Skip to main content
sharethis


 


ทุกครั้งที่มีการควบคุมนักศึกษาที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ดูจะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก ทั้งในแวดวงสังคมในพื้นที่ และในหมู่นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหว สังกัดกลุ่มองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน


 


ล่าสุด กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 7 คน ถูกทหารหน่วยเฉพาะกิจ 11 ยะลา ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ควบคุมตัวจากบ้านเช่าห้องแถว ซอยตักวา เนินหูกวาง ย่านฝั่งธนวิถี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา


 


4 คนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประกอบด้วย นายกูยิ อีแต อายุ 22 ปี คณะวิทยาการจัดการ เอกเทคโนโลยีนวัตกรรมการศึกษา ชั้นปีที่ 3 และเป็นกรรมการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา, นายอามีซี มานาก อายุ 22 ปี คณะวิทยาการจัดการ เอกการบัญชี ชั้นปีที่ 3, นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ อายุ 23 ปี คณะมนุษยศาสตร์ เอกการพัฒนาชุมชน ชั้นปีที่ 2 และ นายอิสมาแอล เตะ อายุ 22 ปี คณะวิทยาศาสตร์ เอกเทคโนโลยีสารสนเทศ


 


นายอาหะมะ บาดง อายุ 22 ปี นักศึกษาสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา คณะศึกษาศาสตร์ เอกพลศึกษาส่วน นายอัสมาดี ประดู่ อายุ 24 ปี ที่อยู่ 12 หมู่ 9 ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และ นายอัสมัน เจ๊ะยอ ประกอบอาชีพแล้ว พร้อมกันนั้นได้มีการยึดคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 7 เครื่องและกล้องถ่ายรูป 1 ตัว ทุกคนถูกนำตัวไปสอบสวนในที่ตั้งฐาน ฉก.11 ใกล้โรงเรียนพาณิชยการยะลา


 


ทั้งหมดถูกควบคุมตัวจนครบ 72 ชั่วโมง จากนั้น ถูกส่งตัวไปยังศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งการปฏิบัติก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่ทั่วไป


 


สำหรับ นายกูยิ มีภูมิลำเนาบ้านเลขที่ 80/5 ตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เรียนคณะวิทยาการจัดการ เอกเทคโนโลยีนวัตกรรมการศึกษา ชั้นปีที่ 3 เป็นนักกิจกรรมคนสำคัญในแวดวงนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นายอภิศักดิ์ สุขเกษม คณะกรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย บอกว่า ทั้ง 7 คนเป็นเพื่อนกัน พักอยู่ในหอพักเดียวกัน กำลังเตรียมตัวจะไปเล่นฟุตบอลต้านยาเสพติด "พงยาวีคัพ" ทหาร ฉก.11 แต่งกายนอกเครื่องแบบเข้าไปตรวจค้นและจับกุมนักศึกษาไป โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก อ้างว่าคนกลุ่มนี้ยาบ้าและอาวุธปืนไว้ในครอบครอง


 


นายอภิศักดิ์ บอกด้วยว่า ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยคาดว่า เหตุผลของการจับกุมในครั้งนี้น่าจะมาจากการที่นักศึกษากลุ่มดังกล่าวทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในประเด็นความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้เคยลงพื้นที่เพื่อจัดอบรมให้ชาวบ้านในเรื่องกฎหมายพิเศษที่ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจเป็นชนวนเหตุให้ทางรัฐไม่พอใจและตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานของนักศึกษากลุ่มนี้ก็เป็นได้


 


จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคี ร่วมกันออกแถลงการณ์ระบุว่า การจับกุมนักศึกษาครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า กลุ่มผู้ต้องหามียาบ้าและอาวุธปืนในครอบครอง แต่จากการตรวจค้นกลับไม่พบสิ่งผิดกฎหมายตามที่กล่าวหา


 


ก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 มกราคม 2551 ทางสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา ได้จัดโครงการอบรมความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดยะลา ตรงนี้อาจเป็นชนวนเหตุให้มีการจับกุม สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของรัฐว่า ไม่ไว้วางใจหวาดระแวงนักศึกษาตลอดเวลา


 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยไม่เคยคาดหวังต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวิธีทางของรัฐ เนื่องจากที่ผ่านมามักมีการจับกุมผู้บริสุทธิ์อยู่เสมอ อีกทั้งยังมีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยด้วยวิธีการทารุณโหดร้ายมาโดยตลอด ดังเช่นกรณีการควบคุมตัว นายมะสุกรี อาดัม นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ถูกทำร้ายขณะอยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร


 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จึงเรียกร้องต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องสอบสวนนักศึกษาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว หากไม่มีความผิดให้เร่งปล่อยตัว ห้ามบังคับ ข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ มิฉะนั้น ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจะจัดชุมนุมประท้วง อีกทั้งขอให้ชี้แจงต่อสาธารณชนว่า นักศึกษาที่ทำงานด้านสันติวิธีกลุ่มดังกล่าว ไม่มีความผิด การจับกุมเป็นการเข้าใจผิดต่อการทำงานของนักศึกษา


 


ต่อมา พ.อ. อัคร ทิพโรจน์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการข่าวสาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ออกมาแถลงว่า การควบคุมตัวดังกล่าว เป็นการขยายผลจากการจับกุมสมาชิกกลุ่ม อาร์เคเค 1 ราย คือ นายนิพา มะรี หรือ นิพา ภูมิภัทรยากร บริเวณหน้าธนาคารไทยพานิชย์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2551


 


นายนิพา มะรี หรือนิพา ภูมิภัทรยากร สารภาพว่า เตรียมจะก่อเหตุในเขตเทศบาลนครยะลาในช่วงเทศกาลตรุษจีน พร้อมกับซัดทอดว่า มีสมาชิกอาร์เคเคอีกหนึ่งคน อาศัยอยู่กับกลุ่มนักศึกษาที่บ้านเช่าหลังดังกล่าว จึงเข้าไปตรวจค้นและควบคุมตัวนักศึกษาทั้ง 7 คน


 


สำหรับผู้ที่นายนิพาซัดทอด คือ นายอัสมาดี ประดู่ อายุ 24 ปี โดยนายนิพาระบุว่า เตรียมจะก่อเหตุในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ด้วยการเผารถยนต์หลายคันในเวลาเดียวกัน พร้อมกับแจ้งเบาะแสให้จับกุมกลุ่มอาร์เคเค ที่จะร่วมก่อเหตุด้วย


 


ขณะที่นายอัสมาดีก็รับสารภาพ และซัดทอดไปยัง นายอับดุลอาซิ อารง บ้านเลขที่ 64/1 หมู่ที่ 4 ตำบลริโก๋ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส และ นายซอบรี กาซอ บ้านเลขที่ 47/3 หมู่ที่ 3 บ้านคางา ตำบลสะนอ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ว่าเคยมีส่วนร่วมในการเตรียมก่อเหตุด้วย


 



พล.ต.วรรณทิพย์ ว่องไว


 


ต่อมา ทาง ฉก.11 ได้ตามไปจับกุมมาได้แล้วทั้ง 2 คน ทั้ง 2 รับสารภาพว่าเคยก่อคดีสำคัญในเขตเทศบาลนครยะลามาแล้วหลายคดี ขณะที่ พล.ต.วรรณทิพย์ ว่องไว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 ยะลา บอกว่า เหตุที่จับนายนิพาได้ ก็เนื่องมาจากตอนนี้มีการสับเปลี่ยนกำลังกันของฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะในจังหวัดยะลา โดยโยกคนจากนอกพื้นที่เข้ามาแทนคนที่ตายไป คนที่มาใหม่ก็ยังไม่ชำนาญพื้นที่ดีพอเลยถูกควบคุมตัวได้ ส่วนคนที่ไม่ใช่ตัวจริง จะปล่อยกลับบ้านโดยเร็ว


 


พล.ต.วรรณทิพย์ บอกด้วยว่า ผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มของนายนิพามีทั้งหมด 12 คน เตรียมจะก่อเหตุช่วงเทศกาลตรุษจีนโดยการเผาเมือง แผนการก่อเหตุจึงถูกยุติไปโดยปริยาย


 


อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่องค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งกลุ่มทนายและนักกิจกรรมในพื้นที่แสดงความเป็นห่วงมาก ก็คือการใช้อำนาจของทหารที่สุ่มเสี่ยงจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการซ้อมทรมานหรือทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ โดยเฉพาะจากระเบียบข้อห้ามที่มิให้มีการเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังการควบคุมตัว ที่เจ้าหน้าที่มักอ้างถึง


 


โดยเฉพาะคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นองค์กรที่เกาะติดในเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด


 


เห็นได้จากแถลงการณ์ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ระบุว่า ...การควบคุมตัวประชาชนภายใต้กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพราะแม้คำสั่งที่ 11//2550 ลงวันที่ 24 มกราคม 2550 ลงนามโดยผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่ระบุสถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัวประชาชนไว้ชัดเจน โดยให้ควบคุมตัวไว้ที่ศูนย์วิวัฒน์สันติ ในค่ายอิงคยุทธบริหาร และศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 จังหวัดยะลา


 


แต่ในทางปฏิบัติจริงผู้ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่มักถูกนำมาควบคุมตัวไว้ตามหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมิได้มีการแจ้งให้บรรดาญาติพี่น้องของผู้ถูกควบคุมตัวทราบแต่ประการใด อีกทั้งจากรายงานที่คณะทำงานฯ ได้รับคือผู้ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่มักถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพในสามวันแรกที่ถูกควบคุมตัว และไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม


 


โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระบุไว้ในมาตรา 32 วรรค 2 ว่า "การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการอันโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้...." มาตรา 39 วรรค 2 ระบุว่า "ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด" และในมาตรา 40 (4)ว่า "ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสียหรือพยานในคดี มีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง"


 


ขณะที่ นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิมเปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เข้ามาตรวจสอบกรณีการออกระเบียบของกองทัพภาคที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวภายใน 72 ชั่วโมง หลังการควบคุมตัว เนื่องจากอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งอาจเปิดโอกาสให้มีการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมด้วย เนื่องจากตัวแทนองค์กรอื่นๆ ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือร่วมรับฟังการซักถามของเจ้าหน้าที่ได้ หากไม่ได้รับอนุญาต


 


ทั้งนี้ การควบคุมกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว ทางทหารก็ได้ดำเนินการตามที่คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพระบุไว้ด้วย เห็นได้จากการที่ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ ออกมาชี้แจงหลังจาก สนนท.ได้ออกแถลงการณ์ว่า การควบคุมตัวดังกล่าวทหารไม่ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับญาติพี่น้องจึงทำให้เกิดความกังวลตามมา


 


พ.อ.อัคร บอกด้วยว่า ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่เพื่อสอบสวนเบื้องต้น โดยในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ไม่สามารถเยี่ยมได้ และยืนยันว่าทั้งหมดปลอดภัย เมื่อครบ 72 ชั่วโมงแล้ว จึงจะส่งตัวไปยังศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นญาติสามารถติดต่อเข้าไปเยี่ยมได้


 


เขาชี้แจงต่อว่า การควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงในพื้นที่เจ้าหน้าที่จะใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ พรก.ฉุกเฉินฯ ที่มีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ ครั้งละไม่เกิน 30 วัน อีกฉบับ คือ กฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งหมด 37 วัน


 


"ในช่วงควบคุมตัวจะมีการสอบถาม พิสูจน์ทราบกับพยานและหลักฐาน รวมไปถึงการรับสารภาพของผู้ต้องสงสัย หากพบว่าไม่มีความผิดก็จะปล่อยตัวไป หากมีหลักฐาน พยานและรับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก็ส่งตัวดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมปกติ"


 


แต่ในมุมมองของ พล.ต.วรรณทิพย์ ในฐานะผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 ยะลา ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 ชุดควบคุมตัวนักศึกษากลับไม่เห็นด้วยกับระเบียบปฏิบัติที่ห้ามญาติผู้ถูกควบคุมตัวเข้าเยี่ยมได้ใน 72 ชั่วโมงแรก


 


"ที่จริงไม่จำเป็น เราบอกให้ไปเยี่ยมได้เลย แต่ที่นี้กลัวว่ามีบางหน่วยที่ห้ามเยี่ยมแล้วก็มีการซ้อม คนก็ยิ่งสงสัย ซึ่งเราไม่เห็นด้วย ถ้าเป็นผมจะไม่เอามาอ้างเพราะมันจะเป็นเงื่อนไข อีกอย่างเรื่องกฎหมายมันอยู่ในกระดาษอยู่แล้ว"


 


เขาบอกด้วยว่า ในการสอบสวนนั้นไม่จำเป็นต้องไปเตะผู้ถูกสอบสวน เพราะยังมีเทคนิคในการสอบอีกมาก แต่บางคนไม่รู้วิธีจึงไปทุบตีเขา พวกนี้แย่มาก ยิ่งเจ้าหน้าที่บางคนไม่ได้เรียนมา ชอบใช้ความรุนแรง หรือบางคนติดนิสัยมาจากที่อื่น


 


เขาย้ำด้วยว่า ที่สำคัญคนที่ถูกควบคุมเนื่องจากต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบไม่ได้ถูกฝึกมาให้เป็นทหาร หรือมีการฝึกไม่นาน ไม่ใช่กองโจร ยกเว้นคนที่ถูกฝึกมาจากประเทศจอร์แดน พวกนี้จะเก่งจริง แต่ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาสอบสวนไม่เกินหนึ่งคืนก็จะได้ข้อมูลหรือลองไม่ให้นอนซักสองคืน ให้มีคนมานั่งคุยตลอดไม่นานก็รับสารภาพแล้ว ไม่ถึงกับต้องไปซ้อมหรือไปทุบตี


 


ทั้งนี้ ในระหว่างการอธิบายนั้น พล.ต.วรรณทิพย์ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือแจ้งไปยังศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร ขอให้อะลุ้มอล่วยในเรื่องระเบียบที่ห้ามเยี่ยมใน 72 ชั่วโมงแรก และกำชับว่า ให้รีบแจ้งให้ญาติทราบทันทีที่มีการควบคุมตัว หรือให้ติดตามไปด้วยได้เลย


 


แน่นอนความหวาดระแวงสงสัยในตัวเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มี หากเปิดโอกาสให้ชาวบ้านรู้เห็น หรือเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากที่สุด

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net