.ซึ่งมีคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่มี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานคณะอนุกรรมการนั้น ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน หากรอรัฐบาลใหม่พิจารณา อาจต้องเริ่มต้นกระบวนการแก้ปัญหาใหม่ทั้งหมดได้ และอาจต้องใช้เวลามาก


 


"ที่ผ่านมาปัญหาอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินชาวบ้าน ก็สร้างความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับชาวบ้านมามากแล้ว เพราะเขาคิดว่าถูกกฎหมายไทยรังแก ถ้าแก้ปัญหานี้ได้ ข้าราชการก็จะได้ใจชาวบ้านมากอีกอักโขเลย เขาเห็นว่าเราเป็นที่พึ่งได้"


 


แน่นอนว่า การเริ่มกระบวนการแก้ปัญหากันใหม่อีกรอบ อาจไม่ส่งผลดีในด้านความรู้สึกของชาวบ้าน แต่ในวันที่ 22 มกราคม 2551 พวกเขาเชื่อมั่นว่า คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเรื่องนี้ได้ เพราะนั่นเป็นความหวังที่พวกเขาจะได้ทำมาหากินบนที่ดินเพียงรายละหยิบมือที่ใช้เลี้ยงสมาชิกในครอบครัวได้อย่างสบายใจ


 


แม้ว่าวันนั้นจะเป็นวันที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เปิดสภาเป็นครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้ง ส.ส.ครบ 30 วัน ซึ่งทุกคนล้วนกำลังใจจดใจจ่อและตั้งหน้าตั้งตารอดูว่า รัฐบาลใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร หรือไม่พวกเขาต้องรอความหวังจากผู้แทนคนใหม่นักเลือกตั้งชายแดนใต้อยู่ดี


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net