Skip to main content
sharethis

ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ร่วมกับคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) จัดเวทีนำเสนอ "สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทยปี 2550" เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 ระหว่างเวลา 08.30 - 15.00 น. โรงแรมกานต์มณี


 


สุภัทรา นาคะผิว ประธาน กพอ. กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/เอดส์ ในปี 2550 ว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) เมื่อสิ้นปี 2550 คาดว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกประมาณ 33.2 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่  2.5 ล้านคน หรือวันละประมาณ 6,800 คน โดยมีผู้เสียชีวิตด้วยเอดส์ 2.1          ล้านคน หรือวันละประมาณ 5,700 คน


 


ในประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ตลอดปี 50 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย สะสมตั้งแต่ปี 47 ประมาณ 1,090,000 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในปี 50  ไม่น้อยกว่า 17,000 คน หรือวันละประมาณ 47 คน โดยสาเหตุการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน 83.87%   กลุ่มอายุผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 20-39 ปี


 


ด้านทัศนคติต่อผู้ติดเชื้อพบว่ายังมีการรังเกียจและไม่ยอมรับผู้ติดเชื้อในสังคมไทย โดยจากรายงานผลการสำรวจสถานการณ์เด็กในประเทสไทย (MIC) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 49 ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 50 สำรวจผู้หญิงอายุ 15-49 ปี 36,960 คน พบว่า 79% ตั้งข้อรังเกียจผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 1 ข้อ 65%      ไม่ซื้ออาหารที่ผู้ติดเชื้อขาย 29% คิดว่าครูที่ติดเชื้อไม่ควรมาสอนหนังสือ และ 5% จะไม่สนใจสมาชิกในครอบครัวที่ติดเชื้อ


 


ส่วนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน มีการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) ในวันที่ 24 มกราคม 2550 กับยาต้านไวรัวสูตรผสมระหว่างโลพิโนเวียร์กับริโทนาเวีย หรือ Kaletra และวันที่ 25 มกราคม 2550 กับยาโคลพิโดเกล หรือพลาวิกซ์ ต่อมา บริษัทแอบบอตแลบอราทอรีไม่พอใจที่ไทยประกาศใช้ CL จึงถอนขอขึ้นทะเบียนยา 7 รายการ ด้านผู้บริโภคและด้านเอดส์จึงรณรงค์เลิกซื้อ เลิกใช้สินค้าของแอบบอตและร้องต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ตัดสินว่าไม่มีความผิด เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงเตรียมฟ้องศาลปกครองต่อไป


 


นอกจากนี้แล้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เอ็นจีโอด้านเอดส์ นักวิชาการจากทั้งไทยและต่างประเทศได้ร่วมกันคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ พ.ศ.... เนื่องจากเห็นว่า มีแนวคิดว่า ผู้ติดเชื้อเป็นบุคคลอันตราย เป็นอาชญากร เอดส์เป็นแล้วตาย รักษาไม่หาย ซึ่งมีลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เห็นได้จากการกำหนดในร่าง พ.ร.บ. ให้มีสถานสงเคราะห์พิเศษสำหรับกักตัวผู้ติดเชื้อ ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการวินิจฉัยนำตัวผู้ติดเชื้อเอชไอวีไปกักไว้ในสถานสงเคราะห์พิเศษได้ทั้งชั่วคราวและถาวร โดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล


 


00000


ต่อมา มีการอภิปราย เรื่อง สถานการณ์สิทธิมนุษยชนกับเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มเปราะบาง โดย กมล อุปแก้ว กลุ่มรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ TTAG กล่าวว่า นโยบายลดอันตรายจากการใช้ยา (harm reduction) ในหลายประเทศมองว่า เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่ดี แต่บ้านเราไม่ส่งเสริมให้ผู้ใช้ยาเข้าถึงนโยบายเหล่านี้


 


โดยจากการศึกษาของ TTAG ร่วมกับ Human Right Watch พบว่า ผู้ใช้ยาไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ และผู้ให้บริการมีทัศนะไม่ดี ว่าผู้ใช้ยาเป็นคนไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบ ทำให้กระทบต่อการให้บริการ บางครั้งเมื่อมีผู้ใช้ยาไปรับบริการ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการก็ส่งข้อมูลให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมาย บางที่ให้บริการแต่ขาดการให้ข้อมูล ไม่ให้ความสำคัญ ซึ่งทัศนะเหล่านี้ลิดรอนสิทธิของผู้ใช้ยา


 


ทั้งนี้ เขาแสดงความกังวลว่า รัฐบาลใหม่ที่มาอาจมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดรอบสอง ซึ่งคงมีผลกระทบกับผู้ใช้ยาพอสมควร อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า ผู้ใช้ยาเองต่างก็ต้องการโอกาสได้รับการพัฒนา และความเชื่อมั่นในตัวเขา อยากให้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น


 


นอกจากนี้ เมื่อผู้ใช้ยา ต้องคดี แล้วต้องขังในเรือนจำจะได้รับบริการน้อย โดยจะถูกตีตรวนออกมารับบริการ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิ ควรจะมีระบบรับยาเข้าไปในเรือนจำ โดยเขาเห็นว่า เรื่องนี้ควรเป็นนโยบายระดับชาติระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงมหาดไทย


 


 


สุรางค์ จันทร์แย้ม Swing เครือข่ายพนักงานบริการ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พนักงานบริการตกเป็นจำเลยหลักของสังคม ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงของสถานการณ์เอดส์มาตลอด แต่ในทางกลับกันพบว่า ผู้หญิงบริการ ผู้ชายบริการหรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ กลับกลายเป็นผู้ถูกกระทำให้อยู่ในภาวะเสี่ยง โดยถูกละเมิดจากผู้ซื้อบริการ ผู้จ้างงงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบกับเมื่อสภาพเศรษฐกิจแย่ลง พนักงานบริการก็ไม่มีอำนาจต่อรอง การยื่นเงื่อนไขเสนอค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อไม่ใช้ถุงยาง มากขึ้นเป็นทวีคูณ บางครั้งลูกค้าจะปฏิเสธการใช้ถุงยาง โดยให้ความหวังว่า จะได้ออกจากงานและรับเลี้ยงดูในอนาคต ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยากจะปฏิเสธ


 


นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเลือดโดยผู้ซื้อ โดยให้พนักงานบริการชวนกันไปตรวจเลือดแต่ฝ่ายเดียว โดยลูกค้าไม่ตรวจ เมื่อผลเลือดออกมาเป็นลบ ก็ถือว่าปลอดภัยและมีเพศสัมพันธ์กันได้ แต่เมื่อผลเลือดเป็นบวก ก็ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทน พนักงานเหล่านี้จะไปร้องขอความเป็นธรรมจากใครก็ทำไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าอยู่ในสถานะที่ผิดกฎหมาย


 


นอกจากนี้ ผู้จ้างงานเองก็บังคับให้พนักงานต้องไปตรวจเลือดทุกเดือนและเอาผลมายืนยัน ไม่เช่นนั้น ค่าตอบแทนเดือนนั้นจะเป็นโมฆะ ทั้งนี้ หากตรวจแล้ว ผลเลือดเป็นบวก พนักงานต้องถูกพักงานโดยไม่มีกำหนด บางร้าน นอกจากพักงานแล้ว รายได้ในเดือนนั้นก็เป็นโมฆะด้วย เพราะถือว่าไม่ดูแลตัวเอง อย่างไรก็ตาม สุรางค์ ตั้งคำถามว่า เป็นเพราะใคร เพราะตัวพนักงานเอง สภาพแวดล้อม หรือลูกค้า


 


สุรางค์ เล่าว่า มีการใช้อำนาจของเจ้าของสถานบริการ บังคับให้พนักงานในร้านมีเพศสัมพันธ์ด้วยโดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย แม้ว่านายจ้างจะมีผลเลือดเป็นบวกก็ตาม โดยสถานบริการบางแห่งพบว่า พนักงานบริการทั้งหมดติดเชื้อเอชไอวี จากนายจ้าง


 


ด้านการละเมิดจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นความชอบธรรม โดยพนักงานบริการมักถูกจับปรับ ข้อหาค้าประเวณี เพราะมีถุงยางอนามัยอยู่กับตัว โดยปัจจุบัน บางพื้น เมื่อเสียค่าปรับ 1000 บาทจะได้ใบสั่ง ที่ระบุชื่อและหมายเลขบัตรประชาชน ทำให้สามารถยืนค้าประเวณีได้ทั้งคืน เหมือนกับการจ่ายค่าคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่


 


สุรางค์ แสดงความเห็นว่า การกระทำแบบนี้ ยิ่งทำให้พนักงานบริการเสี่ยงมากขึ้น เพราะรายได้หมดไปกับค่าปรับ ทำให้ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่ในอาชีพนี้นานขึ้น ส่งผลถึงงานด้านการป้องกัน หรือทำกิจกรรมส่งเสริมให้พนักงานเหล่านั้นเข้าถึงการรักษาบริการได้ โดยพวกเขาปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพราะหวาดกลัว รวมถึงปฏิเสธการตรวจสุขภาพ เนื่องจากต้องการอยู่ในอาชีพนานขึ้น


 


 


ณัฐพงษ์ สุขศิริ เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย Youth-Net กล่าวว่า ที่ผ่านมา เยาวชนได้ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการรณรงค์ ยืดอกพกถุง เพราะตระหนักในการป้องกัน ทั้งนี้มีข้อมูลว่า การแจกถุงยางฯ ในสถานีอนามัย ตามต่างจังหวัดต้องลงชื่อ ซึ่งทำให้ในชุมชนรู้กันทั่วว่า ลูกใครไปเอาถุงยาง ทำให้เด็กอายไม่กล้าไปรับถุงยาง ส่งผลให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และการตั้งครรภ์


 


ทั้งนี้ ได้ทำโพลล์สำรวจ เด็กและเยาวชน อายุ 15-22 ปี 2000 คนจากทั่วประเทศ พบว่า เด็กและเยาวชนต้องการเรียนรู้เรื่องเพศจากสถานศึกษา 72% แต่ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข สำรวจพบว่า มีโรงเรียนใน สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 90,000 กว่าโรง พบว่ามี 16% เท่านั้นที่สอนเรื่องเพศศึกษาอย่างจริงจัง นอกเหนือจากนั้นการสอนเพศศึกษาจะอยู่ในวิชาสุขศึกษา โดยสอนแบบผ่านๆ ซึ่งเกิดจากผู้บริหารที่มองว่าเรื่องเพศและเอดส์ไม่ควรถูกพูดในโรงเรียน


 


ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า เด็กอายุ 11 ปีก็มีเพศสัมพันธ์แล้ว เราไม่ควรปิดหูปิดตา เด็กและเยาวชนต้องการให้สอนเพศศึกษา เพื่อให้พวกเขาป้องกันตนเองได้


 


กิตตินันท์ ธรมธัช สมาคมฟ้าสีรุ้ง กล่าวว่า กฎหมายที่ใช้อยู่ไม่มีความสอดคล้องกัน โดยยกตัวอย่างกรณีเด็กอายุ 18 ปีสามารถเป็นพนักงานในสถานบันเทิงได้ แต่เด็กอายุ 19 ปีกลับเข้าไปเที่ยวไม่ได้


นี่เป็นเรื่องกฎหมายที่ไม่มีใครผิด แต่ไม่สอดคล้องกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงแรงงาน ไม่ได้บอกว่าจะให้ลดอายุคนทำงาน แต่อยากให้ออกกฎหมายให้สอดคล้องกัน


 


นอกจากนี้ ยังพูดถึงการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งทุนขององค์กรที่ทำงานด้านเอดส์ว่า ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความรู้เรื่องสิทธิด้วย เพื่อยกระดับให้คนเห็นความสำคัญทางกฎหมาย ซึ่งจะทำให้การรณรงค์เรื่องเอดส์ขยายมากขึ้น


 


วิรัตน์ ภู่ระหงษ์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ กล่าวถึงสิทธิในการเข้าถึงการรักษาของผู้ติดเชื้อว่า ในระบบประกันสุขภาพต่างๆ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบสวัสดิการของข้าราชการ ประกันสังคม ยังมีแนวนโยบายที่ต่างกัน เช่น นโยบายของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระบุเกณฑ์ชัดเจน เช่น กินยาต้าน 6 เดือนแล้วจะตรวจ 1 ครั้งต่อไปก็ 1 ปี เป็นต้น แต่ประกันสังคมซึ่งเป็นสวัสดิการที่มีขนาดใหญ่ ไม่มีเกณฑ์ที่แน่ชัดออกมา ทำให้ผู้ติดเชื้อที่ใช้คนละหลักประกันก็จะได้รับบริการที่ไม่เท่ากันด้วย


 


นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิ อาทิ การตรวจเลือดโดยไม่สมัครใจ ก่อนเข้าสมัครทำงาน เมื่อรู้ผลว่า มีเชื้อเอชไอวี ก็ให้ออกจากงาน หรือ เมื่อผู้ติดเชื้อทางยาต้านแล้วสภาวะร่างกายก็เป็นเหมือนปกติ ก็มีชีวิตตามปกติ การมีคู่ มีเพศสัมพันธ์ก็กลับมา การอยากมีลูกก็เป็นเรื่องปกติ แต่กลับยังมีทัศนคติที่ว่า ไม่ควรมีลูก เพราะถ้าเสียชีวิตไปแล้วใครจะเลี้ยง โดยลืมไปว่า คนเหล่านี้สามารถคิดและวางแผนได้ว่าเขาจะมีคู่หรือมีลูกอย่างไร เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิของเด็ก โดยนำเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีมาใช้ในเชิงธุรกิจ โดยเอา


เด็กมารณรงค์ออกสื่อเพื่อขอรับบริจาค


 


ทั้งนี้ ขณะที่มีผู้ติดเชื้อที่อายุน้อยลง แต่ความจริงในสังคม ยังมีผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ แต่ไม่กล้าเข้ารับบริการ เพราะถูกตีตราจากสังคมว่า เป็นเฒ่าหัวงูบ้าง แก่ตัณหากลับบ้าง


 


สุภัทรา นาคะผิว กล่าวเสริมว่า ณ ปี 2551 บริษัทประกันชีวิตทั้งหมดไม่รับประกันชีวิตให้ผู้ติดเชื้อ รวมทั้งยังมีวัดมากกว่า 80% ที่ขอใบตรวจเลือด ตรวจเอชไอวีก่อนที่พระอุปัชฌาย์จะบวชให้ ทั้งที่ไม่มีกฎใดๆ ของมหาเถระสมาคม เป็นเรื่องความเข้าใจของพระอุปัชฌาย์โดยแท้ โดยในแบบฟอร์มขอบวชจะระบุว่า ผู้ที่บวชต้องไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงน่ารังเกียจ ซึ่งเขาตีความว่าเอชไอวีเอส์ เข้าข่ายโรคน่ารังเกียจ


 


กรณีการรับเบี้ยยังชีพสำหรับผู้ติดเชื้อ สุภัทราเล่าว่า ทราบมาว่า อบต. จะจัดพิธีมอบเบี้ยยังชีพให้ เพื่อให้เห็นว่า อบต. มีผลงาน โดยบางครั้งมีการประกาศว่าเป็นเบี้ยประเภทไหน ทำให้ผู้ติดเชื้อหลายคนตัดสินใจไม่รับเงิน 500 บาท เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากทัศนคติของชุมชน


 


มีนา ดวงราษี คณะทำงานผู้หญิงในงานเอดส์ กล่าวว่า จากการศึกษาที่ชื่อ "เมื่อผู้หญิงเล่าเรื่องความุรุนแรงกับเอชไอวี" พบว่า ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ สิทธิทางเพศของผู้หญิงถูกละเมิด มาตรฐานการดูแลรักษาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ตั้งแต่เป็นสาวจนแก่เฒ่า เข้าไม่ถึงการบริการอย่างทั่วถึง


 


นอกจากนี้ มีนา ยังกล่าวถึงปัญหาการบังคับให้ตรวจเลือดในหญิงตั้งครรภ์ โดยเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอเองมีทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับเอดส์ และขณะที่ตั้งครรภ์ก็ถูกโน้มน้าวให้ตรวจเลือด ทั้งที่ไม่เคยได้ข้อมูลเกี่ยวกับเอดส์เลย ทำให้เกิดความกังวล รวมถึงผู้หญิงหลายคนได้เล่าว่า สถานบริการทางการรักษา มีท่าทีที่ละเมิดผู้เข้ารับบริการ


 


ทั้งนี้ มีนา กล่าวถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเรื่องเพศอย่างเปิดเผยว่า ในสังคมทั่วไปมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอายน่าปกปิด แต่กลับพบว่า คนที่ปลอดภัยจากเอชไอวี จะรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ยิ่งพูดกันมากขึ้นจะปลอดภัยมากขึ้น เพราะได้สื่อสารกัน


 


ภาคภูมิ แสวงคำ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวถึงปัญหาด้านสิทธิของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ คือ ลาว พม่า กัมพูชา ว่า แม้ว่า เริ่มมีการจ้างแรงงานสาธารณสุขต่างด้าวในโรงพยาบาล และมีการตั้งศูนย์สุขภาพในชุมชน แต่แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงยาต้านไวรัส ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง


 


ส่วนปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนอย่างมาก คือหลังรัฐประหารมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประจำจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัด เป็นผู้อำนวยกองรักษาความมั่นคงภายในของจังหวัด หลายจังหวัด เช่น ระยอง ระนอง พังงา ภูเก็ต มีการออกประกาศจำกัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามขี่ยานพาหนะ รวมกลุ่มเกิน 5 คน ห้ามออกจากบ้านยามวิกาลซึ่งจำกัดสิทธิของแรงงานทำให้แรงงานหวาดกลัว ส่งผลกระทบถึงองค์กรเอกชนต่างๆ ที่จะเข้าไปรณรงค์เผยแพร่ความรู้เพื่อให้ป้องกันเอดส์ เนื่องจากต้องรณรงค์ในช่วงหลังเลิกงาน


 


ยิ่งปลายปี ที่ผ่านมา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกฯ มีแนวคิดเรื่องให้แรงงานข้ามชาติหญิงที่ตั้งครรภ์ไปคลอดนอกประเทศ ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิในการคลอดลูกที่โรงพยาบาล รวมทั้งบริการทางการเพศที่ปลอดภัยกว่า โรงพยาบาลบางแห่งแจ้งตำรวจจับแรงงานที่มาโรงพยาบาล


 


อีกเรื่อง คือ การผลักดันให้แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ให้คุ้มครองแรงงานเหล่านี้ ที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติที่เข้าถึงเงินทดแทนของประกันสังคม ซึ่งหลักๆ มาจากปัญหาเรื่องทัศนคติ


 


ทั้งนี้ ภาคภูมิเสนอให้ผลักดันให้แรงงานข้ามชาติทั้งที่มีบัตรอนุญาตทำงานและไม่มีบัตร เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ


 


 


 


00000


ในช่วงบ่าย มีการอภิปรายเรื่อง ข้อเสนอแนะต่อการจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนกับเอชไอวี/เอดส์ โดยมีจันทวิภา อภิสุข ดำเนินรายการ


                                   


จอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช. อดีต ส.ว.กทม. กล่าวว่า 15 ปีที่ผ่านมา สิทธิที่ได้รับตอบสนองมากที่สุด คือ สิทธิในการรักษาผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นนี้ไม่ได้มาจากรัฐบาลหรือกระทรวงยื่นให้ เราควรตระหนักเสมอว่าได้มาโดยการต่อสู้ร่วมกันของเครือข่าย ในขณะเดียว ได้สภาพแวดล้อมอำนวยด้วย เช่น พอ นพ.มงคล (ณ สงขลา) มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เรื่องที่เรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2541-2542 เป็นจริงขึ้นมา


 


ประเด็นสำคัญ ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังคือเรื่องของเครือข่ายผู้ใช้ยา ซึ่งเกิดจากความรังเกียจไม่เข้าใจของสังคม ทำให้การส่งเสริมให้โครงการแลกเข็มสะอาดเป็นไปได้ยาก เทียบกับออสเตรเลียที่ มีห้องฉีด มีหมอดูแล ผู้ใช้ยาเข้าถึงห้องฉีดซึ่งสะอาด สามารถหยิบกระบอกฉีดยาสะอาดมาฉีด แต่ต้องหาผงไปเอง ซึ่งจะทำให้การฉีดยาเป็นไปด้วยความปลอดภัย ตอนแรกชุมชนไม่ยอมรับเลย ถ้าเสนอในสังคมไทย จะบอกว่าเป็นการส่งเสริม แต่ตอนหลังชุมชนชอบมาก เพราะก่อนหน้านี้จะฉีดกันในถนน จะมีเข็มตกหล่นตามพื้น ต่อมาทำให้สะอาด รู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกลัวเด็กโดนเข็มตำ บ้านเราคงอีกหลายร้อยปีกว่าจะยอมรับ


 


ปัญหาของการให้เมทาโดน ก็คาบเกี่ยวระหว่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพ กับกฎหมายบำบัดยาเสพติด ทำให้ไม่สามารถครอบคลุมได้ ส่งผลให้ผู้ใช้ยาในหลายจังหวัดต้องจ่ายเงินเอง ยกเว้น กทม. กับสตูล ทั้งที่ ตามทฤษฎีควรได้ยา แต่หมอไม่ให้ เนื่องจากเห็นว่าต้องเลิกยาก่อน ซึ่งนี่เป็นการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง ผู้ใช้ยาจะมาร้องเรียนก็ยากลำบาก สังคมไม่เข้าใจ เหมือนผู้ให้บริการทางเพศ ซึ่งควรมีสิทธิในระบบประกันสังคม แบบเร่งด่วน เพราะช่วงเวลาในอาชีพไม่ยาวเหมือนในอาชีพอื่น ต้องต่อสู้นาน เป็นเรื่องทัศนคติ ปัญหาจากการสำรวจความคิดเห็นแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีความคิดแบบเก่าดำรงอยู่ ทั้งที่มีผู้นำผู้ติดเชื้อทั่วประเทศมีเครือข่าย คงต้องสื่อต่อไปว่าเอดส์รักษาได้ ผู้ติดเชิ้อมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ซึ่งการเปลี่ยนทัศนคติเป็นเรื่องยาก ต้องมีงบประมาณในการสร้างความเข้าใจด้วย รวมทั้งต้องผลักดันความเข้าใจเรื่องเอดส์ เพศสภาพ ความหลากหลายทางเพศ ผู้ใช้ยา โดยต้องเริ่มจากหลักสูตรในโรงเรียน การเข้าใจเรื่องสิทธิโดยรวม จะช่วยสอนครูด้วย เพราะครูเองก็ยังไม่เข้าใจ หลายประเทศมีคนที่ออกมาประกาศตัวว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เช่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็ออกมาประกาศตัวเอง ซึ่งทำให้ฝ่ายต่างๆ เข้าใจ ประธานาธิบดี หรือลูกของประธานาธิบดีบางคนก็ติดเชื้อ ของประเทศเราก็คงมีแต่เราไม่กล้าเปิดเผย เพื่อสร้างความเข้าใจตรงนี้


 


สมชาย หอมลออ มูลนิธิสิทธิมนุษยชนกับการพัฒนา และทนายความ กล่าวว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยยกตัวอย่างการทำงานของกลุ่มผู้ติดเชื้อ ซึ่งเริ่มด้วยสิทธิผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ขยายความร่วมมือถึงกลุ่มอื่น เช่น เรื่องเอฟทีเอ ที่เชียงใหม่ ซึ่งผู้ติดเชื้อได้ร่วมต่อสู้ด้วย ขณะที่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้มากที่สุด คือชาวไร่ชาวนา ดังนั้น ถ้าเราไม่สู้เรื่องสิทธิการชุมนุมแล้ว ก็ต้องสงสัยว่าสิทธิผู้ติดเชื้อจะได้หรือ การต่อสู้ของผู้ติดเชื้อได้พิสูจน์ว่าสิทธิด้านหนึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากสิทธิด้านอื่นด้วย ไม่ว่าทัศนคติด้านลบต่อแรงงานข้ามชาติ ผู้หญิง เด็ก คนพิการ คนที่มีผิวสีต่างกัน ตอนนี้ก็ยังแก้ไขไม่สำเร็จ


 


สมชายกล่าวว่า การต่อสู้หรือสิทธิเหล่านี้แยกไม่ออกระหว่างสิทธิเฉพาะกลุ่มกับสิทธิของมวลมนุษยชาติ เมื่อจะทำงานด้านสิทธิของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ต้องตระหนักเรื่องนี้ตลอด มิฉะนั้นจะไม่ได้รับความสำเร็จเลย หรือสำเร็จจากกลุ่มอื่นไม่ใช่กลุ่มเรา


 


ทั้งนี้ เขาเห็นว่า การปรับเปลี่ยนค่านิยมในสังคมจะเป็นไปได้ยากถ้าไม่มีกฎหมายบังคับ จึงต้องอาศัยกฎหมาย ควรมีบุคลากรด้านกฎหมายที่เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น มีการทำการรณรงค์ร่วมกัน และเจ้าของสิทธิเองต้องกล้าออกมาเรียกร้องสิทธิของตัว


 


 


 


สุภัทรา กล่าวเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ต้องเลิกพูดคำว่า สำส่อนทางเพศ มั่ว การบอกว่า ถ้าคุณเป็นคนดีๆ คุณไม่เป็น เพราะคุณทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ทำให้ติดเชื้อ นำไปสู่การตีตราตอกย้ำว่า คนติดเชื้อเป็นคนไม่ดี


 


"เอดส์เป็นแล้วตายรักษาไม่หายขาด" เป็นประโยคที่ใช้เมื่อไม่จ้างผู้ติดเชื้อทำงาน เนื่องจากอ้างว่า เดี๋ยวป่วยแล้วมาทำงานไม่ได้ เช่นกัน พอยกร่าง แนวปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ออกมา องค์กรที่ขอยกเว้น มาแล้ว 3 องค์กร อย่างน้อย อัยการ ศาล ทหาร โดยให้เหตุผลว่า เป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ ถามว่า พวกเขาติดเชื้อไม่ได้หรือ และเราเชื่อว่ามีคนในอาชีพนี้ที่ติดเชื้อ ซึ่งไม่ได้มีผลต่อการทำงานเลย แต่ด้วยทัศนะเหล่านี้ ส่งผลให้ต้องไม่พูดเรื่องพวกนี้ ดังนั้น ต้องเน้นว่า เอดส์รักษาได้ จะติดเชื้อหรือ ไม่ได้ติดเชื้อก็เป็นคนเหมือนกัน เพราะการมีเชื้อโรคหนึ่งในตัวไม่ได้ทำให้คุณค่าความเป็นคนลดลง


 


นอกจากนี้ ศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ เสนอว่า ขอให้มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อ 7 ภาค ไม่ต้องจบกฎหมายแต่ทำหน้าที่นักกฎหมายเบื้องต้นได้ โดยนอกจากเป็นศูนย์รับเรื่องราวแล้ว อบรมกระบวนการนักสิทธิมนุษยชนด้านกฏหมาย ทั้งนี้อีกปัญหาที่สำคัญคือ คนที่ทำงานเรื่องเอดส์ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ นักกฎหมายก็ไม่เข้าใจเรื่องเอดส์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net